หอมหัวใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หอมหัวใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 45 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หอมหัวใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หอมใหญ่, หอมฝรั่ง (ทั่วไป), หอมหัวใหญ่, หอมจีน (ภาคเหนือ), ชงโกว, หูชง, ยวี่ชง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Allium cepa L. var. typicum Baker
ชื่อสามัญ onion, Top onion, Potato onion, Beltsville bunching onion, Dry bulb onion.
วงศ์ ALLIACEAE

ถิ่นกำเนิดหอมหัวใหญ่

ถิ่นกำเนิดของหอมหัวใหญ่ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียกลาง และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน และปากีสถานมากว่า 5000 ปีแล้ว โดยได้มีหลักฐานการปลูก และบริโภคตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ Hippocrates ชาวกรีก ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับหอมเมื่อ 430 ปี ก่อนคริสศักราช ชาวอียิปต์ นิยมบริโภคหอม ซึ่งค้นพบจากหลักฐาน ในหลุมฝังศพที่ฝังตั้งแต่ 3,200-2,780 ปีก่อนคริสศักราช ที่อินเดีย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการเพาะปลูกหอมตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาค่อยๆ เริ่มแพร่กระจายเข้าสู่แถบประเทศยุโรปผ่านทางประเทศอียิปต์ และตุรกี โดยเริ่มปลูกมากในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 13-14 หลังจากนั้น ประมาณศตวรรษที่ 16-17 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์หอมหัวใหญ่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนในอเมริกา เริ่มปลูกในช่วง ปี ค.ศ.1629 ในแถบรัฐเทกซัส และแคลิฟอร์เนีย สำหรับแหล่งผลิตที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ที่สำคัญๆ คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณหอมหัวใหญ่

  • ช่วยดับกลิ่นคาวในอาหารได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยทำให้กระดูกอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาใช้ต้มกับกระดูกสัตว์
  • ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หอมดอง หอมแห้งสำหรับประกอบอาหารก็ได้
  • นำมาสกัดทำเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เช่น ยาสระผม ยาบำรุงเส้นผม
  • ช่วยขจัดรังแคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราต่างๆ ได้
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • เป็นยาบำรุงธาตุ
  • ช่วยขับลม
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ท้องอืดเฟ้อ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ลมพิษ
  • แก้ปวดบวม
  • ช่วยให้ไข้หวัดหายเร็วขึ้น
  • ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว
  • ช่วยลดการติดเชื้อของแผล
  • รักษาแผลเป็นหนอง
  • ช่วยลดอาการอักเสบของแผล
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • ช่วยสลายการตกค้างของอาหาร
  • ทำให้เจริญอาหาร
  • ช่วยฆ่าพยาธิ
  • ช่วยการไหลเวียนในอวัยวะภายในคล่องตัว 
  • รักษาบวมจากพิษ ด้วยการใช้ภายนอก 
  • รักษาสภาพของหลอดเลือดในหลายๆ ด้าน
  • ช่วยลดความดันเลือด
  • ช่วยป้องกันการเกิดเส้นเลือดอุดตัน
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • ช่วยป้องกันโรคสมอง
  • ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
  • ช่วยลดการเกาะตัวของลิ่มเลือด
  • ช่วยลดระดับไขมันในเลือด
  • ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  • ช่วยต้านการก่อมะเร็ง
  • ช่วยลดภาวะกระดูกพรุน 
  • ช่วยเพิ่มไขมันดี (เอชดีแอล) ในเลือด
  • ช่วยลดน้ำหนัก
  • ลดกระจกตาฝ้ามัว ทำให้การมองเห็นดีขึ้น
  • รักษาไข้หวัด
  •  แก้หวัดคัดจมูก
  • ช่วยลดน้ำมูก
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
  • ช่วยลดอาการเจ็บปวด จากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย

หอมหัวใหญ่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้หอมหัวใหญ่ 1 หัว ล้างสะอาด หั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่เข้าในไมโครเวฟ ประมาณ 2-3 นาที แล้วเก็บในภาชนะ ใส่น้ำส้มสายชู 5 ช้อนโต๊ะ แช่ไว้ปิดภาชนะให้สนิท ใส่ในตู้เย็น ทิ้งไว้ 2 วัน ก็นำมากิน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และลดน้ำหนัก
           นำเปลือกนอกของหอมหัวใหญ่ต้มน้ำดื่ม หรือ กินผัดหอมหัวใหญ่ บ่อยๆ จะสามารถลดกระจกตาฝ้ามัว ทำให้การมองเห็นดีขึ้น

           รักษาไข้หวัด แก้หวัดคัดจมูก และช่วยลดน้ำมูก ด้วยการนำหัวหอมขนาดพอดีที่ปอกเปลือกแล้วมาทุบให้แหลก แล้วใส่ลงไปในแก้วที่ใส่น้ำร้อนรอไว้ จากนั้นให้ใช้ผ้าขาวบางมาปิดหุ้มปากแก้วไว้ แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว แล้วให้พยายามสูดไอนั้นเข้าไป 

           หัวหอมใหญ่ นำมาตำให้แหลกใช้ผสมกับเหล้าโรง แล้วนำมาพอก หรือ ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ และน้ำคั้นจากหัวหอมสามารถนำมาใช้ทาภายนอกเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อได้ เช่นกัน

           นอกจากนี้ใน ตำราอาหารโยคะบำบัดจากประเทศอินเดียกล่าวไว้ว่า ในผู้ที่มีระบบภูมิคุมกันบกพร่องให้กินหอมหัวใหญ่วันละ 1 หัวเพื่อป้องกันพยาธิทั้งเซลล์เดียว หรือ หลายเซลล์  


ลักษณะทั่วไปของหอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่ จัดเป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินคล้ายหัวหอม ลักษณะกลมป้อม มีเปลือกนอกบางๆ สีม่วงแดงหุ้มอยู่ แต่เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ส่วนกลางของหัวจะเป็นลำต้นที่แท้จริง มียอดของลำต้นเจริญออก ซึ่งอาจมีได้มากกว่า 1 ยอด ในต้นเดียว ส่วนรากของหอมหัวใหญ่มีระบบเป็นรากฝอย รากมีขนาดเล็กสีน้ำตาล สามารถหยั่งลงลงดินได้ 15-20 ซม. และรากแพร่ออกด้านข้างได้ 20-40 ซม. มีจำนวนรากมากกว่า 20-100 ราก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ ลักษณะเป็นรูปดาบ ข้างในกลวงมีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เส้นใบจีบตามยาวลักษณะคล้ายพัด ดอกหอมหัวใหญ่ จะเจริญออกตรงกลางของลำต้นแทนที่ของใบ ดอกจะออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกได้มากกว่า 50 ดอก ดอกประกอบด้วยก้านดอกทรงกลม ยาว ได้มากกว่า 30 ซม. ด้านในก้านกลวงเป็นรู ถัดมาเป็นดอก โดยดอกตูมจะมีกลีบเลี้ยงหุ้มคลุมดอกไว้หมด เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงจะปริออก โผล่เป็นกลีบดอกออกให้เห็น กลีบดอกมีจำนวน 6 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน มี 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบเท่ากัน และมีเกสรตัวเมีย 1 อัน โดยดอกจะทยอยบานจากล่างขึ้นบน เมล็ดหอมหัวใหญ่มีขนาดเล็ก สีดำ เมล็ดมีลักษณะเป็นพู 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่

การขยายพันธ์หอมหัวใหญ่  

การขยายพันธ์หอมหัวใหญ่ มีอยู่ 2 วิธี คือ

  1. การหว่านเมล็ด และหยอดเมล็ด เป็นการปลูกด้วยวิธีการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูก หรือ หยอดเมล็ดในแถวในระยะที่ห่างกัน และดูแลรักษาจนกระทั่งเก็บเกี่ยว
  2. วิธีการย้ายกล้าปลูก เป็นวิธีที่ย้ายกล้าปลูกลงแปลงปลูก ด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลงเพาะกล้า หลังจากนั้น ค่อยย้ายกล้าพันธุ์ไปปลูกในแปลง ช่วงหว่านกล้าจนถึงพร้อมย้ายกล้าประมาณ 40-45 วัน หรือมีใบแล้ว 4-5 ใบ หลังจากนั้น ดูแลต่อจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยวิธีนี้ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

ขั้นตอนการปลูก

  1. การปลูกหอมหัวใหญ่ แบบหว่านเมล็ด และยอดเมล็ด โดยการหว่านเมล็ดจะหว่านลงแปลงหลังการเตรียมดินแล้ว อัตราเมล็ดที่ใช้ประมาณ 450-500 กรัม/ไร่ ส่วนการหยอดเมล็ด เกษตรกรจะใช้การไถให้เป็นร่องในแนวยาว ระยะห่างของแถวประมาณ 15-20 ซม. ก่อนนำเมล็ดหยอดลงร่อง โดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 10 ซม. ทั้งนี้ ก่อนการหยอดเมล็ด หว่านเมล็ดปลูก หรือ เพาะกล้า ให้น้ำเมล็ดหอมหัวใหญ่มาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอกให้เห็น แล้วค่อยนำเมล็ดมาผสมกับสารฆ่าเชื้อรา หรือ สารป้องกันแมลง ก่อนนำหว่าน หรือ หยอดเมล็ดเพาะ
  2. การปลูกหอมหัวใหญ่จากกล้าที่เพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้าปลูก โดยจะเริ่มย้ายกล้าได้หลังจากต้นมีใบแล้ว 4-5 ใบ หรือ มีอายุหลังเพาะเมล็ดนานประมาณ 40-45 วัน ห้ามใช้ต้นกล้าที่มีอายุนานกว่านี้ เพราะหอมจะเริ่มลงหัว ทำให้ปลูกไม่ติด หรือ ปลูกติด หัวจะไม่สมบูรณ์ และหลังจากถอนกล้ามาแล้ว ให้ตัดปลายราก และปลายของใบออก แล้วนำต้นกล้าแช่กับสารกับจำเชื้อราหรือสารป้องกันแมลง นาน 30 นาที จากนั้น ค่อยนำลงปลูก ระยะปลูกระหว่างต้นที่ 10-15 ซม. ระยะระหว่างแถวที่ 15-20 ซม. หลังการปลูกให้นำฟางข้าวคลุมรอบโคนต้นตามความยาวของแถว

การเก็บเกี่ยว

  • อายุการเก็บเกี่ยวของพันธุ์หนักที่ 165-180 วัน หลังปลูก เช่น พันธุ์กราเน็กซ์
  • ส่วนพันธุ์เบามีอายุเก็บเกี่ยวที่ 85-120 วัน


องค์ประกอบทางเคมี

หอมหัวใหญ่อุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม (Calcium) แมกนีเซียม (Magnesium) ฟอสฟอรัส (phosphorus) โพแทสเซียม (Potassium) กำมะถัน (Sulfer) ซีลีเนียม (Selenium) และสารต่างๆ เช่น เบต้าแคโรทีน (Beta carotene) กรดโฟลิก (folie acid) เควอเซทิน (Calcium) อัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (Allyl propy disuldhide หรือ APDS) allisatin, thiosulfinates, cepaenes

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหอมหัวใหญ่
โครงสร้างหอมหัวใหญ่
ที่มา : Wikipedie

           นอกจากนี้หัวของหอมหัวใหญ่ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของหอมหัวใหญ่ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน                            40      กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                  9.34    กรัม
  • น้ำตาล                             4.24    กรัม
  • เส้นใย                              1.7      กรัม
  • ไขมัน                               0.1      กรัม
  • โปรตีน                             1.1      กรัม
  • น้ำ                                   89.11   กรัม
  • วิตามินบี 1                     0.046   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                       0.027   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3                       0.116   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5                     0.123   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6                       0.12     มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9                       19       ไมโครกรัม
  • วิตามินซี                        7.4       มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม                 23        มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                         0.21    มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม            10        มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส                 0.129   มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส                29        มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม         146      มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี                      0.17     มิลลิกรัม
  • ธาตุฟลูออไรด์              1.1       ไมโครกรัม


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหัวหอมใหญ่

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้อนหัวหอมใหญ่ขนาดต่างๆ ให้กับผู้ใหญ่ พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ แต่การให้สารสกัดเอทานอล (80%) จากหัวหอมแห้ง ขนาด 100 มก./กก. ทางกระเพาะอาหารหนูขาวเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan พบว่าไม่มีฤทธิ์ มีการทดสอบ allisatin จากน้ำสกัดของหอมหัวใหญ่กับการลดการอักเสบในโรคข้ออักเสบที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย formalin และฤทธิ์ต้านการเกิด granuloma pouch ในหนูขาว โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับ betamethasone ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม steroid พบว่า allisatin มีฤทธิ์ลดอาการบวม และการตายของเนื้อเยื่อที่เท้าที่เกิดจากการฉีด formalin แต่ไม่มีผลต่อปริมาณ exudate จาก granuloma pouch นอกจากนี้ allisatin ไม่มีผลต่อ adrenal glands และไม่มีผลต่อการเกิด gastric ulcer และภาวะ hemorrhage แต่ allisatin ทำให้หนูขาวตาย คิดเป็น 8.3% การศึกษา thiosulfi-nates 9 ชนิด และ cepaenes 4 ชนิด ที่แยกได้จากหอมหัวใหญ่และการสังเคราะห์ พบว่าสารสำคัญดังกล่าว มีฤทธิ์ยับยั้งทั้ง cyclooxygenase และ 5-lipoxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดสารเคมีชนิดต่างๆ ในกระบวนการอักเสบ แบบ dose-dependent และการศึกษา thiosulfinates แบบ in vivo พบว่า สารสำคัญนี้มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาในหลอดลมของหนูตะเภาที่ได้รับสารกระตุ้นการแพ้ และสามารถยับยั้ง PAF (platelet activating factor) ได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ฤทธิ์ลดการอักเสบขึ้นอยู่กับกลุ่ม thiosulfinate อีกด้วย สารสำคัญ thiosulfinate มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการต่างๆ ของการอักเสบ เช่น ยับยั้งการหลั่ง histamine ยับยั้งการเกิด chemotaxis ของ LTC4 และ LTB4 ยับยั้งการสร้าง thromboxane เป็นต้น มีการทดลองฉีดสารสกัดเอทานอล (95%) จากหัวหอมขนาด 50 มก./กก.เข้าทางช่องท้องหนูตะเภาพบว่า สารสกัดดังกล่าวมีผลต้านฤทธิ์ของฮีสตามีน และเมื่อเปลี่ยนมาทดลองป้อนสารสกัดนี้ในขนาด 200 มก./กก.ให้กับสัตว์ทดลองดังกล่าวพบว่า มีฤทธิ์เช่นเดียวกัน การทดสอบสารสกัดเอทานอล (75%) จาก fixed oil (ไม่ทราบขนาดความเข้มข้น) กับ basophils ของมนุษย์พบว่า สารสกัดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮีสตามีน จากการทดลองใช้สารสกัดเอทานอล (95%) ทาภายนอก (ไม่ทราบขนาดที่ใช้) ให้กับผู้ใหญ่พบว่า สารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้านการแพ้ หรือการทดสอบน้ำสกัดจากหัวหอมสดความเข้มข้น 100 มคก./มล. กับ leuk-RBL 2H3 cell พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้านการแพ้เช่นกัน 

           ฤทธิ์โคเลสเตอรอล และความดันเลือดสูงหัวหอมใหญ่ ออกฤทธิ์คล้ายกระเทียมในการลดโคเลสเตอรอล และความดันเลือด โดยมีสารไซโคลอัลลิอิน ที่สามารถละลายลิ่มเลือดที่จับตัวอุดขวางทางเดินเลือดได้ ส่วนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การกินหอมหัวใหญ่สดวันละครึ่งหัวในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเอชดีแอลต่ำใกล้จุดวิกฤติเป็นเวลา 2 เดือน เพิ่มปริมาณ ไขมันเอชดีแอลในผู้ป่วยดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็น 30 มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลในภาพรวม และเพิ่มอัตราส่วนระหว่างไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ต่อไขมันแอลดีแอล (ไขมันเลว) อย่างน่าพอใจ

           นอกจากนี้ยังมี รายงานการศึกษาในผู้ป่วยที่มีระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูงจำนวน 43 คน โดยทำการศึกษาแบบสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มควบคุมจำนวน 25 คน ให้กินยาหลอกขนาด 200 มล./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองจำนวน 18 คน ให้กินสารสกัดหอมหัวใหญ่ด้วยเอทานอล ขนาด 200 มล./วัน (เท่ากับกินหอมหัวใหญ่ 500 g) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มทดลองระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยงพบว่า ระดับคอเรสเตอรอลรวมลดลง แต่ระดับน้ำตาลในเลือด และ LDL-คอเรสเตอรอลคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

           ฤทธิ์ลดภูมิแพ้และหอบหืด หอมหัวใหญ่มีความสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลพอกซีจีเนสและไซโคลออกซีจีเนส ซึ่งสร้างสารพรอสตาแกลนดินและทรอมบ็อกเซนซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ เมื่อให้หนูตะเภากินสารสกัดแอลกอฮอล์ของหอมหัวใหญ่ 1 มิลลิลิตร พบว่าสามารถลดอาการหอบหืดจากการทดลองสูดดมสารก่อภูมิแพ้ได้ หอมหัวใหญ่มีเควอเซทิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์เชิงเภสัชวิทยาของมัน พบว่าเควอเซทินสามารถยับยั้งการปล่อยฮิสตามีนจากมาสต์เซลล์ และยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่น ลิวโคทรีนได้  
     
           เควอเซทินพบมากที่สุดในผิวชั้นต้นๆ ของหอมหัวใหญ่ และพบมากกว่าในหอมหัวใหญ่สีม่วงและหอมแดง แต่ฤทธิ์ป้องกันอาการหอบหืดและภูมิแพ้คาดว่ามาจากสารกลุ่มไอโซไทโอไซยาเนต

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด หอมหัวใหญ่แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในผลงานการศึกษทางการแพทย์และทางคลินิกหลายชิ้น สารออกฤทธิ์ในหอมหัวใหญ่เชื่อว่าเป็นสารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (allyl propyl disuldhide หรือ APDS) และมีฟลาโวนอยด์อื่นร่วมด้วย หลักฐานจากการทดลองและการสังเกตในคลินิกพบว่า APDS ลดระดับกลูโคสโดยแข่งกับอินซูลิน (ซึ่งเป็นไดซัลไฟด์เช่นกัน) ในการเข้าสู่จุดยับยั้งการทำงานโดยอินซูลิน (insulin-inactivating sites) ในตับ ทำให้มีอินซูลินอิสระเพิ่มขึ้น

           ฤทธิ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หอมหัวใหญ่มีธาตุอาหารสำคัญอื่นๆ อีก ธาตุซีลีเนียมที่พบมากในหอมใหญ่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างแอนติบอดี ถ้าขาดธาตุนี้ร่างกายจะขาดความสามารถในการต้านการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้ นอกจากนี้ ซีลีเนียมยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดส เอนไซม์นี้ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย

           นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่มีธาตุกำมะถัน ช่วยให้เอนไซม์ตับทำงานขับสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง


การศึกษาทางพิษวิทยาของหัวหอมใหญ่

การทดสอบความเป็นพิษของสารมีสีที่สกัดได้จากหอมหัวใหญ่ (OC) ในหนูถีบจักรทั้ง 2 เพศ การทดสอบพิษเฉียบพลัน (acute toxic) โดยการผสมสารนี้ลงใน corn oil แล้วให้ทางสายยางแก่สัตว์ทดลองในขนาด 2,500, 5,000, 7,500 และ 10,000 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน พบว่าหนูถีบจักรเพศเมีย 6 ตัวจาก 12 ตัว ที่ได้รับสารนี้ในขนาด 10,000 มก./กก. และหนูถีบจักรเพศเมีย 3 ตัวจาก 11 ตัว ที่ได้รับสารนี้ขนาด 7,500 มก./กก. ตายก่อนที่จะเสร็จการทดลอง ซึ่งแสดงว่าขนาดของสารนี้ที่สัตว์ทดลองทนได้อยู่ระหว่าง 7,500-5,000 มก./กก. การทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลัน (subacute toxic) โดยทำการทดสอบในหนูถีบจักรทั้ง 2 เพศ จำนวน 123 ตัว โดยการให้อาหารที่ผสมด้วย OC ในความเข้มข้นต่างๆ กัน คือ 5, 2.5, 1.25, 0.6 และ 0.3% เป็นเวลา 90 วัน พบว่าหนูถีบจักรทั้งหมดสามารถทน OC ได้ดีทุกขนาด ทำการศึกษาดูระดับเซลล์พบว่าเกิด hyperplasia ที่ esophagus, forestomach, pancrease, cervix, endometrium ทั้งในกลุ่มที่ได้รับ OC และกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ดี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับขนาดของ OC นอกจากนี้ยังพบว่าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับ OC เท่านั้นที่สัตว์ทดลองเกิด spontaneous ovarian teratoma จากหลักฐานเป็นการแสดงว่า OC ไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน มีการศึกษาพิษต่อปอดและตับของหอมหัวใหญ่ในหนูขาว โดยการป้อนหรือฉีดสารสกัดจากหอมหัวใหญ่ขนาด 50 มก./กก. พบว่าสารสกัดขนาดต่ำนี้มีผลต่อเนื้อเยื่อตับและปอดเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่เมื่อให้สารสกัดนี้ในขนาดสูงคือ 500 มก./กก. พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อดังกล่าว และการฉีดสารสกัดขนาดสูงนี้เข้าทางช่องท้อง มีผลทำให้เกิดพิษต่อเนื้อเยื่อตับและปอดได้มากกว่าการป้อน นอกจากนี้การฉีดสารสกัดขนาดสูงนี้ยังทำให้สัตว์ทดลองตาย 25% ดังนั้นการใช้สารสกัดหอมหัวใหญ่ในขนาดต่ำ (50 มก./กก.) ไม่ก่อให้เกิดพิษ การทดสอบสารประกอบ organosulfur 4 ชนิด คือ isothiocyanic acid iso-Bu ester (IAIE), di-Pr trisulfide (DPT), allyl mercaptan (AM) และ di-Me trisulfide ที่แยกได้จากกระเทียมและหอมหัวใหญ่ เพื่อศึกษาผลต่อตับหลังจากเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งตับในหนูขาวเพผู้ F344 ด้วย diethylnitrosamine (DEN) จากผลการทดสอบพบว่า IAIE, DPT และ AM มีส่วนช่วยเพิ่มผลของ DEN ในขณะที่ di-Me trisulfide มีแนวโน้มเพิ่มการเกิดมะเร็งตับ ดังนั้นจากการศึกษาสรุปได้ว่า IAIE, DPT และ AM มีผลเพิ่มฤทธิ์การก่อให้เกิดมะเร็งตับของสารเหนี่ยวนำ โดยกลไกเกิดจากการเพิ่มการแบ่งเซลล์และเพิ่ม polyamine biosynthesis ดังนั้นจะต้องมีการพิจารณาถึงผลเสียของการรับประทานหอมหัวใหญ่ ในผู้ป่วยมะเร็งด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงพิษของหอมหัวใหญ่ต่อระบบเลือดดังนี้ เมื่อฉีดสารสกัดอีเทอร์จากหัวหอมแห้ง (ไม่ทราบขนาด) เข้าทางช่องท้องหนูตะเภา พบว่าไม่มีพิษต่อเลือด การทดลองฉีดสารสกัดเอทานอล (95%) จากหอมหัวใหญ่เข้าทางช่องท้อง (ไม่ทราบขนาด) หรือการป้อนสารสกัดดังกล่าวให้กับหนูขาว พบว่าไม่มีผลเช่นกัน แต่อีกการทดลองหนึ่งฉีดสารสกัดเอทานอล (95%) จากหัวหอมแห้งเข้าทางช่องท้องหนูตะเภา (ไม่ทราบขนาด) พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองเกิดโลหิตจาง (anemia) 

           พิษต่อเซลล์ การทดสอบสารสกัดเอทานอลจากหอมหัวใหญ่แห้ง (ไม่ทราบความเข้มข้น) กับเซลล์ CA-A549, CA-Mammary-MCF-7, Human Colon Cancer Cell Line HT29 ในจานเพาะเชื้อ พบว่าสารสกัดนี้ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ดังกล่าว เมื่อทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากสดของหอมหัวใหญ่ความเข้มข้น 200 มคก./มล. กับ macrophage cell line raw 264.7 พบว่าไม่มีฤทธิ์ และการทดสอบน้ำสกัดจากใบสด (ไม่ทราบขนาด) กับ Ustilago nuda ซึ่งเป็นราชนิดหนึ่ง ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์เช่นกัน แต่เมื่อทดสอบน้ำคั้นจากหอมหัวใหญ่ ความเข้มข้น 25% กับเซลล์ CA-Hamster-HCPC-1 พบว่า น้ำคั้นนี้เป็นพิษต่อเซลล์ 

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อทดลองป้อนสารสกัดเอทานอล (50%) จากเมล็ดของหัวหอมใหญ่ ขนาด 200 มก./กก. ให้กับหนูขาวเพศเมีย พบว่าสารสกัดนี้ไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน การทดลองให้สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้งขนาด 200 มก./กก. ทางกระเพาะอาหารของหนูขาวเพศเมีย พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีผลต้านการฝังตัวของตัวอ่อน และเมื่อฉีดสารสกัด (ไม่ทราบชนิดและขนาด) จากเมล็ดแห้งทางช่องท้องหนูขาวเพศเมีย พบว่าไม่มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน การทดลองป้อนสารสกัดเอทานอล (50%) จากเมล็ดขนาด 200 มก./กก. กับหนูขาวท้อง หรือ การทดลองให้สารสกัดเอทานอล (100%) จากเมล็ดแห้ง ขนาด 200 มก./กก. ทางกระเพาะอาหารหนูขาวที่ท้อง พบว่า การทดลองทั้งสองแบบไม่มีผลทำให้สัตว์ทดลองแท้ง นอกจากนี้การทดลองผสมน้ำต้มจากหอมหัวใหญ่ในน้ำดื่มที่ให้กับหนูถีบจักรที่กำลังท้องโดยให้ในความเข้มข้น 20% พบว่าผลการทดลองไม่ชัดเจน และเมื่อเปลี่ยนมาทดลองฉีดน้ำต้มจากหัวหอมแห้งนี้ให้กับหนูถีบจักรที่กำลังท้อง โดยใช้ขนาดแตกต่างกัน พบว่าผลการทดลองไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน มีการศึกษาผลของสารสกัดจากพืชชนิดต่างๆ ต่อสเปิร์มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบว่า หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์แรงต่อสเปิร์ม และการสร้างสเปิร์ม แต่การทดลองให้หนูขาวเพศผู้ดมน้ำมันหอมระเหยจากหอมหัวใหญ่ที่เข้มข้นพบว่า ส่วนของพืชดังกล่าวไม่มีผลต่อสเปิร์มของสัตว์ทดลอง และการทดสอบน้ำมันหอมระเหย (ไม่ทราบขนาดและวิธีการให้) กับหนูขาวเพศผู้ และหนูตะเภาเพศผู้กลับพบว่าน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์ม 

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ การทดสอบสารสกัดจากส่วนเหนือดินกับ Salmonella typhimurium TA98 ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ เมื่อทดสอบสารสกัดเอทานอลจากหัวหอมสด (ไม่ทราบความเข้มข้น) กับ S. typhimurium TA1530 และการทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) จากหัวหอมแห้ง ความเข้มข้น 10 มก./จานเพาะเชื้อ กับ S. typhimurium TA102 ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ทั้ง 2 แบบ มีการทดสอบน้ำสกัดหัวหอมสด (ไม่ทราบความเข้มข้น) กับ S. typhimurium TA100 และการทดสอบสารสกัดนี้ที่ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อกับ Cells-Pig-Kidney-LLC PK1 และ cells-trophoblastic-placenta พบว่าน้ำสกัดจากหัวหอมไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว การทดสอบน้ำคั้นจากหัวหอมสดความเข้มข้น 1.2 มก./จานเพาะเชื้อกับ S. typhimurium TA1535 พบว่ามีฤทธิ์ แต่การทดสอบกับ S. typhimurium TA98 พบว่าไม่มีฤทธิ์ เมื่อใช้น้ำคั้นจากหัวหอมสด ความเข้มข้น 2.4 มก./จานเพาะเชื้อกับ S. typhimurium TA1537 และ TA1538 พบว่ามีฤทธิ์ การทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มกับเมทานอล (2:1) จากหัวหอมใหญ่ ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อกับ S. typhimurium TA100 และ TA98 พบว่าไม่มีฤทธิ์ มีการศึกษาเครื่องดื่มและผัก ผลไม้หลายชนิด เกี่ยวกับฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella โดยทำการศึกษาใน microsome plate พบว่าหอมหัวใหญ่มีฤทธิ์แรงในการเหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่าสารที่ทำให้หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ดังกล่าว คือ quercetin


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. วิธีการเลือกซื้อหัวหอมใหญ่ ให้มีคุณภาพดีต้องสังเกตดังนี้ มีผิวแห้งและเรียบ หัวมีน้ำหนักมาก เนื้อแน่น ไม่มีส่วนที่นิ่มหรือมีรอยช้ำ 
  2. การรับประทานหัวหอมใหญ่ในปริมาณมากหรือรับประทานติดต่อกันนานเกินไป อาจจะทำลายจิตประสาท ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ลืมง่าย ความจำเสื่อม มีอาการตามัว พลัง และเลือดถูกทำลาย ทำให้เส้นเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้โรคต่างๆ ที่เป็นอยู่หายช้าและเรื้อรัง และยังไปทำลายสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
  3. สำหรับผู้ที่มีกลิ่นตัวแรงอยู่แล้ว การรับประทานหัวหอมใหญ่มากเกินไปอาจจะไปกระตุ้นทำให้มีกลิ่นตัวแรงยิ่งขึ้น
  4. ไม่ควรรับประทานหัวหอมใหญ่สดในขณะที่ท้องว่าง เพราะอาจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอาจทำให้เยื่อบุในกระเพาะเกิดการอักเสบได้

เอกสารอ้างอิง หัวหอมใหญ่ 
  1. รศ.ดร.สุชาทิพ ภมรประวัติ.หอมหัวใหญ่.คอลัมน์ สมุนไพร น่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 321.มกราคม.2549
  2. หอมหัวใหญ่.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกัญจนา ดีวิเศษ,บรรณาธิการ.(2542).ไม้ริมรั้ว:สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 2.นนทบุรี:สถาบันการแพทย์แผนไทย.
  4. วราภรณ์ คิรีพัฒน์. สมุนไพรไทย....เพื่อความเป็นไท.คอลัมน์ธรรมชาติบำบัดและสมุนไพร.วารสารรูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี.ปีที่ 29. ฉบับที่ 3. กันยายน-ธันวาคม 2551. หน้า 80-85
  5. นพ.วิทวัส วัณนาวิบูล.หอมหัวใหญ่.คอลัมน์แพทย์แผนจีน.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 321. มกราคม. 2549
  6. หอมหัวใหญ่ (Onion) สรรพคุณและการปลูกหอมหัวใหญ่.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. สมุนไพรลดไตรกลีเซอไรด์.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5401
  8. Niukian K, Schwartz J, Shklar G. In vitro inhibitory effect of onion extract on hamster buccal pouch carcinogenesis. Nutr cancer 1987;10(3):137-44.
  9. Juergen SH, Waltraud H. Flavonols-mutagens in our daily nutrition.  Dtsch Lebensm Rundsch 1984;80(3):85-7.
  10.  Mascolo N, Autore G, Capasso F, Menghini A, Fasulo MP.  Biological screening of Italian medicinal plants for anti-inflammatory activity.  Phytother Res 1987;1(1):28-31.
  11.  Tanaka Y, Kataoka M, Konishi Y, Nishmune T, Takagaki Y.  Effects of vegetable foods on b-hexosaminidase release from rat basophilic leukemia cells (RBL-2H3).  Jap J Toxicol Environ Health 1992;38(5):418-24. 
  12. Younis SA, Hagop EG.  Preliminary studies on the red onion scaly leaves: abortive action and effects on serum enzymes in mice. Fitoterapia 1988;59(1):21-4.  
  13. Prakash AO, Mathur R.  Screening of Indian plants for antifertility activity.  Indian J Exp Biol 1976;14:623-6.
  14. Nobuyasu T, Mitsuaki K, Tianxin C, Yoshihisa Y, Shuzo O, Shoji F.  Enhancing effects of organosulfur compounds from garlic and onions on hepatocarcinogenesis in rats:ornithine decarboxylase activity.  JPN J Cancer Res 1994;85(11):1067-72. 
  15. Prasad DN, Bhattacharya SK, Das PK.  A study of antiinflammatory activity of some indigenous drugs in albino rats.  Indian J Med Res 1966;54(6):582-90. 
  16. Shinohara K, Kuroki S, Miwa M, Kong ZL, Hosoda H.  Antimutagenicity of dialyzates of vegetables and fruits.  Agr Biol Chem 1988;52(6):1369-75. 
  17. Lichtenstin LM, Pickett WC.  Treatment of allergies and inflammatory conditions.  Patent: Eur Pat Appl 153,881, 1985:21pp.
  18. Stoltz DR, Stavric B, Klassen R, Muise T.  The health significance of mutagens in foods.  Carcinog Mutagens Environ 1982;1:185-97.
  19. Alkofahi A, Batshoun R, Owais W, Najib N.  Biological activity of some Jordanian medicinal plant extracts. Part II.  Fitoterapia 1997;68(2):1673-82.
  20. Tokin IB.  The effect of phytonocides on spermatozoa and spermatogenesis in mammals. Dokl Akad Nauk Sssr 1953;93:567-8. 
  21. Dorach W, Wagner H, Bayer T, et al.  Anti-asthmatic effects of onions. Alk(en)ylsulfinothioic acid alk(en)-esters inhibit histamine release, leukotriene and thromboxane biosynthesis in vitro and counteract PAF and allergen-induced bronchial obstruction in vivo. Biochem Pharmacol 1988;37(23):4479-86.
  22. Stavric B, Klassen R, Stoltz DR.  Natural toxins in foods: mutagens.  Period Biol 1984;86(2):165-72.  
  23. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO.  Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future Aspects In Contraception. Part 2. Female contraception. Boston:MTP Press, Ltd, 1984:115-28.
  24. Wagner H, Dorsch W, Bayer T, Brea W, Willer F.  Antiasthmatic effects of onions: inhibition of 5-lipoxygenase and cyclooxygenase in vitro by thiosulfinates and “cepaenes”.  Prostaglandins Leukot Essent Fatty Acids 1990;39(1):59-62.
  25. Toshihiro K, Takuji Tanaka, Hideki M, Yoshiaki K, Mikio N.  Acute and subacute toxicity tests of onion coat, natural colorant extracted from onion (Allium cepa L.) in (C57BL/6 x C3H) Fi mice.  J Toxicol Environ Health 1993;38(1):89-101.
  26. Mahmoud I, Alkofahi A, Abdelaziz A.  Mutagenic and toxic activities of several spices and some Jordanian medicinal plants.  Int J Pharmacog 1992;30(2):81-5. 
  27. Kim OK, Murakami A, Nakamura Y, Ohigashi H.  Screening of edible Japanese plants for nitric oxide generation inhibitory activities in raw 264.7 cells.  Cancer Lett 1998;125(1/2):199-207.
  28. Sivaswamy SN, Balachandran B, Balanehru S, Sivaramakrishnan VM.  Mutagenic activity of south Indian food items.  Indian J Exp Biol 1991;29(8):730-7. 
  29. Sharma KC, Shanmugasundram SSK.  Allium cepa as an antiasthmatic.  Rrl Jammu Newsletter 1979;6(2):8. 
  30. Tokin IB, Dmitrenko EV.  Resistance of mammalian (animal) and human spermatozoa to antimicrobial substances from higher plants. Fitontsidy, Ikh Rol Prir Izbr Dokl 2-Go Soveshch Probl Fitont 1956:190-4.
  31. Malori L, Squeri L.  Guinea-pig blood behavior after administration of various extract fractions from Allium cepa.  Atti Soc Peloritana Sci Fis Mat Nat 1955;2:233-5.
  32. Dorsch W, Wagner H, Bayer T.  Antiasthmatic effects of onion extracts: pharmacological properties of thiosulfinates.  Allergologie 1989;12(9):388-96.
  33. Thomson M, Alnaqeeb MA, Bordia T, Al-Hassan JM, Afzal M, Ali M.  Effects of aqueous extract of onion on the liver and lung of rats. J Ethnopharmacol 1998;61: 91-9.
  34.  Rockwell P, Raw I.  A mutagenic screening of various herbs, spices, and food additives.  Nutr Cancer 1979;1:10-5.
  35. Singh KV, Pathak RK.  Effect of leaves extracts of some higher plants on spore germination of Ustilago maydes and U.nuda. Fitoterapia 1984;55(5):318-20.
  36. Dabral PK, Sharma RK.  Evaluation of the role of rumalaya and geriforte in chronic arthritis-a preliminary study.  Probe 1983;22(2):120-7.
  37.   Kamboj VP.  A review of Indian medicinal plants with intraceptive activity.  Indian J Med Res 1988;4:336-55.
  38. Dorsch W, Wagner H.  New antiasthmatic drugs from traditional medicine.  Int Arch Allergy Appl Immunol 1991;94(1/2):262-5.