เทียนดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เทียนดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เทียนดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฮับบาดุชเซาดะอ์ (มุสลิม), เฮยจ๋งเฉ่า (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nigella sativa Linn. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nigella cretica Mill.
ชื่อสามัญ Black cumin, Nigella,Love in the mist, Wild onion seed, Black caraway, Roman coriander
วงศ์ RANUNCULACEAE

ถิ่นกำเนิดเทียนดำ

เทียนดำเป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น เลบานอน และ ซีเรีย แล้วต่อมามีการกระจายพันธุ์ไปในประเทศอินเดีย และทิเบต นอกจากนี้ในพืชวงศ์เดียวกันนี้ ยังพบว่ามีเทียนดำ อีกหลายพันธุ์ เช่น Nigella damascena L. (พบในประเทศอียิปต์), และ Nigella glandulifera Freyn & Sint. (พบในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน) โดยเทียนดำทั้งสามชนิดมีคุณสมบัติ และสรรพคุณคล้ายกัน สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ แต่จะแตกต่างกันตรงลักษณะภายนอก เท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณเทียนดำ

  • ช่วยขับเสมหะให้ลงสู่คูทวาร
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้อาเจียน
  • ช่วยบำรุงโลหิต 
  • ช่วยขับน้ำนม
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับระดู (ประจำเดือน) บีบมดลูก
  • แก้โรคลม
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน
  • รักษาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
  • บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดจุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย
  • บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร
  • บำรุงร่างกาย
  • บำรุงกำลัง
  • รักษาเบาหวาน
  • ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ
  • รักษาโรคปวดศีรษะ
  • ช่วยรักษาโรคหอบหืด
  • ช่วยแก้อาการปวดฟัน
  • รักษาโรคลำไส้
  • รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

          ในประเทศอินเดีย และประเทศในแถบตะวันออกกลางจะใช้เมล็ดเทียนดำเป็นเครื่องเทศ ผสมกับอาหารพื้นเมืองโดยว่ากันว่าเมล็ดเทียนดำ จะให้รสชาติคล้ายกับหอมใหญ่ พริกไทย ดำ และ ออริกาโน นอกจากนี้ยังมีการใช้เมล็ดเทียนดำในการแต่งกลิ่นขนมปังอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ตามบัญชียาสมุนไพรกำหนดให้ใช้เป็นยาผลในขนาด 2-6 กรัม ใช้ในรูปเมล็ดขนาด 0.6-1.2 กรัม หรือ ใช้เมล็ด 1 ช้อนชา ชงเป็นชาร้อน หรือ ใช้ตามตำรายาแผนโบราณ เช่น ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ให้นำเมล็ดเทียนดำมาบดให้ละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ, กระเทียม 3 กลีบ, น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำอุ่นครึ่งแก้ว โดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาบดรวมกันแล้วใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ช่วยในเรื่องระบบการหมุนเวียนของเลือด ด้วยการใช้เทียนดำผสมกับน้ำผึ้งรับประทานได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ ใช้รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผงให้ละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ, ทับทิมบดเป็นน้ำ 1 แก้ว, รากกะหล่ำปลีบดเป็นน้ำ 1 แก้ว และผักแว่นบดเป็นน้ำ 1/2 แก้ว แล้วนำมาผสมกับนมเปรี้ยวใช้รับประทาน ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการใช้เทียนดำ 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับนมสด และน้ำผึ้ง 1 แก้ว ใช้ดื่มก่อนเข้านอน รักษาโรคปวดศีรษะ ด้วยการใช้เมล็ดเทียนดำบดละเอียดและกานพลู บดละเอียดอย่างละท่ากัน แล้วนำมาผสมกับนมเปรี้ยวใช้รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ช่วยรักษาโรคหอบหืด โดยใช้น้ำมันเทียนดำนำมาสูดดมพร้อมกับทาบริเวณหน้าอกก่อนนอนทุกวัน ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดเทียนดำนำมาบดผสมกับน้ำอุ่น ใช้อมกลั้วในปากแล้วบ้วนทิ้งในขณะที่มีอาการปวดฟัน รักษาโรคลำไส้ แก้อาการปวดท้องจุกเสียด ให้ใช้เทียนดำ, เครื่องเทศ, สะระแหน่ และน้ำผึ้งอย่างละเท่ากัน นำมาผสมใช้รับประทาน และให้ใช้น้ำมันเทียนดำนำมาทาบริเวณท้อง รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ให้ใช้เทียนดำ 1 ช้อนโต๊ะ, กระเทียม 3 กลับ และไข่ไก่ 7 ฟอง นำมาผสมรวมกัน นำไปทอด หรือ ใช้รับประทานสดๆ วันเว้นวัน ติดต่อกัน 1 เดือน เป็นหมัน ให้ใช้เมล็ดเทียนดำบด, หัวไชเท้า และนมสดอย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันแล้วรับประทานเช้า, เย็น ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นโรคผิวหนังต่างๆ ให้ใช้น้ำมันเทียนดำ, น้ำมันดอกกุหลาบ และข้าวสาลีบดอย่างละเท่ากัน นำมาผสมกันแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นทุกวันจนกว่าจะหายขาด หูด ไฝ หรือ กระ ให้ใช้เมล็ดเทียนดำบดละเอียดผสมกับน้ำส้มสายชูทำเป็นยาทา ใช้ทาบริเวณที่เป็นทั้งเช้าและเย็นติดต่อกัน 1 สัปดาห์ หรือ จะใช้เทียนดำ 1 ช้อนโต๊ะ นำมาบดรวมกับผักกาดหอม 1 กำมือ ใช้ทาบริเวณที่เป็นจนกว่าจะหายขาด ช่วยแก้เหน็บชา โดยใช้เมล็ดเทียนดำบดละเอียด ผสมกับน้ำส้มคั้น 1 แก้ว ใช้ดื่มทุกวัน ติดต่อกัน 10 วัน


ลักษณะทั่วไปของเทียนดำ

เทียนดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ลำต้นกลมและตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณกลางลำต้น ต้นมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงกันข้าม 1-3 ชั้น ขอบใบหยักลึก ใบบนใหญ่กว่าใบล่าง มีก้านใบสั้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามแฉก ลักษณะเป็นเส้น ปลายแหลม คล้ายใบผักชี มีขนขึ้นปกคลุมช่วงล่าง ใบย่อยกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกบริเวณปลายยอด หรือ ตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดใหญ่กว่า และยาวกว่ากลีบดอกมาก ดอกอาจเป็นสีขาวหรือสีฟ้าอ่อนอมม่วง กลีบดอกมีหลายกลีบ ขนาดเล็ก เป็นสีเหลืองอมเขียว ที่ปลายกลีบมีเส้นคาดเป็นสีม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่เป็นชนิดที่อยู่สูง มี 2-4 ห้อง และมีส่วนกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ผล เป็นผลแห้งเมื่อแก่จะแตกออก ผลมีลักษณะคล้ายกับผลฝิ่น ยาวประมาณ 8-15 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดรูปสามเหลี่ยม ถึงห้าเหลี่ยม สีดำ เนื้อในสีขาว ขนาดกว้าง 1.4-1.8 มิลลิเมตร ยาว 2.5-3.0 มิลลิเมตร เมล็ดแก่แห้ง มีสีดำสนิท ผิวนอกขรุขระ ไม่มีขน มีกลิ่นเล็กน้อย และค่อนข้างแข็ง หากใช้มือถูที่เมล็ด หรือนำเมล็ดไปบด จะได้กลิ่นหอม ฉุน มีรสชาติขม เผ็ด ร้อน คล้ายเครื่องเทศ

เทียนดำ

เทียนดำ

การขยายพันธุ์เทียนดำ

เทียนดำ สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดโดยมีวิธีการเพาะขยายพันธุ์เช่นเดียวกันกับพืชที่ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์อื่นๆ


องค์ประกอบทางเคมี

ในเมล็ดของเทียนดำ พบ น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) เช่น linoleic acid, oleic acid, palmitic acid ประมาณ 30%  

           น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณ 0.5-1.5% โดยมีองค์ประกอบหลักของน้ำมันระเหยง่ายเป็นอนุพันธ์ของควิโนน คือ thymoquinone คิดเป็น 54% ของน้ำมันระเหยง่ายที่พบทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบ p-cymene, dithymoquinone, thymohydroquinone, thymol, trans-anethole, limonene, carvone, carvacrol, 4-terpineol

           สารอัลคาลอยด์ เช่น nigellidine, nigellimine, nigellicine สารซาโปนิน เช่น alpha-hederin และยังพบสารอื่นๆอีกเช่น amyrin, ascorbic acid, carvone, cholesterol, damascininem eycloartenol, damascenime, hederagenia, melanthin, nigllidine, sitosterol, sitgmastesol, telfairie acid, thymol, trytophan, valine 

           นอกจากนี้เมล็ดเทียนดำยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดเทียนดำ (100 กรัม)

-          พลังงาน                     344                กิโลแคลลอรี่

-          ไขมัน                         15                  กรัม

-          โซเดียม                    88                  มิลลิกรัม

-          คาร์โบไฮเดรต            52                  กรัม

-          โปรตีน                        16                  กรัม

-          ใยอาหาร                   40                  กรัม

-          วิตามิน เอ                   135                หน่วยสากล

-          วิตามิน ซี                   21                 มิลลิกรัม

-          วิตามิน บี 6                 0.5                 มิลลิกรัม

-          แคลเซียม                  1,196             มิลลิกรัม

-          ธาตุเหล็ก                  18.5              มิลลิกรัม

-          แมกนีเซียม                385                มิลลิกรัม

-          โพแทสเซียม             1694              มิลลิกรัม

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเทียนดำโครงสร้างเทียนดำ

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทียนดำ

           ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์เพศชาย ของ thymoquinone จากเทียนดำ การศึกษาฤทธิ์ของสาร thymoquinone สารสำคัญที่พบในเมล็ดเทียนดำ (Nigella sativa L.) ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์เพศชาย และปรับปรุงคุณภาพอสุจิในหนูที่มีภาวะอ้วนจากการได้รับอาหารไขมันสูง การทดลองแบ่งหนูแรทออกเป็น 4 กลุ่ม คือ หนูปกติ (NC) หนูอ้วน (OC) หนูปกติที่ได้รับ thymoquinone (NT) และหนูอ้วนที่ได้รับ thymoquinone (OT) ในระยะแรกจะทำการป้อนอาหารปกติ หรือ อาหารไขมันสูงให้แก่หนูแรทเป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ (63 วัน) และตั้งแต่วันที่ 64 ของการทดลอง ทำการการฉีด thymoquinone ขนาด 10 มก./กก.น้ำหนักตัว/วัน ให้แก่หนูกลุ่ม NT และ OT ทุกวัน ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ พบว่า thymoquinone ช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เพศผู้ในหนูแรทที่เกิดภาวะอ้วน โดยมีผลเพิ่มขนาดอัณฑะ หลอดสร้างอสุจิ จำนวนเซลล์ที่สร้างอสุจิและจำนวน Laydig cell (เซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย) ที่ลดลงจากการได้รับอาหารไขมันสูง นอกจากนี้ thymoquinone ยังช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิที่แข็งแรงและลดจำนวนอสุจิที่มีลักษณะผิดปกติได้ทั้งในหนูปกติและหนูอ้วน

           ฤทธิ์ต้านภาวะโรคไตที่เกิดจากเบาหวานของสาร thymoquinone จากเมล็ดเทียนดำการศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะโรคไตที่เกิดจากเบาหวานของสาร thymoquinone (TQ) จากเมล็ดเทียนดำ (Nigella sativa) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีดสาร streptozotocin (STZ) ขนาด 60 มก./กก. น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้อง พบว่าการป้อนสาร TQ วันละ 50 มก./กก. น้ำหนักตัว ติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสาร TQ และผลจากการตรวจวิเคราะห์เซลล์ไตด้วยเทคนิค immunohistochemical พบว่าสาร TQ มีฤทธิ์ยับยั้งความเสียหายของเซลล์ไตในหนูที่เป็นเบาหวาน และมีผลลดการแสดงออกของโปรตีนที่บ่งชี้ถึงการเกิดความเสียหายของเซลล์ไต ได้แก่ fibroblast-specific protein 1 (Fsp1), desmin, matrix metalloproteinase-17 (MMP-17) และ ZO-1 ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าสาร TQ จากเมล็ดเทียนดำมีฤทธิ์ต้านภาวะโรคไตที่เกิดจากเบาหวานได้

           ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือดจากเทียนดำ สาร 2-(2-methoxypropyl)-5-methyl-1,4-benzenediol ซึ่งเป็นสารชนิดใหม่และสารที่เคยพบมาแล้ว 2 ชนิด คือ thymol, carvacrol ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเมธานอลของเมล็ดเทียนดำ (Nigella sativa Linn.) และอนุพันธ์อะเซททิเลตของสารทั้งสาม (acetylated derivatives) แสดงฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือดที่เหนี่ยวนำด้วย arachidonic acid ซึ่งฤทธิ์ในการยับยั้งมากกว่า aspirin 30 เท่า

           ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. เพิ่มแรงดันภายในหลอดลม สาร nigellone ป้องกันภาวะหลอดลมตีบที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารฮีสตามีนในหนู ลดการหดเกร็งของหลอดลม

           ฤทธิ์ต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. หรือ สาร thymoquinone ในขนาด 0.2-1.6 มก/กก. ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต สารสกัดไดคลอโรมีเทนเมื่อให้หนูที่เป็นความดันกินในขนาด 0.6 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นเวลา 15 วัน เมื่อวัดความดันโลหิตเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน nifedipine พบว่าสารสกัดลดความดันได้ 22% ในขณะที่ nifedipine ลดความดันได้ 18%  และยังทำให้การขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น และเพิ่มการขับ โซเดียม คลอไรด์ โปแตสเซียมอิออน และยูเรียทางปัสสาวะ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากเมล็ด ยับยั้ง fibrinolytic activity ทำให้ระยะเวลาที่เลือดไหลลดลงในกระต่าย
          ฤทธิ์ของเทียนดำต่อกระเพาะอาหาร เมื่อให้น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ แก่หนูขาวเพศผู้ พบว่าจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งของสารเมือก, glutathione และลดปริมาณ histamine ที่บริเวณเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร และจากการทดลองในหนูที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำก่อนที่จะถูกชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอลพบว่า น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 53.56% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ โดยคาดว่าเกิดจากการเพิ่มระดับ glutathione ซึ่งเป็น cofactor ในการสังเคราะห์ให้ได้ PGE2 ซึ่งเป็นพรอสตาแกลนดินชนิดปกป้องกระเพาะอาหารจากกรด

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดไดเอทิลอีเทอร์จากเมล็ดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก Staphylococcus aureus, เชื้อแบคทีเรียกรัมลบ Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli, เชื้อยีสต์ Candida albican นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเมล็ดยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด 

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระการทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำในการยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือ ทางเดินอาหารอักเสบ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผล และการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ การทดสอบนี้ใช้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio 28 สายพันธุ์ ทดสอบด้วยวิธี agar disc diffusion และหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ด้วยวิธี agar dilution พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำ สามารถยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ได้ทุกสายพันธุ์ และออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งสายพันธุ์ Dahv2 โดยมีขนาดของโซนใสในการยับยั้งเท่ากับ 23.9 มิลลิเมตร ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml มีค่า MIC เท่ากับ 100 μg/ml ผลการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มซึ่งเป็นโครงสร้างยึดเกาะกับพื้นผิว สร้างโดยกลุ่มของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่รวมกัน ประกอบด้วยสารต่างๆ หลายชนิด ทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายใน รวมทั้งสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ภายในไบโอฟิล์ม ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำสามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธี beta-carotene bleaching พบว่าที่ความเข้มข้น 70 μg/ml  สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน linoleic acid ได้เท่ากับ64.47±2.00%
           ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ ทดสอบในเด็กที่เป็นพยาธิ เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด โดยการรับประทานในขนาด 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถลดจำนวนไข่พยาธิในอุจจาระ การให้น้ำมันจากเมล็ดแก่หนูที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ Schistosoma mansoni เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดจำนวนพยาธิที่ตับ และลดจำนวนไข่พยาธิในตับและลำไส้ได้ 
           ฤทธิ์ต้านไวรัส: การให้น้ำมันจากเมล็ด โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อเฮอร์ปีส์ ที่ตับ และม้าม ได้ในวันที่ 3 ของการติดเชื้อ โดยในวันที่ 10 ไม่พบเชื้อ และสามารถเพิ่มระดับ interferon gammaเพิ่มจำนวน CD4helperTcell ลดจำนวน macrophage ได้
             ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร thymoquinone และน้ำมันจากเมล็ด ยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น thromboxane B2, leucotrein B4, cyclooxygenase, lipoxygenase เป็นต้น, สาร nigelloneยับยั้งการปลดปล่อยฮีสตามีนจากช่องท้องหนู
           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง สาร thymoquinone และ dithymoquinone มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับอ่อน มดลูก เต้านม รังไข่ และลำไส้ได้ในหลอดทดลอง สารสกัดเอทิลอะซีเตต ยับยั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูได้สารซาโปนิน alpha-hederin ยับยั้งการเกิดเนื้องอกในหนูได้ 60-70% 
           ฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน สาร thymoquinone มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยา lipid peroxidation สาร trans-anethole, carvacrol, 4-terpineol ออกฤทธิ์ดีในการจับ superoxide anion         

           ฤทธิ์ปกป้องตับ และไต สาร thymoquinone ป้องกันตับจากสารพิษคาร์บอนเตตราคลอไรด์ และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation และป้องกันไตจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) โดยการจับกับ superoxide และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation 

           ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานของไตการศึกษาผลของสารสกัดเทียนดำต่อพยาธิสรีรวิทยาของไต ในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยสารสเตรปโตโซโทซิน ทำการทดลองในหนู 4 กลุ่ม คือ หนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้สารสกัดเทียนดำ (CON), หนูกลุ่มควบคุมที่ให้สารสกัดเทียนดำ (CON-BC), หนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ) และหนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ-BC) ทำการป้อนสารสกัดเทียนดำแก่หนูกลุ่ม CON-BC และ STZ-BC ทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เพื่อศึกษาผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด  ระบบไหลเวียนเลือดภายในไต การทำงานของโกลเมอรูลัส และหลอดไตฝอย ศึกษาพยาธิสภาพของโกลเมอรูลัส โดยการย้อม periodic acid-schiff เพื่อดูการสะสมของสารพวก collagen ใน mesangium และดูการหนาตัวของผนังหลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัส ผลการทดลองพบว่าหนูที่เป็นเบาหวานเมื่อได้รับสารสกัดเทียนดำ มีแนวโน้มในการลดระดับกลูโคสในเลือด มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ของค่าความดันโลหิต systolic pressure และอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการกรองของไต อัตราการไหลของเลือด และพลาสมาเข้าสู่ไต มีการลดลงของค่า filtration fraction และความต้านทานของหลอดเลือดภายในไต หลอดไตฝอยมีการขับทิ้งของน้ำ และแมกนีเซียมไอออนลดลง ผลด้านพยาธิสภาพของไตพบว่าจำนวนโกลเมอรูลัสที่ผิดปกติลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนีชี้วัดการเกิดพยาธิสภาพของไตซึ่งมีแนวโน้มลดลง และประสิทธิภาพการทำงานของไตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปว่าสารสกัดเทียนดำ สามารถลดการเกิดพยาธิสภาพของไต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไต และระบบไหลเวียนเลือดภายในไต ของหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดยใช้สเตรปโตโซโทซิน

           ฤทธิ์ปรับปรุงคุณภาพน้ำอสุจิในชายที่มีบุตรยาก การศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในอาสาสมัครเพศชายที่มีบุตรยากเนื่องจากคุณภาพของน้ำอสุจิผิดปกติ จำนวน 68 คน โดยแบ่งอาสาสมัครให้รับประทานน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ (Nigella sativa L.) ขนาด 2.5 มล. หรือ ยาหลอก วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 เดือน พบว่าน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิ การเคลื่อนที่ของอสุจิ และปริมาตรน้ำอสุจิขึ้น ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของอสุจิ โดยลดจำนวนอสุจิที่มีลักษณะหัวกลม (round cell) ซึ่งเป็นลักษณะเซลล์ที่ผิดปกติลง อีกทั้งยังลดค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำอสุจิลงให้ใกล้เคียงกับค่าปกติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำวันละ 5 มล. เป็นเวลา 2 เดือน ช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำอสุจิในชายที่มีบุตรยากเนื่องจากอสุจิไม่สมบูรณ์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงใดๆ


การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนดำ

การศึกษาพิษเฉียบพลันของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ ในหนูถีบจักร โดยป้อนน้ำมันเทียนดำเข้าทางปาก และฉีดเข้าทางหน้าท้อง ผลการศึกษาพบว่า ค่า LD50 เมื่อให้ทางปาก และฉีดเข้าหน้าท้อง เท่ากับ  28.8และ 2.06 mL/kg ตามลำดับ และการศึกษาพิษเรื้อรังในหนูขาวโดยการป้อนน้ำมันเทียนดำขนาด 2 mL/kg เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ aspartate-aminotransferase, alanine-aminotransferase และ gamma-glutamyl transferase และเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ไต และตับอ่อน ไม่เปลี่ยนแปลง ระดับ serum cholesterol, triglyceride กลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด leukocyte และเกล็ดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ระดับฮีมาโตคริต และฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสรุปน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ มีพิษในระดับต่ำ ค่า LD50 สูง ค่าเอนไซม์ตับยังคงเดิม แต่ต้องพิจารณาจำนวน เม็ดเลือดขาว leukocyte และเกล็ดเลือด การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ ด้วยวิธี TLC พบองค์ประกอบได้แก่ myristic, palmitic, stearic, oleic, linoleic, linolenic, arachidic acids, triterpenes และsaponosides และมีการศึกษาความเป็นพิษและความปลอดภัยของน้ำมันเทียนดำ และสารสกัด ในหนูขวสายพันธุ์ Sprague Dawley ที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานโดยใช้ streptozotocin ทำการทดลองในหนูเพศผู้ อายุ 6-7 สัปดาห์ จำนวน 30 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองได้รับสารสกัดเทียนดำส่วนที่เป็น lipid fraction 4%และกลุ่มที่สามได้รับสารสกัดเทียนดำจากส่วน volatile fraction 0.3% เมื่อผ่านไป 56 วัน ของการศึกษา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเทียนดำทั้งสองกลุ่ม ไม่มีการเกิดพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมและลดอาการต่างๆที่เกิดจากภาวะเบาหวานให้บรรเทาลง ได้แก่ ภาวะไตเป็นพิษ ความไม่สมดุลของค่าทางชีวเคมีต่างๆในเลือด โดยเฉพาะสารสกัดเทียนดำจากส่วน volatile fraction ออกฤทธิ์อย่างมีนัยสำคัญ ได้ดีกว่าส่วนที่เป็น lipid fraction จากการศึกษานี้จึงสรุปว่าสารสกัดจากเทียนดำไม่ก่อให้เกิดพิษในหนูที่เป็นเบาหวานจึงมีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นอาหารเสริมประจำวันแก่คนที่เป็นเบาหวาน

           สารสกัดเมล็ดด้วย 50% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร มีขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้เท่ากับ 250 มก./กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 70% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 0.561 ก/กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 95% เอทานอล ไม่มีพิษเมื่อผสมลงในอาหารหนูขาว 0.5% การทดลองให้กระต่ายกินเมล็ดขนาด 2-8 ก/กก ไม่พบพิษ
           น้ำมันจากเมล็ดเมื่อให้หนูกินในขนาด 1 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่เป็นพิษ โดยพบว่าทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ในตับ และเนื้อเยื่อตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนไม่เปลี่ยนแปลง ค่าระดับคลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ระดับกลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง และ สาร thymoquinone และ thymohydroquinone เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนู พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 10 และ 25 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามลำดับ 

           นอกจากนี้สาร thymoquinone ยังทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดผื่นแพ้สัมผัสที่ผิวหนังได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าผลการศึกษาวิจัยในการบริโภคเมล็ดเทียนดำ หลายฉบับจะระบุว่ามีความปลอดภัยสูง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป และใช้ติดต่อเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจก่อให้เกิดการสะสมของสารต่างๆ และเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง เทียนดำ
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “เทียนดำ ”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 110.
  3. ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์เพศชาย ของ thymoquinone จากเทียนดำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4.  มาเรียม อยู่สุขสวัสดิ์, ศุภางค์ มณีศรี เลอกรองด์. ผลของสารสกัดเทียนดำ (Nigella sativa) ต่อพยาธิสรีรวิทยาของไตในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยสารสเตรปโตโทซิน. โครงการวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553.
  5. ฤทธิ์ต้านภาวะโรคไตที่เกิดจากเบาหวานของสาร thymoquinone จากเมล็ดเทียนดำ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6.  นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. บริษัท ประชาชน จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2541.
  7. ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือดจากเทียนดำ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เทียนดํา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 270.
  9. เทียนดำ.ฐานข้อมูลเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www”thaicrdedrug.com/main.php?action=virepaye&pid=68
  10. น้ำปูนเทียนดำช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำอสุจิในชายที่มีบุตรยาก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. Mahdavi R, Namazi N, Alizadeh M, Farajnia S. Nigella sativa oil with a calorie-restricted diet can improve biomarkers of systemic inflammation in obese women: A randomized double-blind, placebo-controlled clinical trial. Journal of Clinical Lipidology. 2016;10:1203-1211.
  12.  Gali-Muhtasib H, El-Najjar N, Schneider-Stock R. The medicinal potential of black seed (Nigella sativa) and its components.  InM.T.H. Khan and A. Ather (eds.) Lead  Molecules from Natural Products. Elsevier B.V.,2006.
  13.  Zaoui A, Cherrah Y, Mahassini N, Alaoui K, Amarouch H, Hassar M. Acute and chronic toxicity of Nigella sativa fixed oil. Phytomedicine. 2002;9:69-74.
  14.  El-Dakhakhny M, Barakat M, Abd El-Halim M, Aly SM. Effects of Nigella sativa oil on gastric secretion and ethanol induced ulcer in rats. J Ethnopharmacology. 2000;72:299–304.
  15. Sayeed MSB, Asaduzzaman Md, Morshed H, Hossain M, Kadir MF, Rahman R. The effect of Nigella sativa L. seed on memory, attention and cognition in healthy human volunteers. J Ethnopharmacology. 2013;148:780-786.
  16. Manju S, Malaikozhundan B, Withyachumnarnkul B, Vaseeharan B. Essential oils ofNigella sativa protects Artemia from the pathogenic effect of Vibrio parahaemolyticusDahv2. Journal of invertebrate pathology.2016;136: 43-49.
  17. Duke JA, Bogenschutz-Godwin MJ, duCellier J, Duke P-A. Handbook of Medicinal  Herbs. 2nd. CRC Press: Washinton D.C., 2002.
  18. ultan MT, Butt MS, Karim R, Ahmad AN, Suleria HAR, Saddique MS. Toxicological and safety evaluation of Nigella sativa lipid and volatile fractions in streptozotocin induced diabetes mellitus. Asian Pac J Trop Dis. 2014;4 (suppl2):S693-S697.
  19. Ibrahim RM, Hamdan NS, Mahmu R, Imam MU, Saini SM, Rashid SNA, et al. A randomised controlled trial on hypolipidemic effects of Nigella sativa seeds powder in menopausal women. J Transl Med. 2014;12:82-88.
  20. Sayeed MSB, Shams T, Hossain SF, Rahman R, Mostofa AGM, Kadir MF, et al.Nigella sativa L. seeds modulate mood, anxiety and cognition in healthy adolescent males. J Ethnopharmacol. 2014;152:156-162.
  21. Huseini HF, Amini M, Mohtashami R, Ghamarchehre ME, Sadeqhi Z, Kianbakht S, et al. Blood pressure lowering effect of Nigella sativa L. seed oil in healthy volunteers: A randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Phytother Res. 2013;27:1849–1853.
  22. Mohtashami R, Huseini HF, Heydari M, Amini M, Sadeqhi Z, Ghaznavi H, et al. Efficacy and safety of honey based formulation of Nigella sativa seed oil in functional dyspepsia: A double blind randomized controlled clinical trial. J Ethnopharmacology. 2015;175:147-152.