หญ้าคา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าคา งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าคา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าหลวง, คา, แผกคา (ทั่วไป), สาแล, ลาลาง (ปัตตานี, ยะลา), เก้อฮี (กะเหรี่ยง), ไป่เหมาเกิน, เตียมเซาถึง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Imperata cylindrica (Linn.) Beauv.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Imperata cylindrica (Linn.) Rarusch, Imperata cylindrica Beauv. Var major (Neec) C.E.Hubb.
ชื่อสามัญ Cogon grass,blady grass ,Thatch Grass.
วงศ์ Gramineae

ถิ่นกำเนิดหญ้าคา 

หญ้าคาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณแนวชายฝังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วได้แพร่กระจายพันธ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันพบว่าหญ้าคา ได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทุกทวีปที่มีภาวะอากาศแบบร้อนชื้น และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่เพาะปลูกเป็นอย่างมาก สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่รกร้าง ตามภูเขาหินปูน และตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง รวมถึงตามริมทางทั่วๆไป

ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าคา

  • ใช้ห้ามเลือด
  • แก้ปวด
  • แก้ไอ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยรักษาบาดแผลจากของมีคม
  • ใช้ห้ามเลือดกำเดาออก
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • แก้อุจจาระเป็นเลือด
  • แก้แผลบวมอักเสบ
  • แก้ฝีหนอง
  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • แก้ไข้
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้ความดันเลือดสูง
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้ดีซ่าน
  • ช่วยบำรุงไต
  • แก้อ่อนเพลีย
  • แก้เบื่ออาหาร
  • แก้ประจำเดือนมามากเกินไป
  • แก้ลมพิษ
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้ปวดเมื่อยหลังคลอด
  • ทำให้เลือดเย็น
  • ใช้รักษาอาการเลือดออกจากภาวะเลือดร้อน
  • มีฤทธิ์ระบายความร้อน
  • ใช้เป็นยารม
  • แก้ริดสีดองทวาร

           สำหรับประโยชน์ของหญ้าคา มีการนำหญ้าคามาใช้ประโยชน์ คือ นำลำต้นและใบมามัดรวมกันหรือนำมาทำเป็นไพ ใช้สำหรับมุงเป็นหลังคาบ้าน หลังคากระท่อม ส่วนหญ้าคาถ่าน ที่ได้จากการนำไปฟัดให้ผิวนอกกรอบผิวในเป็นสีเหลือง

หญ้าคา 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้รากแห้ง ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำใส่น้ำ 250 มล. แล้วต้มให้เหลือ 50 มล. กินตอนอุ่น หรือ เย็นวันละ 3 ครั้ง
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้รากแห้ง ประมาณ 30 กรัม ต้มน้ำกิน หรือ จะใช้ผสมรากบัว 15 กรัม ต้มน้ำกินก็ได้
  • แก้ปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ ใช้รากหญ้าคา สด 500 กรัม หั่นให้เป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วย ต้มให้เดือด จนรากจมน้ำรินกินตอนอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย กลางวัน 5-6 ครั้ง กลางคืนอีก 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้รากสด 1 กำมือ ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือ  15 มิลลิลิตร รินกินตอนอุ่นๆ หรือ อาจจะใช้รากแห้งกับ เมล็ดผักกาด น้ำ อย่างละ 30 กรัม และน้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มร่วมกันแล้วรินน้ำกิน
  • แก้ปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ใช้รากสด 250 กรัม ใส่น้ำ 2 ลิตร แล้วต้มต่อไปให้เหลือ 1.2 ลิตร ใส่น้ำตาลนิดหน่อยแล้วรินเอาน้ำแบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือ ใช้รากแห้งชงกินแทนชาติดต่อกัน 5-15 วัน
  • แก้ออกหัด ร้อนในกระหายน้ำ โดยรากแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มบ่อยๆ
  • แก้เลือดกำเดาออกใช้ดอกแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำกินหลังอาหาร หรือ ใช้ดอกแก่ 15 กรัม ต้มน้ำกินแทนก็ได้ หรือ ใช้รากแห้งบดเป็นผง 2.6 กรัม ผสมน้ำซาวข้าวกินก็ได้เช่นกัน และสำหรับขณะที่เลือดกำเดาออก ให้ใช้ช่อดอกแห้ง หรือ ขนตำอุดรูจมูกไว้เพื่อห้ามเลือด
  • แก้หอบให้ใช้รากสด กับเปลือกต้นหม่อน อย่างละเท่าๆ กัน (ประมาณ 1 กำมือ) ใส่น้ำ 2 ชาม ต้มจนให้เหลือน้ำ 1 ชามรินออก กินเช้า-เย็น
  • แก้ไตอักเสบ โดยใช้รากแห้งกับดอกเจ๊กกี่อึ้ง อย่างละ 30 กรัม เปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม เหล้าขาว 3 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2 ครั้ง หรือ ใช้รากสด 60-120 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2-3 ครั้ง ก็ได้
  • แก้ดีซ่าน จากพิษสุรา ใช้รากสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม กิน
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อักเสบในทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน แก้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ส่วนการใช้ในสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนจีนตามที่ได้กล่าวมาให้ใช้ รากหญ้าคา 9-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม โดยใช้ราก 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม หรือ แห้ง 10-15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)


ลักษณะทั่วไปของหญ้าคา
 

หญ้าคา จัดเป็นพวกพืชจำพวกหญ้าที่เป็นพืชล้มลุกที่มีใบสั้นเดี่ยว มีเหง้าใต้ดินเป็นเส้นกลม สีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ โดยจะแตกกิ่งก้านสาขา และงอกขึ้นเป็นกอใหม่ มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ใบออกเป็นเดี่ยวแทงออกจากเหง้าใต้ดินรูปแถบยาว มีลักษณะแบนเรียวยาว ปลายแหลม โคนสอบเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 0.5-1 ม. ขอบใบคม ผิวใบมีขนสั้นอยู่จำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อแทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน เป็นรูปทรงกระบอก ยาว 10-20 ซม. มีดอกย่อยคล้ายขนนกเวียนเกาะ อยู่ตลอดปลายช่อ เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว ผล เป็นผลแห้งสีดำรูปกลมรี ส่วนเมล็ดเป็นรูปกลมเล็กๆ มีสีเหลือง โดยใน 1 ต้น อาจสร้างเมล็ดมากถึง 2000 เมล็ดเลยทีเดียว

การขยายพันธุ์หญ้าคา

หญ้าคาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการแยกเหง้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาปลูก เพราะในประเทศไทยจัดให้หญ้าคาเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่เพาะปลูกอย่างมาก สำหรับการขยายพันธุ์ทางธรรมชาตินั้นเกิดจากการที่เมล็ดแก่ถูกลมพัดพาไปตกยังบริเวณต่างๆ จึงทำให้หญ้าคางอกขึ้นมา นอกจากนี้เหง้าใต้ดินยังสามารถงอกขยายไปเป็นต้นใหม่ได้อีกด้วย จึงทำให้หญ้าคา เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่ชอบแดด ทนแล้งได้เป็นอย่างดี แม้การเผาก็ยังไม่ทำให้เหง้าใต้ดินตายได้

องค์ประกอบทางเคมีหญ้าคา

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีในส่วนต่างๆ ของหญ้าคา พบว่ามีสารกลุ่ม ฟินอลิก, โครโมน, ไตรเทอร์ปินอยด์, เซลควิสปินอยด์ และ โพลีแซคคาไรด์ เช่น Arundoin, Cyindol A, Imperanene, Cylindrin, Graminone B, Cylindrene เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหญ้าคา

     โครงสร้างหญ้าคา

ที่มา : pubchem.ncbi.nlm

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าคา

ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาท มีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารสกัดเมทานอลจากรากหญ้าคา ได้แก่ สาร 5-hydroxy-2-(2-phenylethyl) chromone, 5-hydroxy-2-[2-(2-hydroxyphenyl) ethyl] chromone, flidersiachromone และ hydroxy-2-styrylchromone ที่ความเข้มข้น 10 mM (ไมโครโมล) เมื่อนำไปทดสอบกับเซลล์เยื่อหุ้มเซลล์ประสาทของหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยสาร glutamate พบว่าสาร 5-hydroxy-2(2-phenylethy) chromone และ 5-hydroxy-2-[2-(2-hyroxyphenyl) ethyl] chromone สามารถป้องกันการเกิดพิษต่อเซลล์เยื่อหุ้มเซลล์ประสาทได้

           ฤทธิ์ขับปัสสาวะ มีการศึกษาวิจัยโดยให้กระต่ายทดลองกิน น้ำต้มจากรากโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ให้กิน 5-10 วัน มีการขับปัสสาวะได้ดี ส่วนกลุ่มที่ให้กินติดต่อกัน 20 วัน ไม่เห็นผลเด่นชัดนัก แต่ในการทดลองมิได้ควบคุมการให้น้ำ จึงนำมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่ได้ ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่าในรากหญ้าคามีโพแทสเซียมมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับทั้งในและต่างประเทศ เช่นฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และลดความดันโลหิต สาร graminone B และสาร cylindrene ที่พบในรากหญ้าคามี ฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด สามารถยับยั้งการหดรั้งของหลอดเลือดแดงในกระต่ายได้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิตได้

           ฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด พบว่าสารประกอบฟินอลิกที่มีชื่อว่า อิมพิรานิน (imperanene) ที่พบในรากหญ้าคา สามารถยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือดได้ และยังมีข้อมูลการวิจัยพบว่าสารสกัดด้วยน้ำจากเหง้าแห้ง รวมถึงสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าสด และเหง้าแห้ง แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 protease โดยสารสกัดที่แสดงฤทธิ์มากที่สุด คือ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าสด สามารถยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้ร้อยละ 98 ที่ความเข้มขันของตัวอย่าง 66.67 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และสารสกัดน้ำร้อนจากเหง้าสามารถลดอาการของแผลในกระเพาะอาหาร และสามารถยับยั้งการหลั่งฮีสตามินในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นด้วย สาร 48/80 และไม่พบฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์แต่อย่างใด

การศึกษาทางพิษวิทยาของโพแทสเซียม

มีการศึกษาความเป็นพิษโดยให้สารสกัดน้ำจากรากหญ้าคาป้อนทางปากหนูขาว โดยแบ่งเป็นตัวผู้ และตัวเมียอย่างละ 5 ตัว ในปริมาณ 5000 มก. /น้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบพิษ และเมื่อป้อนทางปากหนูขาวในปริมาณ 300, 600 และ 900 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เป็นระยะเวลา 90 วัน ก็ไม่พบความเป็นพิษเช่นกัน ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งระบุว่า เมื่อป้อนน้ำต้มจากหญ้าคา ให้กระต่ายในขนาด 25 กรัม/น้ำหนักตัว กิโลกรัม ต่อมา 16 ชั่วโมง หลังจากการป้อนสารสกัดพบว่ากระต่ายเคลื่อนไหวช้าลง หายใจเร็วขึ้น แต่จะคืนสู่ปกติในเวลาไม่นานนัก และเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 10-15 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การหายใจจะเร็วขึ้น การเคลื่อนไหวช้าลง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะกลับสู่ปกติ แต่ถ้าฉีดในขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าหลังจากฉีด 6 ชั่วโมง สามารถทำให้กระต่ายตาย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเกร็ดเลือด และผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือดไม่ควรใช้หญ้าคาเป็นสมุนไพร เพราะมีการศึกษาวิจับพบว่าสาร Imperanene ที่พบในหญ้าคามีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ซึ่งอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยาได้
  2. ในการใช้หญ้าคา เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้หญ้าคาเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง หญ้าคา
  1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
  2. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. หญ้าคา. คอลัมน์ อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 18. ตุลาคม. 2523
  3. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต.ธีรวัฒน์ บุญทวีคูน (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544) สำนักงานวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร บริษัท ประชาชน จำกัด 2544
  4. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศ เมืองไทย. กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2493
  5. กรมพัฒณาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2551) หญ้าคา ในคู่มือการใช้สมุนไพร ไทย-จีน (เย็นจิตร เดชะดำรงสิน, บรรณาธิการ) หน้า 182-184 กรุงเทพ สำนักงานกิจกรรมโรงพิม องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
  6. พนิดา กาญจนภี.การศึกษาทางด้านเคมีและเภสัชวิทยา ของ Rhizomes ของหญ้าคา (Empcrata Cylindrica Beauv). วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 8. ฉบับที่ 4 ตุลาคม 2509. หน้า 184-192
  7. ดรุณ เพ็ชรพลาย และคณะ สมุนไพรพื้นบ้าน (ฉบับรวม) สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด รุ่งเรืองสาสน์การพิมพ์ 2541.
  8. ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสารทจากสารสกัดจากหญ้าคา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. เย็นจิตร เดชะดำรงสิน บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ สะน วงษ์ขีรี จารีย์ บันสิทธิ์ และประถม ทองศรีรักษ์ หญ้าคา ใน ปราณี ชวลิตธำรง (บรรณาธิการ) รายงานการศึกษาวิจัยโครงการสมุนไพรด้านเอดส์ กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2546