ว่านพร้าว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ว่านพร้าว งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ว่านพร้าว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เซียนเหมา (จีนกลาง), เซียงเม้า (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curculigo orchioides Gaertn.
ชื่อสามัญ Common Curculigo Rhizome-Rhizoma Curculiginis
วงศ์ HYPOXIDACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านพร้าว

สำหรับถิ่นกำเนิดของว่านพร้าว นั้น เชื่อกันว่าว่านพร้าวมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีนแล้วได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง อาทิเช่น เวียดนาม พม่า อินเดีย ไทย ลาว กัมพูชา ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบว่าว่านพร้าวได้ทางภาคเหนือของประเทศ ทั้งนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้างคลึงกับว่านพร้าว และยังมีชื่อเรียกพ้องกันรวมถึงยังเป็นพืชวงศ์เดียวกันอีกด้วยนั่นก็ คือ ว่านสากเหล็ก ซึ่งตามตำรายาไทยจะใช้แทนกันได้ 

ประโยชน์และสรรพคุณว่านพร้าว

  1. เป็นยาชักมดลูกสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่
  2. แก้หยางของไตไม่พอ
  3. แก้ธาตุไฟน้อย (เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว น้ำอสุจิเย็น ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะบ่อย)
  4. ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  5. บำรุงกระดูก
  6. แก้ระบบไตอ่อนแอ
  7. แก้เข่าและเอวอ่อนแรง
  8. ลดอาการการปวด
  9. ลดไขมันในเลือด
  10. แก้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
  11. ลดการชาเรื้อรังจากความเย็น และความชื้น
  12. แก้หยางของม้ามและไต
  13. ใช้พร่องหน้าท้อง และท้องน้อย ทำให้เย็นและปวดถ่ายท้อง
  14. ช่วยเสริมความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกระดูก
  15. แก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  16. แก้ปัสสาวะบ่อย
     

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

การใช้ตามสรรพคุณในตำรายาไทยตามที่กล่าวมาจะใช้เหง้าแห้งของว่านพร้าว ต้มกับน้ำดื่ม ส่วนการใช้ตามสรรพคุณในตำรายาจีนตามที่กล่าวมาจะใช้เหง้าแห้ง 3-9 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังมีการใช้ว่านพร้าวตามตำรายาพื้นบ้านของจีนอีกเช่น แก้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม โดยใช้เหง้าว่านพร้าว 6 กรัม อิ่มเอื้ยขัก หรือ อิ๋นหยางฮั่ว 15 กรัม เม็ดเก๋ากี้ 10 กรัม เมล็ดฝอยทอง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ลดไขมันในเลือด โดยใช้เหง้าว่านพร้าว 15 กรัม อู่จื่อเหมาเถา 15 กรัม เหอโซ่วอู 15 กรัม ลวีฉางชิง 15 กรัม เหอโซ่วอู 15 กรัม ชงมู่ 10 กรัม ทำเป็นยาเม็ด ขนาดเม็ดละ 0.6 กรัม วันละครั้ง (ครั้งละ 10 เม็ด) เป็นเวลา 1 เดือน แต่ต้องทานต่อเนื่อง 2 เดือน


ลักษณะทั่วไปของว่านพร้าว

ว่านพร้าว จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่มีเหง้าเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อในเหง้าเป็นสีขาวอยู่ใต้ดิน และเหง้าจะมีขนาดใหญ่ กลม และยาวประมาณ 1 ฟุต เนื้อนิ่ม ซึ่งเหง้าดังกล่าวจะแตกรากเลื้อย แทงลงใต้ดินจำนวนมาก ใบดอกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแคบๆ ปลายแหลม กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แผ่ใบมีสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง เส้นใบนูนยาวตามใบให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งนี้หนึ่งต้นจะมีใบประมาณ 3-6 ใบเท่านั้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว เป็นรูปทรงกระบอกแตกออกเป็น 6 แฉก ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใจกลางดอกเป็นสีเหลือง ด้านนอกเป็นสีเหลือง ปลายกลีบเป็นสีขาว มีขนปกคลุม กลีบดอกยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีกานดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผลเป็นรูปกลมรี ยาว 1.2 เซนติเมตร ภายในผลจะมีเมล็ดสีดำ มีลักษณะผิวเรียบเป็นมัน

ว่านพร้าว

การขยายพันธุ์ว่านพร้าว

ว่านพร้าว สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการแยกเหง้า และการใช้เมล็ด แต่ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยการแตกเหง้าเหมือนพืชหัวอื่นๆ และการที่เมล็ดร่วงหล่นบนพื้นดินแล้วเจริญเป็นต้นใหม่ต่อไป และสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการไปเก็บเอาเหง้ามาจากป่ามากกว่าการนำไปปลูกเพื่อนำไปใช้ หรือ ปลูกในเชิงพาณิชย์

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเหง้าว่านพร้าว ที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบว่ามีสารสำคัญดังนี้ Curculigine, Curculigol, Curculigenin A, Stignasterol, Curculigoside, Curculigos saponin, Corchioside, Glucoside, Orcinol glucoside, Succiuamide, Tetracontane, Yuccagenin, Lycorine,  Latax, Triacontan และ Tannin เป็นต้น      

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านพร้าว

ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสารสกัด curculigoside จากว่านพร้าวในหลอดทดลอง โดยทำการทดลองเลี้ยงเซลล์สมอง prefrontal cortex neurons ที่แยกได้จากหนูเม้าส์ ในอาหารเลี้ยงเซลล์ Neurobasal medium ที่มีสารสกัด CCGS อยู่ 0.1 1.0 10 และ 100 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ จากนั้นเติมสาร N -methyl-D-aspartate (NMDA) เพื่อเหนี่ยวนำให้เซลล์ถูกทำลายแล้ว วัดอัตราการอยู่รอดของเซลล์ด้วยวิธี MTT assay และตรวจสอบการตายของเซลล์โดยย้อมเซลล์ด้วยสาร propidium iodide และ Hoechst 33258 double fluorescent ตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงฟลูออเรสเซนต์ และเครื่อง Flow cytometry วัดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องด้วยวิธี western blot analysis และวัดการเกิดอนุมูลอิสระด้วย 2′,7′-dichlorofluorescein diacetate (DCFH-DA) fluorescent probe ผลการจากทดลองพบว่า การเติมสารสกัด CCGS ในอาหารเลี้ยงเซลล์ช่วยยับยั้งความเสียหายของเซลล์สมองจาก NMDA โดยมีผลลดอัตราการตายของเซลล์ เพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านการตายของเซลล์ (Bcl-2) และลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตายของเซลล์ (Bax) และลดการเกิดอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species) เมื่อเทียบกับเซลล์สมองที่เลี้ยงในอาหารที่ไม่มีสารสกัด CCGS 

           ฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุน มีการศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุนของสาร curculigoside ซึ่งแยกได้จากส่วนเหง้าของว่านพร้าว (Curculigo orchioides) โดยป้อนสาร curculigoside ขนาด 100 มก./กก. ทางปากแก่หนูแรทเพียงครั้งเดียว จากนั้นตรวจสอบสารเมแทบอไลต์ของ curculigoside (metabolites of curculigoside) จากส่วนต่างๆ ได้แก่ พลาสมา น้ำดี ปัสสาวะ อุจจาระ และเนื้อเยื่อต่างๆ 17 ชนิด ผลการทดลองพบว่ากระบวนการเมแทบอลิซึมของสาร curculigoside ในหนูแรท ประกอบด้วยกระบวนการ hydrolysis, demethylation และ glucuronidation ซึ่งได้สารเมแทบอไลต์ 7 ชนิด โดยพบว่าในพลาสมามี สาร M2 (metabolite M2) เป็นสารเมแททาบอไลต์หลัก และมีความเข้มข้นสูงกว่าสาร curculigoside และเมื่อนำสาร M2 มาทดสอบกับเซลล์ MC3T3-E1 ซึ่งเป็นเซลล์สร้างเนื้อกระดูก (osteoblast) พบว่ามีฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าว่าสาร M2 น่าจะเป็นสารเมแทบอไลต์ที่ออกฤทธิ์ (active metabolite) ในการต้านภาวะกระดูกพรุนของสาร curculigoside

           ฤทธิ์ต้านตับอักเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร Curculigenin A และ Curculigol เป็น steroid ซึ่งสกัดแยกได้จากหัวว่านพร้าว มีฤทธิ์ต้านตับอักเสบที่เกิดจาก thioacetamide และ galactosamine โดยฤทธิ์จะขึ้นอยู่กับขนาดที่ให้ โดย Curculigenin A ในขนาด 100 และ 1000 mcg/ml จะให้ผลต้าน galactosamine ทั้ง 2 ชนิด ในขนาด 10, 100, 1000 mcg/ml สามารถต้านฤทธิ์ตับอักเสบ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น สารสกัดจากเหง้าของว่านพร้าว ด้วยแอลกอฮอล์ เมื่อให้ทางช่อท้องหนูถีบจักรในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม พบว่าสามารถเพิ่มฤทธิ์ยา pentobarbital sodium โดยทำให้นอนหลับนานขึ้น และช่วยเพิ่มฤทธิ์ของยา picrotxin หรือ cocculin ให้ลดอาการตื่นตระหนกตกใจลง นอกจากนี้สารสกัดดังกล่าวยังแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากน้ำมันสลอดอีกด้วย

การศึกษาพิษวิทยาของว่านพร้าว

มีรายงานการศึกษาพิษเฉียบพลันของเหง้าว่านพร้าวโดยให้สารสกัดน้ำทางปากหนูถีบจักรในขนาด 150 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตัวใดตายภายใน 7 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าว่านพร้าว พิษต่ำ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในตำราแพทย์แผนจีนระบุว่า ว่านพร้าวเป็นสุมนไพรที่มีพิษซึ่งห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการร้อนในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เย็นจัด หรือ มีธาตุไฟแทรก
  2. ในการใช้ว่านพร้าว เป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะ ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันมากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลระบบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ ว่านพร้าวเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ว่านพร้าว
  1. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์.ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.) สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพมหานคร. บริษัท ประชาชน จำกัด 2544.
  2. ฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุน จากเหง้าว่านพร้าว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ว่านพร้าว ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 512.
  4. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด.ไม้เทศ เมืองไทย. กรุงเทพมหานคร. เกษมบรรณกิจ, 2514.
  5. ฤทธิ์ปกป้องสมองของว่านพร้าว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ว่านพร้าว.คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. 2551. 198 หน้า
  7. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของว่างพร้าว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ว่านพร้าว” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 169.