ชะมวง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชะมวง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชะมวง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะป้อง, ส้มป้อง (ภาคเหนือ), หมากโมง, หมากส้มโมง (ภาคอีสาน), ส้มมวง, กะมวง  มวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู), ตระมูง (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb.ex Chois
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa  Roxb.exDc., Garcinia cornea Roxb. ex Sm., G. roxburghii Wight, G. wallichii Choisy, Cambogia crassifolia Blanco, Oxycarpus gangetica Buch.-Ham
ชื่อสามัญ Cowa
วงศ์ GUTTIFERAE – CLUSIACEAE
 

ถิ่นกำเนิดชะมวง

ชะมวง จัดเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมักจะพบตามป่าดิบชื้นทั่วไป รวมถึงที่ราบลุ่มที่มีความชื้นพบสมควร ซึ่งมักจะพบตามป่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ขึ้นไปสำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในแถบพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนภาคอื่นๆ จะพบได้ประปรายบริเวณใกล้แม่น้ำลำคลอง หรือ ลำห้วย

ประโยชน์และสรรพคุณชะมวง

  • เป็นยาระบาย
  • แก้ไข้
  • ช่วยแก้กระหายน้ำ
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้บิด 
  • แก้เสมหะ
  • เป็นยาฟอดโลหิต
  • ใช้ขับเลือดเสีย
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
  • รักษาแผล
  • รักษาโรคผิวหนัง 
  • รักษาโรคท้องร่วง
  • ช่วยลดอาการไอ
  • แก้อาการเหน็บชา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ชะมวง 

ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการย่อยอาหาร โดยใช้ผลชะมวง สุกมารับประทานสดๆ ใช้แก้บิด แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะโดยนำรากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ไข้ กระหายน้ำ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ เป็นยาระบาย โดยนำผลแก่ที่ตากแห้งและใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้บิด แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะโดยนำรากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาแก้ไข้ รักษาธาตุพิการ ขับเสมหะ บำรุงผิวพรรณ โดยใช้ดอกมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำดื่มใช้แก้ท้องร่วง ขับเสมหะ ลดอาการไอ แก้กระหายน้ำ โดยใช้เปลือกต้น และแก่นต้นมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของชะมวง

ชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง ไม้ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร แตกทรงพุ่มเป็นกรวยคว่ำทรงสูงเปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลปนเทา แต่เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นจะมีน้ำยางสีเหลือง  ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง โดยใบออกเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉากเป็นรูปรี กว้างประมาณ 2.5-5 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายใบป้าน หรือ แหลมเล็กน้อย โคนใบมน แผ่นใบเรียบค่อนข้างหนา แต่เนื้อใบจะกรอบเกลี้ยงเป็นมัน ขอบใบเรียบมองเห็นเส้นใบไม้ชัดเจน ใบอ่อนมีสีม่วงแดงแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ เนื้อใบมีรสเปรี้ยว ในส่วนของก้านใบมีสีแดงยาว 0.5-1 ซม. ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นโดย ดอกตัวผู้จำนวนดอกเป็นกระจุกตามซอกใบและมีดอกย่อย 3-8 ดอก กลีบดอกมีสีเหลือง จำนวน 4 กลีบ รูปรีแข็งหนา มีกลิ่นหอม และมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ เป็นรูปรีแถบรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 2-2.5 ซม.ส่วนดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่ง มีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้เล็กน้อย  มีปลายเกสรเป็น 4-8 เหลี่ยม ผลเป็นผลสดมีลักษณะกลม หรือ เบี้ยวเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2.5-6.0 ซม. ผิวเรียบเป็นมัน มีร่องเป็นพู 5-8 ร่อง ปลายด้านบนบุ๋ม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่หรือสุกจะมีสีเหลือง และเมื่อสุกจัดมีสีเหลืองออกส้ม เนื้อด้านในหนามีเปลือกผลมียางสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ฉ่ำน้ำ ผลดิบมีรสฝาดอมเปรี้ยว ผลสุกความฝาดลดลง และจะออกเปรี้ยวมากกว่า เมล็ด รูปแบนรี หนาขนาดใหญ่ จำนวน 4-6 เมล็ด เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล

ชะมวง

การขยายพันธุ์ต้นชะมวง

ชะมวง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าที่ได้ไปปลูก โดยการเพาะเมล็ดจะใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ร่วงจากต้นแล้วนำมาแกะเปลือก และนำมาตากแห้ง 5-7 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพราะชำที่มีวัสดุเพาะเช่นแกลบ ขี้เถ้า และขุยมะพร้าว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปเก็บไว้ในเรือนเพาะชำรอให้ต้นกล้าออก และมีอายุประมาณ 2 เดือน จึงนำไปปลูกต่อไป ส่วนวิธีการปลูกชะมวง นั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกส้มแขก ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ 

           ทั้งนี้ชะมวงสามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ในระยะแรกมักชอบดินชุ่มชื้นพอสมควร และเมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ก็มีความทนต่อสภาพอาการแล้วได้ดีเช่นกัน

ชะมวง

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของชะมวง พบว่าในส่วนต่างๆ มีสาระสำคัญดังนี้

           ในใบพบสารกลุ่ม flavonoids ชนิด C-glycoside เช่น vitexin, orientin สารกลุ่ม steroids เช่น beta-sitosterol และยังพบสาร chamuangone ที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งอีกด้วย

           คุณค่าทางโภชนาการของใบชะมวง ( 100 กรัม )

พลังงาน            51                   กิโลแคลอรี

โปรตีน              1.9                  กรัม

คาร์โบไฮเดรต    9.6                  กรัม

ใยอาหาร           3.2                  กรัม

ไขมัน                0.6                  กรัม

เถ้า                   0.6                  กรัม

น้ำ                    84.1                กรัม

วิตามินA          7,333              หน่วยสากล

วิตามินB1         0.7                  มิลลิกรัม

วิตามินB2         0.04                มิลลิกรัม

วิตามินB3         0.2                  มิลลิกรัม

วิตามินC           29                   มิลลิกรัม

ธาตุแคลเซียม    27                   มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก           1.1                  มิลลิกรัม

ธาตุฟอสฟอรัส   13                    มิลลิกรัม

          นอกจากนี้ใบชะมวงที่นิยมนำมารับประทานยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ ในกิ่งชะมวง พบสาร garcicowin  B, C และ D ในเปลือกต้นพบสาร dulxanthone A และในน้ำยางของชะมวงพบสารกลุ่ม xanthone เช่น α-mangostin, cowanol และ 7-o-methylgarcinone E ส่วนในผลอ่อนพบสารกลุ่ม tetraoxygenated xanthones เช่น β-mangostin, fuscaxanthane A, cowaxanthone D และ rubeaseanthane เป็นต้น

โครงสร้างชะมวง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชะมวง

ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือดมีการศึกษาวิจัยสารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากใบชะมวง ในขนาด 10 ug/mL โดยจากการศึกษาในหลอดทดลอง (invitro enzymatic test) พบว่ามีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยละ 100 และ 80.55 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการยับยั้งการทำหน้าที่ของเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล และสารสกัดทั้งสองยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมัน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 67.45 และ 342.80 ug/mL ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดอะซีโตนจากผลอ่อนของชะมวง โดยเมื่อนำสารมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่าประกอบด้วยสารในกลุ่ม tetraoxygenated xanthones ได้แก่ garcicowanones A และ B ซึ่งเป็นสารที่ค้นพบใหม่ และที่เคยมีรายงานมาก่อน ได้แก่ α-mangostin, β-mangostin, 9-hydroxycalaba-xanthone, fuscaxanthone A, cowaxanthone D, cowanin, cowagarcinone E และ rubraxanthone โดยเมื่อนำสารเหล่านี้มาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวก (Bacillus cereus TISTR 688, Bacillus subtilis TISTR 008, Micrococcus luteus TISTR 884, Staphylococcus aureus TISTR 1466) และแกรมลบ (Escherichia coli TISTR 780, Pseudomonas aeruginosa TISTR 781, Salmonella typhimurium TISTR 292, Staphylococcus epidermidis ATCC 12228) พบว่าสารส่วนใหญ่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดีกว่าแกรมลบ โดยสาร α-mangostin จะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกทั้ง B. cereus, B. subtilis และ M.luteus โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย (MIC) อยู่ในช่วง 0.25-1 มคก./มล. ส่วนสาร garcicowanone A และ β-mangostin แสดงฤทธิ์ที่ดีเช่นกันในการยับยั้งเชื้อ B.cereus โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.25 มคก./มล. 

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนสกัดจากยางส่วนต้นชะมวง โดยใช้ MeOH เป็นตัวทำละลายแล้วแยกองค์ประกอบของสารให้บริสุทธิ์โดยใช้เทคนิคโครมาโทกราฟฟีแบบคอลัมน์ และโครมาโทกราฟฟีแบบเยื่อบาง ทำให้ได้สารในกลุ่มเซนโทน 5 ชนิด ได้แก่ cowaxanthone, cowanin, cowanol, 1, 3, 6-trihydroxy-7-methoxy-2, 5-bis (3-methyl-2-butenyl) xanthone  และ norcowanin เมื่อนำสารดังกล่าวไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Stapphylococcus aureus ATCC 25923 และ S. aureus ที่ดื้อต่อยา penicillin พบว่า  cowanin ทำให้เกิด clear zone เส้นผ่านศูนย์กลาง 13.50, 12.25, 0.0และ 0.0 mm ในจานเลี้ยงเชื้อ S. aureus  และ 12.75, 12.00, 0.0 และ 0.0mm ในจากเลี้ยงเชื้อ S.aureus สายพันธุ์ที่ดื้อยา  penicillin ในขณะที่ cowanol ทำให้เกิด clear zone เส้นผ่านศูนย์กลาง 15.25, 14.25, 11.0 และ 0.0 mm ในจานเลี้ยงเชื้อ S. aureus 25923 และ 15.50, 13.25, 10.0 และ 0.0 mm ในจานเลี้ยงเชื้อ S.aureus penicillin ตามลำดับ

            และยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาฉบับอื่นๆ อีกเช่น สาร chamuangone จากใบชะมวง มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว  สาร garcicowin B, C และ D จากกิ่งชะมวง มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลําไส้ และสาร dulxanthone A จากเปลือกต้นชะมวงมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของชะมวง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผลสุกของชะมวงมีรสหวานอมเปรี้ยวในการนำมารับประทานควรรับประทานแต่พอดีเพราะหากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้ปวดมวนท้อง และทำให้ท้องเสียได้
  2. ในการใช้ชะมวง เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดี ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณมาก หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ชะมวงเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ชะมวง
  1. เต็ม สมิตินันท์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.กรุงเทพฯ.สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้สํานักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้. พ.ศ.2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. บริษัทประชาชนจํากัด. กรุงเทพฯ. หน้า 247
  3. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. (2531).พจนานุกรมสมุนไพรไทย.กรุงเทพฯโอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี.ธวัชชัย มังคละคุปต์.”ชะมวง (Cha Muang) “ หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1 หน้า101.
  5. นันทวัน บุณยะประภัศร.และอรนุช โชคชัยเจริญพร.(2539), สมุนไพร.ไม้พื้นบ้าน(1).กรุงเทพฯ บริษัท ประชาชน จำกัด
  6. นิจศิริ เรืองรังสี.(2547).สมุนไพร ไทยเล่ม 1. กรุงเทพฯ.บี เฮาลท์ตี้.
  7. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสาร tetrooxygenated xanthones จากชะมวง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ชุติโชติ ปัทมดิลก, จตุพล เหลี่ยงสกุล,สุพจนา สิทธิกูล, รุทธ์ สุทธิศรี, องค์ประกอบทางเคมีของชะมวง (Garcinia cowa Rcxb.ex Dc.) และความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง. วารสาร ปขมทปีที่ 8. ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2562. หน้า 99-108 
  1. ภัทรภูมิ ลิ้มนุสนธิ์.การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของรากต้นชะมวง (Garcinia cowa). ปริญญานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี.ตุลาคม 2550. 63 หน้า
  2. ชะมวง.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=219
  3. ชะมวง/ใบชะมวง สรรพคุณ และการปลูกชะมวง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Xu, G., Kan, W.L.T., Zhou,Y., Song, J.Z., Han, Q.B., Qiao, C.F., Cho, C.H., Rudd, J.A., Lin, G. and H.X. Xu. 2010. Cytotoxic acylphloroglucinol derivatives from the twigs of Garcinia cowa. Journal of Natural Products. 73: 104-108.
  5. na Pattalung, P.; Thongtheeraparp, W.; Wiriyachitra, P.; & Taylor, W. C. (1994). Xanthone from Garcinia cowa. Planta Med. 60: 365-368.
  6. Sakunpak, A., Matsunami, K., Otsuka, H. and P. Panichayupakaranant. 2017. Isolation of chamuangone, a cytotoxic compound against leishmania major and cancer cells from Garciniacowa leaves and its HPLC quantitative determination method. Journal of Cancer Research Updates. 6: 38-45.
  7. Tian, Z., Shen, J., Moseman, A. P., Yang, Q., Yang, J., Xiao, P., Wu, E. and I.S. Kohane. 2008. Dulxanthone a induces cell cycle arrest and apoptosis via up-regulation of p53 through mitochondrial pathway in HepG2 cells. International Journal of Cancer. 122: 31-38.