ชะเอมเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชะเอมเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชะเอมเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กันเฉ่า (จีนกลาง), กำเช่า (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycyrrhiza glabra L. และ Glycyrrhiza uralensis Fisch.ex DC.
ชื่อสามัญ Licorice Root, Sweet Root, Russian licorice, Spanish licorice, Chinese licorice
วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE

ถิ่นกำเนิดชะเอมเทศ

ชะเอมเทศ (G.glabra) เป็นพืชท้องถิ่นในประเทศแถบกลาง และตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เช่น จีน, ปากีสถาน, อีหว่าน, อัฟกานิสถาน รวมถึงกลุ่มประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีการปลูกบริเวณอ่าวเอดิเตอร์เรเนียน ในทวีปแอฟริกา ทางตอนใต้ทวีปยุโรป และในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย ก็มีการปลูกเช่นกัน ส่วนประเทศที่ส่งออกชะเอมเทศ รายใหญ่ของโลก คือ ประเทศสหพันธรัฐ รัสเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐตุรกี และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนชะเอมเทศ (G. uralansis) เป็นพืชท้องถิ่นในแถบตอนเหนือสาธารณรัฐประชาชน จีน มองโกเลีย และไซบีเรีย โดยเฉพาะในประเทศในพบมากในมณฑลเฮยหลงเจียง จี้หลิน เหลียวหนิง เหอเป่ย ซานตง ซานซี มองกิเลียใน ส่านซี กันสู้ ชิงไห่ ซิงเจียง ซึ่งก็นับเป็นชะเอมเทศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน

ประโยชน์และสรรพคุณชะเอมเทศ 

  1. ใช้ขับเลือดเน่า
  2. บำรุงหัวใจใช้ชุ่มชื่น
  3. แก้กำเดา
  4. แก้ไอ
  5. ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  6. เป็นยาระบายอ่อนๆ
  7. ช่วยลดพิษ หรือ อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาได้
  8. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  9. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  10. เป็นยารักษาดีพิการ
  11. รักษาอาการคัน
  12. รักษาพิษฝีดาษ
  13. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  14. ใช้เป็นยาบำรุงปอด
  15. รักษาอาการเบื่ออาหาร
  16. รักษาอาการอ่อนเพลียจากการ ตรากตรำทำงานหนัก
  17. เป็นยาแก้โรคกระเพาะ
  18. แก้อาการใจสั่น
  19. แก้โรคลมชัก
  20. ทำให้ผิวกระจ่างใน ลดเลือนริ้วรอย และจุดด่างดำได้
  21. ช่วยแก้อาการชัก
  22. ช่วยสงบประสาท
  23. ทำให้นอนหลับได้ดี
  24. แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  25. รักษาอาการเส้นเลือดขอด
  26. ช่วยอาการปอดบวม
  27. รักษาอาการตัวเหลือง
  28. รักษาอาการอักเสบบริเวณผิวหนัง ผิวเป็นผื่นแดง และคัน หรือ เป็นขุย

           ในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ของชะเอมเทศ คือ รากชะเอมเทศมีสารสำคัญ คือ สาร Glycyrrhizin (Glycyrrhizic acid หรือ Glycyrrhizinic acid) และสาร 24-hydroxyglyrrhizin โดยสารเหล่านี้เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50-100 เท่า จึงถูกนำมาใช้เพื่อแต่งรสชาติอาหาร ใช้แต่งรสหวานในขนม และลูกอม ใช้แต่งกลิ่นรสยาให้หวาน และช่วยกลบรสขมของยาต่างๆ และชะเอมเทศยังสามารถนำมาใช้เป็นไวต์เทนนิงจากธรรมชาติ โดยสารสกัดที่ได้จากรากนั้นมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยลดความเข้มของเม็ดสี ลดฝ้ากระบนใบหน้า ช่วยทำให้ผิวหน้าสว่างกระจ่างใสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยลด และต้านการอักเสบของผิว จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีที่ช่วยทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสได้ และยังไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหน้าและไม่ก่อให้เกิดเป็นสิวอุดตันอีกด้วย นอกจากนี้ชะเอมเทศมีสรรพคุณช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับลำคอ และกล่องเสียง เนื่องจากชะเอมเทศนั้นจะช่วยกระตุ้นการสร้างสารหล่อลื่นในบริเวณลำคอเหนือกล่องเสียงได้


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

นำชะเอมเทศ ไปคั่วให้เหลืองกรอบ มีกลิ่นหอม นำไปชงน้ำดื่ม จะช่วยแก้อาการชักช่วยสงบประสาท ทำให้นอนหลับได้ดี หากมีอาการร้อนในกระหายน้ำ ชะเอมเทศนำไปต้มกับน้ำจับเลี้ยงแล้วใช้ดื่มจะช่วยเสริมสรรพคุณในการระบายความร้อน และพิษร้อนในร่างกายออกได้  รักษาอาการเส้นเลือดขอด และอาการปอดบวม โดยใช้ชะเอมเทศ 50 กรัม ต้มน้ำแบ่งรับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง รักษาอาการตัวเหลือง โดยใช้สารสกัดชะเอมเทศครั้งละ 15-20 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าอาการตัวเหลืองจะหายเป็นปกติโดยใช้เวลาประมาณ 13 วัน ใช้ภายนอกรักษาอาการอักเสบบริเวณผิวหนัง ผิวเป็นผื่นแดงและคัน หรือเป็นขุย ใช้น้ำต้มชะเอมเทศล้างก็ช่วยลดอาการดังกล่าวนั้นได้


ลักษณะทั่วไปของชะเอมเทศ
 

ชะเอมเทศ เป็นพืชมีอายุหลายปี โดยถูกจัดเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1 เมตร มีรากขนาดใหญ่จำนวนมากลำต้นมีขนสั้นๆ ปลายมีต่อมเหนียว

            ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกสลับกัน มีใบย่อย 9-17 ใบ ก้านใบย่อยสั้นมาก แผ่นใบรูปกลมรีหรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-5.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบกลมมน มีขนสั้นๆ ทั้งสองด้าน

            ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ยาว 5-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากติดกันหนาแน่น ดอกย่อยรูปดอกถั่ว สีม่วงอ่อนถึงขาว

            ผลเป็นฝักกลมงอคล้ายเคียว มีขนปกคลุม ภายในมีเมล็ด 2-8 เมล็ด รูปกลมแบน หรือ รูปไต สีดำเป็นมัน

            ราก มีลักษณะเป็นท่อนกลมยาวมีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น Spanish liquorice (G. glabra var. typical Regal & Herd), Russian liquorice (G. glabra var. glandullifera (Wald et Kit) Regal & Herd) และ Chinese licorice (G.uralensis Fisch.) โดยแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะดังนี้

            Spanish liquorice ลักษณะรากเป็นรูปทรงกระบอก ขนาดต่างๆ กัน ผิวนอกของเปลือกมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ มีรอยย่นตามยาว อาจจะพบหน่อต้นที่เหง้า และรากแขนงที่ราก รากที่ปอกเปลือกแล้วจะมีสีเหลือง ประกอบด้วยเส้นใย เนื้อรากมีสีเหลืองเห็นชั้นเนื้อเยื่อแคมเบียมเป็นวง

            Russian liquorice ลักษณะรากเป็นรูปทรงกระบอก ความยาว 15-40 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-5 ซม. รากขนาดใหญ่ อาจจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ผิวนอกของเปลือกมีสีม่วงน้ำตาล รากที่ปอกเปลือกแล้วจะมีสีเหลือง ประกอบด้วยเส้นใย เนื้อรากมีสีเหลืองเห็นชั้นเนื้อเยื่อแคมเบียมเป็นวง

            Glycyrrhiza uralansis Fisch. ลักษณะรากเป็นรูปทรงกระบอก ความยาว 20-100 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6-3.5 ซม.อาจจะมีส่วน cork หรือ ไม่มีก็ได้ ผิวนอกของเปลือกมีสีน้ำตาลแดง ถึงน้ำตาลเทา มีรอยย่นตามยาว อาจจะพบรากแขนงที่ราก รากที่ปอกเปลือกแล้วจะมีสีเหลืองประกอบด้วยเส้นใย เนื้อรากมีสีเหลือง เห็นชั้นเนื้อเยื่อแคมเบียมเป็นวง

ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศ

การขยายพันธุ์ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วย การใช้เมล็ด โดยมีวิธีการเช่นเดียวกับการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดของพืชชนิดอื่นๆ ส่วนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกชะเอมเทศนั้น โดยปกติแล้ว ชะเอมเทศเป็นพืชที่ชอบเข้ารับแสง ทนร้อนและทนความแห้งแล้ง ชอบดินที่แห้งแล้งมีสีน้ำตาล มีธาตุแคลเซียม และเป็นดินเค็มอ่อนๆ ชั้นดินหนาและลึก สามารถระบายน้ำได้ดี เจริญเติบโตได้ดีบริเวณฝั่งน้ำที่มีลักษณะดินปนทราย ไม่สามารถเจริญเติบโตได้บริเวณชายหาดที่มีดินเค็มมาก หรือ เป็นดินด่าง โดยชะเอมเทศ จะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 ปี


องค์ประกอบทางเคมี

สาระสำคัญที่พบในชะเอมเทศ ได้แก่ สารกลุ่ม triterpene saponins : 4-24%  ได้แก่ glycyrrhizin (หรือ glycyrrhizic acid หรือ glycyrrhizinc acid) ในปริมาณ 5-9% และ 24-hydroxyglyrrhizin สารเหล่านี้จะมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50 และ 100 เท่า ตามลำดับ และสารที่อยู่ในรูป aglycone (glabranin Aและ B, glycyrrhetol, glabrolide, isoglabroline)

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของชะเอมเทศ

โครงสร้างชะเอมเทศ

ที่มา : Wikipedin

           สารกลุ่ม flavonoids: flavones, isoflavonoids, chalcones, liquiritigenin, liquirtin, isoliquiritigenin, isoliquiritin, formononetin, glabrone, neoliquiritin, neoisoliquirtin,

 licuroside, hispaglabridin A และ B, licochalcone B, isobavachin, sigmoidin B1

           สารกลุ่ม coumarins : herniarin, umbelliferone

           สารกลุ่ม stibenes : gancaonin R

           สารกลุ่มอื่นๆ : gums และ wax

           นอกจากนี้ G.glabrn L. ยังประกอบด้วยสารกลุ่ม  flavonoids และ isoflavonoids อื่นๆ ได้แก่ sapinaretin, vitexin, pinocembrin, prunetin, glabranin, glabrene, glabridin, glabrol, kanzonol T, kanzonol W-Z และสารกลุ่ม coumarins อื่นๆ ได้แก่ kanzonol U, kanzonol V

           ส่วน G.uralansis ประกอบด้วยสารกลุ่ม flavonoids และ isoflavonoids อื่นๆ ได้แก่ licobichalcone, licocbalcone, licochalcone A, echinatin, licoflavone A, licoricone, isoliciflavonol, ononin สารกลุ่ม coumarins อื่นๆ ได้แก่ glycyrol, isoglycyrol, glycycoumarin, licopyranocoumarin, สารกลุ่ม triterpene saponins อื่นๆ ได้แก่ uralsaponin A,B, uralenolide, licorice saponin A3, licorice saponin C2, licorice saponin D3, licorice saponin E2, สารกลุ่ม pterocarpenes (glycyrrhizol A,B) สารกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ 3-(p-hydroxyphenyl) propionic acid, (3R)-vestitol, 4-hydroxy-guaiacol apioglucoside


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชะเอมเทศ

ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ซึ่งสาระสำคัญ คือ glycycoumarin, glycyrin, glycyrin, dehydroglyasperin C และ D และเมื่อนำตำรับยาซึ่งประกอบด้วยสารสกัดรากชะเอมเทศกับสารสกัดหนอนตายอยาก และน้ำมันกานพลู ฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดการไอด้วยแอมโมเนีย พบว่ามีผลระงับการไอได้ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus, Streptococcus pneumonia และ b-Streptococcus group B เมื่อทดสอบตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 1ก./กก. ทดสอบในหนูตะเภาซึ่งได้รับควันบุหรี่ที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการไอด้วย capsaicin พบว่าสามารถระงับการไอได้

            ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร การให้สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ ทั้งทางปากฉีดเข้าช่องท้อง หรือ เข้าลำไส้เล็ก พบว่าสามารถลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารหนู และมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยกรด ยาแอสไพริน และยา ibuprofen สาร glycyrrhizin และสารที่ตัดส่วนน้ำตาลออก (aglycone) และสารสกัดชะเอมที่สกัดเอาสารกลุ่ม glycyrrhizin ออกแล้ว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยกระตุ้นการหลั่งสารเมือก สร้างสาร glycyrrhizin ที่พลังกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ pepsin ที่ทำหน้าที่ในการย่อยโปรตีน จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารมีอายุยืนยาว สารกลุ่ม flavonoids (liquirtigenin และ isoliquiritigenin) มีฤทธิ์ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง สาร isoliquirtitigenin มีความเฉพาะเจาะจงต่อ H histamine receptor โดยเป็น H recepior antagonist นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดการหลั่งของกรด และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ รากชะเอมเทศ ไม่ระบุขนาดรับประทาน สามารถลดการอักเสบในคน และหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยcarrageenan หรือ a-chymotrypsin ส่วนสารสกัดบิวทานอล อีเทอร์ และน้ำต้มจากรากขนาด 20 ก./กก. และไม่ระบุขนาด ทดสอบโดยให้ทางสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหารหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยฟอร์มาลีน และทดสอบด้วยวิธี albumin stabilizing พบว่าสามารถลดการอักเสบได้

           เมื่อนำยาชงจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ไม่ระบุขนาดรับประทาน พบว่าสามารถลดการอักเสบในคน สารสกัดตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ไม่ระบุขนาด ทดสอบในหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยฮีสตามีน พบว่าสามารถต้านการอักเสบ นอกจากนี้สารสกัดน้ำร้อน และเอทานอล 95 % ขนาด 18 มก./กก., 180 และ 500 มก./กก., 100 และ 200 มก./กก., 1.1 ก./กก. , 350 มก./กก. และไม่ระบุขนาด โดยป้อนทางปาก ให้ทางสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหาร และฉีดเข้าช่องท้อง ทดสอบในหนูขาว หนูถีบจักร และหนูเผือก ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan, dextran, paw immersion ในน้ำร้อน, ก้อนสำลี และ adjuvant พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ เมื่อให้ยาชงกับสารสกัดน้ำร้อนจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 100 มก./กก. ทางสายยางเข้ากระเพาะอาหารของหนูขาวหรือหนูถีบจักร ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan, dextran, paw immersion ในน้ำร้อน, adjuvant ก้อนสำลี และ mustard พบว่าไม่สามารถลดการอักเสบได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทานอล 95% จากเหง้าแห้งและราก ความเข้มข้น 25 มก./หลุม ทดสอบในจานเพาะเชื้อ Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus, Streptococcus epidermidis, Streptococcus pyogenes พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ก็พบว่าบางการทดลอง เมื่อทดสอบกับเชื้อ S. aureus, S. pyogenes สามารถต้านเชื้อได้เพียงเล็กน้อย สารสกัดน้ำจากราก ความเข้มข้น 10 มล./จานเพาะเชื้อ สารสกัดเอทานอล 95% จากราก ไม่ระบุขนาด สารสกัดน้ำ เฮกเซน และเอทานอลจากราก ความเข้มข้น 200 มก./มล. สารสกัดเมทานอลจากราก ไม่ระบุขนาด ทดสอบในการจานเพาะเชื้อ S. aureus, P. aeruginosa พบว่าไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกในชะเอมเทศอีกเช่น กรณีผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร การรับประทานรากชะเอมเทศจะทำให้แผลหายเร็วขึ้น 75% สาระสำคัญคือสาร glycyrrhetic acid (enoxolone) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 15-hydroxyprostaglandin dehydrogenase และ -prostaglandin reductase ทำให้มีการสร้างสาร prostaglandins E และ F ที่กระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยการสมานแผลกระเพาะอาหารได้ดี

           ส่วนในกรณีผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เมื่อรับประทานชะเอมเทศที่มีการสกัดเอาสาร glycyrrhizin ออกไปแล้วในปริมาณ 380 มก. วันละ 3 ครั้ง พบว่าให้ผลการรักษาเทียบเท่ากับการให้ยาลดกรดและยา cimetidine


การศึกษาทางพิษวิทยาของชะเอมเทศ
 

การทดสอบความเป็นพิษในมนุษย์ เมื่อนำสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศ ไปใช้เป็นยาระบายในคน พบ 5 ราย เกิดเป็นพิษ โดยมีอาการความดันโลหิตสูง โดยระดับโพแทสเซียมไอออนเพิ่ม พลาสมาเรนิน และระดับ aldosterone ลดลง นอกจากนี้คนที่รับประทานสารสกัดน้ำจากรากไม่ระบุขนาด พบว่ามีอาการความดันโลหิตสูง กระดูกจมูก ขากรรไกร นิ้วมือนิ้วเท้าโตกว่าปกติ (acromegaly) และมีอาการบวมน้ำร่วมด้วย นอกจากนี้ยังพบรายงานอาการความดันโลหิตสูงเมื่อรับประทานรากชะเอมเทศ ได้แก่ หญิงรับประทานรากชะเอมเทศไม่ระบุขนาด หญิงอายุ 40 ปี รับประทานรากชะเอมเทศ ขนาด 100 ก./วัน คนไข้หญิงประวัติเป็นโรคเบื่ออาหาร ชายอายุ 36 ปี รับประทาน ขนาด 25 ก./วัน นาน 1 เดือน และเด็กชายอายุ 15 ปี รับประทานลูกอมที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบอยู่ 0.5 ก. นอกจากนี้ยังมีรายงานความเป็นพิษของตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ โดยก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่ หญิงรับประทานตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 0.25 กก./วัน และยังมีรายงานว่าหญิงรับประทานชาชงชะเอมเทศ ขนาด 3 ล./วัน มีอาการความดันโลหิตสูง

           การทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง

           สารสกัดเอทานอล-น้ำ (1:1) จากราก ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50)เท่ากับ 681 มก./กก. และสารสกัดน้ำซึ่งมี glycyrrhizin อยู่ 48-58 % ฉีดเข้าช่องท้องหนูขาว หนูถีบจักร พบว่าค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 1.5 ก./กก. เมื่อป้อนทางปากหนูขาว หนูถีบจักร พบว่าค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 16 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูขาว หนูถีบจักร พบว่าค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 4.2 ก./กก.อีกการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอล 30% จากราก ไม่ระบุขนาดป้อนให้ทางปากหนูถีบจักรพบว่า ค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 32 มล./กก. สารสกัดจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายมากที่สุด (MLD) เท่ากับ 23.6 ก/กก นอกจากนี้การทดสอบตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ทดสอบในหนูถีบจักรเพศผู้เพศเมีย พบว่าค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก. และสารสกัดเอทานอลจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ทดลองในหนูถีบจักรพบว่าค่า LD50 เท่ากับ 1.8 ก./กก.

          พิษต่อตัวอ่อน สารสกัดเอทานอล 40% จากราก ขนาด 1.6 มล./กก. ทดสอบในกระต่ายและหนูขาวที่ตั้งท้อง ไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน นอกจากนี้การศึกษาความเป็นพิษ พบว่าเมื่อให้สารสกัดดังกล่าวเป็นเวลา 13 สัปดาห์ ไม่พบความเป็นพิษต่อทุกระบบ ยังพบว่าสารสกัดเอทานอล 95% จากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 250 มก./กก. ให้ทางสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหารหนูขาวที่ท้อง พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อนแต่ผลที่ได้ไม่แน่นอน (equivocal) และสารสกัดไม่ระบุส่วน ขนาด 200 มก./กก. ทดสอบในหนูขาวและหนูถีบจักร ไม่พบความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยาชงจากรากชะเอมเทศ ไม่ระบุขนาด ให้ทางสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหารสุนัขและหนูขาว ไม่พบความเป็นพิษ 

          พิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ความเข้มข้น 250 มคก./มล. และ 500 มคก./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง CA-mamary-microalveolar พบว่าความเข้มข้นขนาด 250 มคก. มีความเป็นพิษต่อเซลล์อย่างอ่อน ส่วนความเข้มข้น 500 มคก. ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำร้อนจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ความเข้มข้น 500 มคล./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง cells-HE-1 ความเข้มข้น 250 มคล./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง CA-JTC-26 พบว่าที่ความเข้มข้น 500 มคล. ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ ส่วนความเข้มข้น 250 มคล. พบว่ามีพิษต่อเซลล์ อีกการทดลองหนึ่งพบว่าสารสกัดเอทานอล-น้ำ (1:1) จากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 25 มคก./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง CA-9KB ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ขนาด 2 มก./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง Hela cells ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำ สารสกัดเมทานอล จากรากชะเอมเทศ ความเข้มข้น 100 มคก/มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง Vero cells ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศ ความเข้มข้น 10% ความเข้มข้น 400 มคล./มล. ทดสอบในการเพาะเลี้ยง Hela cells และ cell-MT2 ตามลำดับ ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดเมทานอลจากราก ทดสอบในการเพาะเลี้ยง Ishikava cells และ S-30 cells พบว่าค่า IC50 เท่ากับ มากกว่า 20 มคก./มล. แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ 

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดน้ำจากตำรับที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบ ไม่ระบุความเข้มข้น ทดสอบในการเพาะเลี้ยง Salmonella typhimurium TA100, TA98 ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์  


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ตับแข็ง ภาวะโปตัสเซียมต่ำ โรคไตเรื้อรัง โรคตับอักเสบ และหญิงมีครรภ์
  2. ห้ามใช้ชะเอมเทศ ร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ Spironolactone หรือ Amiloride เพราะจะทำให้ประสิทธิผลของการรักษาโรคความดันโลหิตลดน้อยลง
  4. ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรงดบริโภคชะเอมเทศอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะชะเอมเทศอาจรบกวนการควบคุมความดันโลหิตในระหว่าง และหลังการผ่าตัด
  5. ชะเอมเทศในขนาดที่มากกว่า 50ก./วัน เกินกว่า 6 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดการบวมที่มือและเท้า สารโซเดียม ถูกขับได้น้อยลง ขณะที่สารโพแทสเซียม ถูกขับมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง ชะเอมเทศ
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ชะเอมเทศ. บทความวิชาการ สมุนไพรในตำรับยาหอม. จุลสารข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 28.ฉบับที่ 2.มกราคม 2554 หน้า 7-12
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 1 น้ำกระสายยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556. หน้า 34-35 http://www.samunpri.com
  3. ชะเอมเทศ .สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. สุจิตรา ทองประดิษฐ์, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, วิสุดา สุวิทยาวัฒน์, จรุงจันทร์ กิจผาติ. การศึกษาความเป็นพิษของยาหอม. วารสารสมุนไพร 2542;6(1):1-10.
  5. ชะเอมเทศกับความดันโลหิตสูง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหิดล.
  6. ชะเอมเทศ. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5951
  7. Patcharin B, Pusit S, Malee L. Preparation and evaluation of cough pills from natural products. Special project, Faculty of Pharmacy, Mahidol University, 1984:30pp.
  8. Naovi SAH, Khan MSY, Vohora SB. Anti-bacterial, anti-fungal and anthelmintic investigations on Indian medicinal plants. Fitoterapia 1991;62(3):221-8.
  9.   Junzo K, Kayo M. Effect of anti-tussive ingredient of kanzo (licorice) on capsaicin-induced coughs in chronically cigarette smoke exposed guinea-pigs. Kanyo to Men’eki, Arerugi 2002;16:38-45.
  10. Brouwers AJ, van der meulen j. Licorice hypertension also caused by licorice tea. Ned Tijdschr Geneeskd 2001(145):744-7.
  11. Rao NH. Kanchanara gugulu kwatha in rheumatic diseases, a new dimension in kwatha preparations. Rheumatism 1982;17(2):59-67.
  12. Mitscher LA, Park YH, Omoto S, Clark GW, Clark D. Antimicrobial agents from higher plants, Glycyrrhiza glabra (var. spanish). I. Some antimicrobial isoflavans, isoflavenes, flavanones and isoflavones. Heterocycles 1978; 9:1533.
  13. Keijiro T, Maratashi H. Pharmacological studies on herb peony root. II. Antiinflammatory effect, inhibitory effect on gastric juice secretion preventive effect on stress ulcer, antidiuretic effect of peoniflorin and combined effect with licorice component Fm100. Yakugaku Zasshi 1969;89(7):887-92.
  14. Cumming AMM. Metabolic effects of liquorice. Brit Med J 1977;1977(1):906.
  15. Heikens J, Fliers E, Endert E, Ackermans M, Van montfrans G. Liquorice-induced hypertension - a new understanding of an old disease: case report and brief review.  Neth J Med 1995;47(5):230-4.
  16. Basavarajaiah CR, Lucas DS, Anadarajashekhar R, Parmesh RR. Fundamentals of Ayurvedic pharmacetuicals: anti-inflammataory activity of different preparations of three medicinal plants. J Res Edu Ind Med 1990;9(3):25-30.   
  17.  Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, Kar K, Mehrotra BN, Mukherjee KC. Screening of Indian plants for biological activity: part X.  Indian J Exp Biol 1984;22(6):312-32.
  18. Leslie GB, Salmon G. Repeated dose toxicity studies and reproductive studies on nine bio-strath herbal remedies. Swiss Med 1979;1(1/2):1-3.
  19. Komiyama K, Kawakubo Y, Fukushima T, et al. Acute and subacute toxicity test on the extract from Glycyrrhiza. Oyo Yakuri 1977;14:535-48.
  20. Fukai T, Tantal L, Nomura T. lsoprenoid-substituted flavonoids from Glycyrrhiza glabra. Phytochemistry 1996;43 (2): 531-2.
  21. Dabral PK, Sharma RK.  Evaluation of the role of rumalaya and geriforte in chronic arthritis-a preliminary study. Probe 1983;22(2):120-7.
  22. Nimri LF, Meqdam MM, Alkofahi A. Antibacterial activity of Jordanian medicinal plants. Pharmaceutical Biol 1999;37(3):196-201.
  23. British Herbal Medicine Association. British Herbal Pharmacopoeia. Bournemouth:Megaron Press, 1983.
  24. Hong ND, Koo BH, Joo SM, Lee SK. Studies on the efficacy of combined preparation of crude drugs (XXXVI). Effects of sipmidojuksan on the central nervous and cardiovascular systems.  Korean J Pharmacog 1988;19(2):141.
  25. Kato M, Marumoto M, Hayashi M, Maeda T, Hayashi E. Pharmacological studies on saiko-prescriptions. IV. Effect of shosaiko-to on swelling of rat hind paws induced by carrageenin. Yakugaku Zasshi 1984;104(5):509-14.
  26. Bisset NG. Herbal Drugs and Phytopharmaceuticals. London: CRC Press, 1994.
  27. Taylor AA, Bartter FC. Hypertension in licorice intoxication, acromegaly, and cushing's syndrome. Hypertens Physiopathol Treat 1977;1977:755.
  28.   Sato A. Studies on anti-tumor activity of crude drugs. I. The effects of aqueous extracts of some crude drugs in shortterm screening test. Yakugaku Zasshi 1989;109(6):407-23.
  29. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์อมรินทร์,25432
  30. Scali M, Pratesi C Zennaro MC, Zampollo V, Armanini D. Pseudohyperaldosteronism from liquorice-containing laxatives. J Endocrinol Invest 1990;13(10):847-8.
  31. Van der zwan A. Hypertension encephalopathy after liquorice ingestion. Clin Neurol Neurosurg 1993;95(1):35-7.
  32. Sakai Y, Nagase H, Ose Y, Sato T, Kawai M, Mizuno M. Effects of medicinal plant extracts from Chinese herbal medicines on the mutagenic activity of benzo[a]pyrene. Mutat Res 1988;206(3):327-34.
  33. Ahmad I, Mehmood Z, Mohammad F. Screening of some Indian medicinal plants for their antimicrobial properties. J Ethnopharmacol 1998;62(2):183-93.
  34. Jimenez AB, Murillo LJ, Perez FJM, et al. Acute rhadbomyolysis and tetraparesis secondary to hypokalemia due to licorice ingesta. An Med Intern (Madrid) 1995;12(1):33-5.
  35. Leslie GB. A pharmacometric evaluation of nine bio-strath herbal remedies. Medita 1978;8(10): 3-19.
  36. Sabahi M, Mansouri SH, Ramezanian M, Gholam-hoseinian A. Screening of plants from the southeast of Iran for antimicrobial activity. Int J Crude Drug Res 1987;25(2):72-6.
  37. Ishikawa S, Kato M, Tokuda T, et al. Licorice-induced hypokalemic myopathy and hypokalemic renal tubular damage in anorexia nervosa. Int J Eat Disord 1999;26(1):111-4.