เทียนเยาวพาณี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เทียนเยาวพาณี งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ทียนเยาวพาณี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เทียนเยาวภานี, เทียนเยาวภาณี, เทียนเยาวพานี, เทียนนี (ภาคกลาง, ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trachyspermum ammi (L.) Sprague
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ammi copticum L., Ammios muricata Moench, Athamanta ajowan Wall., Bunium copticum (L.) Spreng., Carum ajowan Benth. & Hook.f., Carum aromaticum Druce, Carum copticum (L.) Benth. & Hook. f., Carum panatjan Baill., Cyclospermum ammi (L.) Lag., Daucus anisodorus Blanco, Daucus copticus (L.) Lam., Helosciadium ammi (L.) Oken, Ptychotis coptica (L.) DC., Sison ammi L., Trachyspermum copticum (L.) Link
ชื่อสามัญ Ajowan
วงศ์ UMBELLIFERAE


ถิ่นกำเนิดเทียนเยาวพาณี

เทียนเยาวพาณี เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบทางเหนือของทวีปแอฟริกา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุทางธรรมชาติไปยังประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงทางภาคตะวันออกของรัสเซีย ต่อมามีการนำเมล็ดเทียนเยาวพาณี ไปปลูกยังดินแดนต่างๆ เช่น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย เป็นต้น จนในปัจจุบัน สามารถพบเห็นได้ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย มีการเพาะปลูกอยู่บ้างแต่ยังไม่มากเท่าที่ควร โดยส่วนมากที่นำมาใช้ในตำรับยาต่างๆ นั้นจะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก

ประโยชน์และสรรพคุณเทียนเยาวพาณี

  • ใช้ขับลม
  • ช่วยกระจายเสมหะ
  • แก้คลื่นไส้ อาเจียน
  • แก้จุกเสียด แน่น
  • ช่วยกระจายโลหิต
  • ช่วยขับลมในท้อง
  • ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดี
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ริดสีดวง
  • แก้ไอ
  • แก้ผอมแห้ง

           มีการนำเทียนเยาวพาณี มาใช้ประโยชน์หลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ ในต่างประเทศมีการนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหารต่างๆ โดยจะทำให้มีกลิ่นหอม และมีรสหวานปนเผ็ดเล็กๆ ส่วนประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง คือ มีการนำมาทำเป็นยาสมุนไพรตามตำรับยาต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้เทียนเยาวพาณี

สำหรับการใช้เทียนเยาวพาณีในการบำบัดรักษาโรคนั้น ส่วนมากจะนำเมล็ดมาทำการบดให้ละเอียดแล้วจึงนำไปเป็นส่วนผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ตามตำรับยาต่างๆ มากกว่านำมาเป็นยาเดี่ยวๆ ในการรักษาโรค ดังนั้นรูปแบบและขนาดวิธีใช้เทียนเยาวพาณี ส่วนมากจึงเป็นการใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ที่มีเทียนเยาวพาณี เป็นส่วนผสมนั่นเอง

เทียนเยาวพาณี

ลักษณะทั่วไปเทียนเยาวพาณี

เทียนเยาวพาณีจัดเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นมีการแตกกิ่งก้านบริเวณปลายยอด กิ่งและก้านเป็นสีเทาอมเขียวหรือสีเขียวเข้ม ใบเป็นเส้นฝอย แตกเป็นแฉกๆ คล้ายขนนก ประมาณ 3-4 แฉก ดอกออกเป็นช่อคล้ายร่ม จะออกดอกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเทียนเยาวพาณี จะมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ โดย 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 7–35 ดอก ผลมีลักษณะกลมยาวเล็กน้อย เป็นรูปไข่ ตรงกลางป่อง ผลมีสีน้ำตาล ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร แยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ด หรือ ซีกผลมีลักษณะนูนด้านนอก ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ด หรือ ด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบน หรือ นูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสัน 3 สันตามยาวของเมล็ด ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ปกคลุมไปด้วยขน หรือ หนามสั้นๆ สีขาวหนาแน่น เมื่อนำมาบดให้เป็นผง จะได้ผงสีน้ำตาลมีกลิ่นและรสเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม รสหวาน รสร้อนสุขุม

เทียนเยาวพาณีการขยายพันธุ์เทียนเยาวพาณี

เทียนเยาวพาณี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ส่วนวิธีการเพาะและการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกเทียนตาตั๊กแตน และเทียนข้างเปลือก

องค์ประกอบทางเคมี

เทียนเยาวพาณี มีน้ำมันระเหยง่ายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมี thymol, gamma-terpinene, p-cymene เป็นองค์ประกอบหลัก และยังมีสารอื่นๆ เช่น eugenol, beta-pinene, oleic acid, verbenol, beta-terpineol, beta-myrcene, camphene, D-limonene, ocimene, linalool, carveol, apioline, α-thujene, α-selinene นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, คูมาริน อีกด้วย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเทียนเยาวพาณี
โครงสร้างเทียนเยาวณี

 ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทียนเยาวพานี

ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษา โดยนำสารสกัดใบแห้งด้วยน้ำร้อนของเทียนเยาวพานี (10%) ขนาด 2ก./กก. ป้อนให้หนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานโดย streptozotocin เปรียบเทียบกับ glibornuride (อนุพันธ์ของ sulfonyl urea)ขนาด 5 มก./กก. เจาะเลือดวันที่ 0, 14, 42 วัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBG) และค่าทางชีวเคมี ได้แก่ alkaline phosphates (ALP), uric acid, sialic acid, ปริมาณโซเดียมโพแทสเซียม และศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับโดยวัด glutathione (GSH), lipid peroxidation (LPO) และ non-enzymatic glycosylation (NEG) ผลปรากฎว่าหนูที่เป็นเบาหวานที่ได้รับสารสกัดเยาวพานีสามารถทำให้ FBG และระดับ ALP, uric acid, sialic acid, Na+, K+, NEG ลดลงได้เช่นเดียวกับ glibornuride นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดเยาวพานีสามารถทำให้ระดับ LPO, GSH ลดลงด้วย ซึ่งแตกต่างจาก glibornuride แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเยาวพานีสามารถปกป้องตับจากอนุมูลอิสระในหนูที่เป็นเบาหวานได้

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราของน้ำมันระเหยง่ายของเทียนเยาวพาณี ที่ได้จากการกลั่นด้วยน้ำ ต่อเชื้อ Candida albicans ในผู้ป่วย HIV ที่มีการติดเชื้อราในช่องปาก (oropharyngeal candidiasis) ทดสอบความไวของเชื้อต่อสารสกัดด้วยวิธี disk diffusion method การวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ (MFC) ผลการทดสอบด้วยวิธี disk diffusion method พบว่า 67% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 9% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 24% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole การทดสอบด้วยวิธี micro dilution method พบว่า 68% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 5% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 27% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดจากผลของเทียนเยาวพาณี ต่อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และแบคทีเรียที่ทำให้อาหารบูดเสีย การสกัดน้ำมันระเหยง่ายใช้วิธีการกลั่นด้วยน้ำ ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตต และเมทานอล พบว่าสารทดสอบที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้สูงสุดคือ น้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเมทานอล โดยน้ำมันระเหยง่าย ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ S.aureus KCTC 1916 โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) ของน้ำมันระเหยง่าย เท่ากับ 162.5  และ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดเมทานอลมีค่า MIC ต่อเชื้อทั้งสองเท่ากับ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ น้ำมันระเหยง่ายยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ได้ 6 ชนิด คือ Escherichia coli O157:H7ATCC 43888, Pseudomonas aeruginosa KCTC 2004, Salmonella typhimurium KCTC 2515, E. coli ATCC 8739, Enterobacter aerogenes KCTC 2190, Salmonella enteritidis KCYC 12021 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 450, 12.5, 225, 462.5,12.5 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอล ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ S. aureus KCTC 1916 และ B. subtills ATCC 6633 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  175 และ 87.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอลยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้สูงสุด 1ชนิด คือ E. coli  O157:H7ATCC 43888 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  450 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร


การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนเยาวพาณี

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 10,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้ว่าในการศึกษาทางพิษวิทยา จะระบุว่าเทียนเยาวพาณี มีความเป็นพิษน้อย แต่ในการใช้เทียนเยาพาณีในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ใช้มากเกินขนาดที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เทียนเยาวพาณีในการช่วยบำบัดรักษาโรค

เอกสาร อ้างอิงเทียนเยาวพาณี

  1. ยุพดี  พยัคฆพันธ์,จิตรา ชัยวัฒน์, ประนอม เดชวิศิษฎ์สกุล, วิทยา ปองอมรกุล, ทัศนีย์ โชคเจริญรัตน์, ไพริน ทองคุ้ม, ไพริน ทองคุ้ม, จิรานุช แจ่มทวีกุล, การพิสูจน์เอกลักษณ์ และชื่อพฤกษศาสตร์ ของเทียวเยาวพาณี. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 45.ฉบับที่ 3.กรกฎาคม-กันยายน .2546. หน้า 127-142
  2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  3. พระยาวินิจวนันดร (โกเมศ ว ด) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับชื่อพื้นเมือง-ชื่อพฤกษศาสตร์.กรุงเทพฯ.กรมป่าไม้,2503 : หน้า 383.
  4. เทียนเยาวพาณีหรือผักชีฝรั่ง กับฤทธิ์ปกป้องตับในหนูที่เป็นเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (2).กรุงเทพฯ : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.2541 : หน้า 425.
  6. สมิตินันทน์ ด. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.กรุงเทพฯ: ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, 2544:หน้า 55,406 , 530.
  7. เดชวิศษฎสกุล ป, บุญรัตนกรกิล ล. การพิสูจน์เอกลักษณ์และจัดทำข้อมูลจำเพาะทางเภสัชเวทของเทียนทั้ง 9. ในวิทยานิพนธ์ดีเด่นปีการศึกษา 2537 บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2540 : หน้า 211-29.
  8. สมิตินันทน์ ต.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง).กรุงเทพฯ.กรมป่าไม้,2523 : หน้า 34.
  9. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.2535 : หน้า 214-5.
  10. เทียนเยาวพาณี . ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpege&pid=71
  11. Sharifzadeh A, Khosravi AR, Shokri H, Sharafi G. Antifungal effect ofTrachyspermum ammi against susceptible and fluconazole-resistant strains ofCandida albicans. Journal of Medical Mycology. 2015;25:143-150.
  12. Paul S, Dubey RC, Maheswari DK, Kang SC. Trachyspermum ammi (L.) fruit essential oil influencing on membrane permeability and surface characteristics in inhibiting food-borne pathogens. Food Control. 2011;22:725-731.