ชุมเห็ดเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชุมเห็ดเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชุมเห็ดเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้คาก, ลับมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ, หญ้าเล็บมือหลวง (ภาคเหนือ), ส้มเห็ด (เชียงราย), จุมเห็ด (มหาสารคาม), ชุมเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง), ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตุ๊ยเฮียะเต่า, ฮุยจิวบักทง (จีน), ตุ้ยเย่โต้ว (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia alata (L.) Roxb., Cassia bracteata L.f.
ชื่อสามัญ Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Ringworm bush
วงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSAE ) - Caesalpinioideae

ถิ่นกำเนิดชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยกำลังนิยมปลูกชุมเห็ดเทศ กันเป็นอย่างมากเพราะว่ามีราคาที่สูง และยังสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ตามที่ชุ่มชื้น ทุกสภาพดินแต่ไม่ขอบที่ร่มมาก มักพบทั้งบริเวณที่ราบ และบนเขาที่มีความสูงไม่เกิน 1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณชุมเห็ดเทศ

  1. แก้อาการท้องผูก
  2. เป็นยาระบาย
  3. ช่วยกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดีขึ้น
  4. รักษากระเพาะอาหารอักเสบ
  5. แก้กระษัยเส้น
  6. ช่วยทำหัวใจให้ปกติ
  7. ช่วยขับปัสสาวะ
  8. ขับพยาธิ
  9. รักษาฝี และแผลพุพอง
  10. รักษากลาก เกลื้อน โรคผิวหนัง
  11. รักษาผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน โรคผิวหนังอื่นๆ
  12. แก้ตานซาง
  13. แก้ท้องขึ้น
  14. แก้นอนไม่หลับ
  15. ช่วยบำรุงหัวใจ
  16. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
  17. ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต
  18. มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  19. ต้านการก่อยับยั้งเนื้องอก
  20. รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย

ชุมเห็ดเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

อาการท้องผูก ใช้ใบจำนวน 12-15 ใบย่อย ตากแห้ง คั่ว (หากไม่คั่วเสียก่อน จะเกิดอาการข้างเคียง คือ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อคั่วความร้อนจะช่วยให้สารที่ออกฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียนสลายไป) แล้วนำไปต้มกับน้ำพอควร ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืด หรือ ก่อนนอน หรือ ใช้ผงใบ 3-6 กรัม ชงน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 นาที ดื่มก่อนนอน อาจทำเป็นยาลูกกลอนก็ได้ หรือ ใช้ช่อดอกสด 1-3 ช่อดอกลวก จิ้มน้ำพริก หรือ ใช้ดอก 1 ช่อ กินสดๆ เป็นยาระบาย รวมถึงใช้ใบ และก้านขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ช่อ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 2 ขัน (1500 ซี.ซี.) ต้มให้เดือดเหลือน้ำประมาณ 1/2 ขัน ใส่เกลือพอมีรสเค็มเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 แก้ว (250 ซี.ซี.) ครั้งต่อไป รับประทานดอกครั้งละประมาณ 1 ช่อ

           การใช้ชุมเห็ดเทศ รักษากลาก เกลื้อน นำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือผื่นคัน หรือ อาจนำใบชุมเห็ดเทศ 3-4 ใบ มาตำให้ละเอียดเติมน้ำมะนาว นิดหน่อย ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง หรือ ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆ และบ่อยๆ ตรงบริเวณที่เป็น

           รวมถึงใช้ใบสด 4-5 ใบ ตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นซึ่งได้ใช้ไม้ไผ่บางๆ ฆ่าเชื้อแล้วขูดผิวบริเวณที่นั้นให้มีสีแดง (กรณีกลาก) ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย และเมื่อหายแล้วให้ทาไปอีก 1  สัปดาห์ หรือ จะใช้ใบสดตำแช่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี แต่ไม่ค่อยได้ผลในกลากที่ผมและเล็บ

           รักษาฝีแผลพุพอง ใช้ใบชุมเห็ดเทศ 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วม เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาชะล้างฝีที่แตกแล้ว หรือ แผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากใช้สมุนไพร 10-12 กำมือ ต้มกับน้ำใช้อาบเช้าเย็น จนกว่าจะหาย

           ใช้ใบสดตำพอก เพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น หรือ จะใช้ใบผสมกับน้ำปูนใส หรือ เกลือ หรือ น้ำมันตำพอก รักษากลาก แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง นอกจากนี้ยังใช้ใบตำพอก หรือ คั้นเอาน้ำผสมน้ำปูนใสทา หรือ ผสมวาสลิน ใช้ทำเป็นยาขี้ผึ้งทาได้อีกด้วย

           ส่วนยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติที่แนะนำให้ใช้ คือ รับประทานครั้งละ 1-2 ซอง (ใบชุมเห็ดเทศแห้งซองละ 3 กรัม) (3-6 กรัม) ชงในน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร นาน 10 นาที วันละ 1 ครั้งก่อนนอน บรรเทาอาการท้องผูก


ลักษณะทั่วไปของชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ จัดเป็นพุ่มไม้ขนาดกลาง สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นแข็งมีเนื้อไม้ ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 8-20 คู่ ยาว 5-15 เซนติเมตร ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 5-15 ซม. แกมรูปรี โคนใบมน ปลายใบมน กลม หรือ เว้าเล็กน้อย ไม่มีต่อม ฐานใบมนไม่เท่ากันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบมีสีแดง แกนกลางใบหนา ยาวประมาณ 30-60 ซม. ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 ซม. หูใบรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาว 6-8 มม. ติดทน ดอกย่อยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมาก ใบประดับเป็นแผ่นบางๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวปลายแหลมมี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลืองปลายมนมี 5 กลีบ ลายเส้นที่กลีบดอกเห็นได้ชัด เกสรตัวผู้ยาว ไม่เท่ากัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสัน หรือ ปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

การขยายพันธุ์ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การใช้เมล็ดและการปักชำ แต่ส่วนมากจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมากกว่า ซึ่งมีวิธีการปลูกดังนี้

  1. การเตรียมดินให้กำจัดวัชพืชและเศษวัสดุ พร้อมทั้งไถพรวนและตากดินไว้ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 2 ตันต่อไร่
  2. การเตรียมพันธุ์ คัดเลือดเมล็ดที่แก่จัด แล้วนำมาแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นคลุกกับทรายในอัตรา 1: 1-2 แล้วหุ้มด้วยผ้าขาวบาง รดน้ำให้ชุ่ม เก็บในที่ร่ม 1-2 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก
  3. การปลูก หากปลูกแบบหยอดหลุมด้วยเมล็ดที่เริ่มงอก ให้หยอดหลุมละ  5-6 เมล็ด ให้มีระยะห่างระหว่างต้น และระหว่างแถว 3x4 เมตร เมื่อปลูกเสร็จใช้ผ้าคลุมบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม หากปลูกแบบใช้ต้นกล้าให้น้ำต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดที่มีอายุ 30 วัน หรือ มีใบจริง 5-7 ใบ มาปลูกลงแปลง รดน้ำให้ชุ่ม ปักไม้ค้ำยันไว้ และผูกติดกับต้นกล้าแล้วคลุมโคนต้นด้วยผ้า และควรรดน้ำให้ชุ่มเสมอในช่าง 2 เดือนแรก


องค์ประกอบทางเคมี

ชุมเห็ดเทศ มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญประกอบด้วยสารกลุ่ม Anthraquinone โดยในใบชุมเห็ดเทศ ควรมีสาระสำคัญ Hydroxy-anthracene derives ไม่น้อยกว่า 1.0% w/w (โดยคำนวณเป็น rhein-8-glucoside) เช่น Aloe-emodin, Chrysophanol, Chrysophanic acid, lsochrysophanol, Physcion glycoside, Terpenoids, Sennoside, Sitosterols, Lectin, Rhein.

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของชุมเห็ดเทศ

โครงสร้างชุมเห็ดเทศ 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดเทศ

           ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 5 กรัม/กิโลกรัม ทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาหดตัวได้ร้อยละ 25 ของฤทธิ์จากฮีสตามีน 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม มีผลเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ของหนูเม้าส์ได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 15 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาหดตัวได้ในหลอดทดลอง ในขณะที่สารกลัยโคไซด์จากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้

          ฤทธิ์ในการรักษาอาการท้องผูก เมื่อให้สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศแห้งด้วยน้ำร้อนกับหนูแรททางปากในขนาด 500 และ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ช่วยระบาย และเมื่อให้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำกับหนูเม้าส์ทางปากในขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 5, 10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม จะทำให้หนูเม้าส์ถ่ายเหลว โดยการให้ในขนาดต่ำ (5 กรัม/กิโลกรัม) จะออกฤทธิ์ช้ากว่าในขนาดสูง (10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม) สาร anthraquinone glycoside จากใบได้แก่ isocrysophanol, physcion-l-glycoside, chrysophanol, emodine, rhein, และ aloe-emodin มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย

          ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำ สารสกัดด้วยเอทานอลสารสกัดด้วยเมทานอล และสาร aloe-emodin, rhein emodol, 4,5-dihydroxy-1-hydroxymethylanthrone, 4,5-dihydroxymethylanthraquinone และ chrysophanol จากใบชุมเห็ดเทศ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ผิวหนังได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, T. mentagrophytes และ M. canis เมื่อเทียบกับยา tolnaftate สารสกัดด้วยน้ำ และเอทานอลจากเปลือกต้นชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้ โดยที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/ไมโครลิตร จะให้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับยา ticonazole 30 ไมโครกรัม/ไมโครลิตร แต่สารสกัดจากใบด้วยน้ำและเอทานอลไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์ น้ำมันหอมระเหยจากใบชุมเห็ดเทศ สารสกัดจากเปลือกต้นด้วยเมทานอล มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ในจานเพาะเชื้อได้ปานกลาง สารสกัดด้วยน้ำจากใบชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งเชื้อ Escherichia coli ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ที่ความเข้มข้นมากกว่า 21.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

           ผลการวิจัยทางคลินิก (clinical pharmacology) การศึกษาฤทธิ์ในการรักษาอาการท้องผูก การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมระหว่างชงชาชุมเห็ดเทศ มิสท์แอลบา และยาหลอก ในโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง ผู้ป่วยที่ไม่ถ่ายอุจจาระติดต่อกันเกิน 72 ชั่วโมง จำนวน 80 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก รับยาหลอกเป็นน้ำ เติมสีคาราเมล 120 มิลลิลิตร จำนวน 28 ราย กลุ่มที่สองรับยามิสท์แอทบา 30 มิลลิลิตร น้ำ 90 มิลลิลิตร จำนวน 28 รายและกลุ่มที่สามรับน้ำละลายชุมเห็ดเทศ ได้จากการชงผงชุมเห็ดเทศปริมาณ 3-6 กรัม ในถุงกระดาษ แช่ในน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร นาน 10 นาที จำนวน 24 ราย ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม มีลักษณะไม่แตกต่างกัน ได้รับยารับประทานก่อนนอนประเมินผลจากการถ่ายอุจจาระ หรือ ไม่ถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมง พบว่า ได้ผลถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมง ร้อยละ 18, 86 และ 83 ตามลำดับ ซึ่งพบว่าผลของกลุ่มชุมเห็ดเทศ และมิสท์แอลบาดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่พบอาการท้องเสียในกลุ่มที่ได้รับมิสท์แอลบามากกว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับชุมเห็ดเทศ มีความพึงพอใจมากกว่ายาหลอก สรุป ยาชงชุมเห็ดเทศมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาอาการท้องผูก

          ส่วนอีกการทดลองหนึ่งพบว่าเมื่อผสมผงใบชุมเห็ดเทศในอาหารในขนาดร้อยละ 2 และ 10 ของอาหาร แล้วให้หนูแรทกินนาน 4 สัปดาห์ จะพบแผลในลำไส้ ตับ และไต และมีระดับฮีโมโกลบิน และ packed cell volume (PCV) สูงขึ้น แต่จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงใน 2 สัปดาห์แรก เมื่อใส่สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอลขนาด 100 มิลลิกรัม ในน้ำดื่มให้หนูแรทกินนาน 14 วัน พบว่าเกิดแผลในตับ เซลล์ตับตายกระจัดกระจายและมีการคั่งของเลือดในเส้นเลือดดำ การฉีดสาร emodin และ kaemferol  ขนาด 10 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องหนูแรทติดต่อกัน 14 วัน หรือฉีดสาร aloe-emodin ขนาด 100 มิลลิกรัม สาร rhein ขนาด 70 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องนาน 4 วัน พบว่าเกิดแผลในตับของหนูทุกกลุ่ม กลุ่มที่ได้รับ aloe-emodin จะพบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย หนูทุกกลุ่มมีระดับฮีโมโกลบิน และ PCV ลดลงภายใน 14 วัน เมื่อป้อนสารสกัดจากใบด้วยน้ำขนาด 10, 50, 100 และ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรทนาน 14 วัน จะพบระดับฮีโมโกลบิน และ เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันหนูมีอาการเบื่ออาหาร ผอมแห้ง และน้ำหนักลด 

          การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลาก และเกลื้อนสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ และครีมชุมเห็ดเทศเข้มข้นร้อยละ 20 สามารถรักษาผู้ป่วยโรคกลาก 30 ราย และโรคเกลื้อน 10 ราย ได้ดีเทียบเท่ากับยาขี้ผึ้ง whitfield แต่ไม่มีผลรักษาราที่เล็บและหนังศีรษะ ยาเตรียมชุมเห็ดเทศในรูปแบบทิงเจอร์และครีม (ซึ่งมีสารสำคัญ rhein 600 ไมโครกรัม/กรัม) ให้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคกลากเกลื้อนที่ผิวหนังได้เช่นเดียวกับยาครีมโคลไตรมาโซลร้อยละ 1 สารสกัดใบชุมเห็ดเทศสดด้วยน้ำ (ใบสด 100 กรัมต่อน้ำ 50 มิลลิลิตร) ความเข้มข้นร้อยละ 100 ทาบริเวณแขน และขา หรือ ความเข้มข้นร้อยละ 90 ทาบริเวณคอ และมือ ความเข้มข้นร้อยละ 80 ทาบริเวณหน้า วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน 2 ชั่วโมง มีผลรักษาโรคกลากเกลื้อนชนิด Pityraisis versicolor ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Malassezia furfur ในผู้ป่วยจำนวน200 คนได้

การศึกษาทางพิษวิทยาการทดสอบความเป็นพิษ      

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดเทศ ด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ในขนาด 15 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่มีพิษเมื่อให้หนูเม้าส์ทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แต่มีความเป็นพิษเล็กน้อยเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ และเมื่อฉีดสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 85 เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม ก็ไม่พบความเป็นพิษ สารสกัดจากใบด้วยน้ำและสารสกัดจากส่วนเหนือดินของชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 มีความเป็นพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ โดยขนาดของสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) คือ ขนาดที่ให้ทางปากและทางผิวหนังมากกว่า 15 กรัมต่อกิโลกรัม และทางช่องท้อง 8.03 กรัมต่อกิโลกรัม

            การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังของผงใบชุมเห็ดเทศในหนูขาววิสตาร์ 4 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว (เพศผู้ 12 ตัว เพศเมีย 12 ตัว) เป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับยาทางปากขนาด 0.03, 0.15 และ 0.75 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน (ซึ่งเปรียบเทียบได้กับได้รับ 15 และ 25 เท่า ของขนาดที่รักษาในคน) ผล คือ ไม่พบพิษทุกกลุ่ม มีการเจริญเติบโตปกติการตรวจทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีปกติ ไม่พบพยาธิสภาพ และจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในที่ผิดปกติ

          พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อฉีดสารสกัดใบชุมเห็ดเทศ ด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 เข้าช่องท้องหนูแรทในขนาด 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มีผลทำให้แท้ง และไม่พบพิษต่อตัวอ่อน แต่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนไม่ชัดเจน ส่วนสารสกัดจากใบด้วยน้ำขนาด 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ทำให้มดลูกหนูแรทหดตัวในหลอดทดลอง และมีฤทธิ์เสริม oxytocin

          พิษต่อเซลล์ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์โดยใช้ brine shrimp พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 7.74 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้ brine shrimp ตายไปครึ่งหนึ่ง และสารสกัดนี้มีความเป็นพิษต่อเซลล์ Vero โดยความเข้มข้น 1,414 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้เซลล์ Vero ตายไปครึ่งหนึ่ง 

          ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอล มีผลก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimurium strain TA98 และพบว่าสารสกัดชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ S. typhimurium strain TA98 และ TA100 โดยในการออกฤทธิ์ต้องการเอนไซม์จากตับหนูกระตุ้นการออกฤทธิ์

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ระมัดระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้ป่วย inflammatory bowel disease และภาวะทางเดินอาหารอุดตัน ผู้สูงอายุ หญิงให้นมบุตร เนื่องจากสาร metabolite บางตัวเช่น rhein ถูกคัดหลั่งทางน้ำนม
  2. ควรใช้ยาระบายเป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้ติดต่อกัน เพราะสารแอนทราควิโนนในใบชุมเห็ดเทศ มีฤทธิ์ทำให้ลำไส้บีบตัว และเคลื่อนไหวเร็ว ใช้ติดต่อนานจะทำให้ลำไส้ชินต่อการใช้ยา ต่อไปถ้าไม่ใช้จะทำให้ลำไส้ไม่บีบตัว ไม่เคลื่อนไหวเกิดอาการท้องผูก
  3. การรับประทานยาในขนาดสูงอาจทำให้เกิดไตอักเสบ มีเลือด หรือ โปรตีนในปัสสาวะมากกว่าปกติ
  4. การใช้ต่อเนื่องนานๆ อาจมีผลลดจำนวนเม็ดเลือดแดง และฮีโมโกลบิต และอาจทำให้เกิดแผลที่ตับ
  5. การใช้ต่อเนื่องในขนาดสูงนานๆ อาจเกิดระบบการดูดซึมผิดปกติ มีการดูดกลับของเหลวลดลง เกิดภาวะระดับโพเทสเซียม และแคลเซียม ในเลือดต่ำ
  6. ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
  7. การใช้ชุมเห็ดเทศ ในช่วงแรกๆอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการปวดมวนท้อง เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาหารไม่ย่อยและปวดท้องได้

 

เอกสารอ้างอิง ชุมเห็ดเทศ
  1. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ. คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 26 .กรกฎาคม. 2524
  2. ฉัตรโย สวัสดิไชย, สุรศักดิ์ อิ่มเอี่ยม. ชุมเห็ดเทศ.ยาน่ารู้. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า.ปีที่ 34 ฉบับที่ 4.ตุลาคม-ธันวาคม. 2560 หน้า. 352-355
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชุมเห็ดเทศ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 271-274.
  4. เปี่ยม บุณยะโชติ. ตำราโบราณว่าด้วยโรคเด็กและสุภาพสตรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2514. หน้า 39.
  5. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 34.
  6. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ชุมเห็ดเทศ Chumhet Tet)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1 หน้า 108.
  7. พระเทพวิมลโมลี. ตำรายากลางบ้าน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524. หน้า 140.
  8. ชุมเห็ดเทศ. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=40
  9. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ชุมเห็ดเทศ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 208.
  10. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ชุมเห็ดเทศ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 74-75.
  11. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชุมเห็ดเทศ Ringworm Bush”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 75.
  12. ชุมเห็ดเทศ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=53
  13. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2549 ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2549 เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด, 2549
  14. วันดี กฤษณพันธ์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ มัลลิกา ไตรเดช สุภาวี อาชวาคม. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารแอนทราควิโนนจากใบชุมเห็ดเทศ. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24, 19-21 ตุลาคม ณ. ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์  กรุงเทพฯ, 2541.
  15. Harrison J, Garro CV. Study on anthraquinone derivatives from Cassia alata L. (Leguminosae). Rev Peru Bioquim 1977;(1):31-2.
  16.   จินตนา สุทธชนานนท์ และคณะ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของใบชุมเห็ดเทศ. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  17. Akah PA. Abortifacient activity of some Nigerian medicinal plants. Phytother Res 1994;8(2):106-8.
  18. Plengvidhya P, Suvagondha C. A study of diagnostic contents of leaves of some members in genus Cassia. J Pharm Assoc Siam, Third series 1957;10(1):10-2.
  19. เกษร นันทจิต. ฤทธิ์ต้านจุลชีพของใบชุมเห็ดเทศ (Cassia alata Linn.). รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2538. 
  20. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดจากพืชสกุล Cassia sp. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2543.
  21. Thamlikitkul V, Dechatiwonges T, Chantrakul C, et al. Randomized controlled trial of Cassia Alata Linn. for constipation. J Med Assoc Thai 1990;73(4):217-21.
  22. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  23. Rao JVLN, Sastry PSR, Poa RVK, Vimaladevi M. Occurrence of kaempferol and aloe-emodin in the leaves of Cassia alata. Curr Sci 1975;44(20):736-7.
  24. นาถฤดี สิทธิสมวงศ์ ทรงพล ชีวะพัฒน์ เอมมนัส หวังหมัด สุธิดา ไชยราช พัชรินทร์ รักษามั่น จรินทร์ จันทรฉายะ. พิษของใบชุมเห็ดเทศ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2534;33(4):145-54.
  25. Somchit MN, Reezal I, Nur IE, Mutalib AR. In vitro antimicrobial activity of ethanol and water extracts of Cassia alata. J Ethnopharmacol 2003;84:1-4.
  26. Fuzellier MC, Mortier F, Lectard P. Antifungal activity of Cassia alata L. Ann Pharm Fr 1982;40(4):357-63. 
  27. Benjamin TV. Analysis of the volatile constituents of local plants used for skin disease. J Afr Med Pl 1980;(3):135-9.
  28. Ibrahim D, Osman H. Antimicrobial activity of Cassia alata from Malaysia. J Ethnopharmacol 1995;45:151-6.
  29. Elujoka BA, Ajulo AA, Iweibo GO. Chemical and biological analysis of Nigerian Cassia species for laxative activity. J Pharm Biomed Anal 1989;7(12):1453-1457.
  30. Palanichamy S, Nagarajan S. Anti-inflammatory activity of Cassia alata leaf extract and kaempferol 3-O-sophoroside. Fitoterapia 1990;61(1):44-7.
  31. แก้ว กังสดาลอำไพ วรรณี โรจนโพธิ์ ชนิพรรณ บุญยี่. การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรไทยในรูปของยาตำรับสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และสมุนไพรบางชนิด โดยวิธีเอมส์เทสต์. การประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 3, 3-4 ธันวาคม, กรุงเทพฯ 2533. หน้า 47-9.
  32. Sodipo OA, Effraim KD, Emmagun E. Effect of aqueous leaf extract of Cassia alata (Linn.) on some haematological induces in albino rats. Phytother Res 1998;12(6):431-3.
  33. Lagarto PA, Silva YR, Guerra SI, Iglesias BL. Comparative study of the assay of Artemia salina L. and the estimate of the medium lethal dose (LD50 value) in mice, to determine oral acute toxicity of plant extracts. Phytomedicine 2001;8(5):395-400.