โรคเก๊าท์ (Gout)

โรคเก๊าท์ (Gout)

โรคเก๊าท์คืออะไร  โรคเก๊าท์ เป็นโรคโบราณที่มีผู้บันทึกในรายงานแพทย์มานับพันปี สมัยฮิปโปเครติส (Hippocrates) ซึ่งเป็นบิดาการแพทย์สากลของกรีกเมื่อสองพันปีก่อน ก็ได้กล่าวถึงอาการของโรคนี้ และได้เรียกชื่อเป็นศัพท์แพทย์หลายๆ ชื่อตามตำแหน่งของข้อที่มีอาการอักเสบคำว่า เก๊าท์ (Gout) เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่แปลงมาจากภาษาลาตินว่า Gutta ซึ่งแปลว่าหยดน้ำ โดยมีผู้สันนิษฐานว่า ข้ออักเสบชนิดนี้เกิดจากสารพิษ "หยด" เข้าไปอยู่ในไขข้อ ซึ่งปรากฏว่าเป็นจริงในการแพทย์ปัจจุบัน กล่าวคือ สารพิษที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ก็คือ กรดยูริกในเลือดนั่นเอง

            ส่วนนิยามของโรคเกาต์ในปัจจุบันนั้นคือ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายมีการสะสมของกรดยูริกมากเกินจนเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยเก๊าท์ นับเป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง อาจพบได้ประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คน จัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยอายุ 40-60 ปี จะพบโรคนี้ได้ประมาณ 2% และอายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบได้ประมาณ 4% ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9-10 เท่า ส่วนที่พบในผู้หญิงมักจะเป็นผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว โดยทั่วไปมักเกิดกับข้อเพียงข้อเดียว ในบางครั้งอาจเกิดกับหลายข้อได้พร้อม ๆ กันก็ได้โรคเกาต์ ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยในประเทศไทยซึ่งมีอุบัติการณ์การเกิด 4.3 คนต่อประชากรไทย 100,000 คน

สาเหตุของโรคเก๊าท์  โรคเก๊าท์เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งเป็นภาวะของร่างกายที่มีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป (มีค่ามากกว่า 6 – 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ทำให้เกิดการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate) ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่างๆเช่น  ข้อก็จะ ทำให้เกิดข้ออักเสบ  ไตก็จะทำให้เกิดนิ่วในไตและและไตวาย เป็นต้น

            ซึ่งกรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purines) ในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตก่อนมีการขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นจากการสร้างของร่างกาย จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น อาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ฯลฯ หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีน มักนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย

            ส่วนสาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูง เนื่องมาจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับถ่าย และจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติแต่ปริมาณที่ขับถ่ายออกจากร่างกายน้อยกว่า ส่วนเหตุอีกประการ คือ  ทางกรรมพันธุ์จากการขาดเอนไซม์บางตัวหรือเอนไซม์บางตัวทำงานมากเกินไป และประการสุดท้ายเกิดจากโรคบางชนิดที่สร้างกรดยูริกเกิน เช่น โรคทาลัสซีเมีย (โรคพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติและแตกสลายง่าย) มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยาเคมีบำบัด หรือฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็ง บางรายอาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง (เช่น ภาวะไตวาย) หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอาไซด์ รวมทั้งจากการดื่มสารที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์  การที่มีกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการข้ออักเสบโรคเกาต์เฉียบพลัน เพศชายเริ่มเป็นเมื่ออายุ 40 ปี เพศหญิงเริ่มเป็นอายุ 55 ปี

อาการของโรคเก๊าท์  ข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์มีลักษณะจำเพาะมาก กล่าวคือ มีอาการอักเสบของข้อเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงมากคล้ายๆกับมีฝีเกิดขึ้นที่บริเวณข้อ ซึ่งมีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที     ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว โดยข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดิน ไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะคือ ขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน  ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มเหล้า เบียร์ หรือไวน์ หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด บางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น บางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น (ชีพจรเต้นเร็ว) อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย

ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรกๆ อาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลายเป็น 7-14 วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ

ในระยะที่มีข้ออักเสบหลายๆข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตได้ว่ามีปุ่มก้อนขึ้นบริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ และก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus / tophi) จนบางครั้งอาจแตกออกมีสารขาวๆ คล้ายแป้งดินสอพองหรือยาสีฟันไหลออกมา แผลที่แตกออกจะหายช้ามาก และจะเป็นแผลเป็น ต่อไปข้อต่างๆ จะผิดรูปและใช้งานไม่ได้ในที่สุด

จากอาการที่เริ่มมีข้ออักเสบหนึ่งข้อจนถึงหลายๆ ข้อ และมีปุ่มก้อนมักกินเวลา 5-20 ปี แล้วแต่ความรุนแรง สำหรับคนไทยพบว่าบางคนเพียงแค่ 2-3 ปี เท่านั้นจะเริ่มมีปุ่มก้อนและมีอาการไตวายได้ ดังนั้นโรคเก๊าท์ในคนไทยจึงมีความรุนแรงมากกว่าชาวต่างประเทศมากทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ดีกินดีกว่าเขาเลยประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีนิ่วของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย ซึ่งครึ่งหนึ่งจะมีประวัติของนิ่งก่อนอาการข้ออักเสบ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีนิ่วของทางเดินปัสสาวะจึงควรเช็คกรดยูริคทุกราย

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเก๊าท์

  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย
  • โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคพร่องเอนไซม์ ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  • เกิดจากเพศ เนื่องจากพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  • การดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณที่พอดีต่อวัน ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำอัดลมประเภทที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอาจเพิ่มการสะสมกรดยูริกในเลือดได้สูงถึง 85% นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลไม้และน้ำผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก
  • เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การกระทบกระแทกที่ข้อ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide – HCTZ), ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), เลโวโดปา (Levodopa) เป็นต้น
  • การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการขับกรดยูริกออกทางไตหรือทางปัสสาวะ หลังการดื่มจึงทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง กรดยูริกจึงคั่งอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ

แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์ การวินิจฉัยโรคเก๊าท์แพทย์จะมีการสอบถามอาการ ประวัติการเป็นโรคเก๊าท์ของบุคคลในครอบครัว และการตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ซึ่งโรคเกาต์จะมีลักษณะโดดเด่น คือ มีการอักเสบรุนแรงของข้อหัวแม่เท้าเพียง ๑ ข้อ เกิดขึ้นฉับพลันหลังดื่มเบียร์ หรือไวน์ กินเลี้ยง หรือกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันครั้งแรกพบมากที่ข้อเท้าหรือหัวแม่เท้า โดยมีอาการบวมเมื่อคลำดูจะรู้สึกร้อน เวลากดเจ็บมากอาจมีอาการไข้เล็กน้อยถึงไข้สูงเป็นประมาณ 3-7 วัน และในบางรายอาจตรวจพบตุ่มโทฟัส (Tophus) ร่วมด้วย  ส่วนการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่แน่ชัด จำเป็นต้องทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับกรดยูริกในเลือด (ค่าปกติ 3-7 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน อาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด เมื่อการตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะข้อไม่สามารถทำได้ แพทย์อาจจะให้มีการเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดระดับของกรดยูริกและสารครีเอตินินว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ แต่วิธีนี้อาจเกิดความผิดพลาดได้ เช่น ผู้ป่วยบางรายมีระดับกรดยูริกสูงผิดปกติ แต่อาจไม่เป็นโรคเก๊าท์ หรือบางรายที่มีอาการของโรคก็อาจตรวจพบระดับกรดยูริกได้ในระดับปกติ  การเจาะข้อ มักถูกใช้เป็นวิธีหลักในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะนำเข็มเจาะบริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อดูดเอาน้ำในข้อออกมาตรวจดูการสะสมของผลึกยูเรต (Urate Crystals) ภายใต้กล้องจุลทรรศน์  การอัลตราซาวด์ จะช่วยตรวจพบการสะสมของผลึกยูเรตตามข้อจนเป็นปุ่มนูนหรือก้อนที่เรียกว่า โทฟี่ (Tophi)  การเอกซเรย์ การถ่ายเอกซเรย์บริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อตรวจดูว่าเกิดการอักเสบตามข้อหรือไม่  การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูกรดยูริกที่ปะปนในน้ำปัสสาวะ

โรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาง่าย รักษาหายขาดได้ คือไม่กลับมาเป็นข้ออักเสบอีก ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะตำและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หลักการรักษาโรคเก๊าท์ต้องแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

1. การรักษาข้ออักเสบ ในระยะเฉียบพลัน และเป็นนานไม่เกิน 48 ชั่วโมง อาจให้โคซิซิน (Colchicine) 2-3 เม็ดต่อวัน ข้อจะหายปวดเร็วมากภายใน 2-3 วัน แล้วลดยาลงเหลือ 1 เม็ดต่อวัน ข้อดีของยาคือไม่กัดกระเพาะเป็นแผล ข้อเสียคืออาจเกิดอาการท้องเสียได้หากขนาดของยามากขึ้นไป ซึ่งหากมีอาการท้องเสียให้หยุดยานี้จนกว่าหายท้องเสียแล้วเริ่มกินยาใหม่ในขนาดที่น้อยลง

ยาอื่นๆ ที่ใช้ได้แต่ทุกตัวจะมีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล จึงสมควรกินหลังอาหารเสมอ และอาจกินร่วมกับยาอัลมาเจล (Almagel) หรือ อลั่มมิลค์ (Alum Milk) แต่จัดว่าเป็นยาค่อนข้างปลอดภัย ได้แก่ ไอบลูโปรเฟน (Ibuprofen) , ไดโคลพิแนค (diclofenac) , นาโปรเซน (Naproxen) , ซูลินแดค (Sulindac) , ไพรรคิซิคาม (Prioxicam) , อินโดเมธาซิน (Indemethacin) เป็นต้น โดยให้วันละ 3-4 เม็ดจนกว่าอาการทุเลาจึงลดขนาดยาลงจนหยุดยาไปภายใน 4-7 วัน

ไม่ควรใช้ยากลุ่มฟีนิวบิวตาโซน (Phenybutazone) และออกซิเฟนบิวตาโซน (Oxyphenbutazone) เพราะเสี่ยงกับการเกิดภาวะไขกระดูกไม่สร้างเลือด (Aplastic anemia) ได้โดยไม่จำเป็น เนื่องจากมียาอื่นที่ปลอดภัยกว่า และใช้ได้ผลดีดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในท้องตลาดเมืองไทยยากลุ่มนี้ยายดีมาก เพราะมักถูกจัดอยู่ในยาชุดแก้ปวดข้อแบบครบจักรวาล แถมขนาดยาที่ผลิตนั้นมากจนอยู่ในขั้นอันตราย คือ ยาหนึ่งเม็ดมีขนาดเท่ากับยาสองเม็ดของต่างประเทศ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมประเทศเราจึงมีผู้ป่วยโรคไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดมากมายเช่นนี้

2. การป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบกำเริบอีกยาที่ได้ผลดีมากคือ โคชิซิน วันละ 1-2 เม็ดตลอดไป สำหรับผู้ที่ข้ออักเสบบ่อยจนไม่สามารถทำมาหากินตามปกติได้ สำหรับผู้ที่นานๆ จะมีข้ออักเสบสักครั้งให้พกยาเม็ดติดตัว พอรู้สึกว่าข้อเริ่มอักเสบให้กินยาโคชิซิน 1 เม็ดทันที และซ้ำได้วันละ 2-3 เม็ดเป็นเวลา 1-2 วัน ยานี้หากกินแต่เนิ่นๆ จะป้องกันไม่ให้เกิดข้ออักเสบรุนแรงขึ้นแบบเต็มที่และทำให้หายปวดข้อได้เร็วมาก

3. การลดกรดยูริคให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อป้องกันการตกผลึกของยูเรท และไปละลายผลึกยูเรทที่ตกตะกอนตามที่ต่างๆ ของร่างกายให้หายไปทีละน้อยๆ ดังนั้นยาลดกรดยูริคจึงควรกินติดต่อกันทุกๆ วันเป็นปีๆ หรือตลอดชีพ ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของโรคเก๊าท์ ยาลดกรดยูริคมี 2 พวก คือ

  • พวกที่ทำให้มีการขับยูริคออกทางไตมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไตปกติและไม่มีนิ่วในไต ยาที่ใช้คือ โปรเบเนซิด (Probenecid) 1-2 เม็ดต่อวัน การจัดยาต้องอาศัยตรวจระดับกรดยูริค ว่าต่ำลงมาอยู่ในขั้นน่าพอใจหรือไม่ ผู้ที่กินยาชนิดนี้ควรดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 1.5-2 ลิตร/วัน เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วกรดยูริคในไต ยานี้มีราคาถูกกว่าและปลอดภัยกว่ายากลุ่ม 2 แต่ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคไตวายหรือมีนิ่วในไต
  • พวกที่ตัดการสร้างของกรดยูริคในร่างกาย ได้แก่ แอบโลพูรินอล (Allopurinol) 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน ยาตัวนี้มีอันตรายคือ เกิดตับอักเสบได้ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรงถึงขั้นผิวหนังเป็นผื่น, พุพอง, แดงลอกหมดทั่วตัว ซึ่งมีอัตราตายสูงมาก วิธีป้องกันคือ หากกินยาแล้วรู้สึกมีอาการคันตามตัวโดยยังไม่มีผื่น หรือเริ่มมีผื่นแดง แต่ไม่รุนแรงต้องหยุดยาทันที มิฉะนั้นจะแพ้ยารุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะดังกล่าวได้ ซึ่งแม้รับการรักษาในโรงพยาบาลก็อาจแก้ไขไม่ทัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดว่าหายจากโรคแล้ว เมื่อไม่มีอาการปวดข้อ ก็มักจะหยุดกินยา และจะมาพบแพทย์เป็นครั้งคราว เฉพาะเวลามีอาการข้ออักเสบ พฤติกรรมเช่นนี้ มักทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคเกาต์ชนิดเรื้อรัง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาในที่สุด นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาโรคเกาต์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ดื่มเบียร์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเกาต์มากขึ้นประมาณ 2.5 เท่า เนื่องจากในเบียร์มีพิวรีนปริมาณมากสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ตามตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงปริมาณพิวรีนในอาหารที่กินได้ 100 กรัม

 จากหนังสือNormal and Therapcutic Nutrition ของ Gorinne H. Robinson 1072 จากการศึกษาปริมาณพิวรีนในอาหารชนิดต่างๆโภชนาการ 13:2522

การติดต่อของโรคเก๊าท์ เนื่องจากโรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจาก ร่างกายมีการสะสมของกรดยูริก (uric acid) มากเกินไป หรือมีการขับกรดยูริกที่น้อยผิดปกติของร่างกาย ดังนั้นโรคเก๊าท์จึงเป็นโรคที่ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด แต่โรคเก๊าท์ก็มีสาเหตุ จากความผิดปกติทางพันธุ์กรรม ดังนั้นจึงพบผู้ป่วยที่มีสาเหตุโรคมาจากกรรมพันธุ์ได้ เช่นกัน

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนอาจมีส่วน เพราะช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้ดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ ๓ ลิตร ทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไตเมื่อไม่เป็นโรคที่ต้องจำกัดน้ำ
  • ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งอาจทำให้โรคเกาต์กำเริบได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีกทุกชนิด กะปิ น้ำสกัดจากเนื้อ ไข่แมงดา พืชผักหน่ออ่อน (เช่น ถั่วงอก ยอดกระถิน ยอดแค สะเดา ชะอม หน่อไม้ แอสพารากัส ยอดผัก เป็นต้น) ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตว่าอาหารอะไรที่ทำให้โรคกำเริบ ก็ควรหลีกเลี่ยง
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น แอสไพริน ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอาไซด์
  • ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ อาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็ว ทำให้มีกรดยูริกสูง โรคเกาต์กำเริบได้
  • ถ้าพบมีตุ่มโทฟัสตามผิวหนัง ห้ามบีบแกะ หรือใช้เข็มเจาะให้แตก เพราะอาจทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังได้
  • เมื่อมีอาการปวดให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ หรือใช้น้ำแข็งประคบตรงข้อที่ปวด ประมาณ 20 นาที และหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักตรงข้อนั้น ๆ
  • เมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  • เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเก๊าท์ควรกินอาหารตามแพทย์สั่งให้ครบและไปตรวจตามนัดอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันตนเองจากโรคเก๊าท์

  • ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์ ควรตรวจหาระดับของกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ ๆ
  • เมื่อมีอาการผิดปกติของข้อเกิดขึ้น เช่น ปวดข้อเฉียบพลัน บวมแดง ร้อนที่ข้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิษพิวรีนสูง โดยเฉพาะอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ และสัตว์ปีก
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน (BMI)
  • หลีกเลี่ยงจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ หรือ น้ำอัดลมให้พอดี
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/บำบัดรักษาโรคเก๊าท์ การใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโรคเกาต์มีข้อมูลสนับสนุนค่อนข้างน้อย อาจเนื่องจากโรคนี้เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยโดยเฉพาะการทำงานของไต ซึ่งการใช้สมุนไพรไม่ได้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น แต่มีข้อมูลของศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขภาพที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ มีผลงานวิจัยออกมาว่าสมุนไพรที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการของโรคเก๊าท์ คือ

  • ขมิ้นชัน มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือเคอร์คิวมินมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ขนาดทั่วไปที่แนะนำต่อวันคือ 1.5-3.0 กรัม หากรับประทานขมิ้นชันแคปซูล 500 มิลลิกรัม สามารถรับประทานได้วันละ 3-6 แคปซูล ซึ่งจะช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อและกระดูกที่มีอาการปวดของโรคเก๊าท์
  • โบรมีเลน (bromelain) เป็นเอนไซม์จากสับปะรด มีคุณสมบัติรลดอักเสบ ลดปวดโดยขนาดรับประทานที่แนะนำคือ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดของโรคเก๊าท์ได้
  • ชาเขียว มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มีการศึกษาในคนสุขภาพดีจำนวน 30 รายโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มให้ได้รับสารสกัดชาเขียว 2, 4, หรือ 6 กรัมต่อวัน พบว่าหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ กลุ่มที่บริโภคสารสกัดชาเขียว 2 กรัมต่อวันสามารถลดระดับกรดยูริกในเลือดได้มากที่สุดคือจาก 4.81 ± 0.81 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็น 4.64 ± 0.92 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงมีการแนะนำให้ดื่มน้ำชาเขียวที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนวันละ 2-4 ถ้วยชา

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยป้องกัน/บรรเทาอาการของโรคเก๊าท์ได้อีกเช่น เห็ดหลินจือ ช่วยฟื้นฟูการทำงานของไต สร้างสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบของไต และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบหมุนเวียนโลหิต หญ้าใต้ใบ มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ สามารถขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะได้ ไพรที่คนไทยรู้จักกันดีว่ามีประโยชน์ในด้าน แก้อาการปวดเมื่อยต่างๆ บำรุงกำลัง และยังมีผลการวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันสรรพคุณดังกล่าวด้วย คือ แก้ปวดเมื่อย แก้กล้ามเนื้ออักเสบ เถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย แก้กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาอาการข้อเข่าเสื่อม เมื่อทานเถาวัลย์เปรียงทำให้ปัสสาวะบ่อยซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยขับกรดยูริคออกมาทางปัสสาวะได้อีกทางหนึ่ง หญ้าหนวดแมว สมุนไพรอย่างหญ้าหนวดแมวที่มีสรรพคุณในการขับกรดยูริค หญ้าหนวดแมว มีเกลือโปรแตสเซียม ช่วยในการขับปัสสาวะและขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยขับกรดยูริคเนื่องจากหญ้าหนวดแมวทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ผู้ที่รับประทายหญ้าหนวดแมว จะมีการขับกรดยูริคออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ทำให้กรดยูริคตกตะกอนน้อยลงด้วย

 

 

  เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.พญ.เล็ก ปริวิสุทธิ์.โรคเก๊าท์.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่.49.คอลัมน์ โรคน่ารู้.พฤษภาคม.2526
  2. นศภ.ปณิดา ไทยอ่อน.โรคเก๊าท์(gout) ดูแลอย่างไรดี.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คลังข้อมูลยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. Choi HK, Atkinson K, Karlson EW, Willett W, Curhan G. Alcohol intake and risk of incident gout in men: a prospective study. Lancet. 2004;363:1277-81.
  4. Neogi T. Gout. N Engl J Med 2011;364(5):443-52.
  5. รศ.นพ.สุรเกียรต์ อาชานานุภาพ.เกานต์.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่346.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กุมภาพันธ์.2551
  6. เก๊าท์-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  7. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคเกาต์ (Gout)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 823-826.
  8. Neogi T, Chen C, Niu J, Chaisson C, Hunter DJ, Choi H, et al. Relation of temperature and humidity to the risk of recurrent gout attacks. Am J Epidemiol 2014;180:372-7.
  9. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์; 2555
  10. Zhang Y, Chen C, Choi H, Chaisson C, Hunter D, Niu J, et al. Purine-rich foods intake and recurrent gout attacks. Ann Rheum Dis 2012;71:1448-53.
  11. ผศ.นพ.สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์.โรคเกาต์.ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Zhang Y, Woods R, Chaisson CE, Neogi T, Niu J, McAlindon TE, et al. Alcohol consumption as a trigger of recurrent gout attacks. Am J Med 2006;119:800 e13-8.