สับปะรด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สับปะรด งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สับปะรด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะะเขือหนัด, บะหนัด, บ่อหนัด (ภาคเหนือ), ขนุนทอง, ย่านนัด, ย่านัด (ภาคใต้), บักนัด (ภาคอีสาน), ลิงทอง (เพชรบูรณ์), แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แนะซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), หมากเก็ง (ไทยใหญ่), ม้าเนื่อ (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus (L.)  
ชื่อสามัญ Pineapple
วงศ์ Bromeliaceae

ถิ่นกำเนิดสับปะรด

สับปะรด มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ทางตอนกลาง ตอนใต้ของบราซิล และตอนเหนือของปารากวัย และอาร์เจนตินา โดยชาวพื้นเมืองมักจะปลูกสับปะรด กันตามบริเวณชายฝั่งตะวันออก และตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และแปซิฟิกของอเมริกากลาง และหมู่เกาะต่างๆ ในแถบเวสท์อินดี้ส์ก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินเรือไปยังซีกโลกตะวันตก

            นักเดินเรือชาวสเปน ชื่อคริสสโตเฟอร์ โคลัมบัส นับเป็นชาวยุโรปที่เดินเรือไปพบสับปะรดเข้าเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ.1493 (พ.ศ.2036) ที่หมู่บ้านชาวพื้นเมือง และหลังจากรับประทานผลสับปะรด แล้วได้ตั้งชื่อเกาะนั้นว่ากัวเดอลูป (Guadaloupe) ต่อมานักเดินเรือชาวสเปน และโปรตุเกสจึงเป็นผู้เผยแพร่พันธุ์สับปะรดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

           สำหรับในประเทศไทยมีรายงานว่า พบสับปะรดครั้งแรกราว พ.ศ.2223-243 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีการสันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ามาติดต่อกับประเทศไทยเป็นผู้นำสับปะรดเข้ามา และสับปะรดยุคนั้นน่าจะเป็นพันธุ์อินทรซิต หรือ สับปะรด กลุ่มสแปนนิช (Spanish)

ประโยชน์และสรรพคุณสับปะรด

  1. ช่วยขับเหงื่อ
  2. ใช้ห้ามเลือด
  3. แก้ทางปัสสาวะ
  4. ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ
  5. แก้โลหิตระดู
  6. บำรุงโลหิต
  7. แก้นิ่ว
  8. แก้ระดูขาว
  9. เป็นยาระบาย
  10. แก้หนองใน
  11. ช่วยย่อยอาหาร
  12. แก้ปัสสาวะพิการ (ปัสสาวะขัด)
  13. ช่วยขับปัสสาวะ
  14. กัดเสมหะในลำคอ
  15. แก้เสมหะเหนียว ขับเสมหะ
  16. แก้ไอ
  17. ระงับการอักเสบแ ละบวม
  18. ทำให้แผลหายเร็ว
  19. แก้กษัย
  20. ทำให้ไตมีสุขภาพดี
  21. ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  22. ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย
  23. ช่วยเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรน
  24. ช่วยบรรเทาโรคเก๊าท์

           สับปะรด ใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่เมื่อรับประทานแล้วจะรู้สึกสบายท้อง ไม่รู้สึกอึดอัด หรือ นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงสับปะรด ผัดเปรี้ยวหวาน เป็นต้น หรือ จะนำมาใช้แปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ทำเป็นสับปะรดกวน ไวน์สับปะรด แยมสับปะรด สับปะรดอบแห้ง น้ำผลไม้รวม น้ำสับปะรด น้ำส้มสายชู หรือ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก็ได้ 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการบริโภคสับปะรดที่เหมาะสมต่อวัน คือ เนื้อสับปะรด 2 ชิ้น ซึ่งจะมีวิตามินซี อยู่ประมาณ 100 มิลลิกรัม สับปะรดที่ถูกแปรรูปแล้ว และอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำสับปะรด ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักมีสารโบรมีเลนอยู่ประมาณ 500 มิลลิกรัม 

           สำหรับการใช้สารโบรมีเลนที่เป็นสารสกัดจากสับปะรด เพื่อผลทางการรักษา ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาปริมาณตามความเหมาะสม (โดยปริมาณทั่วไปอยู่ที่ครั้งละ 40 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน) ส่วนในขนาดการใช้ตามตำราสมุนไพร คือ แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ ใช้เหง้าสด หรือ แห้งวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร บรรเทาอาการปวดของโรคเกาต์ โดยทานสับปะรด 1/4 ผล (ขนาดเล็ก) วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมงครึ่ง


ลักษณะทั่วไปของสับปะรด

สับปะรดป็นไม้ล้มลุก สูง 50-125 ซม. ลำต้นใต้ดิน ปล้องสั้น ไม่แตกกิ่งก้านมีแต่กาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนถี่ ไม่มีก้านใบ ใบเรียวยาว โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ใบเดี่ยวเกิดจากรากเรียงเวียนเป็นกระจุก รูปแถบ กว้าง 1.5-6 ซม. ยาว 50-150 ซม. ขอบใบโค้งขึ้นมีหนามแหลมคล้ายกับใบว่านหางจระเข้ เนื้อใบหนา แข็ง มีเส้นใย ท้องใบมีเกล็ดสีขาว ดอกช่อเชิงลดออกที่ปลายยอด ใบประดับสีแดง เหลือง หรือ เขียว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉก รูปไข่แกมสามเหลี่ยม กลีบดอกรูปแถบแกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนกลีบสีขาว ปลายกลีบสีม่วง หรือ แกมชมพู ยาว 16-26 มม. เป็นผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล เรียกว่าตะเกียง ผลจะเป็นชนิดผลรวมอัดกันแน่นอยู่บนแกนกลาง และต่อเลยเป็นก้านของผลซึ่งกลม และใหญ่ เนื้อของผลรวมเมื่อสุกมีรสหวาน หรือ หวานอมเปรี้ยว มีน้ำมาก ผลส่วนมากมักมีสีเขียวเมื่อยังไม่สุก หรือ สีน้ำตาลแดง และเมื่อสุกสีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว บางพันธุ์เหลืองอมส้ม

สับปะรด

สับปะรด

การขยายพันธุ์สับปะรด

ในปัจจุบันการขยายพันธุ์สับปะรด นิยมทำ 2 วิธี คือ การปลูกด้วยหน่อ และการปลูกด้วยจุก โดยมีวิธีการดังนี้

            การปลูกด้วยหน่อ คัดเลือดหน่อให้มีขนาดเท่าๆ กันในแต่ละแปลง และไม่ควรใช้หน่อที่หักจากต้นไว้ นานเกินไป แล้วขุดหลุมกว้างพอประมาณเป็นลักษณะแถวคู่ โดยมีระยะห่างระหว่าง ต้น x ระหว่างแถว x ระหว่างแถวคู่ ประมาณ 30x60x90 เซนติเมตร แล้วนำหน่อพันธุ์ที่ชุบจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มาแล้วลงปลูก กลบดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ

            การปลูกด้วยจุก คัดเลือกจุกที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 180 กรัมขึ้นไป และให้มีขนาดเท่าๆ กัน แล้วนำไปชุบด้วยจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคราเน่า โดยให้ปลูกในลักษณะแถวคู่ให้มีระยะห่าง 30x30x90 เซนติเมตร ส่วนสับปะรด ที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3 กลุ่ม คือ Cayenne (พันธุ์ปัตตาเวีย หรือ ที่เรียกว่าสับปะรดศรีราชา และพันธุ์นางแล), Queen (พันธุ์ภูเก็ต), และ Spanish (พันธุ์อินทรชิตและพันธุ์ขาว) สำหรับแหล่งปลูกที่สำคัญๆ ในไทยมักจะอยู่ใกล้ๆ ทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี หรือ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เป็นต้น 


องค์ประกอบทางเคมี

ในสับปะรด มีสารออกฤทธิ์สำคัญๆ คือ สารในกลุ่ม phytoestrogens, isoflavones, lignans, phenolics โดยสามารถแยกตามส่วนต่างๆ ดังนี้

  • เหง้า มี Protein
  • ลำต้น มี Bromelain, Peroxidase, Amylase, Proteinase (มีรายงานว่าในส่วนลำต้นที่มีอายุ 3 ปี จะมีเอนไซม์ Bromelain มากที่สุด)
  • ใบ มี Hemicellulose, Bromelain, Campestanol
  • ผล มี Acetaldehyde, Ethyl acetate, Acetone
  • น้ำมันหอมระเหย มี Isobutanol

           นอกจากนี้ยังพบ Citric acid, Malic acid, Ascobic acid, 1-glutamic acid และ flavonoids รวมอยู่ด้วย ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของสับปะรด ประกอบไปด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของสับปะรด (100 กรัม)

  • พลังงาน                          50         กิโลแคลลอรี
  • น้ำ                                   86         กรัม
  • โปรตีน                            0.54      กรัม
  • ไขมันรวม                        0.12      กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต                13.12    กรัม
  • ไฟเบอร์                          1.4        กรัม
  • น้ำตาล                           9.85       กรัม
  • แคลเซียม                     13          มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                       0.29       มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                    12          มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                    8            มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                 109         มิลลิกรัม
  • โซเดียม                         1             มิลลิกรัม
  • สังกะสี                          0.12        มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ                       58           IU
  • วิตามินบี 1                     0.079      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                    0.032      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3                     0.5          มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 4                     0.231      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6                   0.112       มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                       47.8         มิลลิกรัม
  • โฟเลต                          18            µg
  • โคลีน                            5.5          มิลลิกรัม                                                                                                                 
  • แมงกานีส                   0.927       มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสับปะรด

โครงสร้างสับปะรด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสับปะรด

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าน้ำคั้นจากสับปะรด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างอ่อน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และยับยั้งการเกิดมะเร็ง เอนไซม์บรอมมีเลนมีฤทธิ์ย่อยโปรตีน ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต้านมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยย่อยอาหาร และมีฤทธิ์ลดอาการบวมและการอักเสบ การทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าโดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดที่มีเอนไซม์บรอมมีเลนขนาด 200 และ 400 มก./วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง


การศึกษาทางพิษวิทยาของสับปะรด

มีรายงานว่าการบริโภคสับปะรด มากเกินไปสามารถทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ และสารสกัดน้ำจากส่วนเหง้าของสับปะรดอาจมีพิษต่อไต และทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แต่สำหรับในแกน หรือ ไส้ของสับปะรดยังไม่มีรายงานความเป็นพิษต่อไตและตับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การรับประทานสับปะรด หลังมื้ออาหารจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร ซึ่งการรับประทานสับปะรดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเล็กน้อยภายในปาก ริมฝีปาก และลิ้นได้
  2. ไม่ควรทานสับปะรดตอนท้องว่าง เพราะเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์มาก มีรสเปรี้ยว ทานแล้วอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร 
  3. โดยทั่วไป การบริโภคสับปะรด จะปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่พอดี 
  4. สำหรับผู้ที่แพ้พืชในตระกูลเดียวกับสับปะรดควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
  5. สารโบรมีเลนในสับปะรดมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม สารนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือ อาจมีผดผื่นคันตามผิวหนัง

สับปะรด

เอกสารอ้างอิง สับปะรด
  1. ภก.กฤติยา ไชยนอก. สับปะรด ผลไม้รักษาโรค. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. นันทวัน บุณยะประภัทศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 4. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด, 2543: 740 หน้า.
  3. อรัญญา ศรีบุศราคัม. สับปะรด. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2544;18(4):3-7.
  4. สับปะรด .กลุ่มบาขับปัสสาวะ สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด .โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.repg.or.th/plant_data/herbs_12_5.htm
  5. กฤติยาไชยนอก. น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2554;28(4):9-20.
  6. คุณประโยชน์ของแกนสับปะรด. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5751
  7. สับปะรดผลไม้มากคุณประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. Backer CA, Brink RCB. Flora of Java Vol. III. Groningen: N.V. Wolters-Norrdhoff, 1968:761pp.
  9. The Thailand research fund (TRF). Durian. Proceeding of “Thai fruits-functional fruits” THAIFEX World of Food Asia 2010; 2010 July 1-2; Bangkok, Thailand. Bangkok: Square Print’93 co.,ltd;2010.