น้ำมันกานพลู

น้ำมันกานพลู งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสามัญ Clove
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison, Eugenia caryophyllata Thunb.
จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)


น้ำมันกานพลูคืออะไร

น้ำมันกานพลูเป็นน้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากการกลั่นโดยใช้ไอน้ำจากพืชที่เราเรียกกันว่าต้นกานพลู ซึ่งประเภทของน้ำมันมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. น้ำมันจากดอกได้มาจากดอกตูมของต้นกานพลู ซึ่งประกอบไปด้วย 60% eugenol, acetyl eugenol, caryophyllene และส่วนประกอบย่อยอื่นๆ
  2. น้ำมันจากใบที่ได้มาจากใบของต้นกานพลู ประกอบด้วยยูจินอล 82-88% ซึ่งอาจจะมีอะซิเตตน้อย หรือ ไม่มีเลย และยังส่วนประกอบย่อยอื่นๆ อีกด้วย
  3. น้ำมันจากต้นมาจากกิ่ง และเปลือกต้นของต้านกานพลู ประกอบด้วยยูจินอล 90-95% และส่วนประกอบย่อยอื่นๆ

           ส่วนลักษณะของน้ำมันกานพลู นั้นจะเป็นของเหลว (น้ำมัน) มีกลิ่นเฉพาะตัวซึ่งจะฉุนเล็กน้อยมีสีใสถึงเหลืองอ่อน หรือ สีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน น้ำมันกานพลูมักจะมีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยานวด, น้ำหอม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงใช้ในการปรุงรสของยาเพื่อลดความขมลง แต่หากเป็นสมุนไพรจากส่วนต่างๆ ของกานพลูนั้น มีการใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่ากว้างขวาง และหลากหลายในด้านสรรพคุณทางยาในพืชชนิดนี้

น้ำมันกานพลู

ประโยชน์และสรรพคุณน้ำมันกานพลู  

  1. แก้ปวดฟัน
  2. ช่วยระงับการกระตุก ตะคริว
  3. ช่วยขับผายลม
  4. แก้ปวดท้อง
  5. แก้ท้องอืด
  6. แก้ท้องขึ้น
  7. แก้ท้องร่วง
  8. ช่วยแก้ไอ
  9. ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  10. แก้อาการชาปลายมือปลายเท้า
  11. บรรเทาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  12. แก้โรคลมระงับปวด
  13. ใช้เป็นยานวดแก้ปวดบวมช้ำ
  14. ช่วยแก้อาการท้องเสียในเด็ก 
  15. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน 
  16. ช่วยรักษาโรคหืดหอบ
  17. ช่วยแก้อาการสะอึก
  18. ช่วยขับน้ำดี
  19. เป็นยาระงับอาการชักกระตุก       

           ส่วนประโยชน์และสรรพคุณทางยาของส่วนต่างๆ ของต้นกานพลูนั้นมีดังนี้ ตำรายาไทย ดอก รสเผ็ด กระจายเสมหะ แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก แก้หืด เป็นยาทำให้ร้อนเมื่อถูกผิวหนังทำให้ชา เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้ปวดท้อง มวนในลำไส้ แก้ลม แก้เหน็บชา แก้พิษโลหิต พิษน้ำเหลือง ขับน้ำคาวปลา ทำอุจจาระให้ปกติ แก้ธาตุทั้ง 4 พิการ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ขับผายลม กดลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ แก้สะอึก แก้ซางต่างๆ ขับระดู ใน "พิกัดตรีพิษจักร" คือ การจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร 3 อย่าง มีผลผักชีล้อม กานพลู และผลจันทน์เทศ สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต "พิกัดตรีคันธวาต" คือ การจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา มีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ "ยาหอมเทพจิตร" และตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ 


ขนาดและปริมาณที่ควรใช้

เนื่องด้วยน้ำมันกานพลู (Cove oil) นั้นส่วนมากแล้วนิยมใช้เป็นส่วนผสมกับภัณฑ์อื่นดังนั้นขนาดและปริมาณที่ควรใช้ของน้ำมันกานพลู (Cove oil) ดังนี้ ในการใช้ผสมยาสีฟันนั้นควรใช้ประมาณ 0.1-0.5% ใช้ผสมยาดม ยาหม่อง ควรใช้ประมาณ 3-5% ส่วนในการใช้ทำยาสลบปลาควรใช้ 10-30% (กับเอทิลแอลกอฮอลส์) ส่วนการใช้กานพลูรักษาอาการปวดฟันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ให้ กลั่นเอาเฉพาะส่วนน้ำมันใช้ใส่ฟัน หรือ ใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน ตำกานพลูพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวดและใช้แก้โรครำมะนาด เอาดอกกานพลูแช่เหล้าหยอดฟัน ส่วนการใช้น้ำมันหอมระเหย (น้ำมันกานพลู) ที่ใช้สำหรับขับลม และบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 0.05-0.2 ซีซี อนึ่ง การใช้กานพลูในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จึงต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, aspirin, heparin เป็นต้น และระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs ; เช่น ibuprofen), รวมถึงระวังการใช้ร่วมกับสมุนไพร หรือ ยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น insulin, metformin

สูตรทางเคมีและสูตรโครงสร้าง

น้ำมันกานพลู (Clove oil) ได้จากการสกัด ดอก, ใบ เปลือกและกิ่ง ของต้นกานพลู โดยการกลั่นโดยใช้ไอน้ำมีน้ำหนักโมเลกุล 205.647 g/mal มีจุดเดือดอยู่ที่ 251 องศาเซลเซียส (Cº) มีจุดวาบไฟที่ > 250 องศาฟาเรนไฮท์ (Fº) มีความไวไฟพอสมควร

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันกานพลู

   โครงสร้างกานพลู

แหล่งที่มาและแหล่งที่พบ

น้ำมันกานพลู (Clove oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากวิธีการกลั่นโดยใช้ไอน้ำ (Stream distillation) จากนั้นสกัดแยกน้ำมันกานพลูกับน้ำด้วย dichloromethane แล้วระเหยเอา dichloromethane ออกมา ก็จะได้น้ำมันกานพลู ส่วนลักษณะของต้นกานพลูที่เป็นแหล่งที่มาของน้ำมันกานพลูนั้นมีลักษณะดังนี้

ชื่อสมุนไพร กานพลู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & Perry     
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่อพ้อง Eugenia caryophyllata Thunb. Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & Harrison, Eugenia aromatica Kuntze
ชื่ออังกฤษ Clove, Clove tree
ชื่อท้องถิ่น จันจี่ (ภาคเหนือ)

           ลักษณะทั่วไปกานพลู

  • ลำต้นกานพลูเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูง 5-20 เมตร เรือนยอดทึบ เป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมน้ามันมาก
  • ใบ ใบกานพลู เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ยาว 1-3 เซนติเมตร รูปใบขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม หรือ เรียวแหลม ขอบเรียบ โคนสอบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ตอนล่างของใบมีต่อมจำนวนมาก ใบมีเส้นใบจำนวนมาก
  • ดอกกานพลูออกเป็นช่อดอกสั้นๆ แทงออกบริเวณปลายยอด หรือ ง่ามใบบริเวณยอด ดอกแตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6-20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และมีสีแดงประปราย โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มิลลิเมตร กลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกมีรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว 7-8 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันมาก กลีบดอกมักร่วงง่าย ด้านในมีเกสรเพศผู้ ก้านชูเกสรยาว 3-7 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ยอดเกสรตัวเมียแบ่งเป็น 2 พู มีรังไข่ 2-3 ห้อง แต่ละห้องมีไข่จำนวนมาก
  • ผลผลกานพลู เป็นผลเดี่ยว มี 1 เมล็ด มีรูปไข่กลับแกมรูปรี ยาว 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ

           สารสำคัญที่พบ

  • ดอก - Eugenol 72-90 % - Eugenyl acetate 2-27 % - β-caryophyllene 5-12 % - trans-β-caryophyllene 6.3-12.7 % - Vanillin
  • ใบ - Eugenol 94.4 % - β-caryophyllene 2.9 %

           สารอื่นๆ ได้แก่ methyl salicylate, methyl eugenol, benzaldehyde, methyl amyl ketone และ rhamnetin

กานพลู

กานพลู

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำมันกานพลู

  • ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ กานพลูมีสาร eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ มีการใช้น้ำมันกานพลูเป็นส่วนผสมในตำรับยาเพื่อลดอาการปวด นอกจากนี้สาร eugenol ในน้ำมันกานพลูยังออกฤทธิ์เป็นยาสลบในปลาอีกหลายชนิด
  • สารสกัดน้ำจากดอก จากผล จากเปลือกต้น และน้ำมันกานพลู มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยไปยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin โดยยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1, cyclooxygenase-2 และเพิ่มการสังเคราะห์ nitric oxide
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุอาการแน่นจุกเสียดจากท้องเสีย และแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดด้วยเอทานอล สารสกัดด้วยเอทานอล:น้ำ ในอัตราส่วน 3:1 สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ เมทานอลและน้ำจากดอก สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากดอกที่กลั่นเอาน้ำมันหอมระเหยออกแล้ว และน้ำมันกานพลู มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการแน่นจุกเสียด ได้แก่ Escherichia coli, Salmonella typhi, S. typhosa, S. enteritidis, S. paratyphi, Shigella, Sh. paradysenteriae, Sh. dysenteriae, Sh. flexneri, Bacillus anthracis, B. subtilis, B. mesentericus, B. cereus, Proteus vulgaris, Rabbit Cholera, Vibrio comma, V. cholerae, V. parahemolyticus, Helicobacter pyroli และ Clostridium botulinum 
  • ฤทธ์ต้านการเกิดแผนในกระเพาะอาหาร มีการทดสอบฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ในหลอดทดลอง โดยใช้ลำไส้กระต่าย เทียบกับ acetylcholine 5.5 x 10(-5) M ซึ่งสารสกัดกานพลูด้วยการต้ม ความเข้มข้น 200-6400 μg/ml มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้น้อยกว่า acetylcholine และเมื่อมีการให้สารสกัดกานพลูร่วมกับ atropine sulphate พบว่าจะมีฤทธิ์ในกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ลดลง
  • ฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้ การทดสอบฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลองของน้ำมันกานพลู ทำในหลอดทดลอง ลำไส้ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบีบตัวโดยใช้สารหลายชนิด ได้แก่ acetylcholine (ใช้ลำไส้หนูแรทส่วน duodenum), barium chloride, histamine (ใช้ลำไส้ส่วน ileum ของหนูตะเภา) และ nicotine (ใช้ลำไส้กระต่ายส่วน jejunum) ซึ่งสามารถยับยั้งการบีบตัวของสำไส้ได้  20-40%, 40-60%, >60% และ >60% ตามลำดับ
  • ฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะ น้ำมันกานพลู และสาร eugenol ในกานพลู กระตุ้นให้เยื่อบุเซลล์กระเพาะอาหารมีการหลั่งสารเมือก (mucin) ออกมาเพื่อป้องกันเยื่อบุกระเพาะ
  • น้ำมันสกัดจากกานพลูความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของ Lactococcus garvieae ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อนำอาหารปลาที่ผสมน้ำมันกานพลูในอัตราส่วน 3% (w/w) มาเลี้ยงปลานิล ทำให้จำนวนการตายเนื่องจากการติดเชื้อ L. garvieae ในปลานิลลดน้อยลง


การศึกษาทางคลินิกของน้ำมันกานพลู

ฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชา การศึกษาฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชาของสารสกัดของกานพลู เทียบกับยาชา benzocaine ในอาสาสมัคร 73 คน โดยอาสาสมัครกลุ่มที่ 1ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของสารสกัดกานพลู ปริมาณ 2 กรัม (40% ผงกานพลูผสมกับ 60% glycerine) กลุ่มที่ 2 ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของ 20% benzocaine ปริมาณ 2 กรัม ทาบนเยื่อบุกระพุ้งแก้ม กลุ่มที่ 3 ได้รับยาหลอก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที จึงทำการทดสอบฤทธิ์ โดยการแทงเข็มบริเวณที่ทา แล้ววัดระดับความปวด (pain score) ผลการเปรียบเทียบระหว่างสารสกัดกานพลู และ benzocaine พบว่าสามารถลดการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p=0.005) และให้ผลไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้พบว่า สารสกัดกานพลูสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้ ขณะใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด และอาจเพิ่มระดับของยากันชัก phenytoin ในเลือดได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำมันกานพลู

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 16,667 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ แต่เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

           การศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันของสารสกัด eugenol จากดอกกานพลู ทำการศึกษาในหนูแรท สายพันธุ์ Sprague-Dawley แบ่งหนูทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่ม 1, 2, 3 ได้รับสาร eugenol ความเข้มข้น 2.58, 1.37, 0.77 มก./ล. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มควบคุม ทำการทดลองโดยการพ่นสารทดสอบให้หนูทดลองสูดดมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วติดตามอาการของหนูเป็นเวลา 14 วัน ผลการทดสอบไม่พบการตายของหนู ส่วนอาการ และพฤติกรรม พบว่าหนูทดลองมีน้ำลายไหลระดับปานกลาง มีอาการกระวนกระวาย และหายใจลำบาก แต่อาการเหล่านี้หายเองได้ภายในเวลา 1 วัน แต่เมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำแก่หนูแรท ในขนาดเข้มข้น 6.25 โมล/ลิตร พบว่าหนูทดลองมีอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด และเลือดออกที่ปอด

           การฉีด eugenol เข้าระบบไหลเวียนโลหิตโดยตรง จะทำให้ความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจลดลงชั่วขณะ โดยไม่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง eugenol สามารถทำลายโปรตีนในเซลล์ของเนื้อเยื่ออ่อนในปาก การจับตัวของเซลล์ลดลง บวม และเกิดเป็นไต ชั้นใต้ผิวหนังชั้นนอกบวม และกล้ามเนื้ออ่อนแอ เมื่อป้อนน้ำมันจากใบขนาด 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรทเพศเมียที่ตั้งท้องได้ 1-10 วัน พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนร้อยละ 20

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  1. สาร eugenol จากน้ำมันกานพลู ที่มีความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้หากใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกัน
  2. การใช้น้ำมันกานพลูเพื่อรักษาอาการปวดฟัน หรือ ใช้เพื่อระงับกลิ่นปากโดยตรง และใช้ในปริมาณสูง หรือ ใช้ติดต่อกันบ่อยครั้ง อาจทำให้ระคายเคืองต่อเหงือก และเยื่อบุในช่องปากได้
  3. สาร eugenol สามารถออกฤทธิ์ต้านการทำงานของเกล็ดเลือดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม anticoagulant และยากลุ่ม NSADs
  4. ไม่ควรใช้ดอกกานพลูในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับไต และผู้ป่วยเบาหวาน

เอกสารอ้างอิง น้ำมันกานพลู
  1. กันยารัตน์ ศึกษากิจ,2557. ฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันและสารสกัดจากดอกกานพลูในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนและอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง.
  2. การพลู, ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug
  3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  4. กานพลู. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สุนีย์ จันทร์สกาวและวรรณนรี เจริญทรัพย์, 2543. การตรวจสอบคุณภาพกานพลูและผลิตภัณฑ์ยาเตรียมสมุนไพรที่มีการพลูเป็นส่วน ประกอบ.รายงานการวิจัย ปี พ.ศ.2543.
  6. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  7. Kamatou GP, Vermaak I, Viljoen AM. Eugenol-From the Remote Maluku Islands to the International Market Place: A Review of a Remarkable and Versatile Molecule. Molecules 2012:17;6953-6981.
  8. Clove oil. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.en.wikipedia.org/wiki/Oil_of_clove#Toxicity
  9. Perry LM. Assessment report on Syzygium aromaticum (L.). European Medicines Agency;London. 2011.