บานเย็น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

บานเย็น งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บานเย็น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จำยาม, จันยาม (ภาคเหนือ), ดอกสี่โมง, ดอกหุงข้าว, ดอกสายฝน (ทั่วไป), ตีต้าเช่า, จีปักหลี (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mirabilis jalapa Linn.
ชื่อสามัญ Four o’clock ,Marvel of peru
วงศ์ NYCTAGINACEAE


ถิ่นกำเนิดบานเย็น

บานเย็น เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้บริเวณเทือกเขาแอนดิส ในเปรูรวมถึงในพื้นที่สูงของเม็กซิโก โดยคำว่า Mirabilis ในภาษาละตินหมายถึง ยอดเยี่ยม, สวยงาม, มหัศจรรย์ ส่วนคำว่า Jalapa เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้นจึงถูกนำออกมาจากทวีปอเมริกาใต้ เพื่อนำไปปลูกในเขตอบอุ่น และเขตร้อนอื่นๆ ทั่วโลกจนกลายเป็นพืชประจำถิ่น ในบางพื้นที่ในปัจจุบันนี้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณบานเย็น

  1. ใช้เป็นยาระบาย
  2. ใช้เป็นยาชา
  3. ช่วยขับเหงื่อ
  4. แก้อาการบวมน้ำ
  5. ช่วยขับปัสสาวะ
  6. แก้เบาจืด
  7. แก้ตกขาว
  8. แก้หนองใน
  9. แก้ไข้ตัวร้อน
  10. แก้อาเจียน
  11. แก้อาการทอนซิลอักเสบ
  12. แก้อักเสบ
  13. แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
  14. แก้อาการคัน
  15. รักษากลากเกลื้อน
  16. รักษาฝี
  17. ช่วยล้างบาดแผล
  18. แก้อาการปวดแสบปวดร้อน
  19. แก้อาการฟกช้ำ
  20. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  21. รักษาแผลพุพองมีหนอ
  22. แก้สิว
  23. แก้ฝ้า
  24. แก้ไข้
  25. ช่วยลบรอยด่างดำบนใบหน้า

           ในปัจจุบันประโยชน์ของบานเย็นที่นิยม และมีการใช้กันอยู่ คือ การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารสถานที่ ตามบ้านเรือน และสวนสาธารณะทั่วไป เนื่องจากมีดอกสีสันสวยงามหลากหลายสีภายในต้น หรือ ดอกเดียวกัน และยังมีกลิ่นหอม ที่สำคัญยังเป็นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่ายโดยสามารถปลูกได้ทั้งในกระถางและในพื้นดิน อีกทั้งเมื่อต้นมีอายุมากขึ้นก็สามารถเปลี่ยนสีของดอกได้อีกด้วย ส่วนในอดีตนั้นยังมีการนำบานเย็น มาใช้ประโยชน์ต่างๆ อีกหลายประการ อาทิเช่น ดอกของบานเย็น สามารถใช้ทำสีผสมอาหารได้โดยจะให้สีแดงเข้ม ซึ่งมักใช้แต่งสีเค้ก และเจลลี่ ผงจากรากนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางได้โดยนำมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า และผงไม้จันทน์ แป้งจากเมล็ด ผู้หญิงไทยในอดีตจะนำมาใช้ผัดหน้า ให้ผิวสวย ใช้ทารักษาสิว ฝ้า ลบรอยด่างดำบนใบหน้าได้

บานเย็น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้บานเย็น

ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้อักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ต่อมทอลซินอักเสบ โดยใช้ราก หรือ หัวบานเย็น ฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคหนองใน และตกขาวในสตรีโดยใช้ราก และหัวจากต้นบานเย็น ดอกสีขาวมาหั่นเป็นแผ่น ผสมกับโป่งรากสนแล้วนำมาต้มกินก่อนอาหารวันละ 2 เวลา แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กระอักเลือด โดยใช้ดอกสดประมาณ 120 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำกิน แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ โดยใช้ราก หรือ หัวสดมาคั้นเอาแต่น้ำใช้กวาดคอ ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ลดอาการอักเสบโดยใช้ใบสดนำมาตำพอก หรือ คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้พอกรักษาฝี แผลมีหนองต่างๆ และแก้ต่อน้ำเหลืองอักเสบโดยใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปอุ่นไฟเล็กน้อยพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาแผลมีน้ำเหลือง และผิวหนังพองมีน้ำเหลือง แก้สิว แก้ฝ้า โดยใช้เมล็ดมาแกะเอาเปลือกออก แล้วเอาแป้งมาบดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ทางถูบริเวรที่เป็น ช่วยบรรเทาอาการคัน และยังลดอาการแสบร้อน โดยใช้น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของบานเย็น

บานเย็น จัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีเหง้า หรือ หัวใต้ดินซึ่งความจริงแล้วเป็นส่วนรากที่มีลักษณะพองเป็นหัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นทรงพุ่มกว้างเตี้ยๆ มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เปลือกลำต้นมีสีแดง และมีกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ สลับกันไปตามลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม โคนใบตัดคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม และมีขนประปรายตามหน้าใบ ซึ่งขนาดของ ใบจะกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร และมีเส้นกลางใบเป็นสีเหลืองอ่อนเห็นได้ชัดเจน ดอกออกเป็นช่อรวมกันที่ปลายกิ่ง โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 4-5 ดอก ดอกตูมจะมีลักษณะเป็นรูปหลอด ส่วนดอกที่บานเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายรูปแตรปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกประมาณ 3-5 ซม. ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 3-6 ซม. ที่ฐานดอกจะมีกลีบประดับรูประฆังยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ติดอยู่ ก้านดอกสั้นมาก หรือ อาจไม่มี มีทั้งที่เป็นสีขาว ชมพู ม่วง เหลือง ส้ม หรือ มีหลายสีในดอกเดียวกัน หรือ ภายในต้นเดียวกัน ดอกมีกลิ่นหอม และมักจะบานในตอนบ่ายๆ จนถึงเช้า มีเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1 ซม. จำนวน 5 อัน มีอับเรณูรูปทรงกลม รังไข่เป็นรูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีสีแดงยาวเท่าๆ กับเกสรเพศผู้ ปลายเกสรมีลักษณะเป็นตุ่ม แยกเป็นพูตื้นๆ ผล หรือ เมล็ดของบานเย็นมีลักษณะเป็นทรงกลม มีสีดำ เปลือกบาง ผิวขรุขระหยาบ มีเส้น 5 เส้น ขนาดยาวประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร ภายในจะมีแป้งอยู่เป็นจำนวนมาก

บานเย็น

การขยายพันธุ์บานเย็น

บานเย็น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดซึ่งจะนิยมทำกันมากเนื่องจากติดเมล็ดง่าย ส่วนวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ล้มลุกอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้  ทั้งนี้บานเย็นเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการระบายน้ำได้ดี และยังต้องการแสงแดดจัดสำหรับความชื้นและน้ำต้องกานในปริมาณปานกลาง ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งในกระถาง และปลูกลงดิน โดยต้นที่ปลูกในกระถางจะมีความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบานเย็น พบว่า ใบประกอบด้วยสาร B-sitosterol, n-hexacosanol, Tetracosanoic acid, 12-tricosanone, Leucin, Tryptophan รวมถึงยังพบกรดอะมิโนชนิดต่างๆ เช่น Alanine, Tartaric acid, Valine, Citric acid, Glycine เป็นต้น ส่วนในดอกจะสารกลุ่ม flavonoids และ Betaxanthins ส่วนผล หรือ เมล็ดจะประกอบไปด้วยไขมันประมาณ 4.3% โดยจะพบ linolenic acid มากที่สุดประมาณ 15.1% นอกจากนี้ยังพบสาร Quercetin Kaempferol glycoside อีกด้วย

 โครงสร้างบานเย็น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบานเย็น

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของบานเย็นระบุไว้ว่า สารสกัดจากรากของบานเย็น มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพโดยมีฤทธิ์ต้าน Candida albican เมื่อทดลองในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดดอก ใบ และรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อราอีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าสารสกัดส่วนรากของบานเย็น มีฤทธิ์ต้านไวรัสและยังพบว่ามีโดยจะเข้าไปยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน และรบกวนกระบวนการอื่นๆ ในเซลล์ของไวรัส 

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมล็ดบานเย็น มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด คือ iBacillus subtilis, Bacillus thuringiensis, Bacillus shaericus และไม่ก่อให้เกิด การระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยพบว่าสารสกัดที่มีความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโพรพิโอนิแบคทีเรียมแอคเน ซึ่ง เป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และสารสกัดบานเย็น ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส นาน 6 เดือน ยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโพรพิโอนิแบคทีเรียมแอคเนได้ ดังนั้นจึงนำสารสกัดบานเย็นในรูปผงแห้งมาพัฒนาเป็นเจลที่มีความแรงเป็น 3% และ 5% จากนั้นจึงทำการศึกษาเบื้องต้น ทางคลีนิคพบว่าการใช้เจลที่มีปริมาณสารสกัดเข้มข้น 3% และ 5% จะช่วยลดสิวที่มี ความรุนแรงปานกลางได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของบานเย็น

มีการศึกษาวิจัยโดยนำน้ำสกัดจากใบ หรือ ทั้งต้น มาใช้ฉีดในกระต่าย พบว่ามีผลทำให้หัวใจกระต่ายเต้นเร็วขึ้น และมีการบีบตัวแรงขึ้น แต่อาการดังกล่าวจะกลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว และเมื่อนำมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแมว พบว่าทำให้แมวมีความดันเลือดสูงขึ้นประมาณ 75% และจะกลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านพิษวิทยา ระบุว่าเมล็ดบานเย็น มีสาร neurotoxic ซึ่งมีความเป็นพิษสูงอีกด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้บานเย็น เป็นยาเนื่องจากมีรายงานพบว่าทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ ในส่วนของเมล็ดของบานเย็นมีสาร neurotoxic ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ไม่ควรนำมารับประทาน โดยหากร่างกายได้รับสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน และมีอาการท้องเสีย แต่หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

เอกสารอ้างอิง บานเย็น
  1. วชิรพงศ์ หวลบุตตา.ไม้ดอกหอมสีชมพู.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ:บ้านและสวย 2543
  2. กนก พรายมี.การพัฒนาตำรับเจลรักษาสิวจากบานเย็น.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตคณะเภสัชศาสตร์ (เภสัชการ) มหาวิทยาลัยมหิดล 2545.104 หน้า
  3. บานเย็นดอกขาว.กลุ่มยาถ่าย.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs/_05_5.htm
  4. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (361)
  5. Correns, C. Vererbungsversuche mit blass (gelb) grünen und buntblättrigen Sippen bei Mirabilis, Urtica und Lunaria. ZIAV 1, 291–329 (1909)