ลำดวน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลำดวน งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลำดวน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หอมนวล (ภาคเหนือ), ลำดวน (ทั่วไป, อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour.
ชื่อสามัญ White cheesewood
วงศ์  ANNONACEAE
 

ถิ่นกำเนิดลำดวน 

ลำดวนเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน ไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา แล้วได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่บริเวณคาบสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ปัจจุบันสามารถพบได้ในประเทศที่กล่าวมานี้ สำหรับในประเทศไทย ลำดวน ถือว่าเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ และสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งในธรรมชาติสามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะภาคอีสาน (ในจังหวัดศรีสะเกษพบได้มากที่สุด และยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอีกด้วย) นอกจากนี้ยังนิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้านเรือนเพื่อให้ความสวยงาม และความหอม เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณลำดวน

  • แก้อ่อนเพลีย
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้ไอ
  • แก้ไข้
  • แก้กระหายน้ำ 
  • แก้ลม 
  • ช่วยชูกำลัง
  • แก้พิษโลหิต

           คนไทยในสมัยก่อนนิยมนำดอกลำดวน มาใช้บูชาพระ และใช้ปักแซมผมเพราะมีความสวยงาม อีกทั้งยังให้ความหอม ส่วนผลสุกของลำดวนยังสามารถนำมากินเล่นได้ซึ่งจะมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งสามารถนำมาทำเป็น เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านเรือนได้ นอกจากนี้ดอกลำดวนยังถูกนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์และอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์อีกด้วย

รูปแบบและวิธีการใช้ 

ใช้แก้ไข้ แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง โดยใช้ดอกแห้ง ชงเป็นชาดื่ม หรือ นำไปต้มกับน้ำดื่มก็ได้ หรือ จะนำดอกแห้งบดให้เป็นผงน้ำไปผสมกับยาผสมกับยาหอมรับประทานก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ลำดวน ยังเป็นส่วนผสมในพิกัดเกสรทั้ง 9 ที่สามารถนำไปใช้ผสมในตำรับตำรายาต่างๆ ตามที่ได้ระบุในตำรับนั้นๆ อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของลำดวน

ลำดวน จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มขนาดย่อมสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นตรง ผิวเปลือกเมื่อต้นยังอ่อนเรียบ แต่เมื่อต้นแก่จะแตกขรุขระเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลอมดำ กิ่งอ่อนสีเขียวเป็นรูปกรวยค่อนข้างทึบ ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปยาวรี หรือ รูปของขนาน กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมันท้องใบสีอ่อนกว่า ส่วนในอ่อน หรือ ยอดจะเป็นสีแดงอมม่วง โดนใบ และปลายใบจะเรียงแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นดอกเดียวมีลักษณะคล้ายดอกนมแมว โดยจะออกตามซอกใบ และบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกมี 6 กลีบ สีเหลืองนวล กลีบมีลักษณะหนา เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่าชั้นใน และแผ่แยกมากกว่ากลีบชั้นใน ส่วนกลีบชั้นในส่วนกลีบชั้นในอยู่ติดกัน และปลายหุ้มเข้าหากัน มีเกสรตัวผู้ และตัวเมียอยู่กลางดอก โดยดอกมีกลิ่นหอม และความหอมจะมีมากตั้งแต่ช่วงค่ำไปจนถึงตอนเช้า ผลออกเป็นผลกลุ่มมีผลย่อยประมาณ 15-20 ผล ผลอ่อนมีสีเขียวผิวเรียบ เมื่อสุกจะมีสีแดงอมดำ หรือ น้ำเงินอมดำ โดยที่ผลสุกสามารถกินได้ และจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาด 5-10 มิลลิเมตร และภายในจะมี 1 ผล เมล็ด 1-2 เมล็ด

ลำดวน 

การขยายพันธุ์ลำดวน

ลำดวน สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง ส่วนวิธีการนั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการ เพาะเมล็ดและตอนกิ่งพืชยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ต้นนมแมว กระดังงา บุนนาค ฯลฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ลำดวนเป็นพืชที่ของแสงแดด โดยจัดเป็นไม้กลางแจ้งขึ้นได้ในดินทุกประเภท แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้ที่ชอบความชื้น

ลำดวน

องค์ประกอบทางเคมีลำดวน

จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของดอกแห้งของลำดวน พบสารประเภท น้ํามันหอมระเหย ได้แก่ 6 phenyl butanone, linalool, benzyl alcohol, a-cadinol, globulol, viridiflorol

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของลำดวน

โครงสร้างลำดวน 

ที่มา :  Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลำดวน

สรรพคุณของลำดวน สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของลำดวน นั้นส่วนมากเป็นการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และมีน้อยมาก แต่มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของลำดวนของลำดวนระบุว่า มีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยสาร oxidized heptanes จากดอกลำดวน สามารถยับยั้ง เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าลำดวนยังมี ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของลำดวน

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้สำรวจมาเป็นสมุนไพรนั้นถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่ามีความเป็นพิษแต่ต้องควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยต้องใช้ในประมาณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ รวมถึงต้องใช้แต่พอดีไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้เด็กสตรีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ลำดวน มาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง ลำดวน
  1. มูลนิธิสวนหลวง ร.9. 2547. ไม้นามตามถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 
  2. กนกพร  อะทะวงษา, พิชานันท์ ลีแก้ว, ดอกไม้ในยาไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. เดชา  ศิริภัทร. ลำดวน. สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 311 มีนาคม. 2548
  4. คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ลำดวน (Lamduan)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 269.
  6. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2544. พรรณไม้วงศ์กระดังงา. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน. กรุงเทพมหานคร.
  7. ลำดวน . ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=119