เร่ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เร่ว งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร เร่ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เร่วใหญ่, เร่งน้อย (ทั่วไป), มะอี๋, หมากอี๋, มะหมากอี๋ (ภาคเหนือ), กระวานป่า, เร่วกระวาน (ภาคกลาง), หมากเนิง, หมากเน็ง (ภาคอีสาน), หน่อเนง (ชัยภูมิ), หมากแหน่ง (สระบุรี), เร่วดง (ตราด), ผาลา (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ เร่วสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. เร่วน้อย Amomum villosum Lour.
  2. เร่วใหญ่ Amomum xanthioides Wall. ex Baker

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์

  1. เร่วน้อย ได้แก่ Amomum echinosphaera K.Schum., Cardamomum villosum (Lour.) Kuntze
  2. เร่วใหญ่ ได้แก่ Amomum villosum var. xanthioides (Wall. ex Baker) T.L.Wu & S.J.Chen

ชื่อสามัญ Bustard cardamom, Tavoy cardamom
วงศ์ Zingiberaceae

ถิ่นกำเนิดเร่ว

ถิ่นกำเนิดของเร่วนั้น เชื่อกันว่าเป็นพืชป่าดั้งเดิมของไทย และพบในแถบเดียวกับที่พบกระวาน ไทย แต่มีบางรายงานระบุว่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง
สำหรับแหล่งที่เชื่อกันว่าเป็นถิ่นกำเนิดของเร่วในประเทศไทย ได้แก่ บนภูเขาสูงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาสอยดาว ซึ่งอยู่ติดชายแดนเขมร และในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ในปัจจุบันสามารถพบเร่ว ได้เชื่อทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคตะวันออก และภาคใต้บางจังหวัด

ประโยชน์และสรรพคุณเร่ว

  • แก้ไข้
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้หืดไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ระดูขาว
  • แก้ไข้สันนิบาต
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้คลื่นเหียน
  • แก้อาเจียน
  • ช่วยขับน้ำนมหลังคลอด
  • ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • แก้โลหิต
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ
  • แก้ความดันโลหิตต่ำ
  • แก้ไข้เซื่องซึม
  • แก้ปัสสาวะพิการ 
  • แก้พิษเม็ดผื่นคัน
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • ขับลม
  • แก้จุก เสียก แน่น
  • บรรเทาอาการท้องเสีย
  • ช่วยครรภ์รักษา
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับน้ำนม
  • แก้ธาตุพิการ

           เมล็ด และผลของเร่ว ใหญ่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศแทนกระวานได้ และในปัจจุบันยังสามารถนำมาผลิต หรือ ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอางค์ น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกด้วยนอกจากนี้ในตำรายาต่างๆ ยังระบุว่าผลเร่วจัดอยู่ใน “พิกัดทศกุลาผล” คือ การจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มี ชะเอมเทศ, ชะเอมไทย, ผักชีล้อม, ผักชีลา, ลำพันแดง, ลำพันขาว, เร่วน้อย, เร่วใหญ่

เร่ว

เร่ว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด นำเมล็ดในจากผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร และในตำรายาไทย-จีน จะใช้เร่วน้อย และเร่วใหญ่ ขับลม บรรเทาอาการท้องเสีย และครรภ์รักษา แก้อาการอาเจียน แก้ไข้ แก้ไอ ขับน้ำนม แก้ธาตุพิการ แก้ปวดท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ โดยใช้เมล็ดบดเป็นผง ครั้งละประมาณ 7-8 กรัม ชงกับน้ำขิง ต้ม ใช้ดื่มบ่อยๆ แก้อาการเป็นพิษ โดยใช้ผง ชงกับน้ำอุ่นดื่ม บำรุงธาตุ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง โดยใช้เมล็ดเร่ว ผสมกับหัวแห้วหมู รากชะเอม และขิงแห้งร่วมกัน แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยใช้ผลเร่วแห้งหนัก 7-8 กรัม รางไฟจนแห้งกรอบแล้วบดเป็นผงชงน้ำรับประทานบ่อยๆ


ลักษณะทั่วไปของเร่ว

โดยทั่วไปแล้วลักษณะทั่วไปของเร่วน้อย และเร่วใหญ่จะคล้ายๆ กัน โดยจะมีส่วนของผลเท่านั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะทั่วไปของเร่วมีดังนี้

           เร่ว จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้า หรือ ลำต้นอยู่ในดิน มีลำต้นเทียมเป็นกาบแข่งโผล่เหนือดินขึ้นมา สูงได้ 2-4 เมตร โดยเป็นพืชสกุลเดียวกับ กระวาน ข่า ขิง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบเรียวยาว เป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมใบหอกปลายใบเรียวแหลม ห้อยลง มีความยาวประมาณ 30-50  เซนติเมตร และกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านใบเป็นแผ่นมีขนาดสั้น ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า เป็นดอกฝอยขนาดเล็กดอกจะรวมอยู่ในก้านเดียวกันเป็นช่อยาวๆ คล้ายกับดอกข่า กลีบดอกเป็นสีขาว หรือ ชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเทา โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นกลีบมีก้านช่อดอกสั้น

           ส่วนผลของเร่วนั้นสามารถจำแนกออกได้ดังนี้ เร่วน้อย ผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขน ผลแก่สีน้ำตาลแดง มีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลม หรือ กลมรี มี 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 3-15 เมล็ด อยู่เรียงแน่น 3-4 แถว เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและเป็นสันนูน กว้าง 2-3 มม. ยาว 2.5-4 มม. สีน้ำตาลเข้ม หรือ สีน้ำตาลดำ ผิวนอกเรียบมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นเด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดซ่าและขมเล็กน้อย เร่วใหญ่ ผลเรียวยาว หรือ ขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนอ่อนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ภายในมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10-20 เมล็ด ลักษณะเหมือนเร่วน้อย ผลมีรสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว เมล็ด รสร้อนเผ็ดปร่า


การขยายพันธุ์เร่ว

เร่วเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ค่อนข้างชื้นพอสมควร และพบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะในสังคมป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง เร่วสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การใช้เหง้า และการแยกหน่อ หรือ ต้นกล้า แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการแยกหน่อ ซึ่งควรเลือกต้นกล้าหรือหน่อที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยทำการแยกต้นกล้าที่มีไหลติดอยู่ด้วยมาปลูกเพราะจะมีการแตกหน่อได้ดี และในช่วงเร่วอายุ 1 ปี จะมีการแตกหน่อใหม่อยู่ในช่วง 4-5 หน่อต่อกอ 

           ทั้งนี้ควรปลูกภายใต้ร่มเงาของ สวนผลไม้ หรือ สวนไม้ป่าที่มีร่มเงาประมาณ 50-60 % โดยมีระยะปลูกที่เหมาะสมของการปลูกเร่วประมาณ 1 เมตร หรือ มีจำนวนต้นอยู่ในช่วง 1,200-1,300 กอต่อไร่ 

           สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเริ่มเก็บเมื่อเร่วมีอายุประมาณ 3 ปี โดยการเลือกกิ่งเหง้าที่จะนำไปจำหน่ายควรเลือกเหง้าที่มีลักษณะใหญ่ 1-2 ต้นต่อกอ โดยปล่อยต้นที่เหลือในกอมีเจริญเติบโตและแตกต้นใหม่ต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

ในเมล็ดมีน้ำมันระเหยง่ายมากกว่าร้อยละ 3 พบสารที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ camphor, borneol, bomyl acetate, linalool, nerolidol, p-methyloxy-trans ethylcinnamate และพบ saponin 0.69%

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเร่ว   

 

 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเร่ว

ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากเมล็ดเร่วใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley โดยการป้อนสารสกัดพืชแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที ป้อน 60% ethanol ใน 150 mM HClปริมาณ 0.5 ml/100g เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หลังจากหนูได้รับ HCl-ethanol แล้ว 1 ชั่วโมง จึงแยกกระเพาะอาหารออกมาศึกษา ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 (150 mg/kg) และส่วนสกัดย่อยที่ 6 (100 mg/kg) ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอล ทำให้ขนาดแผลในกระเพาะอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า lesion index เท่ากับ 5.6±0.56** และ 23.8±1.97* ตามลำดับ (*p<0.05, **p<0.01 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) โดยส่วนสกัดย่อยทั้งสองชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน cimetidine (lesion index เท่ากับ 25.6±2.12*)

           ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด ผลยับยั้งการหลั่งกรดในหนูที่ผ่านการทำ pyrolic ligation (ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย) เพื่อกระตุ้นการหลั่งกรด และตัดกระเพาะอาหารออกมาศึกษา พบว่าสารสกัดบิวทานอล (350 mg/kg) และสารสกัดเอทานอล (1,000 mg/kg) จากเมล็ดเร่ว ใหญ่ สามารถลดปริมาณกรดรวมในกระเพาะอาหารได้ โดยมีค่าปริมาณกรดรวม (total acid output) เท่ากับ 42.73±3.89 และ 54.67±10.58 mEq/mL ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน cimetidine (total acid output เท่ากับ 19.65±5.39 mEq/mL)

           สอดคล้องกับการทดสอบฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของสารสกัดจากเร่ว สารสกัดเมทานอลขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดการหลั่งน้ำย่อย และของเหลวในกระเพาะอาหารหนูแรท และลดการหลั่งกรดได้ตามขนาดที่ได้รับ อีกทั้งมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปปซินได้ 33.74 และ 54.90% ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดแอลกอฮฮล์จากเมล็ดเร่ว ขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว มีผลยับยั้งฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้จากการเหนี่ยวนำด้วย L-dopa ได้ 59.36 ± 3.27% และ 69.38 ± 3.46% ตามลำดับ จึงเป็นส่วนช่วยสนับสนุนฤทธิ์ของเมล็ดเร่ว เพื่อบรรเทาโรคในระบบทางเดินอาหารตามภูมิปัญญาดั้งเดิม (5)  

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยน้ำ : แอลกอฮออล์ (1:1) จากเมล็ดเร่ว ความเข้มข้น 20-500 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพิ่มขึ้นตามสารสกัดที่ได้รับ และเมื่อให้สารสกัดจากเร่วขนาด 500 มคก./มล.ร่วมกับอินซูลิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

           เมื่อฉีดการสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่ว ขนาด 2.5 มก./กก.น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่เวลา 2 วัน ก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยการฉีด alloxan มีผลป้องกันการเกิดเบาหวานในสัตว์ทดลอง โดยคงระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าปกติ และป้องกันการลดลงของระดับอินซูลินได้ เมื่อทำการผ่าพิสูจน์ซากของหนูเบาหวานพบว่าเกิดความเสียหายบริเวณเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อน และเซลล์ลดขนาดลง แต่ไม่พบความผิดปกตินี้ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดเร่ว (7) เช่นเดียวกับการศึกษาของ Lee และคณะที่พบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วสามารถป้องกันความเสียหายจากการเกิดความเครียดออกซิเดชันในเซลล์ตับอ่อนเพาะเลี้ยงจากหนูแฮมสตอร์จากการเหนี่ยวนำด้วยalloxan โดยลดการเกิดอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species: ROS) ลดระดับแคลเซียมไอออนภายในเซลล์ ลดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ (DNA fragmentation) ร่วมกับการเพิ่ม NAD+ และระดับ ATP ในเซลล์ และเมื่อบ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อนด้วยสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วและ alloxan สามารถป้องกันฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนของ alloxan ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเบาหวานได้ 

           ฤทธิ์ในยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นสาเหตุหลักในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหารได้ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเชื้อ H. pylori ได้ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) เท่ากับ 1.43 μg/ml เทียบเท่ากับยามาตรฐาน ampicillim (MIC เท่ากับ 1.00 μg/ml) 

           ฤทธิ์ปกป้องตับ ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดน้ำจากเร่ว ใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley ให้หนูได้รับสารไดเมททิลไนโตรซามีน (DMN) ขนาด 10 mg/kg โดยการฉีดเข้าช่องท้อง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดตับอักเสบกึ่งเรื้อรัง ร่วมกับการป้อนสารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 50 หรือ 100 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม โดยให้วันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 3 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำตับ และเลือดมาศึกษา ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 100 mg/kg สามารถลดระดับของเอนไซม์ตับ ซึ่งบ่งบอกภาวะการอักเสบของตับลดลง โดยมีปริมาณที่ตรวจพบในซีรัมดังนี้ alanine aminotransferase (123.6±39.9IU/L*), aspartate aminotransferase (227.9±69.6 IU/L**), alkaline phosphatase (820.9±360.9 IU/L*) และ total bilirubin (0.50±0.50g/dL*) (**p<0.01, * p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN) การตรวจสอบในเนื้อเยื่อตับ พบว่าปริมาณสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงได้แก่ malondialdehyde (MDA) โดยมีปริมาณเท่ากับ 53.6±9.1 μM/g tissue) มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01) และลดการสะสมของคอลลาเจนในเซลล์ตับ วัดจากปริมาณ hydroxyproline มีค่าเท่ากับ 30.5 6.9 mg/g tissue ซึ่งมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01) นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ยังมีผลช่วยให้ระดับของสารต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อตับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีปริมาณของ total antioxidant capacity (2.54±0.14μM/mg tissue), superoxide dismutase (0.30±0.04U/mg tissue), glutathione (2.10±0.52μM/mg tissue) และ catalase (605.0±103.9 U/mg tissue) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN)

           เมื่อป้อนหนูแรทด้วยส่วนสกัดเมทานอลจากเมล็ดเร่ว ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ 7-14 ของการเหนี่ยวนำให้เกิดผังผืดในตับด้วยการฉีดthioacetamide 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 สัปดาห์ ช่วยลดการเกิดผังผืดในตับได้ โดยอาศัยฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดระดับอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (reactive oxygen species; ROS) เพิ่มปริมาณกลูต้าไธโอน และกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (glutathione-peroxidase) ยับยั้งการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับ รวมถึงช่วยลดระดับไซโตคานย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการสร้างพังผืดในเนื้อเยื่อตับได้แก่ nitric oxide synthase (iNOS), tumor necrosis factor alpha (TNF-α), transforming growth factor beta (TGF-β), platelet-derived growth factor beta (PDGF-β) และ connective tissue growth factor (CTGF) (10) นอกจากนี้ยังมีผลลดการเกิดพังผืดในตับของสัตว์ทดลองที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เมื่อป้อนสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากผลเร่วที่ขนาด 12.5, 25 หรือ 50 มก./กก. หรือยา ursodeoxycholic acid  ขนาด 25 มก./กก. สามารถป้องกันการเกิดพังผืดในตับ ลดอาการท้องมาน และลดการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับในหนูแรทที่ถูกตัดถุงน้ำดี และเมื่อบ่มเซลล์สเตลเลต (LX-2 cells stellate cell) ที่แยกจากหนูแรทด้วยสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากเมล็ดเร่ว พบว่าสารสกัดจากเร่วจะยับยั้งการส่งต่อสัญญาณของ α-SMA และ Smad2/3 จากการกระตุ้นด้วย TGF- β ส่งผลให้การเกิดพังผืดในตับลดลง 

           ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร 3 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ AGS, KATO III และ SNU638 ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอลของเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดได้ ที่ความเข้มข้น 1.0 และ 0.5 p.g/mL ภายหลังจากการสัมผัสสารทดสอบที่เวลา 24 และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ (Lee, et al.,2007) โดยสรุปสารสกัดจากเร่วสามารถนำไปพัฒนาในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และมะเร็งกระเพาะอาหารได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของเร่ว

สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) จากผลแห้งแก่ของเร่ว ไม่แสดงอาการพิษ เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ก./กก. (น้ำหนักตัว) และเมื่อป้อนให้หนูเม้าส์กินที่ขนาด 32 ก./กก.น้ำหนักตัว (ซึ่งเท่ากับ 16,000 เท่าในคน) ไม่แสดงอาการพิษเช่นกัน โดยพบขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง คือ 34.3 ก./กก.น้ำหนักตัว 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้เร่ว เป็นสมุนไพรเพื่อหวังสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ นั้น ก็เหมือนกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ นั่นก็คือไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ตำรับยาต่างๆ กำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง เร่ว
  1. เร่ว.สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2543: 740 หน้า.
  3. มงคล โมกขะสมิต กมล สวัสดีมงคล ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 1971;13(1):36-66 
  4. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. หนังสือสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2541: 176 หน้า.
  5. Vibuljan S. การวิจัยทางด้านเคมีของสมุนไพรเร่ว. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต, สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543: 138 หน้า.
  6. เร่ว.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com
  7. เร่ว .กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_8.htm.
  8. Yamazaki T, Matsushita Y, Kawashima K, Someya M, Nakajima Y, Kurashige T. Evaluation of the pharmacological activity of extracts from amomi semen on the gastrointestinal tracts. J Ethnopharmacol. 2000;71(1-2):331-5.
  9. Lee YS, Kang MH, Cho SY, Jeong CS. Effects of constituents ofAmomum xanthioides on gastritis in rats and on growth of gastric cancer cells. Arc Pharm Res. 2007;30(4):436-443.
  10. Lee JH, Park JW, Kim JS, Park BH, Rho HW. Protective effect of Amomi semen extract on alloxan-induced pancreatic beta-cell damage. Phytother Res. 2008;22(1):86-90.
  11. Wang J-H, Wang J, Choi M-K, Gao F, Lee D-S, Han J-M, et al. Hepatoprotective effect of Amomum xanthoides against dimethylnitrosamine-induced sub-chronic liver injury in a rat model. Pharm Biol. 2013;51(7):930-935.
  12. Wang JH, Shin JW, Choi MK, Kim HG, Son CG. An herbal fruit, Amomum xanthoides, ameliorates thioacetamide-induced hepatic fibrosis in rat via antioxidative system. J Ethnopharmacol. 2011;135(2):344-50.
  13. Kang Y, Kim HY. Glucose uptake-stimulatory activity of Amomi Semen in 3T3-L1 adipocytes. J Ethnopharmacol. 2004;92(1):103-5.
  14. Kim HG, Han JM1, Lee JS, Lee JS, Son CG. Ethyl acetate fraction of Amomum xanthioides improves bile duct ligation-induced liver fibrosis of rat model via modulation of pro-fibrogenic cytokines. Sci Rep. 2015;5:14531.
  15. Park BH, Park JW. The protective effect of Amomum xanthoides extract against alloxan-induced diabetes through the suppression of NFkappaB activation. Exp Mol Med. 2001 Jun 30;33(2):64-8.