มะเดื่อชุมพร (มะเดื่อไทย) ประโยชณ์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะเดื่อชุมพร (มะเดื่อไทย) งายวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะเดื่อชุมพร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเดื่ออุทุมพร, มะเดื่อไทย (ทั่วไป) (ภาคกลาง), มะเดื่อเกลี้ยง, มะเดื่อดง (ภาคเหนือ), เดื่อน้ำ (ภาคใต้), หมากเดื่อ, เดื่อเลี้ยง (ภาคอีสาน), ถูแซ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus Racemosa Linn. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus Glomerata Roxb.
ชื่อสามัญ Cluster Fig, Goolar Fig, Gular Fig 
วงศ์ Moraceae (อยู่ในวงศ์ขนุน)

ถิ่นกำเนิดมะเดื่อชุมพร

พืชสกุลมะเดื่อมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาอินเดีย จีนตอนใต้ รวมถึงประเทศในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับสายพันธุ์มะเดื่อที่มีอยู่ในโลก ซึ่งทางนักพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นระบุว่ามีประมาณ 600 สายพันธุ์เลยทีเดียว ส่วนถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่อชุมพร ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีนั้น ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีน โดยในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ซึ่งมักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง 1,000-1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเล และชื่อมะเดื่อชุมพรหรือมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar เป็น มะเดื่ออุทุมพร 

ประโยชน์และสรรพคุณมะเดื่อชุมพร

  1. แก้ไข้
  2. แก้ไข้พิษ
  3. แก้ไข้กาฬ
  4. แก้ร้อนใน
  5. ช่วยระงับความร้อน
  6. กระทุ้งพิษไข้
  7. ช่วยกล่อมเสมหะ
  8. ช่วยกล่อมโลหิต
  9. แก้ไข้หัวลม
  10. แก้อาการปากเปื่อย
  11. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  12. ต้านเชื้อบิด
  13. ช่วยลดความดันโลหิตสูง
  14. ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ
  15. ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส
  16. ช่วยลดไขมันในเลือด
  17. ช่วยแก้อาเจียน
  18. แก้ธาตุพิการ
  19. แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง
  20. ช่วยห้ามเลือด
  21. ช่วยชะล้างบาดแผล สมานแผล
  22. แก้เม็ดผื่นคัน
  23. แก้ท้องร่วง
  24. เป็นยาระบาย
  25. แก้เม็ดผื่นคัน

           มะเดื่อชุมพร เป็นมะเดื่อสายพันธุ์พื้นบ้านของไทยจึงทำให้คนไทยรู้จักมะเดื่อชุมพร เป็นอย่างดี โดยได้มีการนำมาทำประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น นำมะเดื่อชุมพรมารับประทานเป็นผักและผลไม้ โดยส่วนที่นำมากินเป็นผัก คือ ช่อดอก (หรือ ที่คนไทยเรียกว่าผล หรือ ลูกมะเดื่อ) โดยใช้ช่อดอกอ่อน หรือ ดิบเป็นผักจิ้ม หรือ ใช้แกง เช่น แกงส้ม ความจริงช่อดอก (ผล) ของมะเดื่อชนิดอื่น ก็สามารถใช้กินเป็นผักได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ผลเล็ก และรสชาติ ไม่ดีเท่าช่อดอกมะเดื่อชุมพร ช่อดอกแก่ (ผลสุก) สีแสดแดง กินเป็นผลไม้
           นอกจากนี้ประโยชน์ที่สำคัญของมะเดื่อชุมพรอีกด้านหนึ่ง คือ ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยไม้มะเดื่อถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะใช้ทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก นอกจากนั้น ยังใช้ทำหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำมัน สำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธีอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้ตามสรรพคุณเป็นยาภายในตามตำราไทยให้ใช้รากแห้งของมะเดื่อชุมพร มาต้มกับน้ำดื่ม อาหารต่างๆ ก็จะค่อยๆ ทุเลาลง ส่วนการใช้เป็นยาภายนอกใช้น้ำต้มรากแห้งของมะเดื่อชุมพรชะล้างบาดแผล หรือ ใช้ทาแก้เม็ดผื่นคัน ส่วนผู้ที่มีอาการปากเปื่อย ร้อนใน ใช้เปลือกต้น หรือ ผลมะเดื่อมาเคี้ยว แล้วอมไว้สักครู่วันละ 2-3 ครั้งจะช่วยสมานแผลแก้ร้อนในได้ และสำหรับตำรับยา 5 ราก หรือ ตำรับยาเบญจโลกวิเชียรที่มีรากมะเดื่อชุมพรเป็นส่วนประกอบนั้น มีข้อบ่งใช้ คือ ใช้บรรเทาอาการไข้ โดยมีขนาด และวิธีใช้ คือ เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม -1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

มะเดื่อชุมพร

ลักษณะทั่วไปของมะเดื่อชุมพร

มะเดื่อชุมพร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 5-30 เมตร มีพูพอน เปลือกต้นสีน้ำตาลอมสีชมพู เรียบ เมื่อแตกเป็นรอยหยาบ มียางสีขาวนวล หูใบยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร มักติดแน่นในกิ่งอ่อน

           ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่กลับ รูปขอบขนานสั้น หรือ รูปใบหอก กว้าง 3.5-8.5 เซนติเมตร ปลายแหลม หรือ เรียวแหลม โคนสอบแคบถึงโค้งกว้าง หรือ รูปหัวใจ ขอบเรียบ เนื้อหนา เส้นใบมีข้างละ 4-8 เส้น ก้านใบยาว 1.5-7 เซนติเมตร สีน้ำตาล

           ช่อดอก เกิดตามต้นและกิ่งใหญ่ๆ ที่ไม่มีใบ ช่อดอกยาวได้ถึง 25 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยรูปค่อนข้างกลมถึงรูปคนโท ช่อดอกย่อยแบบนี้เกิดจากฐานดอกพองออก ภายในกลวง ปลายโค้งเข้าหากันจนเกือบจรดกัน มีใบประดับ 5-6 ใบ ปิดอยู่ มีดอก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ดอกเพศผู้มีกลีบรวมเป็นพู 3-4 พู สีแดง เกลี้ยง รังไข่ฝ่อ ไม่มีก้าน 2) ดอกเพศเมียเหมือนดอกเพศผู้ อยู่ระหว่างดอกปุ่มหูด รังไข่ไม่มีก้าน หรือ มีก้านสั้น มีจุดสีแดง ก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน 3) ดอกปุ่มหูด หรือ ดอกเพศเมีย แต่มีก้านชูยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก รังไข่สีแดงคล้ำ เกลี้ยง

           ผล แบบผลมะเดื่อ รูปค่อนข้างกลมถึงรูปคนโท กว้าง 3.5-5 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียว แก่สีแดงอมสีส้ม ผิวมักมีช่องอากาศแกมตุ่ม

           เมล็ด รูปเลนส์ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เรียบหรือมีสันเล็กน้อย

มะเดื่อชุมพร

มะเดื่อชุมพร-มะเดื่อไทย

การขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพร

มะเดื่อชุมพร ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ซึ่งมีวิธีการ คือ นำผลสุกของมะเดื่อชุมพรไปแช่น้ำแล้วขยี้ล้างเอาแต่เมล็ดเล็กๆ ออกมานำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะชำประมาณ 30-45 วัน มะเดื่อชุมพจะงอกเป็นต้นอ่อน พอสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร แยกลงถุงเพาะชำ โดยผสมดินกับปุ๋ยคอกและเปลือกมะพร้าวสับปลูกเอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มขึ้นอยู่เสมอ และเมื่อต้นกล้ามะเดื่อชุมพร อายุ 6-12 เดือน มีระบบลำต้นและรากแข็งแรงพร้อมที่จะปลูก ให้นำมาปลูกลงหลุมที่เตรียมไว้กลบดินให้เรียบร้อย แล้วปักไม้พยุงต้นไว้แล้วผูกเชือก ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

           สำหรับการเตรียมหลุมปลูกมะเดื่อชุมพรนั้น ควรขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก มะเดื่อชุมพรเป็นไม้ยืนต้นใหญ่ ควรปลูกหายกัน 5-8 เมตร ทั้งนี้มะเดื่อชุมพร สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่นิยมปลูกในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม


องค์ประกอบทางเคมี

รากมะเดื่อชุมพร มีสาระสำคัญได้แก่ เบอร์แกปเทน (bergapten) และไฟรเดลิน (friedelin) รวมทั้งสารกลุ่มสเตียรอล (sterols) เช่น เดาโคสเตียรอล (daucosterol) และสทิกมาสเตียรอล (stigmasterol) และยังพบสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกรากมะเดื่อชุมพร ได้แก่สาร isocoumarin (bergenin), triterpenes ได้แก่ polypodatetraene, α-amyrin acetate, gluanol acetate, lupeol acetate, b-amyrin acetate, 24,25-dihydroparkeol acetate, α-amyrin octacosanoate, lanostane derivative, lanost-20-en-3b-acetate), สาร phytosteroids ได้แก่ (beta-sitosterol และ beta-sitosterol-beta-D-glucoside) และ long chain hydrocarbon (n-hexacosane) รากพบสาร cycloartenol, euphorbol, อนุพันธ์ hexacosanoate, taraxerone, tinyatoxin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเดื่อชุมพร

โครงสร้างมะเดื่อชุมพร

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเดื่อชุมพร

           ฤทธิ์แก้ไข้ ศึกษาฤทธิ์แก้ไข้ของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เปรียบเทียบกับยาแอสไพริน (acetylsalicylic acid) โดยใช้ lipopolysaccaride (LPS) และ brewer’s yeast ในการกระตุ้นให้หนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์มีไข้ (เมื่อให้ brewer’s yeast และ LPS อุณหภูมิที่ทวารหนักของหนูขาวจะเพิ่มขึ้น 2.24 °C และ 1.84°C ตามลำดับ) เมื่อฉีด LPS ในขนาด 50 μg/kg ที่กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400 mg/kg หรือ ยาแอสไพริน 300 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม วัดอุณหภูมิทวารหนักก่อนการทดลอง 1 ชั่วโมง และวัดอีกครั้งหลังจากที่หนูได้รับการฉีด LPS ไปแล้ว 7 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาด สามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีฤทธิ์ลดไข้ได้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน และเมื่อฉีด 20% brewer’s yeast ขนาด 10 ml/kg ทางชั้นใต้ผิวหนังของหนู หลังจากนั้น 18 ชั่วโมงผ่านไป ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400 mg/kg หรือ ยามาตรฐานแอสไพรินในหนูแต่ละกลุ่ม อุณหภูมิที่ทวารหนักจะถูกวัดหลังจากที่ให้สารสกัดรากมะเดื่อชุมพรไปแล้ว 7 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาดสามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ค่า p<0.05 และสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพร ขนาด 200 และ 400 mg/kg  มีฤทธิ์ลดไข้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน 

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เพื่อประเมินฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิด และเชื้อรา 4 ชนิด ที่ความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธี disc diffusion โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุด ต่อเชื้อแบคทีเรีย E. coli, B. subtilis, P. aeroginosa, E. cloacae เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 24.4, 7.2, 9.1 และ 16.1 มิลลิเมตร ตามลำดับ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุดต่อเชื้อรา P. chrysogenum, A. niger, T. rubrum และ C. albicans เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 15.4, 8.2, 16.5 และ 14.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านจุลชีพซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้

          ฤทธิ์ด้านการอักเสบ สารสกัดใบมะเดื่อชุมพร ( Ficus racemosa Linn.) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทดลองในหนูขาว เมื่อให้สารสกัดความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถลดการอักเสบได้ 30.4, 32.2, 33.9, 32.0 % ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้ขาหลังอักเสบด้วย carragenin, serotonin, histamine และ dextran ตามลำดับ กลไกการลดการอักเสบเกิดจากการยับยั้ง histamine และ serotonin ผลการลดการอักเสบเรื้อรังเมื่อทดลองโดยการฝังเม็ดฝ้ายใต้ผิวหนังหนูขาว พบว่าสามารถลดน้ำหนักของ granuloma ได้ 41.5% โดยกลไกเกิดจากการลดจำนวน fibroblast ลดการสังเคราะห์ collagen และ mucopolysaccharide

          ฤทธิ์ปกป้องไต และระบบสืบพันธุ์เพศชายของมะเดื่อชุมพร การทดสอบโดยให้สารสกัดอะซีโตนของเปลือกไม้ต้นมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa ) ขนาด 250 มก./กก. (FR250) และ 500 มก./กก. (FR500) ทางปาก แก่หนูแรทเพศผู้ที่ถูกชักนำให้ไตและอัณฑะเกิดความเป็นพิษด้วยยา doxorubicin ซึ่งยาดังกล่าวทำให้ระดับโปรตีนและกลูตาไธโอนลดลง ในขณะที่ระดับ urea, creatinine, thiobarbituric acid reactive substances (TBARS) เพิ่มขึ้น พบว่าสารสกัด FR250และ FR500 มีผลช่วยให้ระดับ creatinine ลดลง 22.5% และ 44% ตามลำดับ และระดับ urea ลดลง 30.4% และ 58.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัด FR500 ยังช่วยลดปริมาณ TBARS ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดกระบวนการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) และเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในไตและอัณฑะให้กลับสู่ระดับปกติ เมื่อทดสอบลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของไตและอัณฑะในหนูที่ได้รับสารสกัด FR500 พบว่ามีลักษณะที่ปกติ จึงสรุปได้ว่ามะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อไต และอัณฑะในหนูทดลองจากการได้รับยา doxorubicin ด้วยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการเกิด lipid peroxidation

           ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระและปกป้องรังสี การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทางเคมีในหลอดทดลองด้วยวิธีจับอนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl) พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกราก แก่นราก และสารมาตรฐาน ascorbic acid สามารถจับอนุมูลอิสระ DPPH ได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 5.80, 4.49 และ 5.27 μg/ml ตามลำดับ โดยแก่นรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และออกฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน การทดสอบฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ด้วยวิธี FRAP เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์ Fe3+เป็น Fe 2+ซึ่งเป็นสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระในการให้อิเล็คตรอน พบว่าทุกความเข้มของสารสกัดแก่นราก (10-80 μg/ml) ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ascorbic acid

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเดื่อชุมพร

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการนำผลมะเดื่อชุมพร มาใช้รับประทานต้องระวังน้ำยางของมะเดื่อชุมพร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่แพ้น้ำยางได้
  2. ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือ ยาเบญจโลกวิเชียรไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  3. ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือ ยาเบญจโลกวิเชียรหากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
  4. ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือ ยาเบญจโลกวิเชียรไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน

เอกสารอ้างอิง มะเดื่อชุมพร
  1. เดชา ศิริภัทร. มะเดื่ออุทุมพร:ต้นไม้จากตำนานมาสู่สามัญชน. คอลัมน์ พืช-ผัก-ผลไม้ .นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 246. ตุลาคม 2542
  2. Joseph B, Raj SJ. Phytopharmacological properties of Ficus racemosa L. An overview. Int J Pharm Sci Rev Res. 2010;3(2):134-138.
  3. มะเดื่ออุทุมพร. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุช.
  4. Jain R, Rawat S, Jain SC. Phytochemicals and antioxidant evaluation of Ficus racemosa root bark. Journal of Pharmacy Research. 2013;6:615-619.
  5. มะเดื่อชุมพร. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=190
  6. ตำรายา 5 ราก.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6719
  7.  Goyal PK. Antimicrobial activity of ethanolic root extract Of Ficus racemosa L. Int J Chem Tech Res. 2012;4(4):1765-1769.
  8. Chomchuen S, Singharachai C, Ruangrungsi N, Towiwat P. Antipyretic effect of the ethanolic extract of Ficus racemosa root in rats. J Health Res. 2010;24(1):23-28.
  9. ฤทธิ์ ปกป้องไตและระบบสืบพันธุ์เพศชายของมะเดื่อชุมพร. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล