กรุงเขมา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กรุงเขมา งานวิจัยและสรรพคุณ 41 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร กรุงเขมา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือหมาน้อย, หมาน้อย (ภาคอีสาน), ก้นปิด (ภาคใต้), ขงเขมา, พระพาย, วุ้นหมอน้อย (ภาคกลาง), เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน), สีฟัน (เพชรบุรี), หมอน้อย (อุบลราชธานี), อะกามินเยาะ (ยะลา, นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissampelos poilanei Gagnep.
ชื่อสามัญ Pareira barva, Icevine
วงศ์ MENISPERMACEAE

ถิ่นกำเนิดกรุงเขมา

กรุงเขมาเป็นพรรณพืชที่มี ถิ่นกำเนิดในอเมริกาต่อมาได้มีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อน หรือ ร้อนชื้นต่างๆ ของโลก โดยเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนโดยเฉพาะในแถบเขตร้อนของเอเชีย เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, อินเดีย, ศรีลังกา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากในภาคอีสาน เนื่องจากมีสภาพดินที่เหมาะสมกับพืชชนิดนี้ ทั้งนี้กรุงเขมา มักจะพบได้ตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ตามริมลำห้วย ลำธาร ที่มีความสูงในระดับน้ำทะเล จนถึง 1,100 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกรุงเขมา

  • แก้ร้อนใน
  • แก้โรคตับ
  • แก้ไข้
  • แก้ดีซ่าน
  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง (เพศชาย)
  • แก้ลม
  • แก้กำเดาไหล
  • แก้โรคตา
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้โรคบิด
  • ช่วยระบายนิ่ว
  • แก้ปัสสาวะอักเสบ
  • แก้ไอเจ็บหน้าอก
  • ใช้เป็นยาขับเหงื่อ
  • ใช้เป็นยาขับระดู
  • ใช่เป็นยาบำรุง
  • ใช่เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย
  • ใช้เป็นยาสมาน
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้หิด
  • แก้โรคกระเพาะอาหาร 
  • ช่วยรักษาฝี (ใช้พอกแผล)
  • แก้แผลมะเร็ง
  • ใช้ดับพิษไข้ทุกชนิด
  • ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
  • แก้ตาอักเสบ
  • แก้โรคปอด
  • แก้โรคโลหิตจาง 
  • ใช้ลดน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้บวม
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ระดูพิการในสตรี
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้สิว
  • บำรุงผิว
  • ช่วยลดผดผื่นคัน

           มีการใช้ประโยชน์ต่างๆ จากกรุงเขมา เช่น มีการนำใบกรุงเขมามาบริโภคเป็นอาหารว่างที่ชื่อว่า วุ้นหมาน้อย โดยการเลือกใบกรุงเขมาที่มีสีเขียวเข้มโตเต็มที่แล้ว ประมาณ 10-20 ใบ นำมาล่างให้สะอาดแล้วขยี้กับน้ำสะอาด ประมาณ 1 ถ้วย เมื่อขยี้ไปจนได้น้ำสีเขียวเข้ม แล้วให้แยกเอากากออกโดยการกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำไว้ จากนั้นนำน้ำที่ได้ปรุงรสตามชอบหากต้องการรับประทานเป็นของคาวก็ใส่เครื่องปรุงต่างๆ ลงไป หรือ หากต้องการรับประทานเป็นของหวานก็เติมน้ำตาล ปรุงรสตามใจชอบ จากนั้นตั้งทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที น้ำคั้นที่ปรุงเสร็จจะจับตัวเป็นก้อน แล้วค่อยนำมารับประทาน สำหรับในค้านความสวยงานก็มีการนำใบกรุงเขมามาล้างน้ำแล้ว ขยี้ใบให้เป็นวุ้นๆ นำมาพอกหน้า เพื่อบำรุงผิว, แก้สิว, ลดผดผื่นคันบนใบหน้า


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยการใช้รากนำมาตากให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน 
  • ใช้แก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนสตรี โดยการใช้รากแห้งนำมาฝนผสมกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ แก้ลม แก้โลหิตกำเดา ใช้ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับระดู ถ่ายน้ำเหลือง แก้บิด แก้นิ่ว แก้โรคตา โดยใช้รากกรุงเขมา แห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น หิด แผล ฝีหนอง แผลมะเร็ง โดยใช้ใบสดมาขยำ หรือ ตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น โดยเปลี่ยนยาทุกวันจนแผลหายดี


ลักษณะทั่วไปของกรุงเขมา

กรุงเขมา จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเถาจะเลื้อยไปตามกิ่งไม้ต่างๆ มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ แต่จะมีรากสะสมอาหารใต้ดิน รากมีลักษณะอวบใหญ่ และจะมีขนาดใหญ่กว่าเถารากจะมีหน้าที่เก็บสะสมอาหารใต้ดิน และมีรากฝอยกระจายขึ้นมาอยู่ทั่วทั้งราก ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกแบบ สลับ มีหลายรูปทรง ได้แก่ รูปหัวใจ รูปกลม หรือ รูปไต กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบมน หรือ เรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือ เป็นรูปหัวใจตื้นๆ ขอบใบเรียบ เนื้อใบบาง ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ ท้องใบ และขอบใบ แต่เมื่อใบแก่ขนจะร่วง เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 2-8 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น ติดที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมา 1-18 มิลลิเมตร ปลายใบแหลม หรือ อาจเป็นติ่งหนาม ดอกเป็นดอกขนาดเล็กออกเป็นช่อกระจุกสีขาว ดอกแบนแยกเพศ จะอยู่ต่างต้นกัน ขนาดประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร เรียงแบบช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อกระจุกมีก้านช่อดอกยาว 2-5 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น อาจจะออกกระจุกเดี่ยวๆ หรือ 2-3 กระจุก ในหนึ่งช่อ ช่อดอกเพศผู้ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ใบประดับรูปกลม และขยายใหญ่ขึ้นดอกเพศผู้ สีเขียว หรือ สีเหลือง มีก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาว กลีบจะดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีความยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาว 0.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับเป็นรูปกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นสามารถยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร และอาจมีขนประปราย หรือ ขนยาวนุ่ม ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 1 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.75 มิลลิเมตร โคนสอบแคบ เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง โดยยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็น 3 พู ผลจะเป็นแบบสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร โดยผลจะจะมีเมล็ดหนาทรงกลมรีตรงปลาย เมื่ออ่อนอยู่มีสีส้ม และเมื่อสุกสีน้ำตาลแดง ผนังผลชั้นในรูปไข่กลับ ยาว 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวาง 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ส่วนเมล็ดมีลักษณะโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีผิวขรุขระ
กรุงเขมา

การขยายพันธุ์กรุงเขมา

กรุงเขมา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวีการใช้เมล็ดและการใช้เหง้า สำหรับวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด หรือ การแยกเหง้าของพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สำหรับการปลูกกรุงเขมา นั้นจะต้องทำค้างให้เถาได้เลื้อยพันขึ้นด้วย ส่วนสภาพดินที่เหมาะแก่การปลูกกรุงเขมา คือ ดินร่วนปนทรายที่มีความชุ่มชื้นพอสมควรแต่มีข้อควรระวัง คือ ต้นกรุงเขมา จะเป็นพืชที่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีเพราะในปุ๋ยเคมีมีความเข้มข้นของธาตุอาหารสูง ทำให้ต้นตายได้ รวมถึงจะต้องระวังศัตรูพืชที่สำคัญ คือ หนอนกระทู้ และหอยทากอีกด้วย

กรุงเขมา

องค์ประกอบทางเคมีกรุงเขมา

จากการศึกษาวิจัยพบว่า รากของกรุงเขมา มีสารกลุ่ม แอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, hayatidine, sepurine, beburine, cissamine, cissampeline, cissampareine, pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol และ L-beheerine เป็นต้น  

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกรุงเขมา

โครงสร้างกรุงเขมา 

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของใบกรุงเขมา พบว่าใบกรุงเขมา 100 กรัม จะมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของใบกรุงเขมา (100 กรัม)

-          พลังงาน                                    95                                กิโลแคลอรี

-          โปรตีน                                      8.5                               กรัม

-          ไขมัน                                        0.7                               กรัม

-          คาร์โบไฮเดรต                           13.6                             กรัม

-          เบต้าแคโรทีน                          6.577                           ไมโครกรัม

-          วิตามินเอ                                  1.096                           RE

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมา

ฤทธิ์คุมกำเนิดของใบกรุงเขมา เมื่อป้อนสารสกัดเมทานอลจากใบกรุงเขมาใน ขนาด 250 และ 450 มก./วัน/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ให้แก่หนูถีบจักรเพศเมีย เป็นเวลา 21 วัน พบว่ามีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยจะยืดระยะเวลาของวัฏจักรเป็นสัด (estrous cycle) ในขั้น diestrus ออกไป และทำให้จำนวนลูกหนูที่เกิดในครอกลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ลูกหนูก็ยังจะมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีผลทำให้แท้ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวอ่อน นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเป็นสัด โดยจะลดระดับของ luteinizing hormone (LH), follicle-stimulating hormone (FSH) และ estradiol โดยจะเพิ่มระดับของ prolactin แต่จะไม่มีผลต่อ progesterone และยังมีการศึกษาทดลองในอินเดีย ในปี ค.ศ.1979 โดยใช้สารสกัดจากส่วนเหนือดิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ของกรุงเขมา ที่สกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ (1:1) ในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมาอีกมากในต่างประเทศ ซึ่งมีผลการศึกษาออกมาว่ากรุงเขมามีฤทธิ์ต้านฮีตามีนทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต้านการชักมีฤทธิ์เพิ่มน้ำลาย กดระบบประสาทส่วนกลาง กดระบบทางเดินหายใจ ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย คลายกล้ามเนื้อเรียบ ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของกรุงเขมา

มีการศึกษาความเป็นพิษของกรุงเขมาพบว่าเมื่อทำการฉีดสารสกัดใบ และกิ่งด้วยน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เข้าช่องท้องหนูถีบจักร จะมีขนาดต่ำที่สุดที่เป็นพิษ คือ 1 มล.ต่อตัว แต่เมื่อฉีดสารสกัดอัลคาลอยด์เข้าหลอดเลือดหนูถีบจักร ปรากฏว่าขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้ คือ 50 มิลลิกรัมต่อกรัม สำหรับในกระต่ายเมื่อทดลองฉีดสารสกัดรากด้วยอัลกอฮอล์-น้ำ (1:1) เข้าช่องท้อง หรือ ใต้ผิวหนัง พบว่า ขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษแต่อย่างใด ส่วนอีกการทดลองหนึ่งระบุว่ามีการทดสอบความเป็นพิษของกรุงเขมา (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) พบว่า สารสกัดที่นำไปทดลอง มีค่า LD50=7.3 กรัม/กิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรกรุงเขมา เพราะมีฤทธิ์ขับระดู
  2. ในการใช้กรุงเขมาเพื่อเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมตามที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนใช้สมุนไพรกรุงเขมา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง กรุงเขมา
  1. ก่องกานดา ชยามฤต และลีนา ผู้พัฒนพงศ์, 2545.สมุนไพรไทย ตอนที่ 7. โรงพิมพ์ประชาชน จำกัด.กรุงเทพฯ.258 น.
  2. ร.ร.แพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ.2537. ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคที่ 1) ว่าด้วย พฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด บริษัท บพิธการพิมพ์.จำกัด.กรุงเทพฯ 222 น.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กรุงเขมา ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 46.
  4. กองโภชนาการ กรมอนามัย 2544. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการในอาหารไทย. โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. กรุงเทพฯ.
  5. กัญจนา ดิวิเศษ และอร่าม คุ้มกลาง 2542 ผักพื้นบ้านภาคอีสาน โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ 302 น.
  6. ฤทธิ์คุมกำเนิดของใบกรุงเขมา, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ขวลิต และวิเชียร จีรวงศ์. 2548. คำอธิบายตำราพระโยสถนารายณ์. สำนักพิมพ์อมรินทร์. กรุงเทพฯ. 777 น.
  8. ญาธิปวีร์ ปักแก้ว. หมาน้อยเพคตินจากธรรมชาติ ประโยชน์เลอค่า....พืชป่าสมุนไพรพื้นบ้าน.คอลัมน์อาหาร และสุขภาพวารสารอาหาร สถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ปีที่ 46 ฉบับที่ 1. มกราคม-มีนาคม 2559. หน้า 15-20
  9. ตรีชฏา อุทัยดา.2552. การพัฒนาวุ้นผงเครือหมาน้อยเพื่อสุขภาพ. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์. มหาสารคาม.
  10. เครื่องหมาน้อย, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=146
  11. ต้นหมาน้อย. กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.modplant.mahidol.ac.th/user/replt.asp?id=6481