ผักชี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผักชี งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักชี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักไล (ทั่วไป), หอมป้อม, ผักป้อม (ภาคเหนือ), ผักหอมน้อย (ภาคอีสาน), ผักหอม (นครพนม), ยำแย้ (กระบี่), พังไฉ่ (จีนแต้จิ๋ว), ผักกี (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum  L.
ชื่อสามัญ Coriander, Cilantro, Chinese parsley
วงศ์ APIACEAE - UMBELLIFERAE

ถิ่นกำเนิดผักชี

ผักชีเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดีย และเอเซียตะวันตก ถือได้ว่าเป็นเครื่องเทศที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานการปลูกในประเทศอียิปต์นานกว่า 3,500 ปี ซึ่งคำว่า “Coriander” มาจากภาษากรีก “Koris” แปลว่า bug เนื่องจากกลิ่นของลูกผักชี มีกลิ่นเฉพาะคล้าย bed bug ต่อมาก็มีการนำไปปลูกยังประเทศในทวีปยุโรป และเอเชีย สำหรับผักชีที่นำไปปลูกในจีนนั้น เล่ากันว่าได้มีการนำเมล็ดพันธุ์จากประเทศทางตะวันตกของจีนเข้าไปในราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ 1,600 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศที่ปลูก และส่งออกผักชี มากที่สุดในปัจจุบัน คือ ประเทศอินเดีย และมอรอคโค สำหรับในประเทศไทยแหล่งเพาะปลูกสำคัญๆ ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร 

ประโยชน์และสรรพคุณผักชี

  1. แก้พิษตานซาง
  2. ช่วยขับลม
  3. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  4. บำรุงธาตุ
  5. แก้สะอึก
  6. แก้กระหายน้ำ
  7. แก้คลื่นไส้ อาเจียน
  8. เป็นน้ำกระสาย
  9. ยาแก้อาเจียน
  10. แก้ตาเจ็บ
  11. แก้ลมวิงเวียน
  12. บำรุงกระเพาะอาหาร
  13. ทำให้เจริญอาหาร
  14. แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด
  15. คั่วบดผสมสุรากินแก้ริดสีดวงทวาร มีเลือดออก
  16. แก้ปวดฟัน (ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก)
  17. แก้เจ็บในปากคอ (ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก)
  18. ขับเหงื่อ
  19. แก้ปวดศีรษะ
  20. ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว
  21. รักษาเหือดหิด
  22. รักษาอีสุกอีใส
  23. รักษาเด็กออกหัด ต้องการหัดออกเร็วขึ้น
  24. แก้ปวดท้อง
  25. แก้สตรีไม่มีน้ำนมหลังคลอด
  26. ช่วยย่อยอาหาร
  27. แก้ไอ
  28. แก้หวัด
  29. ช่วยอาหารเป็นพิษ
  30. แก้ไข้
  31. แก้เยื่อเมือกอักเสบ
  32. ช่วยละลายเสมหะ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • เด็กออกหัด ต้องการหัดออกเร็วขึ้น ใช้ต้นสด 100 กรัม หั่นฝอยใส่เหล้า 2 แก้วใหญ่ ต้มให้เดือดโดยใช้ฝาครอบไว้ เพื่อป้องกันกลิ่นหายไปหมด ปล่อยให้เย็น เอากากออก นำน้ำมาพรมและทาที่หลัง ขาหน้าอก และท้อง อย่าทาหน้า หรือ ใช้เมล็ดผักชีแห้งประมาณ 120 กรัม ใส่หม้อดิน หรือ หม้อเคลือบ แล้วใส่น้ำพอควรต้ม (ควรใช้เตาถ่านต้มเพราะไฟจะไม่แรงเกินไปและถ่านจะค่อยๆมอดไปเอง) วางไว้ในห้องที่ไม่มีลมโกรก (ควรเป็นห้องเล็กๆ) รมไอที่ต้มเมล็ดผักชี จนผื่นออกทั่วตัวแล้วจึงหยุด
  • บิด ถ่ายเป็นเลือด ใช้ผล 1 ถ้วยชา ตำให้แตก บิดถ่ายเป็นเลือด ผสมน้ำตาลทรายบิดถ่ายเป็นมูก ใช้น้ำขิง สดอุ่นผสมเหล้ากินตอนอุ่นๆ
  • ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ใช้ผลคั่วบดแตกผสมเหล้ากินวันละ 5 ครั้ง หรือ ใช้ต้นสด 120 กรัม ใส่นม 2 แก้วต้มผสมน้ำตาลกิน
  • ปวดฟัน ปากเจ็บ คอเจ็บ ใช้เมล็ดใส่น้ำ 5 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน เอาน้ำอมบ้วนปาก
  • ท้องอืดเฟ้อ ปวดท้อง ใช้ผล 2 ช้อนชา ต้มน้ำกิน
  • สตรีไม่มีน้ำนมหลังคลอด ต้มผักชีตากแห้ง (หรือ สดก็ได้) จำนวนพอควร ต้มน้ำกินเป็นประจำ หรือ จะต้มหัวปลาช่อนแล้วใส่ขิง และผักชี ลงไปก็ได้จะช่วยให้มีน้ำนมไหล
  • ปวดท้อง (มีอาการเย็นบริเวณท้อง) และระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ดผักชี พอประมาณดองเหล้าองุ่นทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วดื่มวันละ 1-2 แก้ว (เป็กกินเหล้า) หลายๆ วันติดต่อกัน
  • ต้นสด ตำพอกขมับทำให้เย็น แก้ปวดศีรษะ น้ำคั้นใช้ทาผื่นแดงคันอักเสบ
  • ต้นสด ต้มน้ำกิน แก้ไอ หวัด อาหารเป็นพิษ
  • ต้น แก้ไข้ ช่วยย่อย แก้สะอึก และกระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน
  • ผล บดเป็นผงแช่น้ำ หรือ ใช้ผลบดผงผสมน้ำตาลคั่วไหม้ บดเป็นผงให้เด็กกินแก้ปวดท้อง ร้อนในกระหายน้ำ และใช้แก้เจ็บคอไอ เยื่อเมือกอักเสบ
  • ช่วยขับเหงื่อ ละลายเสมหะใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะคั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่มแก้อาการก็ได้


ลักษณะทั่วไปผักของชี

ผักชี จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรง ภายในจะกลวง และมีกิ่งก้านที่เล็ก ไม่มีขน มีรากแก้วสั้น แต่รากฝอยจะมีมาก ซึ่งลำต้นนี้จะสูงประมาณ 8-15 นิ้ว ลำต้นสีเขียวแต่ถ้าแก่จัดจะออกเสียเขียวอมน้ำตาล ใบ ลักษณะการออกของใบจะเรียงคล้ายขนนก แต่อยู่ในรูปทรงพัด ซึ่งใบที่โคนต้นนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าที่ปลายต้น เพราะส่วนมากที่ปลายต้นใบจะเป็นเส้นฝอย มีสีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อ ตรงส่วนยอดของต้น ดอกนั้นมีขนาดเล็ก มีอยู่ 5 กลีบสีขาว หรือ ชมพูอ่อนๆ ผล จะติดผลในฤดูหนาว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมโตประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตรงปลายผลจะแยกออกเป็น 2 แฉก ตาวผิวจะมีเส้นคลื่นอยู่ 10 เส้น

ผักชี

ผักชี

การขยายพันธุ์ผักชี

ผักชีเป็นผักที่ปลูกง่าย และไม่ค่อยพบโรค หรือ แมลงศัตรูพืชมากนัก เนื่องจากมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยไล่แมลงได้ โดยสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งมีวิธีการดังนี้ 

           การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่มีการปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์สิงคโปร์ และพันธุ์ไต้หวัน เมล็ดพันธุ์ผักชี ที่ซื้อตามร้านค้ามักผสมกับผงเคมีกันแมลง และความชื้นมาด้วย จึงควรล้างออกให้สะอาด และแช่ด้วยน้ำสะเดาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาหว่านที่แปลง เพื่อช่วยป้องกันแมลงมากัดกินเมล็ดพันธ์ผักชีก่อนการงอก สำหรับการแช่อาจแช่ใส่ถังน้ำ หรือ ใส่ห่อผ้ามัด และแช่ในถังก็ได้

          การเตรียมแปลงปลูก การเตรียมแปลงปลูกเริ่มต้นด้วยการถางหญ้า และปรับพื้นที่แปลงตามประเภทของแปลงให้เหมาะสมกับฤดู และพื้นที่ เช่น

  • ฤดูฝน หรือ พื้นที่ชุ่มตลอดปี ควรทำแปลงปลูกแบบยกร่องสูง หรือ จัดให้มีร่องระหว่างแปลงเพื่อการระบายน้ำ
  • ฤดูแล้ง หรือ พื้นที่ขาดแคลนน้ำ ควรเตรียมแปลงในระดับพื้นหรือแปลงยกสันร่องระหว่างแปลง

           การปลูก ให้ทำการหว่านเมล็ด โดยให้แต่ละเมล็ดห่างกันประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นให้ใช้คราด ทำการคราดตามแนวยาว และแนวขวางของแปลงประมาณ 2 รอบ พร้อมนำฟางข้าวโปรยกลบ ซึ่งควรใช้ฟางข้าวที่มีการบดหรือสับขนาดสั้นๆ และไม่หว่านโปรยให้หนาจนเกินไป พร้อมทำการรดน้ำให้ชุ่ม

           การดูแลรักษา การให้น้ำในระยะเริ่มแรกหลังการหว่านเมล็ดจะให้น้ำประมาณ 2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้าเย็นทุกวัน จนถึงระยะประมาณ 30 วัน ให้เว้นช่วงวันให้น้ำประมาณ 2-3 วัน/ครั้ง โดยให้น้ำเช้าเย็นเช่นกัน สำหรับช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 สัปดาห์ ควรให้น้ำน้อยลงประมาณ 3-4 วัน/ครั้ง


องค์ประกอบทางเคมี

ส่วนใบ และทั้งต้นของผักชี ประกอบด้วยกลุ่มสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เช่น quercetin, quercetin 3-glucuronide, isoquercitrin, quercetin-3-O-beta-glucuronide, rutin; สารกลุ่มแลคโตน (lactones) เช่น coumarins, coriandrin (furoisocoumarin), coriandrones (isocoumarins), alantolactone, isoalantolactone; สารกลุ่ม phenolic acids เช่น tannic, gallic, caffeic, cinnamic, chlorogenic, ferulic, และ vanillic acids; สารกลุ่มแทนนิน (tannins); สารกลุ่มคาโรทีนอยด์ (carotenoids) เช่น beta-carotene; น้ำมันหอมระเหย (ประกอบด้วยสารกลุ่ม monoterpenes และ sesquiterpenes ได้แก่ 2E-decenal, decanal, nonanal linalool, 2E-decen-1-ol, และ n-decanol)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักชี

โครงสร้างผักชี

ที่มา : Wikipedia

             ส่วนในผลผักชีประกอบด้วยกลุ่มสารได้แก่ saponins, amino acids, starch, triterpenoid และ steroidal glycosides, polyacetylenes, aromatic compound glycosides, phenolic compounds และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่ม monoterpenoids, monoterpenoid glycosides, monoterpenoid glucoside sulfates และสารประกอบหลัก คือ linalool และ geraniol

           นอกจากนี้ ใบลำต้นของผักชี ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของผักชีสดต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน                           23       กิโลแคลอรีรากผักชี
  • คาร์โบไฮเดรต                  3.67    กรัม
  • น้ำตาล                              0.87    กรัม
  • เส้นใย                               2.8      กรัม
  • ไขมัน                                0.52    กรัม
  • โปรตีน                              2.13    กรัม
  • น้ำ                                     92.21  กรัม
  • วิตามินเอ                         337     ไมโครกรัม (42%)
  • เบตาแคโรทีน                   3,930  ไมโครกรัม (36%)
  • ลูทีน และซีแซนทีน          865     ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1                       0.067   มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี 2                        0.162   มิลลิกรัม 14%
  • วิตามินบี 3                        1.114   มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 5                      0.57     มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 6                        0.149   มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 9                        62       ไมโครกรัม 16%
  • วิตามินบี 12                     0         ไมโครกรัม 0%
  • วิตามินซี                           27       มิลลิกรัม 33%
  • วิตามินอี                          2.5      มิลลิกรัม 17%
  • วิตามินเค                          310     ไมโครกรัม 295%
  • ธาตุแคลเซียม                 67       มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุเหล็ก                         1.77     มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุแมกนีเซียม              26       มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุแมงกานีส                0.426   มิลลิกรัม 20%
  • ธาตุฟอสฟอรัส                 48       มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุโพแทสเซียม             521     มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุโซเดียม                     46       มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุสังกะสี                      0.5      มิลลิกรัม 5%


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักชี

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนใบและลำต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสกัดจากน้ำสารสกัด ethyl acetate จากส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี

           ฤทธิ์ต้านการชัก และต้านการถูกทำลายของเซลล์สมอง สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเอทิลอะซิเทรตจากส่วนใบ และลำต้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านการชัก และต้านการถูกทำลายของเซลล์สมองของหนูแรทได้ดีกว่าสารสกัดจากบิวทานอล ซึ่งสารสำคัญในสารสกัดน้ำ คือ สารกลุ่ม flavonoids glycosides ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนลำต้นมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ดี น้ำมันหอมระเหยสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (Staphylococcus aureus, Bacillus spp.) และ แกรมลบ (Escherichia coli, Salmonella typhi, Klebsiella pneumonia, Proteus mirabilis) และเชื้อราที่ก่อโรค (Candida albicans)

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำการทดลองโดยให้ผงเมล็ดผักชีลา นำมากระจายตัวในน้ำ ในขนาด 250 และ 500 mg/kg แก่หนูแรท สายพันธุ์วิสตาร์ โดยให้สายอาหารไปยังกระเพาะอาหารหนู เป็นเวลา 30 นาที ก่อนจะได้รับสารที่กระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ 25% NaCl, 0.2M NaOH, 80% ethanol และยาต้านการอักเสบ indomethacin (30mg/kg) ผลยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าผงผักชีลา ขนาด 250 mg/kg ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย NaCl ได้ ผลผักชีลาขนาด 500 mg/kg ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย NaCl และ ethanol ได้ ผลต่อการปกป้องเยื่อเมือกที่กระเพาะอาหาร ที่เหนี่ยวนำให้เยื่อเมือกในกระเพาะอาหารลดลง ด้วย 80% ethanol พบว่าการให้ผงผักชีลาในขนาด 250 และ 500 mg/kg แก่หนูแรท ก่อนให้เอทานอล ทำให้ระดับของเยื่อเมือกกลับมาสู่ภาวะปกติได้ แต่ผลผักชีลาไม่สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำด้วย indomethacin

           ฤทธิ์คลายความวิตกกังวล การศึกษาฤทธิ์คลายกังวล ของสารสกัดน้ำจากเมล็ดผักชีลา ในหนูถีบจักรเพศผู้ ด้วยวิธี elevated plus-maze ซึ่งเป็นวิธีประเมินฤทธิ์คลายกังวลโดยทดสอบความกลัว และอาการวิตกกังวลของหนู เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย โดยถ้าสารมีฤทธิ์คลายกังวล หนูจะเข้าไปใน open arm หรือ ใช้เวลาใน open arm นานขึ้นภายในเวลา 5 นาที การทดสอบใช้สารสกัดในขนาด 10, 25, 50,100 mg/kg โดยการฉีดเข้าช่องท้องของหนู พบว่าที่ขนาด 100 mg/kg มีฤทธิ์ในการคลายกังวล โดยทำให้หนูใช้เวลาอยู่ใน  open arm นานขึ้น ดังนั้นสารสกัดน้ำจากเมล็ดผักชีลา จึงมีศักยภาพในการนำไปพัฒนายาคลายความวิตกกังวล และอาจมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับได้ด้วย

           อันตรกิริยา (ยาตีกัน) ของผลผักชี และสารสกัดกับยาแผนปัจจุบันและสมุนไพร

           อันตรกิริยากับยาลดน้ำตาลในเลือด ผลผักชีและสารสกัดจากผลผักชีมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ ฉะนั้นจะเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด (เช่น glimepiride, glyburide, insulin, pioglitazone, rosiglitazone)

            อันตรกิริยากับยาลดความดันเลือด ผลผักชีมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ ฉะนั้นจะเสริมฤทธิ์กับยาลดความดันเลือด (เช่น captopril, enalapril, losartan, valsartan, diltiazem, amlodipine, hydrochlorothiazide, furosemide)

           อันตรกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ผลผักชีจะเสริมฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดกับสมุนไพร devil's claw, fenugreek, guar gum, Panax ginseng, Siberian ginseng

           อันตรกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดความดัน ผลผักชีมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ ฉะนั้นจะเสริมฤทธิ์กับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดความดันเลือด (เช่น andrographis, casein peptides, cat's claw, coenzyme Q-10, fish oil, L-arginine, lycium, stinging nettle, theanine)

           อันตรกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางสารสกัดผลผักชี มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ฉะนั้นจะเสริมฤทธิ์กับสมุนไพร และสารที่มีผลกดประสาทส่วนกลาง (เช่น 5-HTP, calamus, catnip, hops, Jamaican dogwood, kava, St. John's wort, skullcap, valerian, yerba mansa)

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักชี

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่าเปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

           แต่การรับประทานผลผักชี หรือ ที่เรียกว่าลูกผักชีหรือน้ำมันหอมระเหยในปริมาณมากจะทำให้เสพติดได้ และมีผลต่อเซลล์ตับ จากการศึกษาโดยการกรอกน้ำมันหอมระเหยจากผลผักชีให้กับหนูเป็นเวลา 28 วัน พบว่า ขนาด NOEL (ขนาดที่ให้มากที่สุด ซึ่งได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อร่างกาย) มีค่าประมาณ 160 mg/kg และค่า NOAEL (ปริมาณที่มากที่สุดซึ่งได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษ หรือ ผลเสีย (adverse effects) ใดๆ ต่อร่างกาย) มีค่าเท่ากับ 250 mg/kg น้ำมันหอมระเหยผลผักชีในปริมาณที่สูงจะมีผลต่อเซลล์ตับ ทำให้ไขมันแทรกซึมเข้าเซลล์ตับ และน้ำมันหอมระเหยไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ แต่มีผลระคายเคืองต่อกระต่าย แต่ไม่มีผลต่อคน

           การศึกษาความเป็นพิษและฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดด้วยน้ำจากใบผักชีในขนาดความเข้มข้นสูงมีผลก่อกลายพันธุ์ในการศึกษาในหลอดทดลอง (วิธี Ames test) และมีผลต่อเซลล์ของคน (human cell lines: WRL-68 และ 293Q cells) ในหลอดทดลอง โดยทำให้เกิด apoptosis และ necrosis และมีผลทำให้ทารกผิดปกติในครรภ์มารดา (วิรูป) ในการทดลองในสัตว์ทดลอง (ไก่) จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดด้วยน้ำในขนาดสูงมีความไม่ปลอดภัยและอาจจะก่อเกิดผลอันตรายได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1.  ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรทานมาก เพราะผักชีมีโพแทสเซียม สูง อาจเป็นอันตรายได้
  2. ควรระวังในคนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี (Apiaceae) หรือ คนที่มีประวัติแพ้ คึ่นช่าย (Celery), ยี่หร่า (Caraway), เทียนข้าวเปลือก (Fennel), เทียนสัตตบุศย์ (Anise), กระเทียม, หอมใหญ่ 
  3. อาการแพ้ที่พบได้ คือ ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) และทำให้ผิวไวต่อแสงแดดซึ่งมีผลที่จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง, เยื่อบุจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Rhinoconjunctivitis), และหลอดลมเกร็งตัว (Bronchospasm)
  4.  การใช้ทางผิวหนัง อาจทำให้แพ้ได้ถ้าถูกแสง เนื่องจากผลผักชี มีสารกลุ่มคูมาริน
  5. ผู้ที่มีกลิ่นปาก (รวมทั้งฟันผุ) กลิ่นรักแร้แรง หรือ เป็นฝี ไม่ควรกินผักชี เพราะจะทำให้กลิ่นต่างๆ หรือ ฝีมีอาการรุนแรงขึ้น

เอกสารอ้างอิง ผักชี
  1. รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ผักชีของไทย. ดังไกลถึงญี่ปุ่น. แล้วประโยชน์คืออะไร. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  3. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  4. วิทิต วัณนาวิบูลย์.ผักชีโรยหน้าจริงหรือ?.คอลัมน์อาหารสมุนไพร .นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 99.กรกฎาคม.2530
  5. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.ผักชี.คอลัมน์ อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 83. มีนาคม. 2529
  6. ผักชี.กลุ่มยาแก้ปวดฟัน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/phnt.data/herbs_18_3.htm
  7. ผักชีลา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrag.com/main.php?action=viewpayr&pid=155
  8. การปลูกผักชี...แบบในดกเขียว. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. Emamghoreishi M, Khasaki M, AazamMF.Coriandrum sativum: evaluation of its anxiolytic effect in the elevated plus-maze. J Ethnopharmacology. 2005;96:365–370.
  10. Eidi M, Eidi A, Oryan S, Saeidi A. Effect of Coriandrum sativum L. seeds on blood glucose in streptozotocin-induced diabetic rats. Iranian J Pharm Res. 2004;Supple 2:59.
  11. Khalili M, Atyabi M. Analgesic effect of aqueous leaf extract of Coriandrum sativum in male streptozotocin-diabetic rats. Iranian J Pharm Res. 2004;supple 2:55.
  12. Al-Said MS, Al-Khamis KI, Islam MW, Parmar NS, Tariq M, Ageel AM. Post coital antifertility activity of the seeds of Coriandrum sativum in rats. J Ethnopharmol. 1987;21:165-73.
  13. Gray AM, Flatt PR. Insulin releasing and insulin like activity of the traditional antidiabetic plant Coriandrum sativum (coriander). Br J Nut. 1999;81:203-9.
  14. Taherian AA, Vafaei AA, Ameri J. Opiate system mediate the antinociceptive effects of Coriandrum sativum in mice. Iranian Journal of Pharmaceutical Research. 2012;11(2):679-88.
  15. Al-Mofleh IA, Alhaider AA, Mossa JS, Al-Sohaibani MO, Rafatullah S, Qureshi S. Protection of gastric mucosal damage byCoriandrum sativum L. pretreatment in wistar albino rats. Environmental Toxicology and Pharmacology 2006;22:64–69.
  16. Anaeigoudari A, Hosseini M, Karami R, Vafaee F, Mohammadpour T, Ghorbani A, et al. The effects of different fractions of Coriandrum sativum on pentylenetetrazole-induced seizures and brain tissues oxidative damage in rats. Advance Journal of Phytomedicine. 2016;6(2):223-35.
  17. Reyes MR, Reyes-Esparza J, Angeles OT, Rodriguez-Fragoso L. Mutagenicity and safety evaluation of water extract of Coriander sativum leaves. J Food Sci. 2010;75:T6-T12.
  18. Wangensteen H, Samuelsen AB, Malterud KE. Antioxidant activity in extracts from coriander. Food Chemistry. 2004;88(2):293-7.
  19. Chitra V, Leelamma S. Hypolipidemic effect of coriander seeds (Coriandrum sativum): mechanism of action. Plant Foods Human Nutr. 1997;51:167-72.
  20. Taherian AA, Vafaei AA, Rashidy-Pour A, Emamiabarghoei M, Miladi-Gorgi H, Jarrahi M, et al. Effects of aqueous extract of seed of Coriandrum sativum on acute pain in mice. J Med Plants. 2005;4:30-5.
  21. Swanston-Flatt SK, Day C, Bailey CJ, Flatt PR. Traditional plant treatments for diabetes: studies in normal and sterptozotocin diabetic mice. Diabetologia. 1990;33:462-4.
  22. Wong PYY, Kitts DD. Studies on the dual antioxidant and antibacterial properties of parsley (Petroselinum crispum) and cilantro (Coriandrum sativum) extracts. Food Chemistry. 2006;97(3):505-15.
  23. Kansal L; Sharma V; Sharma A; Lodi S; Sharma SH. Protective role of Coriandrum sativum (coriander) extracts against lead nitrate induced oxidative stress and tissue damage in the liver and kidney in male mice. International Journal of Applied Biology and Pharmaceutical Technology. 2011;2(3):65-83.
  24. Taherian AA, Rashidy-Pour A, Vafaei AA, Jarrahi M, Miladi-Gorgi H, Emami-abarghoei M, et al. Effects of aqueous extract of the Coriandrum sativum seed on the reduction of acute and chronic pain in mice. J Rafsanjan Univ Med Sci. 2004;3:243-9.
  25. Matasyoh JC, Maiyo ZC, Ngure RM, Chepkorir R. Chemical composition and antimicrobial activity of the essential oil of Coriandrum sativum. Food Chemistry. 2009;113(2):526-9.