ละหุ่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ละหุ่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ละหุ่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะโห่ง, มะโห่งหิน, มะหุ่ง (ภาคเหนือ), ละหุ่งขาว, ละหุ่งแดง (ภาคกลาง, ทั่วไป), ปี่มั้ว (จีน), Ricinus (สเปน,โปรตุเกส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ricinus communis Linn. 
ชื่อสามัญ Castor, Castor bean, Castor oil plant
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดละหุ่ง

ละหุ่งตะกลูเดียวกับถั่วดาวอินคา มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบ แอฟริกาตะวันออก เช่น อิยิปต์, ซูดาน, เอริเทรีย, เอธิโอเปีย, ลิเบีย รวมถึงบริเวณรอบๆ ทะเลเมดินอร์เรเนียน ในปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน และเขตร้อนชื้น โดยพบมากในประเทศบราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาค โดยพบมากในพื้นที่ลุ่มหรือ ริมแม่น้ำ เพราะการไหลของน้ำช่วยในการแพร่กระจายของเมล็ดได้ดี นอกจากนี้ละหุ่ง ยังเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย เพราะปัจจุบันการส่งออกละหุ่งในตลาดโลกมีประเทศส่งออกรายใหญ่ คือ บราซิล อินเดีย และไทย ซึ่งสามารถนำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลายล้านบาท


ประโยชน์และสรรพคุณละหุ่ง

  • มีฤทธิ์ฆ่าแมลงบางชนิดได้
  • ใช้ต้มกินเป็นยาระบาย
  • แก้ปวดท้อง
  • ใช่ขับน้ำนม
  • ช่วยขับระดู (ประจำเดือน)
  • ช่วยขับลม
  • แก้ปวดบวม
  • แก้ปวดตามข้อ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • รักษาแผลเรื้อรังใช่
  • เป็นยาพอกรักษาฝี (นำมาตำ)
  • แก้ช้ำรั่ว (อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)
  • แก้เลือดลมพิการ
  • เป็นยาพอกเหงือกแก้ปวดฟัน
  • ต้มกินเป็นยาระบาย
  • แก้พิษไข้เซื่องซึม
  • เป็นยาสมาน
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้กระดูกหัก กระดูกแตก
  • มีฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ให้บีบตัว ขับกากอาหารออกมา
  • ช่วยป้องกันพิษจากหอยคัน (บดผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู)
  • ช่วยป้องกันผื่นแพ้จากสาหร่าย (บดผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู)
  • ห้ามเลือดจากแผลสด
  • แก้อาการผดผื่นคัน หรือ การระคายเคืองที่ผิวหนัง
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ช่วยลดไข้
  • แก้อาการหอบหืด

           ละหุ่ง นั้นมีการนำละหุ่งมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น น้ำมันเมล็ดละหุ่ง มีกรดไขมัน Ricinoleic มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูง ไม่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันพืชชนิดอื่นได้ โดยจะนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าต่างๆ ส่วนน้ำมันละหุ่งที่ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์สามารถนำมาผลิตใช้เป็นยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอางชนิดต่างๆ ลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษสา ปลูกต้นละหุ่งเป็นแนวรอบสวนไร่นาสามารถช่วยป้องกันหรือขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ ปลูกแบบหมุนเวียนในไร่ก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยได้อีกด้วย

ละหุ่ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

น้ำมันละหุ่ง ใช้เป็นยาถ่ายที่ใช้กันมานานแล้ว ออกฤทธิ์ภายใน 3 ชั่วโมง น้ำมันละหุ่งทำให้ไม่มีแก๊ส และอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ แต่เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีกลิ่นไม่ชวนกิน ดังนั้นควรใช้ผสมกับน้ำผลไม้จะทำให้กินได้ง่ายขึ้น ควรกินในขณะท้องว่าง แต่ไม่ควรใช้ก่อนนอน เพราะออกฤทธิ์เร็ว ขนาดที่ใช้สำหรับเป็นยาระบาย คือ 4 มิลลิกรัม หากต้องการใช้เป็นยาถ่าย ขนาดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 15-60 มิลลิกรัม เด็กครั้งละ 5-15 มิลลิกรัม

           น้ำยาง ใช้ทาห้ามเลือดจากแผลสด แก้อาการผดผื่นคัน หรือ การระคายเคืองที่ผิวหนัง

          ใบ นำมาต้มดื่ม แก้อาการปวดท้อง ช่วยลดไข้ นำมาตำ หรือ บดขยำ ใช้ทาพอกรักษาฝี แก้อาการผดผื่นคัน หรือ รักษาโรคผิวหนัง รวมไปถึงใช้ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง หรือ ใช้เผาไฟพอกแก้ปวดบวมตามข้อ หรือ ใช้ใบห่อกับดิฐเผาไฟแล้วใช้ประคบ แก้ริดสีดวงทวาร

          ราก และลำต้น นำมาต้มดื่ม แก้อาการหอบหืด ใช้เป็นยาระบาย หรือ ใช้สุมเป็นถ่านทำเป็นยารับประทานแก้พิษไข้ เซื่องซึมและเป็นยาฝาดสมาน


ลักษณะทั่วไปของละหุ่ง

ละหุ่งจัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 6 เมตร โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ละหุ่ง ขาวลำต้น และก้านใบจะเป็นสีเขียว ละหุ่งแดงลำต้นและก้านใบจะเป็นสีแดง มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งแขนงออกน้อย ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง ส่วนแก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย

           ใบเป็นใบเดี่ยวแทงใบออก เรียงสลับตามลำต้น ใบมีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเว้าเป็นแฉกๆ คล้ายใบมะละกอ โดยใบละหุ่งจะเชื่อมกับแผ่นใบบริเวณตรงกลาง แผ่นมีขนาดประมาณ 20-60 เซนติเมตร (แต่ขนาดใบจะแตกต่างตามสายพันธุ์) แผ่นใบเป็นแฉกเว้า ประมาณ 7-11 แฉก เรียงกันเป็นวงกลม แต่ละแฉกมีโคนเชื่อมติดกัน แผ่นแต่ละแฉกเรียบ ขอบมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นแฉกมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน ทั้งนี้ ทั้งก้านใบ แผ่นใบ เส้นกลางใบจะมีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ 

           ดอกออกเป็นช่อ ที่ปลายกิ่งหรือที่ปลายยอดแบบช่อกระจะ บางครั้งแยกแขนง มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้อยู่ช่วงบน ดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง ก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ในดอกเพศเมียเรียวแคบกว่า เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มๆ แตกแขนง รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด มีเกล็ดคล้ายหนามปกคลุม ก้านเกสร 3 อัน ยาวเท่าๆ กลีบเลี้ยงบางแยกเป็น 3-5  แฉก ติดทน ไม่มีกลีบดอก ก้านดอกยาว ไม่มีจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็น 5 หยัก รูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ร่วงง่าย ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ทรงรี ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร มี 3 พู รูปไข่ สีเขียว ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผิวมีขนคล้ายหนามอ่อน ทั้งผล คล้ายผลเงาะ เมล็ดทรงรี

           เมล็ดละหุ่ง มีรูปรี และแบนเล็กน้อย ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดเรียบ มีลายสีน้ำตาลดำ และสีครีมประ ผิวเป็นมัน และแข็ง ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อเมล็ด สีขาวนวล หรือ สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันจำนวนมาก

           โดยน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือ มีสีเหลืองอ่อนๆ น้ำมันมีกลิ่นเล็กน้อย มีรสเฝื่อน มันเอียน และเผ็ดเล็กน้อย

น้ำมันละหุ่ง

การขยายพันธุ์ละหุ่ง

ละหุ่งสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูก ดังนี้

  • การเตรียมดิน การปลูกละหุ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่จำเป็นต้องไถพรวนแปลง และกำจัดวัชพืช อย่างน้อย 1 รอบ
  • การปลูกละหุ่ง มักจะนิยมปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ด้วยการหยอดเมล็ด เพราะสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด โดยขุดหลุมด้วยเสียมให้เป็นแถวๆ ลึกประมาณ 5-8 เซนติเมตร หรือ ไถคราดเป็นร่องตื้นๆ โดยแบ่งการปลูกได้ตามสายพันธุ์ คือ สำหรับพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลำต้น และทรงพุ่มใหญ่ ให้ปลูกแต่ละแถวห่างกัน ประมาณ 3 เมตร แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 2-3 เมตร ใช้เมล็ดประมาณ 0.5 กิโลกรัม/ไร่ และสำหรับพันธุ์ต่างประเทศ หรือ พันธุ์อายุสั้น ให้ปลูกแต่ละหลุม และแถวห่างกัน ประมาณ 1-2 เมตร ใน 1 ไร่ ใช้เมล็ดประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม  จากนั้น หยอดเมล็ด หลุมละ 2-3 เมล็ด ก่อนเกลี่ยหน้าดินกลบ และปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ
  • หลังหยอดปลูกเมล็ด ประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะแทงต้นอ่อนให้เห็น จากนั้น ประมาณ 15-20 วัน ให้ถอนต้นกล้าที่มีขนาดเล็ก หรือ ไม่สมบูรณ์ออก เหลือไว้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง 1 ต้น/หลุม
  • การเก็บเมล็ดละหุ่ง เมล็ดละหุ่ง พันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์ เมื่อแก่เมล็ดจะปริแตก และร่วงลงดิน แต่พันธุ์ต่างประเทศและพื้นเมืองบางพันธุ์ เมล็ดไม่ปริแตก และไม่ร่วงง่ายทั้งที่แก่แล้ว และเริ่มเก็บเมล็ดประมาณ 4-6 เดือน หลังจากเก็บผลละหุ่งแล้ว นำช่อผลละหุ่งมาตากแดด 2-3 แดด ให้แห้ง จากนั้น ให้เด็ดผลละหุ่งออกจากช่อ แล้ววางบนแผ่นไม้ หรือ ลานปูน ก่อนใช้ไม้แผ่นตี หรือ กดเบาที่ผล ผลก็จะปริแตก แยกเมล็ดออกมา

ละหุ่งองค์ประกอบทางเคมี  

ภายในเมล็ดประกอบด้วยน้ำมันระเหยยาก (fixed oil) ประมาณ 45-55% โปรตีน 15-20% ในน้ำมันมีองค์ประกอบสำคัญ คือ triricinoleoylglycerol ซึ่งสามารถถูก hydrolysed บริเวณลำไส้เล็กโดยน้ำย่อย lipase จากตับอ่อน ได้เป็น ricinoleic (hydroxylated C18 fatty acid) คิดเป็นประมาณ 90% ของกรดไขมันทั้งหมด ที่เหลือเป็น linoleic, oleic, stearic เล็กน้อย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของละหุ่ง
โครงสร้างละหุ่ง 

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยังพบสารที่ทำให้เกิดพิษในส่วนต่างๆ ของละหุ่ง อีกเช่น ในใบ ลำต้น และเมล็ด พบ Potassium nitratc, Hydrocyanin acid, Ricin และ Ricinus Communis Agglutinin (RCA) เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของละหุ่ง

ฤทธิ์รักษาอาการเข่าอักเสบ การศึกษาแบบ Randomized, double-blind, comparative clinical study เปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาอาการเข่าอักเสบ (Knee osteoarthritis) ระหว่างน้ำมันละหุ่ง (Castor oil) และยา Diclofenac Sodium ในผู้ป่วยที่มีอาการเข่าอักเสบจำนวน 100 คน (ชาย 32 คน หญิง 68 คน) อายุ 40-90 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน กลุ่มแรกให้รับประทานแคปซูลน้ำมันละหุ่งขนาด 0.9 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง กลุ่มที่สองรับประทานยา Diclofenac ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำมันละหุ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเข่าอักเสบได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยา Diclofenac อีกทั้งไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ในกลุ่มที่รักษาด้วยน้ำมันละหุ่ง

          ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดเอทานอลจากรากละหุ่ง การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่ง โดยการป้อนสารสกัดครั้งเดียวขนาด 125, 250, 500, 750, 1000 และ 2000 มก./กก. ให้กลุ่มหนูขาวเพศผู้ปกติ และกลุ่มหนูขาวเพศผู้เป็นเบาหวาน Type1 โดยเทียบกับการป้อนยามาตรฐาน tolbutamide ขนาด 200 มก/กก และ 500 มก./กก. สำหรับหนูปกติ และหนูเบาหวานตามลำดับ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood glucose) ที่เวลา 0, 1, 2, 4, 6 และ 8 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 500 มก./กก. มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากที่สุด และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่ชั่วโมงที่ 6 และ 8 ในหนูปกติและชั่วโมงที่ 8 ในหนูเบาหวาน ซึ่งสารสกัดรากละหุ่งลดน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกับ tolbutamide ในหนูปกติและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า tolbutamide ในหนูเบาหวาน

          ดำเนินการศึกษาต่อไปโดยป้อนสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 500 มก./กก./วัน (ให้ผลลดน้ำตาลได้สูงสุด) ให้หนูขาวเป็นเบาหวาน Type 1 เป็นเวลา 20 วัน พบว่าสารสกัดขนาด 500 มก./กก. ไม่เพียงแต่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดแต่ยังมีผลลดระดับไขมันโดยรวม มีผลต่อการทำหน้าที่ของตับ และไต โดยลดระดับ alkaline phosphatase, serum bilirubin, cretinine, serum glutamate oxaloacetate transaminase, serum glutamate pyruvate transaminase, เพิ่มระดับโปรตีนโดยรวมในระยะเวลา 10 และ 20 วัน มีผลเพิ่มระดับอินซูลินในเซรัมอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 20 วัน

         การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันโดยการป้อนสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 2.5, 5.0, 7.5 และ 10.0 ก./กก. ให้หนูขาวไม่เป็นเบาหวาน หลังจากการป้อน 24 และ 72 ชม. พบว่าไม่มีผลต่อระดับ alkaline phosphatase, serum bilirubin, cretinine, serum glutamate oxaloacetate transaminase, serum glutamate pyruvate transaminase และ total protein เมื่อได้รับสารสกัดทุกขนาดดังกล่าว และพบว่าพฤติกรรมของหนูขาวเป็นปกติในระยะเวลา 1 สัปดาห์


การศึกษาทางพิษวิทยาของละหุ่ง

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ความเป็นพิษของละหุ่งเกิดจาก ไรซิน (ricin) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษสูงมากชนิดหนึ่งในบรรดาอาณาจักรของพืช เนื้อเยื่อในของเมล็ดละหุ่งประกอบด้วยไกลโคโปรตีน (glycoprotein) เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หอบหืดในหมู่คนงาน 
           สารพิษ ส่วนของใบ ลำต้น เมล็ดละหุ่งประกอบด้วย โพแทสเซียม ไนเตรท (Potassium nitrate) และกรดไฮโดรไซยานิค ( Hydrocyanic acid) ขนาดของพิษ ricin ที่ทำให้คนถึงแก่ชีวิตประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณละหุ่ง 8 เมล็ด

          การกินเมล็ดละหุ่ง โดยการเคี้ยวและกลืนเข้าไปจะเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งมีโอกาสที่จะแพ้สารพิษได้ง่าย แม้จะเป็นเพียงแค่เคี้ยว และกลืนเข้าไปเพียง 1 เมล็ดเท่านั้นก็อาจเสียชีวิตได้

           การกินทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง มีไข้ กระหายน้ำ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ม่านตาขยาย ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตในการรักษา อาจเสียชีวิตในวันที่สาม เนื่องจากระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยมีค่า LD50 = 30 ไมโครกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว

           ทั้งนี้ในการได้รับอันตรายจากสารพิษในเมล็ดละหุ่ง นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดการได้รับและวิธีการ การสัมผัสพิษโดยสามารถแบ่งได้เป็น ส่วนการหายใจ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ไอ หายใจลำบาก คลื่นไส้ แน่นหน้าอก ปวดข้อ เหงื่อออกมาก ปอดบวม ตัวเขียวคล้ำ เนื้อตาย เยื่อบุจมูกอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตภายใน 36-72 ชั่วโมง เนื่องจากระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยมีค่า LD50 = 3 ไมโครกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดนั้น ต้องใช้วิธีการบีบออกโดยไม่ผ่านความร้อน หรือ ใช้วิธีการ "บีบเย็น" (Cold pressed) เพื่อไม่ให้โปรตีนที่เป็นพิษติดออกมา
  2. การแพ้พิษไรซิน (ricin) ในเมล็ดละหุ่ง ตามปรกติจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงจึงแสดงอาการ ปฏิกิริยาการแพ้พิษในรายที่มีความไวอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากได้รับสารพิษ อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย คือ อาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเกิดแผล พุ พอง ในระบบทางเดินหายใจ ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง และปวดท้องจนตัวงอ ในรายที่มีอาการรุนแรงกระเพาะอาหารจะอักเสบ และมีเลือดไหลออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งพิษของไรซินจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ และตับอ่อน 
  3. ในการใช้น้ำมันละหุ่ง เป็นยาระบาย หรือ ยาถ่าย ไม่ควรใช้เกินขนาดที่กำหนดเพราะน้ำมันละหุ่งมีฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ให้บีบตัว และขับกากออกมา หากใช้เกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง หรือ เกิดอาการเสียเกลือแร่มากเกินได้

เอกสารอ้างอิง ละหุ่ง
  1. นพ.สมิง เก่าเจริญ.ศิรประภา แสงจันทร์.อริศร์ เทียนประเสริฐ. ยาถ่ายและยาระบาย.
    คอลัมน์ คุยกันเรื่องยา. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 62. มิถุนายน 2527.
  2. น้ำมันละหุ่ง ช่วยรักษาอาการเข่าอักเสบ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. สารพิษจากเมล็ดละหุ่ง. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ. กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  4. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดเอทานอลจากรากละหุ่ง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ละหุ่ง.พืชมีพิษ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www’rspg.or.th/plant_data/toxic_39.htm
  6. ละหุ่ง. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phrgarden/main.php?action=viewpag&pid=106
  7. ละหุ่ง (castro) สรรพคุณและการปลูกละหุ่ง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. ละหุ่ง.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phrgarden/main.php?action=viewpag&pid=118