สบู่ดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สบู่ดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สบู่ดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อเรียกท้องถิ่ พมักเยา, มะเยา, มะหัว, มะหุ่งฮั้ว, มะโห่ง, หงเทก (เหนือ), สบู่หัวเทศ, สลอดดำ, สลอดป่า, สลอดใหญ่, สีหลอด (กลาง), หงส์เทศ, มาเคาะ (ภาคใต้), แจ้ทซู (พม่า), ทะวอง (เขมร), บูราคีรี (ญี่ปุ่น)
ชื่อสามัญ Purging nut, Pignon d’inde, Barbados nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha curcas  L.
จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae

ถิ่นกำเนิดสบู่ดำ

สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโก และนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว โดยมีชาวโปรตุเกสได้นำเมล็ดสบู่ดำมาให้คนไทยปลูก เมื่อต้นสบู่ดำออกเมล็ดชาวโปรตุเกสก็จะรับชื้อเมล็ดคืน ชาวโปรตุเกสจะนำไปทำสบู่ และน้ำมันใส่ตะเกียง จึงเป็นการค้าระหว่างประเทศ และเชื่อมคาวมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส ต่อมาได้มีการนำสบู่ดำ มาทดลองมาใช้เป็นพลังงานทดแทนที่ชื่อว่า ไบโอดีเซล ผลจากการทดลองสรูปได้ว่าน้ำมันที่สกัดออกมาจากเมล็ดสบู่ดำไปทำ ไบโอดีเซล สามารถใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอัตรารอบต่ำได้ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยมากนักเพราะว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน คนไทยจึงหันไปปลูกปาล์มมากกว่าเพราะมีราคาสูงและเป็นพืชส่งออกรายใหญ่ของโลกเลยก็ว่าได้
 

ประโยชน์และสรรพคุณสบู่ดำ

  • ใช้กินเป็นยาแก้ท้องเสีย (น้ำต้มราก)
  • ทำให้อาเจียน (น้ำต้มราก)
  • ใช้เป็นยาระบาย (น้ำต้มราก)
  • ใช้ทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ (น้ำต้มราก)
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด (น้ำยาง)
  • รักษาโรคริดสีดวงทวาร (น้ำยาง)
  • แก้โรคผิวหนังบางชนิด (น้ำยาง)
  • ใช้แปรงฟันแก้เหงือกบวมอักเสบ (ทุบกิ่งก้าน)
  • กินแก้ไอ (ใบแห้งใช้ชงชา)
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยลดไข้ (ใบแห้งใช้ชงชา)
  • ช่วยให้เหงือกแข็งแรง (ใบแห้งใช้ชงชา)
  • แก้คัน (ใบแห้งใช้ชงชา)
  • ช่วยขับน้ำนม (ทาภายนอก)
  • แก้ธาตุพิการ
  • ใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • แก้แผลเรื้อรัง
  • แก้ฝี
  • ช่วยลดอาการอักเสบ
  • เป็นยาถ่ายพยาธิ (ผล)
  • แก้บิด (ผล)
  • แก้อาการกระหายน้ำ (ผล)
  • แก้น้ำเหลืองเสีย (เมล็ด)
  • แก้คัน
  • แก้บวมแดง (เมล็ด)
  • แก้ตานขโมย
  • แก้พิษซาง
  • แก้ไข้
  • ช่วยฟอกเลือด
  • รักษาโรคปากนกกระจอก
  • รักษากระดูกหัก

           ส่วนเมล็ดเป็นพิษมาก มีคุณสมบัติเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์กัดทำลาย ใช้ทางยาเป็นยาถ่าย โดยกินเมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วนำมาย่างไฟเล็กน้อย จำนวน 3-5 เมล็ด สกัดได้น้ำมันกึ่งระเหย กินเป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้อาเจียนตับอักเสบทาเฉพาะที่ และน้ำมันนวดที่เตรียมขึ้นจากน้ำมันเมล็ด 1 ส่วน ผสมกับ Bland oil 3 ส่วน ใช้ทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ แก้คัน แก้ปวดเมื่อย และทาบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ

           มีการนำน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำ มาใช้เป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ หรือ ไบโอดีเซล แทนน้ำมันได้ ส่วนด้านอุตสาหกรรมมีการนำเปลือกต้นสบู่ดำไปสกัดเอาสาร tannin เพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกหนัง อุตสาหกรรมทอผ้า ย้อมสี ส่วนน้ำมันจากเมล็ดมีการนำไป เป็นส่วนผสมของสารกำจัดแมลง และศัตรูพืชในอุตสาหกรรมสารเคมี ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ก็ยังมีการนำน้ำมันจากส่วนของเมล็ดเนื้อในของสบู่ดำไปทำเป็นครีมถนอมผิวได้อีกด้วย 

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้

            แก้ตานขโมย แก้พิษซาง โดยการนำต้นสบู่ดำมาตัดเป็นท่อนๆ ต้มในน้ำให้เดือด แล้วรินใส่แก้วรอให้เย็นใช้ดื่ม เช้า-เย็น 

            แก้ไข้ แก้ไอ ฟอกเลือก แก้ธาตุพิการ แก้ท้องร่วง แก้อักเสบ โดยการนำใบมาตากให้แห้งแล้วใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้บดเป็นผงชงแบบชาดื่มก็ได้ 

            รักษาโรคปากนกกระจอก โดยการใช้น้ำยาง ของสบู่ดำ มาทาบริเวณที่เป็น 

            ใช้รักษากระดูกหัก โดยใช้เปลือกต้น หรือ ใบสดร่วมกับต้นส้มกบ และพริกไทย ตำให้ละเอียด นำไปผัดกับเหล้าแล้วพอกรอบๆ บริเวณที่หัก 

            โรคผิวหนังผื่นคัน ใช้ใบสดลนไฟจนใบอ่อนแล้วขยี้ให้แหลก ทาบริเวณที่เป็น 

            เคล็ดขัดยอก ปวดบวม ฟกช้ำ ใช้ใบสด ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น 


ลักษณะทั่วไปของสบู่ดำ

           ต้นสบู่ดำ สบู่ดำเป็นไม้พุ่มยืนต้นสูงประมาณ 2-8 เมตร  เป็นต้นไม่ที่มีอายุยืนมากกว่า 20 ปี ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาวปนเทา ลำต้น เปลือกเรียบ เกลี้ยงเกลา จะเติบโตได้ดีในเขตร้อน
           ใบสบู่ดำ จะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายกับใบละหุ่ง เรียงสลับกัน รูปค่อนข้างกลม หรือ ไข่ป้อมๆ กว้าง 7-11 ซม. ยาว 7-16 ซม. ปลายใบแหลม  ขอบใบเรียบ หรือ มีรอยหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ เส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5-7 เส้น ตามเส้นใบมีขนอ่อนปกคลุม ก้านใบยาว 6-18 ซม.
           ดอกสบู่ดำ  ดอกจะมีสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ยอด และตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกยาว 6-10 ซม. ดอกเพศผู้ มีกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ยาว 4-5 มม. กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอด ภายในหลอดมีขน เกสรผู้ 10 อันเรียงเป็น 2 วง วงละ 5 อัน อับเรณูตั้งตรง. ดอกเพศเมีย กลีบดอกไม่ติดกัน รังไข่ และท่อรังไข่เกลี้ยง บางทีก็มีเกสรผู้ฝ่อ 5 อัน; ภายในรังไข่มี 2-4 ช่อง มีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย.
           ผลสบู่ดำ กลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. แก่จัดจะแตกเป็น 3 พู แต่ละพูมี 2 กลีบ.
           เมล็ด รูปกลมรี สีดำ ผิวเกลี้ยง อายุของผลสบู่ดำตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่จะมีอายุประมาณ 60-90 วัน

สบู่ดำ

การขยายพันธุ์สบู่ดำ

สบู่ดำ เป็นพืชที่ไม่ชอบท่อมน้ำขัง แต่ชอบแสงแดดจัด จะเติบโตได้ดีในเขตร้อน เป็นต้นไม้ที่โตได้อย่างรวดเร็ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ดีสำหรับการเก็บเกี่ยวของผลผลิต พันธุ์ของสบู่ดำที่พบในประเทศไทย มี 3 พันธุ์ หลักๆ คือ พันธุ์จากประเทศฟิลิปปินส์ พันธุ์จากประเทศศรีลังกา พันธุ์จากประเทศมาเลเซีย การขยายพันธุ์สบู่ดำทำได้ 3 วิธี ดังนี้
           1.การเพาะเมล็ด เลือกเมล็ดที่แห้งมีสีน้ำตาลแก่ จะงอกได้ภายใน 10 วัน หลังจากเพราะในดิน การงอกจะมีส่วนของใบเลี้ยงคู่ 2 ใบโผล่พ้นดินโดยการยืดตัวของส่วน ใต้ข้อใบเลี้ยง ควรอนุบาลต้นกล้าให้มีอายุประมาณ 2-3 เดือน หรือ มีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก่อนนำไปปลูกลงในแปลง เพราะจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง และออกผลผลิตได้เร็ว โดยจะเก็บผลผลิตได้เมื่ออายุ 8-10 เดือนขึ้นไป
           2.การปักชำ ควรเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่มีสีเขียวปนน้ำตาลเล็กน้อย ไม่อ่อน หรือ แก่เกินไป ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ปักลงไปในถุงเพาะที่มีดินผสม รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 40-60 วัน ก็จะแตกใบและรากออก
           3.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะจะใช้ส่วนของยอดอ่อน และก้านใบ ปลูกเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ และชักนำได้ต้นอ่อนจำนวนหลายๆ ต้น จึงทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

สบู่ดำ

องค์ประกอบทางเคมี

จากงานวิจัยพบว่าปริมาณร้อยละ 46.3 น้ำมันสกัดจากเมล็ดสบู่ดำ ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณร้อยละ 78.1 โดยมีกรดโอเลอิก และกรดลิโนเลอิกเป็นองค์ประกอบหลัก และกรดไขมันอิ่มตัวร้อยละ 21.9 ซึ่งประกอบด้วยกรดปาล์มิติก และกรดสเตียริก ปริมาณไขมันในเมล็ดสบู่ดำ และองค์ประกอบของกรดไขมันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเมล็ดสบู่ดำ ในการผลิตไบโอดีเซล

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสบู่ดำ

โครงสร้างสบู่ดำ 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสบู่ดำ

1. ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน
           จากการทดลองในหนูขาว ที่ทำให้เกิดอาการท้องเดินด้วยน้ำมันละหุ่ พบว่าสารสกัด methanol จากรากของสบู่ดำ แสดงฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน โดยขนาดของสารสกัดที่ให้ผลอย่างมีนัย สำคัญ คือ 100-400 mg/kg คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์เกิดจากการยับยั้งการสร้าง prostaglandin และฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ซึ่งฤทธิ์นี้ตรงข้ามกับส่วนเมล็ดที่ทำให้เกิดอาการท้องเดิน

2. ฤทธิ์การยับยั้งเชื้อบิด
           เมื่อนำสารสกัด butanol จากใบ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Entamoeba histolytica ในหลอดทดลอง โดยมีค่า MAC (minimal amoebic concentration) 21 ug/ml โดยออกฤทธิ์ได้ปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน metronidazole และสารสกัดนี้ยังสามารถมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้หนู ที่ถูกกระตุ้นด้วย acetylcholine โดยมีค่าเปอร์เซ็นการยับยั้ง 90.45% โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน papaverine และ atropine sulfate ที่มีค่ายับยั้ง 100%

3. ฤทธิ์การต้านเชื้อ HIV
           สารสกัด methanol จากใบ และสารสกัดน้ำจากกิ่ง ออกฤทธิ์ดีในการปกป้องเซลล์จากเชื้อ HIV virus โดยมีฤทธ์ยับยั้งการเกิด cytopathic effect (การเปลี่ยนแปลงของ host cell เนื่องจากติดเชื้อไวรัส) มีค่า IC50 = 9 และ 24 ug/ml ตามลำดับ, ค่าSl (selectivity index; CC50= 5.8 และ 41.7 ug/ml ตามลำดับ) ดังนั้นสารสกัดน้ำจากส่วนกิ่ง จึงมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติต่ำกว่า และออกฤทธิ์ดี จากการแยกสารสำคัญจากส่วนกิ่งพบว่าสารที่ออกฤทธิ์ คือ 5,7-dimethoxy coumarin และ 6,7-dimethoxy coumarin แต่สารทั้งสองมีฤทธิ์น้อยกว่าสารสกัดเริ่มต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของสบูดำ

           1.ส่วนของใบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และฆ่าพยาธิโดยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus, Bacilius และ Mcrococous ยาง (sap) ที่ความเข้มข้น 50% และ 100% สามารถฆ่าไข่พยาธิไส้เดือนดและพยาธิปากขอได้
           2.ส่วนของยางสบู่ดำ ยังมีความเป็นพิษสูงมาก ต่อหนูที่นำมาทดลอง ส่วนของต้นสบู่ดำ จากการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง cytopathic effect ของเชื้อ HV โดยมีพิษที่ระดับต่ำ

           3.ส่วนของผลสบู่ดำ ได้นำมาทดลองกับปลาคาร์ฟ พบว่าพิษของ phorbol ester ทำให้ปลาคาร์ฟมีการเจริญเติบโตได้ช้า และไม่ยอมกินอาหาร แต่เมื่อหยุดให้ phorbol ester ปรากฎว่าปลาคาร์ฟกลับมาเป็นปกติ

           4.ส่วนของเมล็ดสบู่ดำ สารพิษในเมล็ดคือ curcin มีฤทธิ์ต่อสัตว์หลายชนิด และมนุษย์ดังนี้

                 -ฤทธิ์กับหนู พบว่าสารพิษ curcin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีน แต่ในทางกลับกันพบว่าในเมล็ดสบู่ดำ มีสารบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์เป็น tumor promoter กล่าว คือ ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่มี ยีนผิดปกติเนื่องจากของสารก่อมะเร็ง แบ่งตัวอย่างรวดเร็วและอาจพัฒนา เจริญเป็นก้อนมะเร็งได้

                 -พิษเฉียบพลันของเมล็ดสบู่ดำ พิษกับหนู เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักร พบว่าทำให้หนูตาย เนื่องจากการคั่งในหลอดเลือด หรือ เลือดออกในลำไส้ใหญ่ ปอด

                - พิษกับลูกไก่ พบว่าเมื่อนำเมล็ดมาผสมอาหารให้ลูกไก่กิน ทำให้ลูกไก่โตช้า ตับ และไตโต

                - พิษในสัตว์ เช่น แกะ แพะ ทำให้ท้องเสีย ขาดน้ำ ไม่กินอาหาร และมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ปอด ไต หัวใจผิดปกติ มีเลือกออกหลายแห่งในร่างกาย

                - พิษที่พบในเด็ก ที่รับประทานเมล็ดสบู่ดำได้แก่ อาการกระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และขาดน้ำ

                - พิษที่พบในผู้ใหญ่ กรณีที่เป็นสายพันธุ์ที่มีสารเป็นพิษสูง หากรับประทานเพียงแค่ 3 เมล็ด ก็เป็นอันตรายแก่ระบบทางเดินอาหาร แต่บางพันธุ์รับประทานถึง 50 เมล็ดก็ไม่เป็นอันตราย

           5.ราก ฤทธิ์ต้านอักเสบ ผงรากเมื่อทาบนใบหูของหนูถีบจักร จะช่วยต้านอักเสบ จากการถูกสาร TPA ได้ และสารสกัดด้วยเมธานอลของผงราก เมื่อให้ทางปากจะต้านอักเสบของอุ้งเท่าหนูที่ได้รับสาร carrageenan

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • เด็ก และสตรีมาครรภ์ไม่ควรรับประทานเนื่องจากมีสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรงได้
  • ไม่ควรให้ยางของต้นสบู่ดำ โดนผิวหนัง เพราะจะเกิดอาการคัน หรือ เกิดอาการแพ้หรือมีตุ่มน้ำพองได้
  • ถ้ารับประทานเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้ หรือ อาเจียนตัวสั่นควรรีบไปพบแพทย์ด้วยทันที

เอกสารอ้างอิง สบู่ดำ
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. วีณา จิรัจฉริยากูล ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพประกอบจาก : http://www.renewableenergymexico.comwp-contentuploads201203Jatropha.jpg
  2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๙ / เรื่องที่ ๕สบู่ดำ / ประวัติความเป็นมาของสบู่ดำ
  3. กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. 2544. แนวทางการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข
  4. Horiuchi,T.et al. 1987. Available: cancerres.aacjoumals.org/cgi/content/abstract/ 48/20/5800
  5. สถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  6. ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  7. คลังสมุนไพร และสาระความรู้เรื่องสมุนไพร www.disthai .com
  8. ชำนาญ ฉัตรแก้ว. บทนำ “สบู่ดำ”. ใน ชำนาญ ฉัตรแก้ว บก. สบู่ดำ พืชพลังงาน., กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พลับบลิชชิ่ง; 2549. หน้า 1-11.
  9. คู่มือพื้นฐานความรู้สุขภาพสุ่เศรษฐกิจพอเพียง | โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข