โคคลาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
โคคลาน งานวิจัยและสรรพคุณ 13ข้อ
ชื่อสมุนไพร โคคลาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านนางล้อม , เครือแม่น้ำนอง (ภาคเหนือ) , หวานดิน (ภาคกลาง) , ลุมปรี , เถาขะโนม (ภาคตะวันออก) , วาลำลงพนม (ปราจีนบุรี,กัมพูชา),กูเราะ,เปรียะ(นราธิวาส,มาเลเซีย),เถาวัลย์ทอง(ประจวบคีรีขันธ์),เถาพนม(ชลบุรี),ลุ่มปรี(ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn.
ชื่อสามัญ Fish-berry, Indian berry
วงศ์ MENISPERMACEAE
ถิ่นกำเนิดโคคลาน
โคคลานเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยรวมถึงบางส่วนในประเทศกัมพูชา โดยในการค้นพบครั้งแรกพบในป่าบริเวณแนวชาวแดน ไทย-กัมพูชา ยาวไปถึงในดินแดนของประเทศกัมพูชาแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบันสามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ส่วนมากจะพบตามชายป่าของภาคตะวันออกส่วนในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ถึงนิวกินี
ประโยชน์และสรรพคุณโคคลาน
- แก้ปวดปวดหลัง
- แก้ปวดเอว
- แก้ปวดกล้ามเนื้อ
- แก้เส้นตึง
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยบำรุงกำลัง
- แก้กษัย
- แก้ไตพิการ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้อาการคัน
- โรคผิวหนังต่างๆ
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
ลักษณะทั่วไปโคคลาน
โคคลานจัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เถายาวทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือทอดเลื้อยไปพันตามต้นไม้อื่นๆ เถาแก่มีขนาดใหญ่สีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้แข็ง ส่วนเถาอ่อน เปลือกสีครั่ง มีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปหัวใจ จาว 10-25 ซม. กว้าง 8-20 ซม. ผิวใบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ตรงโคนมีต่อมขมเล็กๆอยู่ ดอกออกเป็นช่อโดยมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย โดยดอกจะออกตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีความยาว 15-40 ซม. และมีดอกย่อยออกด้านข้างของช่อ ผลออกเป็นช่อ เป็นผลสดตอนอ่อนมีสีขาว เมื่อผลแก่จะมีสีแดงหรือสีม่วง ลักษณะผลเป็นทรงกลม ขนาดเล็กผิวเกลี้ยง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เมล็ดมี 1 เมล็ดใน 1 ผล เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว มีรสขม อยู่ในผนังผลขั้นในที่มีรูปร่างคล้ายไต
การขยายพันธุ์โคคลาน
โคคลานสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และจัดเป็นพืชป่าที่ยังไม่นิยมนำมาปลูกไว้ในบ้านหรือปลูกในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นในการขยายพันธุ์ ส่วนมากจึงเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ มากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ของโคคลานพบว่าสารต่างๆหลายชนิด เช่น Picrotin, alkaloid Menispermine, Picrotoxinin, Cocculin, Stearophanic acid และ Paramenispermine
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้โคคลาน
เถาและรากใช้ต้มน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกระดูก ปวดข้อ แก้เส้นเอ็นอักเสบตึงปวด บำรุงโลหิต บำรุงกำลังแก้กษัย ขับปัสสาวะ อีกตำรับหนึ่งใช้โคคลาน 2 ส่วน ทองพันชั่ง มะตูม โด่ไม่รู้ล้ม อย่างละ 1 ส่วน ใส่น้ำให้ท่วมยาแล้ว นำไปต้มเดือด รินดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา โดยให้อุ่นยากินเรื่อยๆจนยาจืดจึงเปลี่ยนยาหม้อใหม่หรือจะนำเครื่องยาแห้งตำรับนี้มาบดผงใส่แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 เวลาก็ได้
นอกจากนี้ตามภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีการนำเถาโคคลาน ต้นโด่ไม่รู้ล้ม ต้นหรือใบทองพันชั่งมาดองกับเหล้าขาว ใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก เพื่อแก้กษัย แก้ปวดเมื่อยกระดูกและเส้นเอ็น บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
จากการศึกษาวิจัยทางเภสัชพบว่า เมล็ดของโคคลาน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ , รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ส่วนสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโคคลานมีฤทธิ์ต้านอักเสบ บรรเทาปวด ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
สำหรับการศึกษาทางพิษวิทยานั้นยังไม่พบข้อมูลความเป็นพิษแต่มีรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองบางฉบับพบว่าเมื่อใช้ในขนาดสูงมีผลมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้สัตว์ทดลองอาเจียน ท้องเสีย ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ และมีอาการชัก เป็นต้น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้โคคลานเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ถึงแม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นพิษแต่ในงานวิจัยบางฉบับก็ได้รายงานว่ามีอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง ดังนั้นการใช้โคคลาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือควรใช้ตามปริมาณและขนาดตามที่ระบุไว้ในตำรับนำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินกว่าที่ระบุ หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ภญ.กฤติยา ไชยนอก.สมุนไพรไทยกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ.พืชที่ให้สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Psychotropic Plants).กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้.สำนักงานหอพรรณไม้.กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.โคคลาน.พจนานุกรมสมุนไพรไทยฉบับพิมพ์ครั้งที่6.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์รวมสาส์น.2542.880หน้า
- สมุนไพรแก้ปวดเมื่อย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6922