เสาวรส ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เสาวรส งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เสาวรส
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สุคนธรส (ภาคกลาง), กะทกรกฝรั่ง, กะทกรกสีดา, กะทกรกยักษ์ (ทั่วไป), มะคกรก, บะคกรก (ภาคเหนือ) 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora edulisSims. (พันธุ์สีม่วง), Passiflora edulis f. flavicarpa O. Deg. (พันธุ์สีเหลือง)
ชื่อสามัญ Passion fruit, Yellow granadilla, Jamaica honey-suckle
วงศ์ Passifloraceae

ถิ่นกำเนิดเสาวรส

เสาวรสมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ในประเทศบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา แล้วมีการกระจายพันธุ์โดยการนำเสาวรสไปปลูกเพื่อประโยชน์ทางการค้าในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย เปอร์โตริโก สาธารณรัฐโดมินิกัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล คอสตาริกา แอฟริกาใต้ โปรตุเกส รวมถึงประเทศแถบทะเลแคริบเบียน และแอฟริกาตะวันออก 

           สำหรับในประเทศไทยเสาวรส ถูกนำเข้ามาทดลองปลูกครั้งแรกในภาคเหนือ ประมาณปี พ.ศ.2498 ปัจจุบัน พบปลูกมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออก ในแถบจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ระยอง และชลบุรี 


ประโยชน์และสรรพคุณเสาวรส

  1. ใช้ทำเป็นครีมบำรุงผิว
  2. ต้านอนุมูลอิสระ
  3. ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรง
  4. ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี
  5. สามารถช่วยขจัดคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
  6. ช่วยขับสารพิษในลำไส้
  7. ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย
  8. ช่วยในการบำรุงสายตาได้ดีเยี่ยม
  9. ใช้เป็นยาควบคุมธาตุ
  10. ช่วยถอนพิษ
  11. ใช้รักษาบาดแผล  
  12. ใช้เป็นยาแก้ไข้
  13. รักษาผื่นคัน
  14. รักษาโรคกามโรค
  15. ช่วยขับเสมหะ
  16. แก้ไอ
  17. ช่วยลดไขมันในเลือด
  18. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ
  19. ช่วยลดความดับโลหิต
  20. รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  21. รักษาตามโรค
  22. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้
  23. ช่วยลดไขมันในเลือด
  24. ลดความดันโลหิต

           เมล็ดเสาวรส พร้อมเยื่อหุ้มเมล็ดนำมาคั้น หรือ ปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม ให้รสเปรี้ยวจัด หรือ ปั่นผสมกับผลไม้อื่นที่มีรสหวาน เพื่อเพิ่มความหวาน อาทิ ประเทศทางแถบอเมริกาใต้นิยมนำเยื่อหุ้มเมล็ด และเปลือกมาปั่นผสมกับน้ำตาล ได้เครื่องดื่มที่เรียกว่า refresco หรือ ใช้ผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่น เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม น้ำสับปะรด น้ำพีช เป็นต้น โดยอัตราการผสมน้ำเสาวรสประมาณ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม และรสชาติที่ดี ซึ่งเป็นที่นำยมกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะนอกจากทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นหอม และรสชาติที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูง และน้ำเสาวรสยังสามารถนำไปใช้แต่งกลิ่น และรสชาติของไอศกรีม ขนมเค้ก เยลลี่ เชอร์เบท พาย ลูกกวาด ไวน์ เป็นต้น และเยื่อหุ้มเมล็ดยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ เสาวรสผง แยมเสาวรส และเยลลี่เสาวรส ส่วนเปลือกเสาวรสมีคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน สามารถนำมาตากแห้งหรือใช้สดเป็นอาหารเลี้ยงโค กระบือ แกะ แพะ และหมู ได้

เสาวรสสีม่วง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

โดยปกติแล้ว มักจะนำเสาวรสสุกมาทำเป็นน้ำผลไม้ หรือ ใช้รับประทานสดๆ ก็สามารถได้ประโยชน์จากสารออกฤทธิ์ต่างๆ ของเสาวรส แล้ว ส่วนในค้านการนำมาใช้เป็นสมุนไพรก็มีการมาใช้ เช่น นำรากเสาวรสไปต้มแล้วใช้ดื่มช่วยแก้ไข้ รักษาตามโรค แก้ผื่นคัน หรือ นำใบมาต้มกับน้ำใช้รับประทาน สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้ หรือ จะใช้เนื้อในของผลสุกมาทำเป็นน้ำผลไม้ดื่ม จะช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยให้ระบายได้ เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของเสาวรส

เสาวรสจัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ ส่วนโคนเป็นไม้เนื้อแข็ง อายุหลายปี สามารถเลื้อยได้ไกลถึง 12 เมตร มีมือเกาะ ใบเดี่ยว รูปคล้ายโล่ หรือ รูปไข่ ออกเรียงสลับกัน ขอบใบมักเว้าลึกเป็น 3 พู ปลายใบแหลม หรือ เรียวแหลม โคนใบกลม หรือ รูปหัวใจเว้าตื้น เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ขอบใบจักฟันเลื่อย มีเส้นใบ 3 เส้น ออกจากโคนใบ ก้านใบยาว 4-4.5 เซนติเมตร ที่ปลายก้านมีต่อม หูใบรูปหอก ขอบเรียบ หรือจักฟันเลื่อย

           ดอกเสาวรสจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรด้วยตนเองได้ดี ตัวดอกแทงออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกบริเวณซอกใบตามเถา ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง ด้านนอกกลีบเลี้ยงมีสีเขียว ด้านในมีสีขาว และกลีบดอกสีครีมอมม่วง 5 กลีบ กลีบดอกเรียงสลับเป็น 2 ชั้น ถัดมาด้านในมีฝอยเป็นเส้นล้อมเป็นวงกลมจำนวนมาก โคนฝอยมีสีม่วง ปลายฝอยมีสีขาว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมีปลายแยกเป็น 3 แฉก เมื่อบานจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ

           ผลเสาวรส ออกเป็นผลเดี่ยว ผลมีรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ และอวบน้ำ ขนาดผลประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีน้ำหนักผลประมาณ 35-115 กรัม ขึ้นอยู่กับขนาดผล ส่วนสีเปลือกแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์สีม่วงจะมีเปลือกสีม่วงเข้ม ส่วนพันธุ์สีเหลืองจะมีเปลือกสีเหลืองสด เปลือกผลทุกพันธุ์ค่อนข้างหนา และ เป็นมัน ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก

           ส่วนพันธุ์ที่พบในประเทศไทยและนิยมปลูกกันมาก มี 3 พันธุ์

  1. พันธุ์ผลสีม่วง (Passiflora edulis) พันธุ์ผลสีม่วงในธรรมชาติพบได้มากในที่สูง ประมาณ 1,000-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดเวลา ทำให้ผลมีขนาดเล็ก เมื่อผลสุกจะมีสีม่วงเข้มผิวเป็นมัน น้ำจาก พันธุ์ผลสีม่วง มีรสชาติดีกว่าพันธุ์ผลสีเหลือง มีกรดต่ำสีสวย และหวาน จึงเหมาะสำหรับรับประทาน ผลสด ข้อเสียของพันธุ์นี้คือ ค่อนข้างจะอ่อนแอต่อโรค
  2. พันธุ์ผลสีเหลือง (Passiflora edulis, var flaicarpa) พันธุ์ผลสีเหลือง ตามธรรมชาติพบขึ้นตามพื้นที่สูงในแถบประเทศชายฝั่งทะเล ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ผลมีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดใหญ่เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองขมิ้นชัน ผิวเป็นมัน น้ำคั้นของพันธุ์นี้ มีกรดมาก ซึ่งมี pH ต่ำกว่า 3 เหมาะสำหรับส่งเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปมากกว่าการ รับประทานผลสด ข้อดีของพันธุ์นี้ คือ ให้ผลดก มีความต้านทานโรค และแมลงสูงกว่าพันธุ์ผลสีม่วง
  3. พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ผลสีม่วงกับพันธุ์สีเหลือง เพื่อคัดเลือกต้นพันธุ์ใหม่ ที่รวมลักษณะผลที่เด่นของแต่ละพันธุ์ไว้ ทำให้มีลักษณะผลใหญ่ ให้ผลดก มีรกห่อหุ้ม เมล็ดมากเปลือกบาง ต้านทานโรค และมีช่วงเวลาในการให้ผลที่ยาวนาน พันธุ์นี้จะให้ทั้งผลที่มีสีม่วงและผลสีเหลือง สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

เสาวรส

เสาวรส

ลูกเสาวรส

การขยายพันธุ์เสาวรส

เสาวรสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเขตอากาศเย็นทางภาคเหนือ หรือ เขตอากาศร้อนชื้นทางภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง

           ส่วนการขยายพันธุ์เสาวรส สามารถขยายพันธุ์ได้จากต้นกล้าที่เพาะเมล็ด รวมถึงต้นกล้าที่ได้จากการปักชำ หรือ การตอนเถา แต่ส่วนมากนิยมปลูกจากเมล็ดมากที่สุด โดยมีวิธีการดังนี้

           การเตรียมเมล็ด เมล็ดที่ใช้เพาะกล้า ควรเลือกจากผลเสาวรสที่มีผลขนาดใหญ่ ผลมีความสมบูรณ์ เปลือกผลเป็นมันวาว ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง โดยนำเมล็ดมาใส่ผ้าขาวบาง แล้วนำไปขยี้ให้น้ำ และเยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกจากเมล็ด จากนั้น นำเมล็ดมาล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำเมล็ดมาตากผึ่งแดดให้แห้ง นาน 5-7 วัน เก็บพักไว้ในที่ร่มนาน 1-2 เดือน ค่อยนำมาเพาะ หลังจากพักเมล็ดไว้ 1-2 เดือนแล้ว ก่อนเพาะให้นำเมล็ดมาแช่น้ำไว้ 1 คืน การเพาะเมล็ดอาจเพาะในถุงเพาะชำได้โดยตรง หรือ หยอดเพาะในกระบะเพาะก่อน แล้วค่อยแยกลงเพาะต่อในถุงเพาะชำได้

           การเตรียมแปลงปลูก การปลูกเสาวรสในแปลงใหญ่จำนวนหลายต้นจำเป็นต้องเตรียมแปลงก่อน โดยการไถพรวนดิน 1-2 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้น ขุดหลุมปลูก ขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร โดยให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว และระยะห่างระหว่างต้น หรือ หลุม ประมาณ 2-3 เมตร จากนั้น ปล่อยหลุมตากแดดไว้ 3-5 วัน

           วิธีการปลูก ก่อนปลูก ให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 หยิบมือ ก่อนคลุกหน้าดินลงผสม ก่อนฉีกถุงดำออก แล้วนำต้นกล้าเสาวรสลงปลูกในหลุม พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ จากนั้น นำไม้ไผ่มาปักข้างหลุม เพื่อให้ลำต้นอิงเติบโตสักระยะ

           การทำค้าง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเสาวรส เป็นไม้เถาเลื้อย จำเป็นต้องเกาะเลื้อยตามวัสดุต่างๆ การเตรียมค้าง ควรเตรียมหลังการขุดหลุมปลูกเสร็จ หรือ ทำร่วมกับการขุดหลุมปลูก หรืออาจทำหลังการปลูก แต่พึงระวังไม่ให้ต้นพันธุ์ได้รับอันตรายขณะทำค้าง

           การเตรียมค้างทำได้โดยการใช้เสาคอนกรีต หรือ เสาไม้มาฝังใกล้กับต้นเสาวรสตามแนวยาวของแถว จากนั้น ใช้ลวดขึงโยงแต่ละเสาตามแนวยาว แล้วค่อยขึงโยงตัดตามแนวขวางให้เป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 50×50 เซนติเมตร


องค์ประกอบทางเคมี

ในน้ำเสาวรสพบสาระสำคัญ เช่น Carotenoid (คาโรทีนอยด์), Pectin methyhesterase (เอนไซม์ เพคทนเมทิลเอสเตอเรส), Catalase (คาทาเลส), Leucine (ลิวซีน), Valine (วาลีน), Tyrosine (โทโรซีน), Prline (โพรลีน), Threonine (ทรีโอนีน), Glycine (ไกลซีน), Aspertic acid (กรดแอสพาร์ทิก), Arginine (อาร์จินีน), Lysine (ไลซีน), Alkalod (อัลคาลอยด์) ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของเสาวรส มีดังนี้

 รูปภาพองค์ทางเคมีของเสาวรส

โครงสร้างเสาวรส 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเสาวรส

ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่า สารสกัดเอทานอล 80% จากเนื้อหุ้มเมล็ดของเสาวรสทั้งชนิดผลสีม่วง และผลสีเหลืองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี 2,2¢-azino-bis (3-ethylbenzthiazoline-6-sulphonic acid) decolorization assay (ABTS assay), H2O2 scavenging assay และ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl radical scavenging capacity assay (DPPH assay) จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า น้ำเสาวรสมีคุณค่าทางโภชนาการและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพใยอาหารส่วนที่ไม่ละลายน้ำ (insoluble fiber-rich fraction) จากเมล็ดเสาวรสมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดเมื่อทดลองผสมลงในอาหารที่มีไขมันสูง (hypercholesterolemic diet) ปริมาณ 5% แล้วใช้เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์นาน 30 วันพบว่า ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลในเลือด และในตับหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญและพบว่ามีไขมันในน้ำดีและในอุจจาระที่ขับถ่ายออกมามากขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และในการป้อนน้ำคั้นเสาวรส พันธุ์เปลือกสีเหลืองให้แก่หนูแรทขนาด 1,000 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 28 วัน มีผลลดค่าไขมันและ LDL (low-density lipoprotein) ใน เลือดและเพิ่มค่า HDL (high-density lipoprotein) นอกจากนี้ยังมีผลลดค่า thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) แสดงให้เห็นว่าเมล็ดเสาวรสรวมถึงน้ำจากส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด และต้านการเกิดอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันได้ นอกจากนี้การป้อนส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดของเสาวรสชนิดเปลือกสีเหลืองให้แก่หนูแรทที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ขนาดวันละ 5-8 ก./กก. นานติดต่อกัน 5 วัน มีผลทำให้ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวลดลง และพบว่าระดับ glutathione ในเนื้อเยื่อไตสูงขึ้น และสามารถยับยั้งการเกิดสาร TBARS ได้ผลการทดสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดของเสาวรสมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ


การศึกษาทางคลินิกของเสาวรส

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำคั้นเสาวรสในกลุ่มอาสาสมัครผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีภาวะของโรคร้ายแรงจำนวน 60 คน ทั้งเพศชายและหญิง โดยให้อาสาสมัครดื่มน้ำคั้นเสาวรสทั้งจากพันธุ์ผลสีม่วง และผลสีเหลืองวันละ 1 แก้ว (ประมาณ 125 มล.) หลังจากรับประทานอาหารมื้อกลางวัน นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ เก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครทั้งช่วงก่อนและหลังดื่มน้ำคั้นเสาวรส เพื่อตรวจวัดค่าทางชีวเคมีในเลือดและเปรียบเทียบผลการเปลี่ยนแปลง ผลจากการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำคั้นเสาวรสทั้งชนิดผลสีม่วง และสีเหลืองมีผลทำให้ปริมาณวิตามินเอ และวิตามินอี ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ได้แก่ superoxide dismutase (SOD) และ catalase นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบ คือ interleukin-6 (IL-6) และ tumor necrosing factor-α (TNF-α) อีกด้วย

           ส่วนการศึกษาทางคลินิกอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าการทดสอบโดยให้อาสาสมัคร 9 คน (ทั้งชายและหญิง) ที่มีอายุระหว่าง 20-35 ปี รับประทานแคปซูลสารสกัดน้ำ หรือ ชา (เข้มข้น 10%) จากส่วนใบเสาวรส วันละ 4 แคปซูลก่อนอน ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอาสาสมัครกลุ่มที่ระบบประทานแคปซูลเสาวรส และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในเรื่องผลของการนอนหลับ แต่กลับพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ระบบประทานแคปซูลเสาวรสบางรายมีค่าโปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ไต และตับเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ bilirubin, uric acid, creatinine phosphokinase และ glutamic-oxaloacetic transaminase


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การรับประทานเสาวรสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป หลอดเลือดอักเสบ บางรายพบรายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม หัวใจเต้นเร็ว หรือ เต้นผิดปกติ
  2. จากการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) น้ำคั้นเสาวรสมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP450 ชนิด CYP3A4 เมื่อทดสอบบนเซลล์ human liver microsomes ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการดื่มน้ำคั้นเสาวรสร่วมกับกลุ่มแผนปัจจุบันที่ต้องอาศัยเอนไซม์ดังกล่าวในกระบวนการเผาผลาญยา
  3. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานเสาวรส เนื่องจากสารเคมีบางตัวในเสาวรสอาจทำให้มดลูกหดตัว
  4. ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานเสาวรสอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากเสาวรส อาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจไประงับฤทธิ์ยาสลบหรือยาตัวอื่นต่อสมองในช่วงผ่าตัดและหลังจากผ่าตัดได้

เอกสารอ้างอิง เสารส
  1. ศุภวัชร สิงห์ทอง, เสนีย์ เครือเนตร, ศุภพงษ์ อาวรณ์. ผลของน้ำเสาวรส ต่อการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในผู้สูงอายุและในหลอดทดลอง. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย; 2557. Report No. RDG5420047.
  2. การใช้สมุนไพร. กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mah:dol.ac.th/user/reply.asp?id=6533
  3. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ผลไม้โครงการหลวงกับงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. "Passion Fruit: Background, Nutrition, Preparation". Exotic Fruit for Health. 25 August 2011. สืบค้นเมื่อ 18 September 2011.
  5. เสาวรส/กะทกรกฝรั่ง สรรพคุณและการปลูกเสาวรส. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  6. พิชานันท์ ลีแก้ว.เสาวรส ผลไม้สำหรับผู้รักสุขภาพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. เสาวรส. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action+viewpage&pid=121
  8. Mallhi TH, Sarriff A, Adnan AS, Khan YH, Qadir MI, Hamzah AA, et al. Effect of fruit/vegetable-drug interactions on CYP450, OATP and p-glycoprotein: A systematic review. Trop J Pharm Res. 2015;14(10):1927-35.
  9. de Souza Mda S, Barbalho SM, Damasceno DC, Rudge MV, de Campos KE, Madi AC, et al. Effects of Passiflora edulis (yellow passion) on serum lipids and oxidative stress status of Wistar rats. J Med Food. 2012;15(1):78-82.
  10. Patel SS. Morphology and pharmacology of Passiflora edulis: a review. J Herb Med Toxicol. 2009;3(1):1-6
  11. Konta EM, Almeida MR, do Amaral CL, Darin JD, de Rosso VV, Mercadante AZ. Evaluation of the antihypertensive properties of yellow passion fruit pulp (Passiflora edulis Sims f. flavicarpa Deg.) in spontaneously hypertensive rats. Phytother Res. 2014;28(1):28-32.
  12. Chau CF, Huang YL. Effects of the insoluble fiber derived from Passiflora edulis seed on plasma and hepatic lipids and fecal output. Mol Nutr Food Res. 2005;49(8):786-90
  13. Tala Y, Anavia S, Reismana M, Samachb A, Tirosha O, Aron M, et al. The neuroprotective properties of a novel variety of passion fruit. Journal of Functional Foods 2016;23:359- 69.
  14. Hidaka M, Fujita K, Ogikubo T, Yamasaki K, Iwakiri T, Okumura M, et al. Potent inhibition by star fruit of human cytochrome P450 3A (CYP3A) activity. Drug Metab Dispos. 2004;32(6):581-3