ตานหม่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ตานหม่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ตานหม่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตานหม่อน (นครศรีธรรมราช), ตานค้อน (สุราษฏร์ธานี), ช้าหมักหลอด, ข้าหมักหลอด (หนองคาย), ตานขี้นก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tarlmounia elliptica (DC.)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vernonia elliptica DC., Vernonia elaeagnifolia DC., Cacalia elaeagnifolia Kuntze
วงศ์ Asteraceae

ถิ่นกำเนิดตานหม่อน

ตานหม่อนเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น แล้วจึงได้มีการแพร่กลายพันธุ์ไปยังเขตร้อน บริเวณใกล้เคียงเช่น ภูมิภาคเอเชียใต้ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ตานหม่อน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยตานหม่อน สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามป่าดงดิบ และป่าผลัดใบทั่วไป รวมถึงอาจพบได้ตามแหล่งรกร้างบางพื้นที่อีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณตานหม่อน

  • แก้พิษตานซาง
  • ช่วยห้ามเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • ช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง
  • ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น
  • ช่วยคุมธาตุในร่างกาย
  • ช่วยรักษาลำไส้
  • ช่วยแก้ตานซางในเด็ก
  • ช่วยฆ่าพยาธิ
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยคุมธาตุ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • ช่วยขับปัสสาวะ

             ในบางพื้นที่มีการนำยอดอ่อนและใบอ่อนของตานหม่อน มารับประทานโดยจะนำมา ลวก หรือ นึ่ง สำหรับใช้จิ้มน้ำพริก

ตามหม่อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้คุมธาตุ ฆ่าพยาธิไส้เดือน แก้พาตานซางในเด็ก บำรุงเนื้อหนัง โดยการนำใบแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ ราก หรือ เนื้อไม้มาต้มน้ำดื่มแทนก็ได้ ช่วยห้ามเลือดที่เกิดจากบาดแผล หรือ แผลเรื้อรัง โดยนำใบสดมาขยี้หรือตำพอกบริเวณที่เป็นแผล ส่วนการใช้ประสะมะแว้งที่มีใบตานหม่อน เป็นส่วนประกอบ และมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอขับเสมหะทำให้ชุ่มคอนั้น

           ชนิดผง และชนิดเม็ด (ลูกกลอน) ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ หรือ อาจจะละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทานก็ได้ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ


ลักษณะทั่วไปของตานหม่อน

ตานหม่อน จัดเป็นไม้เถารอเลื้อยพาดไม้ยืนต้นอื่นๆ เถามีเนื้อแข็ง เป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ลักษณะกิ่งก้านเล็กเรียงเป็นสันยาว มีขนสีเงิน หรือ สีขาวขึ้นปกคลุม และอาจแตกต้นใหม่ได้ตามเถาแก่ที่ทอดไปตามพื้นดิน ใบออกเป็นลักษณะใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสองแคบไปหาก้านใบ แผ่นใบเรียงหนาผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนสีเงินขึ้นปกคลุม ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุก ที่ปลายหยด หรือ ตามง่ามใบปลายกิ่ง ส่วนดอกย่อยมีโคนหนีบเชื่อมติดกับกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีกลีบดอกเป็นเส้นๆ สีขาวขึ้นเป็นกระจุกจำนวนมาก ผลออกเป็นผลแบบแห้งมีลักษณะเหมือนกระสวย มีสัน 5 สัน มีต่อมรยางค์สีขาว ส่วนเมล็ดเป็นแบบเมล็ดล่อนมีสีดำ

ตามหม่อน

การขยายพันธุ์ตานหม่อน

ตานหม่อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการปักชำ ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการปักชำไม้เถาชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้การขยายพันธุ์ตานหม่อน ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดในส่วนมากจะเป็นการเก็บมาจากป่าเสียมากกว่า

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบเคมีของตานหม่อน ระบุ ส่วนเหนือดิน (ไม่ระบุส่วน) พบสาร lupeol, stigmasterol นอกจากนี้ยังพบสาร กลุ่ม sesquiterpene lactone ได้แก่ glaucolides A และ glaucolidesB และอนุพันธ์ของสารกลุ่ม acetate, sitosterol, taraxasterol

โครงสร้างตานหม่อน 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตานหม่อน

ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ ของเนื้อไม้ตานหม่อน ต่อเชื้อรา 3 ชนิด คือ Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum และ Microsporum gypseum ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากเนื้อไม้ตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อรา M.gypseumได้

             ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอล และน้ำ ของลำต้น (เนื้อไม้) ตานหม่อน ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ คือ S.aureus, B.subtilis, E.coli, Sh.disenteriae, S.typhi และ C.albicans โดยใช้เทคนิค disk diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus, B.subtilisและ C.albicansได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่อการยับยั้งเชื้อ (diameter of inhibition zone) เท่ากับ 7-12, 7-12 และ >12-19 มิลลิเมตร ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของตานหม่อน

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ตานหม่อน เป็นสมุนไพรนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป และไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป โดยควรใช้ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ตานหม่อน เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ ในการใช้ยาประสะมะแว้งที่มีใบตานหม่อน เป็นส่วนประกอบนั้นมีข้อควรระวังในการใช้ดังนี้

  1. ในผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไม่ควรใช้น้ำมะนาว แทรกเกลือในการรับประทานยา
  2. ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน

เอกสารอ้างอิง ตานหม่อน
  1. ตานหม่อน ”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 205.
  2. วันดี อวิรุทธ์นันท์, แม้นสรวง วุธอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2536;10(3):87-89.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ตานหม่อน (Tan Mon)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 128.
  4. Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1983;10(3):81-86.
  5. ตานหม่อน. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=168