ลำโพง ประโยชน์ดีๆสรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลำโพง งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลำโพง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชนิดดอกสีขาว : ลำโพงขาว (ภาคกลาง), มะเขือบ้า (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), อังกะละ (สุรินทร์), เลี๊ยก (เขมร), ม่านทัวหลัว (จีน), ชนิดดอกสีม่วง : ลำโพงกาสลัก (ทั่วไป), มะเขือบ้าดอกดำ (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Daturametel Linn. var. metel (ชนิดดอกสีขาว) Datura metel Linn. var. fastuosa (Bernh.) Danert (ชนิดดอกสีม่วง)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Daturaalba Rumph.ex Nees (ชนิดดอกสีขาว) Daturametel Linn. var. fastuosaSafford (ชนิดดอกสีม่วง)
ชื่อสามัญ Thorn Apple, Green thorn tnorn apple,  Angel Trumpet, Metel, Apple of peru .
วงศ์ SOLANACEAE

ถิ่นกำเนิดลำโพง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของลำโพง เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่แถบภูเขาทางภาคตะวันตกของประเทศปากีสถาน และประเทศอัฟกานิสถาน แล้วจึงได้แพร่กระจายออกไปในเขตร้อน และกึ่งร้อนทั่วโลก เช่น ในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยมักขึ้นตามบริเวณชายป่าที่รกร้างว่างเปล่า รวมถึงบริเวณข้างทาง และข้างแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณลำโพง

  1. แก้ไข้พิษ
  2. แก้ไข้กาฬ
  3. แก้คุ้มคลั่ง
  4. แก้สะอึกในไข้พิษไข้กาฬ
  5. แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน
  6. แก้แผลเรื้อรัง
  7. แก้พิษสัตว์กัดต่อย
  8. แก้พิษฝี
  9. แก้ปวดแสบบวมที่แผล
  10. แก้ปวดบวม
  11. แก้อักเสบ
  12. ใช้ทาแก้อักเสบเต้านม
  13. แก้อาการปวดเกร็งท้อง
  14. ช่วยขยายหลอดลม
  15. แก้อาเจียนจากเมารถเมาเรือ
  16. แก้หอบหืด
  17. แก้ริดสีดวงจมูก
  18. แก้การตีบตันของหลอดลม
  19. แก้กษัย
  20. แก้มะเร็ง
  21. แก้คุดทะราด
  22. แก้ริดสีดวง
  23. ช่วยบำรุงประสาท
  24. แก้ปวดหู
  25. แก้แผลไฟไหม้
  26. แก้โพรงจมูกอักเสบ
  27. แก้ไซนัส
  28. แก้เซื่องซึม
  29. แก้อาการปวดเมื่อย
  30. แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้พิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้ไข้กาฬ แก้คลุ้มคลั่ง โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้รากเผาให้เป็นถ่านแล้วนำมาปรุงเป็นยากิน ใช้แก้ฝีดับพิษฝี แก้ปวดบวมอักเสบ ใช้รากมาฝนทาบริเวณที่เป็น แก้ปวดหู แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลไฟไหม้ แก้ฝี แก้แผลเรื้อรัง แก้ปวดบวมอักเสบฝีแผล โดยใช้ใบลำโพง มาโขลกให้ละเอียด แล้วนำน้ำจากใบที่ได้หยอดหู หรือ ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้หอบหืด แก้โพรงจมูกอักเสบ แก้ไซนัส ขยายหลอดลม โดยใช้ใบ หรือ ดอกแห้ง มวนบุหรี่สูบแก้หืด แต่ไม่ควรใช้ลำโพงหนักเกิน 1 บาท  ใช้แก้กระสับกระส่าย แก้ไข้พิษโดยใช้เมล็ดมาคั่วจนน้ำมันหมดไป แล้วนำไปปรุงเป็นยา ใช้แก้อาการปวดเมื่อย หรือ ขัดยอก ปวดฟันโดยใช้เมล็ดประมาญ 30 กรัม นำมาทุบให้พอแหลก แล้วแช่กับน้ำมันงา หรือ น้ำมันมะพร้าว ไว้ประมาณ 7 วัน แล้วจึงนำมาทาบริเวณที่มีอาการ หรือ จะใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้งก็ได้


ลักษณะทั่วไปของลำโพง

สำหรับลักษณะทั่วไปของลำโพงดอกขาว และลำโพงดอกสีม่วงนั้นมีจุดสังเกตที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน คือ ต้นลำโพงขาวจะมีต้นสีเขียว ดอกสีขาวส่วนลำโพงดอกสีม่วงจะมีต้นสีแดงเกือบดำ ดอกเป็นชั้นๆ สีม่วง ส่วนลักษณะทั่วไปในส่วนอื่นๆ ก็คล้ายกันดังนี้ 

            ต้นลำโพงจัดเป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มอายุหลายปี สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นกลมแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มคล้ายต้นมะเขือแต่ใหญ่กว่า ลำต้นเปราะแต่เปลือกต้นเหนียว และกิ่งก้านมีสีเขียว หรือ ม่วง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรูปไข่ โคนใบมนของใบเป็นแบบมีจักห่างๆ ใบเรียบ กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 14-22 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณง่ามใบ หรือ ยอดต้นมีลักษณะทรงกรวยยาวรูปแตร ทรัมเป็ต หรือ ลำโพง ขนาดใหญ่ โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด และมีขนปกคลุมดอกเป็นสีขาวชั้นเดียว หรือ สีม่วงกลีบซ้อนแล้วแต่สายพันธุ์ โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อน หรือ สีเขียวหุ้มอยู่ สำหรับกลีบดอกจะยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร โดยดอกลำโพงจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้ 5 อัน ก้านเกสรติดอยู่ที่ด้านในของหลอดกลีบดอก รังไข่เป็นชนิดอยู่สูง ผลรูปทรงค่อนข้างกลม ผิวเป็นขนคล้ายหนามเป็นตุ่ม เนื้ออ่อนๆ อยู่รอบๆ ขนาดของผลประมาณ 3-4 เซนติเมตร เป็นสีเขียวหรือเขียวอมม่วง เมื่อผลแห้งจะแตกออกด้านในมีเมล็ดมีจำนวนมาก ลักษณะเมล็ดจะกลมแบนเหมือนเมล็ดมะเขือ

ลำโพง

การขยายพันธุ์ลำโพง

ลำโพง เป็นพืชกลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายเช่นเดียวกันกับมะเขือ โดยสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และสามารถเจริญเติบโตได้เกือบทุกสภาพดินของประเทศไทย แต่จะเจริญได้ดีในความชื้นสูง และมีธาตุอาหารในดินมาก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกลำโพงนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชล้มลุกหรือไม้พุ่มอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ลำโพง

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของลำโพงพบสารสำคัญหลายชนิด โดยสารสำคัญที่พบในต้นลำโพง เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ โดยส่วนใหญ่ คือ สาร (-)-scopolamine (hyoscine) ซึ่งสูงถึง 75% ของสารอัลคาลอยด์ทั้งหมด รองลงไปจะเป็น (-)-hyoscyamine, (-)-norhyoscyamine, (-)-norscopolamine, hydroxyl-6-(-)-hyoscyamine, atropine  และ meleloidine สามารถพบสารกลุ่มนี้ได้ทุกส่วนของต้นลำโพง โดยในส่วนใบจะมีอยู่ประมาณ 0.2 - 0.6% ส่วนดอก 0.1 - 0.8% และในเมล็ด 0.2 - 0.5%      

โครงสร้างลำโพง

       ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลำโพง

มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของออกฤทธิ์ต่างๆ ที่พบในทุกๆ ส่วนของลำโพง พบว่าสาร (-)-hyoscyamine ที่พบในต้นลำโพงมีฤทธิ์ anticholinergic (คลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ) โดยสามารถลดอาการปวดเกร็งในช่องทางเดินอาหาร และบรรเทาอาการปวดเกร็งของโรคนิ่วในไต ส่วนสาร (-)-scopolamine จะมีฤทธิ์คล้ายกับสารกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางด้วย สามารถใช้แก้อาการปวดอันเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และเป็นองค์ประกอบของยาชา ช่วยระงับความรู้สึกในการทำให้สลบ

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าลำโพง มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สารสกัดน้ำจากส่วนดอก และเมล็ดลำโพงขนาด 8 มก./มล. มีผลลดความตึงตัว และการหดตัวของลำไส้เล็กส่วน lleum ของหนูแรท ฤทธิ์บรรเทาอาการหอบหืด สารสกัดน้ำจากเมล็ดลำโพงขนาด 10-20 มก./มล. มีผลทำให้หลอดลมหนูตะเภาคลายตัว จาการเหนี่ยวนำให้หลอดลมตีบตัวด้วย acetylcholine และ histamine ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง สารสกัดน้ำจากเมล็ดลำโพง 3 ก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนูแรท ส่งผลให้หนูมีอาการเซื่องซึม อ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจช้าลง ภายใน 10 นาที ฤทธิ์ลดความดันโลหิต การฉีดสารสกัดน้ำเมล็ดลำโพงขนาด 0.25-1.0 ก./กก. มีผลลดความดันโลหิตลงอย่างรวดเร็วและทำให้หนูตาย

การศึกษาทางพิษวิทยาของลำโพง

มีการศึกษาถึงความเป็นพิษของทุกๆ ส่วนของลำโพงพบว่า ทุกส่วนของลำต้น ใบ ดอก ผลของลำโพง มีคุณสมบัติ เป็นพิษทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมล็ดลำโพง จะมีพิษสูงมาก (เมล็ดลำโพง 10 เมล็ดจะมีปริมาณของ atropine 1 มิลลิกรัม) ซึ่งสารพิษในต้นลำโพงจะไม่สามารถทำลาย ด้วยความ ร้อนได้

           สำหรับอาการเมื่อได้รับพิษจากลำโพงแล้วจะทำให้มีอาการที่แสดงออกมา คือ ม่านตาขยาย สายตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ ปากแห้ง กระหายน้ำมาก กลืนน้ำลำบาก ผิวหนังร้อนแดง มีผื่นแดงตามใบหน้า คอ และหน้าอก ปวดศีรษะ ไข้ขึ้นสูง อาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส รู้สึกสับสนการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ เคลิ้มฝัน เพ้อคลั่ง มีอาการทางจิต และประสาท วิกลจริต ในเด็กเล็กอาจเกิดการชัก ชีพจรเต้นอ่อน และมีแนวโน้มที่จะเต้นไม่เป็นจังหวะ ท้องผูก ปัสสาวะขัด ในกรณีที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รู้สึกตัว โคม่า หายใจช้า ตัวเขียว และอาจเสียชีวิตได้

           โดยทั่วไปแล้วอาการแสดงที่เกิดจากพิษลำโพงจะมีอาการ ภายในเวลา 30 นาที ถึง 60 นาที หลังจากกินเมล็ดลำโพง หรือ ส่วนต่างๆ ของลำโพง และอาการจะดำเนินต่อไปอีก 2-3 วัน เนื่องจากสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) ในลำโพงจะออกฤทธิ์อย่าง ช้าๆ ในระบบทางเดินอาหาร

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เด็ก สตรีมีครรภ์ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่เป็นหวัดไอร้อน โดยตับ และไต ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
  2. เนื่องจากทุกส่วนของลำโพง จะมีสาร alkalaloid ที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้นในการใช้จึงควรใช้ความระมัดระวังโดยเฉพาะเมล็ดลำโพงที่มีความเป็นพิษสูงมาก โดยในการเตรียมตัวยาที่จะนำมาใช้ไม่ควรเตรียมตัวยาเอง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ที่ได้รับการอบรมเรียนรู้และได้รับอนุญาตจาก อย. มาทำการเตรียมตัวยาให้หรืออาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และได้รับอนุญาตจาก อย.
  3. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของลำโพงเป็นสมุนไพรควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้

เอกสารอ้างอิง ลำโพง
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ลำโพง Thorn Apple”. หน้า 99.
  2. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1-3. เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง, 2552.
  3. เดชา ศิริภัทร. ลำโพง :พืชพลังลึกลับ จากอดีตสู่อนาคต. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 322. กุมภาพันธุ์ 2544.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ลำโพง”. หน้า 490.
  5. วีณา จิรัจฉริยากูล และ อ้อมบุญ ล้วนรัตน์, กองบรรณาธิการ. ยาจากสมุนไพร. กรุงเทพฯ: Text and Journal Corporation, 2533.
  6. พิชณันท์ ลีแก้ว.ลำโพง:ไม้ประดับมีพิษ.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ลำโพง.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=105
  8. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ลำโพง”. หน้า 693-695.
  9. de Padua LS, Bunyapraphatsara N, Lemmens RHMJ (Editors). 1999. Plant Resources of South-East Asia No. 12(1). Medicinal and poisonous plants 1. Backhuys Publishers, Leiden, the Netherlands. 711 pp.