ผักเสี้ยนผี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเสี้ยนผี งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักเสี้ยนผี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักส้มเสี้ยน, ผักส้มเสี้ยนผี, ส้มเสี้ยนผี (ภาคเหนือ), ผักเสี้ยนตัวเมีย (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleome viscosa Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cleome acutifolia Elmer, Polanisia icosandra (L.)Blume, Arivela viscosa (L.) Raf.,
ชื่อสามัญ Stining cleome, Wild caia, yellow cleome, tickweed
วงศ์ Cleomaceae

ถิ่นกำเนิดผักเสี้ยนผี

ผักเสี้ยนผี เป็นพรรณพืชที่ยังไม่มีการระบุถึงถิ่นกำเนิดที่แน่นอน แต่มีข้อมูลการกระจายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ว่ามีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อน และกึ่งร้อนของทวีปแอฟริกา อเมริกา และเอเชีย เช่นในประเทศ อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เนปาล และภูฎาน เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยจัดให้ผักเสี้ยนผี เป็นวัชพืชที่ขึ้นรบกวน ผลผลิตทางการเกษตรชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบตามที่รกร้างว่างเปล่า ตามริมถนนหนทาง ตามชายป่าทั่วๆ ไป รวมถึงพบในแปลงพืชผลทางการเกษตรต่างๆ อีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณผักเสี้ยนผี 

  • ช่วยเจริญไฟธาตุ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ลม
  • แก้ลงท้อง
  • แก้ฝีภายใน
  • ทำให้หนองแห้ง
  • แก้พิษฝี
  • แก้ไข้ตรีโทษ
  • ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม
  • แก้โรคไขข้ออักเสบ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • ใช่หยอดหูแก้หูอักเสบ
  • แก้ฝีในปอด
  • ช่วยขับหนองฝี
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • ช่วยขับลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ
  • ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ใช้พอกแก้ปวดศีรษะ
  • แก้ปวดหลัง
  • ใช้ฆ่าเชื้อโรค
  • ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
  • ใช้ฆ่าพยาธิ
  • ช่วยกระตุ้นหัวใจ
  • แก้วัณโรค
  • แก้โรคผอมแห้งของสตรี
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • ช่วยทำให้หนองแห้ง 
  • แก้ลมอัมพฤกษ์
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

           ผักเสี้ยนผี สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้โดยใช้ยอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน มาดองเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ ใช้เป็นเครื่องเคียงในขนมจีน, ส้มตำ ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ผักเสี้ยนผี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้ลมลงท้อง ช่วยแก้ฝีภายใน แก้อักเสบต่างๆ แก้ท้องร่วง ช่วยเจริญไฟธาตุ โดยใช้ผักเสี้ยนผีแห้งทั้งต้น มาต้มกับน้ำดื่ม แก้ปวดศีรษะโดยใช้ต้นผักเสี้ยนผีสดทั้งต้นตำพอกศีรษะ แก้วัณโรค แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน กระตุ้นหัวใจ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม เมล็ดแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้น้ำเหลืองเสีย กระตุ้นหัวใจ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้การหูอื้อ คันหู ใช้ใบผักเสี้ยนผี สดประมาณ 3-4 ใบ นำมาขยี้พอช้ำ แล้วใช้อุดที่หู เมล็ดนำมาต้มหรือชงดื่ม


ลักษณะทั่วไปของผักเสี้ยนผี
 

ผักเสี้ยนผี จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก มีขนปกคลุมตลอดทั้งลำต้น และกิ่งก้านยังมีเมือกเหนียวตามขนที่ขึ้นปกคลุม มีกลิ่นฉุนแรกโดยต้นของผักเสี้ยนผีสามารถสูงได้ถึง 1 เมตร ใบออกเป็นใบประกอบยื่นออกเป็นแฉก มีใบย่อย 3 หรือ 5 ใบ เรียงเวียน ก้านใบยาว 0.5-6 เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ กว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ใบกลางมักจะใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง ปลายแหลมมน โคนรูปลิ่ม ของใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเส้นน้อย ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจะออกตามเรือนยอด และปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลือง มีกลีบเกลี้ยง 4 กลีบ เป็นรูปช้อน โคนสอบเรียว โดยกลีบดอกจะมีขนาด 0.5-1.5 เซนติเมตร ใน 1 ดอกจะมีทั้งเกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย ผลออกเป็นฝักรูปทรงกระบอก กว้าง 2-5 มิลลิเมตร ยาว 1-10 เซนติเมตร มีสันนูนๆ ขึ้นตามความยางของฝัก และมีขนขึ้นปกคลุมทั้งฝัก ปลายฝักมีจะงอยแหลมๆ ในฝักประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นเมล็ดกลมแป้นขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร ผิวขรุขระ เมล็ดมีสีน้ำตาลแดง


การขยายพันธุ์ผักเสี้ยนผี

ผักเสี้ยนผี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่จัดที่มีสีดำมาตากให้แห้ง แล้วนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์ โดยมีวิธีการปลูกดังนี้ เตรียมแปลงให้ให้มีความกว้าง 1-1.5 เมตร แล้วใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงหว่านเมล็ดพันธุ์ผักเสี้ยนผี ที่เตรียมไว้ให้ทั่วแปลงกลบด้วยดินบางๆ ใช้ฟางคลุมรดน้ำให้ชุ่มและเมื่อหลังจากการปลูก ประมาณ 1 อาทิตย์ ผักเสี้ยนผีจะเริ่มงอกขึ้นมา และเมื่อปลูกได้ประมาณ 120 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของผักเสี้ยนผี ระบุว่า ดอกมีสารกลุ่ม flavonoid glycosides เช่น quercetin 3-O-(2”-acetyl)-glucoside เมล็ดมีสารกลุ่ม coumarinolignoids เช่น fraxetin, cleomiscosin A, cleomiscosin B, Cleomiscosin D สารกลุ่ม dipyridodiazepinone ได้แก่ nevirapine สารกลุ่มไทรเทอร์พีน ได้แก่ lupeol beta-amyrin ส่วนใบพบสารกลุ่ม flavonol glycosides และสารกลุ่ม bicyclic diterpene ได้แก่ cleomeolide ส่วนรากพบสารกลุ่ม flavonol ได้แก่ kaempleride-3- glucuronide ส่วนทั้งต้น พบสารกลุ่ม flavone ได้แก่ naringenin glycoside สารกลุ่ม sterol ได้แก่ stigmasta-5,24(28)-diene-3b-O-a-Lrhamnoside สารกลุ่ม macrocyclic diterpene ได้แก่ cleomaledeic acid

          นอกจากนี้ผักเสี้ยนผี ยังมีน้ำมันระเหยง่าย ที่ประกอบด้วยสารกลุ่ม Monoterpenes เช่น heptan-4-one dehydrosabinene 6-methylhept-5-ene-2-one myrcene p-cymene a-pinene β-pinene รวมถึงสารกลุ่ม lipid เช่น behenic acid, linoleic acid, linolenic acid, myristic acid

โครงสร้างผักเสี้ยนผี

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักเสี้ยนผี

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ศึกษาการเหนี่ยวนำสารในกระบวนการอักเสบของสารกลุ่ม coumarinolignoid จำนวน 3 ชนิด คือ cleomiscosins A, B,C ที่แยกได้จากเมล็ดผักเสี้ยนผี ในหนูถีบจักรสายพันธุ์ swiss albinoโดยการป้อนสารผสมของ coumarinolignoid A, B และ C ในขนาด 10, 30 และ 100 mg/kg วันละครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน ผลการวิจัยพบว่าสารทดสอบขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ในการลดการแสดงออกของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเริ่มต้น ได้แก่ IL-6, TNF-αและ nitric oxide ได้ (ทดสอบโดยใช้ LPS เป็นสารกระตุ้นการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจของหนู) และสารทดสอบขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์ดีที่สุด ในการเพิ่มการแสดงออกของสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ IL-4 โดยหนูมีอัตราการตายลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบหลังได้รับสารทดสอบ 14 วัน ต่อเนื่อง แล้วจึงฉีด LPS ในขนาด 250 μg/kg แก่หนู บันทึกอัตราการตาย พบว่าสาร coumarinolignoidทำให้หนูตาย 1 ตัวจาก 6 ตัว คิดเป็น 16.66 % ส่วนหนูที่ได้รับ LPS แต่ไม่ได้รับสารสกัดพบว่าอัตราการตายเป็น 100 %

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดใบผักเสี้ยนผี ด้วย petroleum ether, chloroform, methanol และ water จากการศึกษาพบว่าสารสกัดผักเสี้ยนผีใน petroleum ether และ chloroform ไม่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่สารสกัด methanol แสดงฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl scavenging (DPPH) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 56.39 μg/ml และจับอนุมูลซูเปอร์ออกไซด์ (superoxide scavenging activity) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 919.70 μg/ml

            ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย เมื่อนำสารสกัดเมทานอลของผักเสี้ยนผีทั้งต้น ไปทดสอบในหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์ต้านการบีบตัว และขับเคลื่อนของเสียออกจากร่างกายอย่างแรง

            ฤทธิ์สมานแผล มีศึกษาฤทธิ์สมานแผล ในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ swiss albino โดยทาสารสกัดใบผักเสี้ยนผีที่สกัดด้วยเมทานอล (2.5 % w/w) และยามาตรฐาน gentamicin sulfate ในรูปแบบ hydrogel ให้หนูแต่ละกลุ่ม พบว่าสามารถเพิ่มความสามารถในการทำให้แผลติดกันได้อย่างมีนัยสำคัญ 75.30 % และ 78.74 % ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยดูผลหลังจากผ่านไป 12 วัน จากการตรวจสภาพผิวหนัง พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเซลล์เยื่อบุผิวหนัง (fibroblast) และเซลล์รากขน (hair follicle)

           ฤทธิ์แก้ไข้ ศึกษาฤทธิ์แก้ไข้ของสารสกัดทั้งต้นผักเสี้ยนผี ด้วย 90%เมทานอล โดยใช้ยีสต์กระตุ้นให้เกิดไข้ ในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ด้วยวิธีฉีดเข้าทางช่องท้อง หลังจากนั้นจึงให้สารสกัดผักเสี้ยนผีแก่หนู ผลการศึกษาโดยการวัดอุณหภมิหนูทางทวารหนัก พบว่าสารสกัดผักเสี้ยนผีขนาด 200, 300 และ 400 mg/kg สามารถลดไข้ในหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีผลลดไข้ได้เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ภายหลังจากการได้รับสารสกัด โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน paracetamol ในขนาด 150 mg/kg

            ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียพบว่า สารสกัดเอทานนอลของใบ และดอกมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย  Escherichia coli, Proteus vulgaris, Pseudomonas aeruginosa ส่วนสารเคอร์ซิทิน 3-โอ.(2”-แอซิทิล)-กลูโคไซด์ ที่สกัดจากดอกมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ขณะที่สารสกัดเมทานอลองใบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย  Helicobacter pylori

            ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและต้านการแพ้  มีศึกษาฤทธิ์ในระบบภูมิคุ้มกันของส่วนเหนือดินของผักเสี้ยนผี ในหนูถีบจักร โดยให้สารสกัดน้ำ และเอทานอล แก่หนูแต่ละกลุ่ม ในขนาดต่างๆ คือ 50, 100, 150 mg/kgโดยการฉีดเข้าช่องท้อง เป็นเวลา 7 วัน จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากผักเสี้ยนผีมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทำให้จำนวนของเม็ดเลือดขาวลดลง จำนวน lymphocyte ในม้ามลดลง ขบวนการกลืนกินเชื้อโรคแบบ phagocytic ลดลง และลดการตอบสนองของ antibody โดยสารสกัดเอทานอล ขนาด 150 mg/kg ออกฤทธิ์ดีที่สุด การทดสอบภาวะภูมิไวเกิน (ภูมิแพ้) ชนิด Delayed  hypersensitivity หรือ ภาวะภูมิไวเกินที่เกิดอาการของโรคภายหลังได้รับแอนติเจนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด สามารถลดการแพ้ได้ โดยลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูถีบจักรได้ โดยมีการบวมในกลุ่มควบคุมเท่ากับ 34±0.9% ส่วนสารสกัดเอทานอล และน้ำ มีการบวมคิดเป็น 15.±0.4%, 25.6±0.4%  ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการลดการแพ้ในภาวะภูมิไวเกินได้มากกว่ากลุ่มควบคุม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักเสี้ยนผี

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ผักเสี้ยนผี เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ผักเสี้ยนผี เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ผักเสี้ยนผี
  1. ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสียของผักเสี้ยนผี, กล้วยน้ำว้า. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหิดล.
  2. กัญจน์นิกา  เกิดแก้ว, ฑิฆัมพร พันหุ่น, อรรณรัตน์ สันฐิติกวินสกุล. การตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ. ปริมาณฟีนอสิกรวม และปริมาณฟลาโวนอยด์รวมของสารสกัดจากส่วนลำต้นเหนือดินของผักเสี้ยนผี. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการต่อชาติ ครั้งที่ 10 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม 29-30 มีนามา 2561
  3. ผักเสี้ยนผี . ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=175
  4. Devi BP, Boominathan R, Mandal SC. Evaluation of antipyretic potential of Cleome viscosa L. (Capparidaceae) extract in rats. J Ethnopharmacology. 2003;87:11-13.
  5. Srivastava, S.K., J.S. Chauhan and S.D. Srivastava. 1979. A new naringenin glycoside from Cleome viscosa. Phytochemistry 18: 2057-2058
  6. Chayamarit, K. (1991). Capparaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 262-266.
  7. Chauhan, J.S., S.K. Srivastava and S.D. Srivastava. 1979. Kaempferide-3-glucuronide from the roots of Cleome viscosa. Phytochemistry 18:691.
  8. Upadhyay A, Chattopadhyay P, Goyary D, Mazumder PM, Veer V. In vitro fibroblast growth stimulatory and in vivo wound healing activity of Cleome viscosa. Orient Pharm Exp Med. 2014;14: 269-278.
  9. Jente, R., J. Jakupovic and G.A. Olatunji.1990. A cembranoid diterpene from Cleome viscosa. Phytochemistry29:666-667.
  10. Bawankule DU, Chattopadhyay SK, Pal A, Saxena K, Yadav S, Faridi U, et al. Modulation of inflammatory mediators by coumarinolignoids from Cleome viscosa in female swiss albino mice. Inflammopharmacology. 2008;16:1-6.
  11. Zhang, M. and G.C. Tucker. (2008). Cleomaceae. In Flora of China Vol. 7: 429-432.
  12. Chattopadhyay, S.K., A. Chatterjee, S. Tandon, P.R. Maulik and R. Kant. 2011. Isolation of optically active nevirapine, a dipyridodiazepinone metabolite from the seeds of Cleome viscosa. Tetrahedron 67:452-454
  13. Tiwari U, Rastogi B, Thakur S, Jain S, Jain NK, Saraf DK. Studies on the immunomodulatory effects of Cleome viscosa. IndianJ Pharm Sci. 2004;66(2): 171-176.
  14. Burke, B.A., W.R. Chan and V.A. Honkan.1980. The structure of cleomeolide, an unusual bicyclic diterpene form Cleome viscosa L. (Capparaceae). Tetrahedron36: 3489-3493.
  15. Chatterjee, A., S.K. Chattopadhyay, S. Tandon, R. Kaur, A.K. Gupta, P.R. Maulik and R. Kant. 2013. Isolation of a unique dipyridodiazepinone metabolite nevirapine during large scale extraction of Cliv-92 from the seeds of Cleome viscosa. Industrial Crops and Products 45: 395-400
  16. Phan, N.M., T.P. Nguyen, T.D. Le, T.C. Mai, M.T. Phong and D.T. Mai. 2016. Two new flavonol glycosides from the leaves of Cleome viscosaL. Phytochemistry Letters 18:10-13.