ตำลึง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตำลึง งานวิจัยและสรรพคุณ 41 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ตำลึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coccinia indica Wight & Arn., Coccinia cordifolia (L.) Cogn.
ชื่อสามัญ Ivy gourd
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดตำลึง

มีการสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตำลึงนั้นอยู่แถบคาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดจีน เช่น ประเทศไทย, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น ปัจจุบันพบตำลึงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในประเทศเขตร้อนชื้นหลายสิบประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่รู้จักนำตำลึง มาใช้เป็นผักปรุงอาหาร เช่น ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จะมีการนำตำลึงมาใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น

            สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการนำตำลึงมาใช้ประโยชน์มานานแล้ว แต่ที่มีหลักฐานเป็นลายลักอักษร คือ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416 โดยได้อธิบายความหมายของคำว่า “ตำลึง” ไว้ว่า “เป็นชื่อผักอย่างหนึ่ง เป็นเถาลูกมันสุกสีแดง ยอดอ่อนๆ ต้มกินก็ได้ แกงเลียงก็ดี อนึ่งเป็นชื่อเงินสี่บาท” ปัจจุบันเราจึงพบตำลึงขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทย ผักตำลึง ที่ชาวไทยเก็บมาบริโภคทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นตำลึงที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติมากกว่าที่ปลูกเสียอีก

ตำลึง

ประโยชน์และสรรพคุณตำลึง

  • ช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า (ตำผสมกับปูนแดง)
  • ใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง
  • ใช้เป็นยารักษาตาไก่
  • เป็นยาเย็นดับพิษร้อน
  • แก้ตาช้ำ ปวดตา
  • แก้ฝี ฝีแดง
  • แก้โรคตาต่างๆ (แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา)
  • แก้ปวดแสบปวดร้อน
  • แก้คัน
  • แก้ไข้หวั
  • ช่วยถอนพิษ
  • แก้เริม
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • รักษาเลือดออกตามไรฟัน
  • แก้โรคโลหิตจาง
  • แก้ไข้
  • แก้พิษจากขนพืช หรือ สัตว์ต่างๆ
  • ช่วยลดความร้อน
  • แก้เจ็บเส้น
  • รักษาลิ้นเป็นแผล 
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้มะเร็ง
  • ลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้โรคหัวใจ
  • แก้ดวงตาเป็นฝ้า
  • ลดไขมันในเลือด
  • มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
  • มีฤทธิ์ลดน้ำตาล
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของเบต้าเซลล์
  • ฤทธิ์ป้องกันการเกิดเบาหวาน
  • ปกป้องตับจากสารพิษ
  • ต้านการอักเสบ
  • แก้ปวด
  • แก้งูสวัด
  • แก้ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล
  • รักษาเบาหวาน
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
  • แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง
  • แก้หิด

           ยอด และใบตำลึงใช้กินเป็นผักสด หรือ อาจนำไปต้ม หรือ ลวกจิ้มกับน้ำพริก และใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือ ใส่ในไข่เจียว ผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายยอดสะเดา หรือ ดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้พิษคันจากใบไม้คัน หรือ หนอนคัน (ตัวบุ้ง) โดยนำใบตำลึง สดสัก 4-5 ใบ มาขยี้ เอาน้ำชโลม หรือ ทาบริเวณที่คัน หรือ ใช้ใบสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
  • แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบตำลึงล้างน้ำต้มสุกให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำผสมดินสอพอง สะตุ (เผาจนสุก) ทาผิวบริเวณที่เป็นให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อาการแสบร้อนจะทุเลาลง แต่หากทาแล้วไม่รู้สึกเย็น ก็แปลว่ายาไม่ถูกโรคให้เลิกใช้
  • ยอด เถา ใบ และราก ตำคั้นน้ำดื่มแก้หลอดลมอักเสบ
  • ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล ให้เคี้ยวผลตำลึงอ่อนจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแสบจากแผลได้
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ หรือ จะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม
  • แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา หรือ ตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว นำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา 
  • แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึง ตัดเป็นท่อน 3-4 ท่อน โดยแต่ละท่อน ยาว 1 คืบ นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟ จนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
  • ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสดๆ
  • ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
  • ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของตำลึง

ตำลึงจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุหลายปี เถาแก่ของตำลึงจะใหญ่และแข็ง เถาตำลึงจะมีลักษณะกลม สีเขียว ตามข้อมีตำลึงจัดเป็นเอาไว้ยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบสลับ ใบรูปร่างคล้าย 5 เหลี่ยม ขอบใบเว้าเล็กน้อย บางครั้งจะเว้ามากเป็น 5 แฉก ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ใบสีเขียวเรียบไม่มีขนของใบมีต่อมคายน้ำ ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร

           ทั้งนี้ชาวไทยแบ่งตำลึงออกเป็นสองชนิด คือ ตำลึงตัวผู้ และตำลึง ตัวเมีย โดยใช้ลักษณะของใบเป็นหลัก กล่าว คือ ชนิดที่มีใบเป็นหยักเว้าเข้าไปถึงโคนใบเรียกว่าตำลึงตัวผู้ ส่วนชนิดที่มีใบกว้างเต็ม หรือ เว้าเล็กน้อยเรียกว่าตำลึงตัวเมีย 

           ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกจากบริเวณซอกใบ ดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกมีกลีบสีเขียว ปลายดอกแยกออกเป็น 5 แฉก โคนตัดกันเป็นกรวย กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้มี 3 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลรูปร่างกลมรีคล้ายแตงแต่เล็กกว่า กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาว ประมาณ 5 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว มีสายขาวๆ เมื่อแก่สุกจัดมีสีแดง หรือ แดงอมส้มเนื้อในสีแดงและมีเมล็ดหลายเมล็ดข้างในลักษณะแบนสี ขนาด 2-3 เซนติเมตร

ใบตำลึง

ดอกตำลึง

การขยายพันธุ์ตำลึง

ตำลึงสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด หรือ การเพาะชำเถาแก่ โดยมีวิธีการดังนี้ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ดก่อนอื่นต้องเตรียมเมล็ดตำลึงที่แก่จัดมาผึ่งให้แห้งแล้วเตรียมดินโดยผสมปุ๋ยคอกลงไปในดินที่จะใช้ปลูก ขุดหลุมลึก 10-20 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อหลุม แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หยอดลงไปหลุมละ 2-3 เมล็ด จากนั้นกลบดินให้มิดแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรดน้ำ เช้า-เย็น แต่ควรระวังอย่าให้น้ำมากจนเกินไป หลังจากต้นกล้างอกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ทำค้างไว้ให้เถาตำลึง เกาะเลื้อยขึ้นไป ส่วนการปลูกด้วยการเพาะชำเถาแก่นั้น นำเถาแก่ของตำลึง (ต้องมีข้อของเถาในท่อนเถาแก่ที่จะนำมาปลูกด้วย) มาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปเพาะในถุงชำที่ผสมดินกับปุ๋ยคอกแล้ว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มรอให้ท่อนพันธุ์มีรากและใบงอกออกมา ประมาณ 10 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในแปลงได้


องค์ประกอบทางเคมี   

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของตำลึง พบว่า

           ใบ ประกอบด้วย สารเบ้ตาแคโรทีน (b-carotene) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol) พอลิพรีนอล (polyprenol) วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค1 แทนนิน โปรตีน โพแทสเซียม (potassium)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตำลึง
โครงสร้างตำลึง     

ที่มา : Wikipedia

  • ผล ประกอบด้วย สารคิวเคอร์บิตาซิน บี (cucurbitacin B) บีตาแคโร-ทีน ไลโคพีน (lycopene) คริพโตแซนทิน (cryptoxanthin) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol) เดาโคสเตอรอล (daucosterol) ทาราซีโรน (taraxerone) ทาราซีรอล (taraxerol) ลูพีออล (lupeol) บีตาอะไมริน (b-amyrin) วิตามินซี เส้นใย โปรตีน และเพกติน (pectin)
  • ราก ประกอบด้วย สารคอกซินิโคไซด์ เค (coccinioside-K) ลูพีออล(lupeol) บีตาอะไมริน (b-amyrin) บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol)  
  • เมล็ด ประกอบด้วย กรดไขมัน ได้แก่ กรดปาล์มิติก (palmitic acid) โอเลอิก (oleic acid) ลิโนเลอิก (linoleic)

           นอกจากนี้ตำลึง ในฐานะอาหารยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของตำลึง (ใบอ่อน) 100 กรัม

-          พลังงาน                              35                                กิโลแคลอรี่

-          ใยอาหาร                            1                                 กรัม

-          โปรตีน                                 3.3                              กรัม

-          ไขมัน                                  0.4                               กรัม

-          คาร์โบไฮเดรต                    4.5                               กรัม

-          วิตามิน A                           18608                          IU

-          วิตามิน B1                          0.17                             มิลลิกรัม

-          วิตามิน B2                         0.13                             มิลลิกรัม

-          วิตามิน B3                          1.2                               มิลลิกรัม

-          วิตามิน C                            34                                มิลลิกรัม

-          แคลเซียม                         126                              มิลลิกรัม

-          ฟอสฟอรัส                          30                                มิลลิกรัม

-          เหล็ก                                  4.6                               มิลลิกรัม           

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตำลึง

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตำลึง ได้แก่ ใบ ผล เถา ส่วนเหนือดิน และราก มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยสารสกัดตำลึงมีฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพิ่มระดับอินซูลิน ทำให้มีการสังเคราะห์ไกลโคเจนเพิ่มขึ้น และลดการเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นกลูโคสเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

           การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น (ระดับน้ำตาลในเลือด 110-180 มก. /ดล.) ซึ่งได้รับสารสกัด 50% อัลกอฮอล์จากใบและผล ขนาด 1 ก./วัน  เป็นเวลา 90 วัน พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting blood glucose) และหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง (post-prandial blood glucose) ลดลงร้อยละ 16 และ 18 ตามลำดับ และยังมีผลลดน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานยาเม็ดผงแห้งจากใบตำลึง ครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ จากนั้นทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test) โดยให้กลูโคส 50 ก. วัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อน และหลังทำการทดสอบ พบว่าผู้ป่วยมีความทนต่อกลูโคสดีขึ้น และไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว ค่าทางโลหิตวิทยา เอนไซม์แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส (aspartate transaminase) อะลานีนทรานส์อะมิเนส (ala-nine transaminase) ยูเรีย และไตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานสารสกัดจากตำลึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และตัวทำละลาย) ขนาด 500 มก./กก. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดมีผลลดระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายกลูโคส ได้แก่ กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) และแลกเตตดีไฮโดรจิเนส (lactate dehydrogenase) และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน คือ ลิโปโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) แสดงว่าสารสกัดจากตำลึงทำหน้าที่คล้ายกับอินซูลินในยับยั้งการสร้างน้ำตาล และกระตุ้นการสลายไขมัน ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยได้

            นอกจากนี้งานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ประเทศอินเดีย พบว่า สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ และผงแห้งบดของใบและเถาตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ หนูที่อดอาหาร และหนูที่เป็นเบาหวานเนื่องจากได้รับสาร streptozotocin (STZ) เมื่อหนูที่เป็นเบาหวานดังกล่าวได้รับสารสกัดเอทานอลใบตำลึง 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 45 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงระดับอินซูลินเพิ่มขึ้น เพิ่มการออกซิเดชันของกลูโคสในตับและเม็ดเลือดแดง ลดกลูโคนีโอเจเนซิสระดับไขมัน และกรดไขมันในเลือดลดลง มีปริมาณวิตามินซีในพลาสมาเพิ่มขึ้น มีปริมาณเอนไซม์กำจัดสารพิษเพิ่มขึ้นทั้งกลูตาไทโอนเปอร์ออกซิเดส และกลูตาไทโอน เอส ทรานสเฟอเรส งานวิจัยชิ้นอื่น พบว่า ผงแห้งบดของใบและเถาตำลึงแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ทั้งในสุนัขปกติและสุนัขเบาหวาน สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของรากตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในกระต่ายปกติ สารสกัดแอลกอฮอล์ที่ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่อดอาหาร นอกจากนี้ สารเพ็กทิน จากผลตำลึงที่ 200 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมในหนู ปกติแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ไกลโคเจนซินทีเตส และเพิ่มปริมาณไกลโคเจนในตับ

           และ ปี พ.ศ.2546 ทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพืชอาหาร และสมุนไพรที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าตำลึง และโสมอเมริกันเป็นพืชที่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพด้านนี้ดีที่สุด การทดลองทางคลินิก (แบบ double-blind ขนานกัน 2 กลุ่ม) ในประเทศบังกลาเทศพบว่า เมื่อให้ผงแช่แข็งแห้งของใบตำลึงวันละ 1.8 กรัมกับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิด 2 นาน 6 เดือน ประกอบกับการควบคุมอาหาร พบว่า ค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose) ของกลุ่มผู้ป่วยลดลง จาก 178.8 เป็น 122.1 และค่าน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (random plasma glucose) จาก 245.4 เป็น 186.9 โดยกลุ่มควบคุมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ 

           ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยวิธี tail flick test เปรียบเทียบผลกับมอร์ฟีน ขนาด 2 มก./กก. และยาไอบูโปรเฟน (ibuprofen) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์แก้ปวดได้ โดยที่ขนาด 300 มก./กก. จะมีฤทธิ์ดีใกล้เคียงกับมอร์ฟีน สารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวดในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยวิธี acetic acid-induced writhing tail flick test และด้วยเครื่อง analgesy meter

           ฤทธิ์ต่อการฝังตัวของตัวอ่อน การศึกษาในหนูแรทเพศเมียน้ำหนัก 200-250 กรัม ที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดสูง (hyperprolactinemia) หรือ เหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย หรือ เหนี่ยวนำให้เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งทำให้มีลูกยาก แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนน้ำเกลือ (normal saline) 1 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบัน bromocriptine เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการหลั่งฮอร์โมน prolactin ขนาด 30 มก./กก. หรือยา clomiphene citrate ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ไข่ตกแต่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยา danazol ซึ่งเป็นยารักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ป้อนสารสกัดน้ำของตำลึงขนาด 500 มล./กก. (ขนาดต่ำ) และ 1,000 มล./กก. (ขนาดสูง) ตามลำดับ ทำการศึกษาทั้งสิ้นนาน 3 รอบ ของการมีรอบเดือน พบว่าหนูแรทที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน bromocriptine และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 6.4 ± 1.94 และ 6.0 ± 0.75 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 0.6 ± 0.4 ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดต่ำ 500 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 5.0 ± 0.70 ซึ่งได้ผลน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน และสารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูง นอกจากนี้สารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูงมีฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำตำลึงขนาดต่ำ และกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน clomiphene citrate ซึ่งสารสกัดน้ำตำลึงทั้งสองขนาดไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และไม่มีผลต่อความหนาของมดลูกและเยื่อบุมดลูก ส่วนการศึกษาในหนูแรทที่ได้รับยา danazol พบว่าทั้งยา danazol และสารสกัดตำลึงทั้งสองขนาดลดการเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของตำลึง ขนาดสูง 1,000 มล./กก. มีผลช่วยให้มีการเพิ่มการฝังตัวที่มดลูกเป็นการรักษาการมีลูกยากในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคตินในเลืดสูงได้ โดยไปเพิ่มจำนวนครั้งการฝังตัวของมดลูก เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ได้ผลช่วยในการฝังตัวที่มดลูกในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ endometriosis หรือ เหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบและเถาตำลึง ขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% ฟอร์มาลดีไฮด์ เปรียบเทียบกับยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยที่สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ดีที่สุด เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูแรทก่อน และหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน เปรียบเทียบผลกับยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าการให้สารสกัดก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบสามารถลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสารสกัดที่ขนาด 50 มก./กก. จะให้ผลดีที่สุดและเทียบเท่ากับยาไดโคลฟีแนค สำหรับการให้สารสกัดหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ พบว่าสารสกัดทุกขนาด ยกเว้นขนาด 25 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน แต่มีบางงานวิจัยที่พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรท นอกจากนี้มีรายงานว่าผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน และฮิสตามีน

          สารสกัดอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 1, 2.5, 10 และ 20 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนนได้ แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ขนาด 5 และ 10 มก./กก. และตำรับครีมที่มีสารสกัดเดียวกันนี้ผสมอยู่ 2% ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือ ลดรอยแดงจากยุงกัดในอาสาสมัคร จำนวน 5 คน เมื่อเทียบกับครีมเบส


การศึกษาทางพิษวิทยาของตำลึง

การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัด 50% เอทานอลจากทั้งต้นขนาด 10 ก./กก. ไม่ทำให้เกิดพิษเมื่อป้อนทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร หรือ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร และเมื่อฉีดสารสกัดเดียวกันนี้เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดต่ำสุดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 750 มก./กก.


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ตำลึงที่ใช้เป็นผักนิยมใช้ชนิดตัวเมีย ส่วนชนิดตัวผู้นั้นจะใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น
  2. มีการศึกษาวิจัยพบว่าใบและยอดของตำลึงมีฤทธิ์ช่วยการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ดังนั้นในการนำมาบริโภคเพื่อเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นสมุนไพรไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
  3. การทาน้ำตำลึง เพื่อแก้คัน หรือ รักษาโรคผิวหนังต่างๆไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือ การอักเสบขึ้น

เอกสารอ้างอิง ตำลึง
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ:บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541: 640 หน้า
  2. เดชา ศิริภัทร.ตำลึง.ผักพื้นบ้านที่รู้คุณค่าได้จากชื่อ.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 191. มีนาคม 2538
  3. อรัญญา  ศรีบุศราคัม.ตำลึง .ผักสวนครัวลดเบาหวาน. รอบรู้เรื่องสมุนไพร.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.
  4. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.ผักพื้นบ้าน.ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,2538
  5. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  6. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ผักตำลึง.อาหารสมุนไพร ริมรั้ว.คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 330. ตุลาคม 2549
  7. สุวดี แซ่เฮง โสวรส โรจน์สุธี. การหาปริมาณวิตามินเคในผักพื้นบ้าน. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ม. มหิดล, 2007
  8. พร้อมจิต. ศรลัมน์.แกงเลียง.อาหารเด็ดของคนไทย. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 30 ฉบับที่ 3. เมษายน2556
  9. ผลของตำลึงต่อการตั้งครรภ์ในหนูแรทเพศเมียที่ทำให้เกิดภาวะตั้งครรภ์ยาก.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. ตำลึง.ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. เสริมเกียรติ บ้วนวงศ์ อดิศักดิ์ แซ่ลี้ เพ็ญโฉม พึ่งวิชา ยุวดี วงษ์กระจ่าง. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและบำบัดอาการเบาหวานของตำลึง. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล, 1985.
  12. ถวัลย์ จรดล บัณฑิต ธีราธร บุญเจือ ธรณินทร์. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของน้ำสกัดเถาตำลึง. สารศิริราช 2515;24(6):934-40.
  13. Munasinghe MAAK, Abeysena C, Yaddehige IS, Vidanapathirana T, Piyuma KPB. Blood sugar lowering effect of Coccinia grandis (L.) J. Voigt: Path for a new drug for diabetes mellitus. Experimental Diabetes Research 2011; Article ID 978762, 4 pages.
  14. Hossain MZ, Shibib BA, Rahman R. Hypoglycemic effects of Coccinia indica: inhibition of key gluconeogenic enzyme, glucose-6-phosphatase. Indian J Exp Biol 1992;30(5):418-20.
  15.  Singh N, Singh P, Vrat S, Misra N, Dixit KS, Kohll RP.  A study on the anti-diabetic activity of Coccinia indica in dogs.  Indian J Med Sci 1985;39:27-9, 42.
  16. Vaishnav MM, Gupta KR. A new saponin from Coccinia indica roots. Fitoterapia 1995; 66(6):546-7
  17. Rao GMM, Rao CV, Sudhakara M, Pandey MM, Rawat AKS, Sirwaikar A, et al.  Anti-inflam-matory and antinociceptive activities of “Coccinia indica W.&A.” fruit juice powder in animals.  Nat Prod Sci 2004;10(1):20-3.
  18. Sungpuag P. Food sources of b-carotene and their vitamin A activity. Mahidol university annual research abstracts and bibliography of non-formal publication 1991;19:535.
  19. Deokate UA, Khadabadi SS. Pharmacology and phytochemistry of Coccinia indica. Journal of Pharmacognosy and Phytotherapy 2011;3(11):155-9
  20. Niazi J, Singh P, Bansal Y, Goel RK.  Anti-inflammatory, analgesic and antipyretic activity of aqueous extract of fresh leaves of Coccinia indica.  Inflammopharmacol 2009;17:239-44.
  21. Bajpai A, Ojha JK, Sant HR. Medicobotany of the Varanasi district. Int J Pharmacog 1995;33(2):172-6.
  22. Mueller-Oerlinghausen B, Ngamwathana W, Kanchanapee P.  Investigation into Thai medicinal plants said to cure diabetes.  J Med Ass Thailand 1971;54(2):104-11.
  23. Bhakuni DS, Srivastava SN, Sharma VN, Kaul KN. Chemical examination of the fruits of Coccinia indica. J Sci Ind Res (India) 1962;21B:237-8.
  24. Tangsucharit P, Kukongviriyapan V, Kukongviriyapan U, Airarat W.  Screening for analgesic and anti-inflammatory activities of extracts from local vegetables in the northeast of Thailand.  Srinagarind Med J 2006;21(4):305-10.
  25. Anon. Treatment of diabetes mellitus with Coccinia indica. Idma Bull 1980;11:229-30.
  26. Mallick C, Mandal S, Barik B, Bhattacharya A, Ghosh D.  Protection of testicular dysfunc-tions by MTEC, a formulated herbal drug in streptozotocin induced diabetic rat.  Biol Pharm Bull 2007;30(1):84-90.
  27. Mukherjee K, Ghosh NC, Datta T. Coccinia indica Linn. as potential hypoglycaemic agent. Indian J Exp Biol 1972;10(9):347-9
  28. Vaishnav MM, Jain P, Jogi SR, Gupta KR. Coccinioside-k, triterpenoid saponin from Coccinia indica. Oriental J Chem 2001;17(3):465-8.
  29. Nagaraju N, Rao KN. A survey of plant crude drugs of Rayalaseema, Andhra pradesh, India. J Ethnopharmacol 1990;29(2):137-58
  30. Chanwitheesuk A, Teerawutgulrag A, Rakariyatham N. Screening of antioxidant activity and antioxidant compounds of some edible plants of Thailand. Food Chem 2005; 92(3):491- 7.
  31. Azad KAK, Akhtar S, Mahtab H.  Coccinia indica in the treatment of patients with diabetes mellitus.  Bangladesh Med Res Council Bull 1979;5(2):60-6.
  32. Siddiqui IA, Osman SM, Sabbaram MR, Achaya KT. Fatty acid components of seed fats from four plant families. J Oil Technol Ass India 1973;5(1):8-9
  33. Guha J, Sen SP.  The cucurbitacins-a review.  Plant Biochem J 1975;2: 127.
  34.   Khan azad AK, Akhtar S, Mantab H.  Treatment of diabetes mellitus with Coccinia indica.  Brit Med J 1980;280:1044.
  35. Singh G, Gupta P, Rawat P, Puri A, Bhatia G, Maurya R. Antidyslipidemic activity of polyprenol from Coccinia grandis in high-fat diet-fed hamster model. Phytomedicine 2007;14(12):792-8.
  36. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P.  Study on toxicity of Thai medicinal plants.  Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  37. Leelapornpissid P, Manosroi A, Sajawatee P, Chaikul P, Nopsiri V, Manosroi J. Anti-inflam-matory activity of extract from leaves of Coccinia grandis (tum-loeng), formulation and evaluation of cream preparation containing the extract.  16th Annual Symposium of Health Science, Chiang Mai, August 1998:270.
  38. Kumar GP, Sudheesh S, Vijayalakshmi NR. Hypoglycaemic effect of Coccinia indica: mechanism of action. Planta Med 1993;59(4):330-2.
  39. Deshpande SV, Patil MJ, Daswadkar SC, Suralkar U, Agarwal A.  A study on anti-inflamma-tory activity of the leaf and stem extracts of Coccinia grandis L. Voigt.  IJABPT 2011;2(3): 247-50.