มะลิ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะลิ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะลิ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะลิลา, มะลิซ้อน (ทั่วไป), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), ข้าวแตก (ไทยใหญ่), บังหลีฮวย, เชียวหน้ำเคี้ยง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum Sambac (L.) Aiton. 
ชื่อสามัญ Arabian jasmine, Jusmine, Grand Duke of Tuscany, Angel–hair jusmine, Angelnaing  jusmine, Star jusmine.
วงศ์ OLEACEAE

ถิ่นกำเนิดมะลิ

มะลิ มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้น หรือ กึ่งร้อนชื้นในเอเชีย และความสมุทรอารเบีย เช่น อินเดีย, ไทย, มาเลเซีย, พม่า, คูเวต, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ ทั้งในยุโรป เอเชีย อาฟริกา และแถบแปซิฟิค โดยพืชในสกุลนี้มีประมาณ 200 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 45 ชนิด และสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ สำหรับมะลิที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด ซึ่งมะลิ ที่พบเห็นกันมากในไทยได้แก่ มะลิลา มะลิลาซ้อน มะลิถอด มะลิพิกุล หรือ มะลิฉัตร มะลิทะเล มะลิทะเล มะลิเลื้อย มะลิวัลย์ พุทธชาด ปันหยี เครือไส้ไก่ อ้อยแสนสวย และมะลิเขี้ยวงู  เป็นต้น ทั้งนี้แหล่งปลูกมะลิที่สำคัญของไทย ได้แก่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี  พิษณุโลก ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น และ หนองคาย

ประโยชน์และสรรพคุณมะลิ

  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • ช่วยดับพิษร้อน
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • ช่วยทำจิตใจให้ชุ่มชื่น
  • ช่วยบำรุงครรภ์รักษา
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยกระหายน้ำ
  • แก้เจ็บตา
  • ช่วยสมานท้อง
  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้แผลเรื้อรัง
  • ช่วยแก้ผิวหนังเป็นผื่นคัน
  • แก้ซาง (ตำใส่พิมเสน)
  • แก้ตัวร้อน (ตำใส่พิมเสน)
  • แก้หวัด (ตำใส่พิมเสน)
  • แก้อ่อนเพลีย
  • ช่วยชูกำลัง
  • แก้อึดแน่น
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้เยื้อตาอักเสบ (ต้มน้ำใช้ล้างตา)
  • แก้ปวดหู
  • แก้ปวดเอ็นขัดยอก
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • แก้ปวดหัว
  • แก้ลมวิงเวียน
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ(กลิ่น)
  • ช่วยลดความเครียด(กลิ่น)
  • ช่วยลดความกลัว(กลิ่น) 
  • แก้นอนไม่หลับ

           มะลิเป็นพันธุ์ไม้ที่มีประวัติผูกพันธุ์กับวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนานแล้ว โดยมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ใช่ดอกมะลิ ให้เป็นดอกไม้ของวันแม่แห่งชาติ เพราะมีกลิ่นหอม และยังมีสีขาวบริสุทธิ์ ใช่ทำเป็นพวงมาลัยไหว้พระ รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย และใช้แต่งกลิ่นใบชา, ใช้อบขนมต่างๆ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือ การบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิ ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ง่วง ช่วยปรับอารมณ์ และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น หรือ จะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปที่ให้นั้นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี และเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกได้ง่าย เมื่อดื่มน้ำลอยดอกมะลิให้ความรู้สึกสดชื่นอีกด้วย ในปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น King of essential oils (ส่วนกุหลาบเป็น Queen of essential oils) จัดว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพงที่สุด นำมาใช้แต่งกลิ่นน้ำหอม เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางต่างๆ ใช้ในธุรกิจสปา และใช้เพื่อสุคนธบำบัด 

มะลิ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อ่อนเพลีย ใช้ดอกแห้ง 1.5-3 กรัม ต้มน้ำ หรือ ชงน้ำร้อนดื่ม แก้ผิวหนังผื่นคัน แผลเรื้อรัง ใช้ล้างตา แก้ตาอักเสบ แก้ปวดไข้ ต้มน้ำล้างตา บริเวณแผลผื่นคัน หรือ แช่น้ำมันพืชหยอดหู แก้ร้อนใน, เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน โดยใช้รากฝนผสมกับน้ำรับประทาน รักษาแผล ฝีพุพอง แก้ไข้ ขับน้ำนมโดยใช้ใบตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำไปลนไฟแล้วจึงใช้ทาบริเวณที่เป็นแก้อาการนอนไม่หลับ โดยใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาฝนกับน้ำรับประทาน แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด 

            นอกจากนี้ในมาเลเซีย ใช้ดอกพอกหัว แก้ปวดหัว ใบมะลิ ใช้พอกแก้ฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิดหนัง และบาดแผล ต้มน้ำกินแก้ไข ต้มกับน้ำมันพืช ใช้ทาหัว แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับตา ทำให้ตาสว่าง และใช้เป็นยาแก้วิกลจริต ใบแห้งใช้พอกแผลเรื้อรังและโรคผิวหนังอื่นๆ


ลักษณะทั่วไปของมะลิ
 

มะลิสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีปักชำ และวิธีตอนกิ่ง มะลิจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเถา สูงน้อยกว่า 2 เมตร ลำต้นเป็นเถากลมเล็กยาวแตกกิ่งก้านไปรอบๆ ด้านกิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ สีขาว 

           ใบออกเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือ รูปมนป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวแก่ ที่ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบมีขนาดใหญ่ มีประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นมากและมีขน

           ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นช่อ ช่อหนึ่งปกติมี 3 ดอก ออกจากซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีขนสั้นๆ สีขาว ก้านดอกย่อย ยาว 5-10 มม. กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียว มีขนสั้นๆ ส่วนปลายแยกเป็นเส้นปลายแหลม 8-10 เส้น ยาว 5-8 มม. กลีบดอกเป็นหลอดสีขาว ยาว 1.5-2 ซม. มีเกสรตัวผู้ 2 อัน อยู่ติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว รังไข่มี 2 ห้อง แต่ละห้องมี 2 เมล็ด ออกดอกตลอดปี

           ทั้งนี้ ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อน และดอกไม่ซ้อน ดอกซ้อนเราจะเรียกว่า "มะลิซ้อน" ส่วนดอกที่ไม่ซ้อนจะเรียกว่า "มะลิลา" โดยทั้งสองชนิดจะเป็นดอกสีขาว และมีกลิ่นหอม ซึ่งดอกมะลิ ลาจะมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิซ้อน

ดอกมะลิ

การขยายพันธุ์มะลิ

มะลิสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีปักชำและวิธีตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมขยายพันธุ์มากที่สุข คือ การปักชำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายสะดวก และรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

            ก่อนอื่นต้องเตรียมวัสดุเพาะชำ โดยใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เตรียมกิ่งพันธุ์ โดยกิ่งที่ใช้จะเป็นกิ่งที่ไม่แก่ และอ่อนเกินไป ตัดให้มีความยาวของกิ่งประมาณ 4 นิ้ว หรือ มีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ ริดใบส่วนล่างออกให้เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือเพียงครึ่งใบ เพื่อลดการคายน้ำ ถ้าต้องการเร่งรากควรนำกิ่งมะลิไปจุ่มในฮอร์โมน IBA [Indole Butyric Acid] และ NAA [Naphthalene Acetic Acid] อัตราส่วน 1:1 (ความเข้มข้นตามคำแนะนำ) นำกิ่งมะลิที่เตรียมไว้ปักชำลงในภาชนะเพาะ โดยปักเรียงเป็นแถว ให้มีระยะห่างระหว่างแถวและกิ่ง 2x2 นิ้ว แล้วรดน้ำที่ผสมกับสารกันรา และสารเคมีกำจัดแมลง

            เมื่อชำเสร็จแล้วให้ใช้พลาสติกใสปิดกระบะให้มิดชิด ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ กึ่งมะลิจะออกรากประมาณร้อยละ 90 ของมะลิทั้งหมด เมื่อมะลิออกรากแล้ว ให้สังเกตดูความสมบูรณ์ของรากก่อนที่จะย้ายลงปลูกในถุงพลาสติก การปักชำวิธีนี้จะได้จำนวนต้นครั้งละมากๆ และเปอร์เซ็นต์การออกรากสูง แต่มีข้อควรระวัง คือ การปักชำในกระบะซ้ำๆ กันหลายครั้งอาจเกิดโรคราขึ้นได้ ดังนั้นควรใช้สารเคมีป้องกันเชื้อราราด หรือ ฉีดพ่นลงในกระบะขณะปักชำด้วย หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้วให้นำไปเลี้ยงต่อในถุงขนาด 2x3 นิ้ว โดยใส่ดิน ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดีแล้ว จึงนำไปปลูกต่อไป

            สำหรับสรรพคุณทางยาของมะลิ นั้นตามตำรายาไทยระบุไว้ว่า การปลูกมะลิควรปลูกในฤดูฝน สำหรับในสภาพพื้นที่ดอน เตรียมไถดะ และตากดินประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในสภาพดินกรดให้หว่านปูนขาวประมาณ 200-300 กก. ต่อไร่ แล้วไถพรวน ในสภาพพื้นที่ลุ่ม หากเป็นดินเหนียว ขุดดินเป็นร่องน้ำกว้าง 1 เมตร ยกแปลงปลูกคล้ายหลังเต่ากว้าง 8 เมตร สูง 0.6 เมตร ซึ่งการปลูกมะลิสภาพพื้นที่แบบใดก็ตาม ต้องมีการเตรียมการระบายน้ำที่ดีเสมอ

            การปลูกให้ขุดหลุมลึก กว้าง และยาว ด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก หรือ ใบไม้แห้ง หรือ ปุ๋ยหมัก พร้อมกับใส่ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอส (0-46-0) และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อย่างละ 80-100 กรัมต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในหลุม ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำต้นมะลิมาลงปลูก และรดน้ำ สิ่งสำคัญต้องให้ต้นมะลิได้รับแสงอย่างเต็มที่

            การให้น้ำควรรดน้ำตอนเช้า วันละ 1-2 ครั้ง หรือ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ขึ้นกับสภาพดิน หากรดน้ำมากเกินไปไม่สามารถระบายน้ำได้ หรือ น้ำขังในแปลงนานจะทำให้ต้นมะลิตายได้ เมื่อปลูกมะลิได้ระยะเวลา 1 เดือน ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ใส่ลงไปเดือนละครั้ง อัตราไร่ละ 150 กิโลกรัมต่อปี โดยการหว่านและรดน้ำตาทุกครั้ง

องค์ประกอบทางเคมีมะลิ

ใบ และลำต้นของมะลิลา มีรายงานพบสารสำคัญหลายกลุ่ม เช่น triterpenoid, flavonoid, irridoid glycoside เช่น sambacin, jasminin, quercetin, isoquercetin, rutin, kaempferol-3-rhamnooglycoside, linalool, sambacoside A, E, F, methyl benzoate, benzyl acetate, methyl salicylate, myrcene, d-fenchene, limonene, cis-linalool oxide, trans-3-hexenyl butyrate

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะลิ

โครงสร้างมะลิ 

ที่มา : Wikipedia

           ดอกมะลิสดมีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากการศึกษาด้วยวิธี GC-MS พบว่าน้ำมันระเหยง่าย ที่พบในดอก มีมากกว่า 40 ชนิด แต่สารที่ทำให้มะลิลามีกลิ่นเฉพาะ คือ linalool ซึ่งเป็นชนิด R-(-)isomer และ methyl anthranilate ขณะที่ ดอกมะลิชนิด J. grandiflorum L.(ในไทยเรียก “สถาน” หรือ “จะขาน”) ซึ่งใช้ผลิตเป็นน้ำหอมหลัก ในอัลจีเรีย มอรอคโค และอิตาลี linalool จะเป็นชนิด S-(-) isomer จึงทำให้มะลิต่างสายพันธุ์มีกลิ่นที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างสารที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา เช่น benzyl alcohol, benzyl acetate, jasmine lactone, methyl jasmonte, geraniol, jasmine, jasmone, methyl benzoate, caryophyllene, cadinene, hexenyl benzoate citrol, nerol, neryl acetate, benzaldehyde, citronello, phenyl ethyl alcohol, eugenol, farnesol, geranylacetate เป็นต้น แต่ถ้านำดอกมะลิ แห้งมาสกัดด้วยเมทานอล จะพบองค์ประกอบเป็นสารกลุ่ม irridoid glycoside ชนิด dimeric irridoid glycoside เช่น molihuaside A, C, D, E ชนิด trimeric irridoid glycoside เช่น molihuaside B, sambacoside A สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบ ได้แก่ rutin, kaempferol, quercetin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม indole อีกด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะลิ

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ : พบว่าสารสกัด เมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 1 mg/ml ดังนั้นสารสกัดจากดอกมะลิจึงมีผลต่อสุขภาพในช่องปาก ส่วนแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger : พบว่าสาร caryophyllene oxide, benzyl benzoate, farnesyl acetate, methyl isoeugenol จากดอกมะลิลาออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว

           ฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ: น้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ ในปริมาณต่างกัน จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้

           ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด มีการศึกษาวิจัยโดย เมื่อให้สารสกัด 95% เอทานอลของดอกมะลิซอน 50-400 มคก./มล. และสารสกัด 95% เอทานอลของดอกมะลิลา 0.125-2 ก./ล. แก่หนูทดลองพบว่า มีผลทําใหหลอดเลือดแดงของ หนูขยายตัวแปรตามขนาดของสารสกัดที่เพิ่มขึ้น โดยฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของสารสกัดจากดอกมะลิ เกี่ยวของกับการกระตุนการ หลั่ง nitric oxide, กระตุน K+channel และยับยั้งส่งผ่านแคลเซียม เข้าสู่เซลล์

           การศึกษาทางคลินิก การศึกษาผลของน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ (Jasminum sambac L., Oleaceae) ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ของอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 40 คน โดยในกลุ่มทดสอบ จะทาน้ำมันมะลิ 20%w/w ในน้ำมันเมล็ดอัลมอน ขนาด 1 มล. ลงบนผิวบริเวณท้องของอาสาสมัคร ในขณะที่กลุ่มควบคุม จะทาเพียงน้ำมันเมล็ดอัลมอนเป็นเวลา 20 นาที แล้วตรวจวัดความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure (SBP)) ความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure (DBP)) ชีพจร (pulse rate (PR)) ความอิ่มตัวของออกซิเจนในโลหิต (blood oxygen saturation (BOS)) อัตราการหายใจ (breathing rate (BR)) และอุณหภูมิของผิวกาย จากผลการทดลองพบว่าการทาน้ำมันจากดอกมะลิมีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ โดยทำให้ SBP, DBP, BR และ BOS เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการนวดด้วยน้ำมันจากดอกมะลิมีผลกระตุ้นพฤติกรรม และความรู้สึกของอาสาสมัคร โดยทำให้อาสาสมัครเกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และตื่นตัวมากกว่าก่อนนวดน้ำมัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำมันจากดอกมะลิ ที่ใช้ในสุวคนธบําบัด (aromatherapy) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกของร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้

           นอกจากนี้มีการศึกษาทางวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน โดยให้กลุ่มทดลองสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ส่วนกลุ่มควบคุมสูดดม น้ำมันดอกลาเวนเดอร์ ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครรู้สึกผ่อนคลาย ลดอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่ม frequency component

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะลิ

สารสกัดดอกมะลิ ด้วยน้ำ และอัลกอฮอล์ (1:1) ในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่เป็นพิษต่อหนูถีบจักร ไม่ว่าจะให้โดยการป้อน หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สารสกัดส่วนเหนือดินด้วยน้ำ และอัลกอฮอล์ (1:1) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม/กิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ดอกมะลิ ที่ปัจจุบันมีการนำมาผสมแต่งกลิ่นใบชาเขียว ไม่ควรกินเป็นประจำติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ความจำไม่ดี ลืมง่าย
  2. รากมะลิ หากใช้มากไปอาจทำให้สลบได้
  3. ในการใช้ดอกมะลิในทางสุคนธบำบัดไม่ควรใช้ในปริมาณที่มีความเข้มข้นมากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะกลิ่นหอมแรงเกินไป อาจส่งผงให้อาการหน้ามืดวิงเวียน และคลื่นไส้ได้
  4. ดอกมะลิ เป็นยารสหอมเย็น ไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะอาจไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่นได้
  5. ในการใช้ทุกๆ ส่วนของมะลิเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้องรังรวมถึง ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้มะลิบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง มะลิ
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะลิ”. หน้า 454.
  2. ภก.ชัยโย  ชัยชาญทิพยุทธ. มะลิ. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 21. มกราคม 2524
  3. ภูริพันธุ์ สุวรรณเมฆ. มะลิ ดอกไม้แห่งคุณค่า. กลุ่มส่งเสริมไม้ดอก และไม้ประดับ. สำนักส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  4. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. มะลิ สวย หอม มีคุณค่า.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “มะลิ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 639-641.
  6. ชยันต์ พิเชียรสุนทร.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ. บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ จำกัด (มหาชน) 2556. 94 หน้า
  7. สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. คู่มือการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.2555: 140 หน้า
  8. กรมส่งเสริมการเกษตร.2556. องค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ. กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  9. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะลิลา Arabian Jasmine”. หน้า 128.
  10. สุรัตน์วดี จีระจินดา. การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้หอมไทย. วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ. กรุงเทพฯ.บริษัท รุ่งเรืองสาส์น การพิมพ์ 2549.2: 72 หน้า
  11. กนกพร อะทะวงษา, พิชานันท์ ลีแก้ว. ดอกไม้ในยาไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. ฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ของน้ำมันจากดอกมะลิ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  13. มะลิ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=106
  14. มะลิลา. กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant.data/nerbs/herbs_03_9.htm
  15. Kunhachan P, Banchonglikitkul C, Kajsongkram T, Khayungarnnawee A, Leelamanit W. Chemical composition, toxicity and vasodilatation effect of the flowers extract of Jasminum sambac (L.) Ait.“G. Duke of Tuscany”. Evid Based Complement Alternat Med 2012;2012:471312.