กัญชา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กัญชา

ชื่อสมุนไพร กัญชา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปาง (ไทยใหญ่ - แม่ฮ่องสอน), ยานอ (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน), คุนเช้า (จีน), ต้าหม่า (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa subsp. indica (Lam.)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cannabis indica Lam.
ชื่อสามัญ Marijuana, Marihuana, Ganja, Hashish, Reefer
วงศ์ CANNABACEAE

ถิ่นกำเนิดกัญชา

กัญชา เป็นพืชดั้งเดิมที่มีอยู่มากในทั่วโลกซึ่งขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียและยูโรป จากการสันนิษฐานว่ามีการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนกลางของทวีป ตั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียนจนถึงทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย และทางตะวันตกของไซบีเรีย เป็นพืชที่ได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารเก่าโบราณหลายเล่มว่ามีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นพืชเส้นใยและปลูกเป็นพืชเสพติดมาแต่ดึกดำบรรพ์ ในประเทศจีนมีการใช้เส้นใยเพื่อถักทอมาตั้งแต่ 5,000-4,000 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาในศตวรรษแรก จึงมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเส้นใยมาทำกระดาษ ในประเทศยุโรป มีการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา มาตั้งแต่ 700 ปีก่อนคริสตศักราช ส่วนใหญ่ใช้ทำเป็นเชือกเพื่อการล่าสัตว์ ในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 15 ในประเทศอิตาลีมีการปลูกพืชกัญชากันมากเพื่อนำเส้นใยมาทำเชือกใช้ในเรือเดินทะเลเนื่องจากมีความเหนียวและทน นอกจากนี้ พบว่า มีการปลูกพืชกัญชา กระจายไปทั้งในอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้อีกด้วย

           ส่วนประเทศไทยก็มีประวัติศาสตร์เก่าแก่พบว่ามีการใช้กัญชาช่วงต้นรัตนโกสินทร์โดยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดพระแก้วจารึกไว้สำหรับในประเทศไทยปลูกมากตามแนวเขาในภาคเหนือ แม้จะได้มีการใช้กัญชาเป็นยามาแต่โบราณมากกว่า 3,000 ปี แต่กัญชาก็จัดเป็นยาเสพติด ทำให้เป็นพืชต้องห้าม ในประเทศไทยการปลูก และใช้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

          ในอดีตชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือของไทยมีการใช้เส้นใยจากลำต้นของต้นกัญชา เพศผู้ โดยใช้เส้นใยจากลำต้นที่ออกดอกใหม่ มีอายุระหว่าง 3-4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เส้นใยมีความเหนียว เบาและเป็นสีขาวเหมาะสำหรับการใช้เป็นเส้นใยทอผ้าอีกด้วย 

ขนมกัญชา

ประโยช์และสรรพคุณของกัญชา

กัญชาเป็นพืชประเภทป่านและปอ ซึ่งมีเส้นใยเหนียวมาก ในอดีตจึงนิยมใช้ในการทำประโยชน์ด้านการทำเป็นเชือกรัดต่างๆ เช่น เชือกในการเดินเรื่องทอเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึง ถูกนำไปผสมกับอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร

           นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยว่า เส้นใยจากกัญชาร้อยละ 80 เป็นเซลลูโลสซึ่งย่อยสลายได้ง่าย ไม่เกิดพิษภัย ลำต้นสามารถใช้ทำกระดาษสังเคราะห์ได้ดีกว่ากระดาษที่ทำจากไม้ยืนต้นจึงสามารถนำมาใช้ทำกระดาษแทนต้นไม้ได้เพราะ กัญชาเป็นพืชที่มีวงชีวิตเพียง 120 วัน สามารถที่จะปลูกได้ 10 ตันต่อพื้นที่ 1 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2 ไร่) ภายในเวลา 4 เดือน ปลูกได้เร็วกว่าฝ้าย 4 เท่า ได้น้ำหนักมากกว่าฝ้าย 3 เท่า สหรัฐอเมริกาพบว่ากัญชาสามารถปลูก และนำมาทำกระดาษได้มากเป็น 4 เท่าของการทำไม้ยืนต้นนอกจากนี้การทำกระดาษจากต้นกัญชาไม่ต้องใช้คลอรีนเหมือนการทำจากไม้ ซึ่งทำให้เกิดสารไดออกซิน นอกจากนั้นเส้นใยของต้นกัญชา ใช้ทำกระดาษได้ดีกว่าไม้มาก  

           ส่วนในด้านสรรพคุณทางยานั้น สรรพคุณทางการแพทย์แผนโบราณระบุว่า ช่อดอกตัวเมีย บำรุงประสาท แก้ปวดประสาท ทำให้เคลิ้มฝันเมล็ด ชูกำลัง เจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ แต่หากกินมาก อาจทำให้เกิดอาการหวาดกลัวหมดสติทั้งต้น บำรุงประสาท เจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ      

           ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ มีตำรับยาไทยที่เข้ากัญชา จำนวน 11 ตำรับ มาจากพระคัมภีร์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) 

           ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีตำรับยาไทยที่เข้ากัญชา จำนวน 3 ตำรับ โดยพบตำรับยาที่เข้ากัญชาโดยมีกัญชาเป็นส่วนประกอบหลัก จำนวน 2 ตำรับ ได้แก่ ตำรับยาที่ชื่อว่า ยาทิพกาศ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นใบกัญชาถึง 16 ส่วน และตำรับยาศุขไสยาศน์ มีส่วนประกอบหลักเป็นใบกัญชาถึง 12 ส่วน 

           ส่วนทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า ผลการศึกษาในระดับพรีคลินิก พบว่าสารกลุ่ม cannabinoids มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายด้าน ฤทธิ์ที่สำคัญได้แก่ต้านมะเร็ง ต้านการอาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร แก้ปวด กำจัดความกระวนกระวายและทำให้นอนหลับ ส่วนงานวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวกับกัญชาและสารกลุ่ม cannabinoids มีรายงานว่า THC มีฤทธิ์ต้านมะเร็งสมองที่เรียกว่า Glioblastoma การให้ CBD สามารถลดการกลับมาเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ รวมไปถึง โรคพาร์กินสัน จากงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากกัญชา ที่เรียกว่า Cannabidiol (CBD) หรือ การใช้ยา Nabilone ช่วยให้ผู้ป่วย มีอาการเจ็บปวดน้อยลง อาการสั่งลดลง และขยับตัวได้ดีขึ้น   

           โรคลมชัก การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชา (Cannabis Extracts) หรือ การใช้สารสกัดจากกัญชาที่เรียกว่า Cannabidiol (CBD) ช่วยให้ผู้ป่วย มีอาการชักลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมีความถึงเครียดลดลง งานวิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยมีความทรงจำที่ดีขึ้น มีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น สมองมีการพัฒนามากขึ้น สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้น และนานหลับได้ง่ายขึ้น งานวิจัยยังพบอีกว่า การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชา ไม่มีผลข้างเคียงอื่นๆ กับผู้ป่วยโรคลมชัก 

           โรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งและได้รับผลข้างเคียง จากทำเคมีบำบัดสารสกัดจากกัญชา สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอาการปวดและเพิ่มความอยากอาหาร และเพิ่มน้ำหนักตัวให้ผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายขึ้น แม้ในขณะนี้จะไม่มีการทดลองแบบควบคุมทางมในมนุษย์ แต่ผลการวิจัยในสัตว์ทดลองก็แสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากกัญชามีฤทธิ์ ยับยั้ง และทำลายเซลล์มะเร็งได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยแบบเปิด ที่สอบถามจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง และได้ผลวิจัยว่าสารสกัดกัญชา มีประสิทธิภาพอย่างมากในผู้ป่วยบางกลุ่ม   

           โรคอัลไซเมอร์ จากงานวิจัยพบว่าการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชา (Cannabis Extracts) หรือ การใช้ยา Nabilone ช่วยให้มีอาการต่างๆ เหล่านี้ลดลง เช่น อาการหลงผิด อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ทั้งนี้ผู้ป่วยยังสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น โกรฑหงุดหงิดง่ายน้อยลงอีกทั้งยัง ทำให้ผู้ดูแลมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย 

           ระงับอาการปวด จากงานวิจัยพบว่า ระดับความเข้มข้นของสาร tetrahydrocannabinol (THC) มีผลอย่างมีนัยสำคัญ กับการระงับอาการปวด ไม่มีจะเป็นการปวดจากการบาดเจ็บ ที่กระดูกสันหลัง หรือ อาการปวดที่เป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทอักเสบ จากการศึกษา ที่กลุ่มเปรียบเทียบได้รับสารเลียบแบบไม่ออกฤทธิ์ (double - blind placebo - controlled) พบว่าผู้ที่ได้รับสารสกัดจากกัญชา มีอาการเจ็บปวดลดลงอย่างชัดเจน 

           โรคปลอกประสาทอักเสบ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบ เมื่อได้รับสารสกัดจากกัญชา หรือ ตัวยา Sativex® สามารถช่วยลดอาการปวดเส้นประสาท อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการหดตัวของกล้ามเนื้อ และภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia) หรือ อาการเซ

กัญชา 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กัญชา

เนื่องจากในประเทศไทยกัญชายังเป็นพืช และ ยาเสพติด ตามกฎหมายอยู่ จึงทำให้เป็นพืชต้องห้ามในการปลูกและการใช้ แต่ในต่างประเทศ (ที่กัญชาถูกกฎหมาย) มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปแบบยาพ่นในช่องปาก การพ่นยาแต่ละครั้งจะมียา THC : CBD ในอัตราส่วนประมาณ 1:1 ใช้ลดอาการปวด neuropathic pain ในผู้ป่วย multiple sclerosis, ผู้ป่วยมะเร็งรูปแบบยาแคปซูล ใน 1 แคปซูลประกอบด้วยยา Dronabinol 2.5, 5 และ 10 mg ซึ่งเป็น synthetic delta-9 THC ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง กระตุ้นความยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ และลดอาการปวด neuropathic pain ในผู้ป่วย multiple sclerosis รูปแบบยาแคปซูล ใน 1 แคปซูลประกอบด้วย Nabilone 1 mg เป็นสารสังเคราะห์ที่มีความใกล้เคียงกับ THC ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง

ลักษณะทั่วไปของกัญชา

ลักษณะของพืชกัญชา เป็นพืชล้มลุกมีอายุได้แค่เพียงปีเดียว มีลักษณะสำคัญดังนี้

           ส่วนของราก : เป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) มีรากแขนงจำนวนมาก

           ส่วนของลำต้น : พบว่าลำต้นตั้งตรง สีเขียว สูงประมาณ 1-3 เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า เริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่อเจริญได้ 2-3 สัปดาห์ การเจริญเติบโตของต้นจะช้าในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเพิ่มความสูงอย่างรวดเร็ว จนมีความสูงเฉลี่ยคงที่ คือ ประมาณ 200 ซม. เนื่องจากมีการออกดอก เปลือกของลำต้นสามารถลอกออกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย โดยเปลือกนอก (primary bast fibers) ให้เส้นใยที่ยาว เหนียว แต่ค่อนข้างหยาบ ส่วนเปลือกในที่ติดกับเนื้อไม้ (secondary bast fibers) ให้เส้นใยที่ละเอียดกว่าแต่สั้นกว่า

           ส่วนของใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบแตกออกเป็นแฉกๆ ประมาณ 5-8 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนสอบ ส่วนขอบใบทุกแฉกเป็นหยักแบบฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ลักษณะของใบโดยรวมจะคล้ายๆ กับใบละหุ่ง ใบฝิ่นต้น และใบมันสำปะหลัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างท้องใบมีสีเทาอ่อนเล็กน้อย มีขนต่อมกระจายทั่วผิวใบด้านบน ส่วนด้านล่างมีขนอ่อนนาบไปกับแผ่นใบ ก้านใบยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ในก้านหนึ่งจะมีใบเดี่ยว 3-11 ใบ มีกลิ่นเหม็นเขียว

           ส่วนของดอก : มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีดอกเพศผู้ และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (monoecious) ชนิดดอกเพศผู้ และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น (dioecious) ในประเทศไทยพบว่าพืชกัญชามีดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายยอด โดยปกติพืชกัญชา จะมีการติดดอกและเมล็ดในช่วง 90-120 วันดอกเพศผู้ : ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบ panicle ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกกันเป็นอิสระมีสีเขียวอมเหลือง พบเกสรเพศผู้ 5 อัน ระยะเวลาการบานประมาณ 2 เดือน ดอกเพศเมีย : เกิดตามซอกใบและปลายยอด ในบริเวณช่อดอกจะอัดตัวกันแน่น ช่อดอกเป็นแบบ spike ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มห่อหุ้มรังไข่ไว้ ภายในมี stigma 2 อัน สีน้ำตาลแดง อายุของดอกค่อนข้างสั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะติดผล

           ส่วนของเมล็ด : เป็นเมล็ดเดี่ยว รูปไข่ป้อมผิวเรียบเป็นมันมีลายประดับสีน้ำตาล เมื่อแห้งมีสีเทา ขนาดประมาณ 3-4 มม. มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-24 กรัมต่อเมล็ด 1000 เมล็ด เมล็ดจะออกประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังออกดอก

           ทั้งนี้ กัญชง และ กัญชา เป็นพืชคนละชนิด แต่มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน โดยต้นกัญชา (Marijuana) จะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist ส่วนต้นกัญชง (Hemp) จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp. sativa ซึ่งลักษณะภายนอกของพืชทั้งสองชนิดนี้ จะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยจนยากแก่การจำแนกแต่สามารถจำแนกความแตกต่างตารางดังนี้

การขยายพันธุ์กัญชา

เนื่องด้วยกฎหมายของประเทศไทยระบุว่ากัญชา เป็นพืชและยา เสพติด ทำให้เป็นพืชต้องห้ามในการปลูก และใช้ในประเทศไทย แต่ก็มีการขออนุญาตปลูกเพื่อใช้ศึกษาวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายสถาบัน เพื่อวิจัยสาระสำคัญที่จะใช้ในทางการแพทย์โดยมีการปลูกอยู่ 2 แบบ คือ

           1. การปลูกในโรงเรือน

           ข้อดี ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ และสม่ำเสมอ วางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและศัตรูพืชได้ ทำให้งานวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากควบคุมผลผลิตและควบคุมเทคโนโลยีได้

           ข้อเสีย ต้นทุนเริ่มแรกมีราคาสูง และเทคโนโลยีสูง ต้นทุนการดำเนินการสูงกว่าปลูกกลางแจ้ง ต้องสร้างแสงแดดเทียมและระบบมีความซับซ้อน

           2. การปลูกนอกโรงเรือน

           ข้อดี ต้นทุนเริ่มแรกน้อยกว่าการปลูกในโรงเรือน ต้นทุนการดำเนินการต่ำ ต้นกัญชา สามารถใช้แสงจากจากธรรมชาติได้เต็มที่

           ข้อเสีย ไม่สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืช เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง

แนวทางการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทยมีการปลูกแบบ GMP เพื่อศึกษาปริมาณ และคุณภาพของสารสำคัญสำหรับทำยา ข้อกำหนดของการปลูกแบบ GMP มีดังนี้

  • ต้องป้องกันไม่ให้มีเชื้อรา โดยควบคุมความชื้น ควบคุมวิธีการปลูกเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา
  • ต้องไม่มียาฆ่าแมลง
  • ต้องไม่มีสารเคมี หรือ ปุ๋ยตกค้าง
  • ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมเช่นเกสรดอกไม้ แมลง ไข่แมลง ขนสัตว์ หรือ ฝุ่นดิน
  • ต้องมีคุณภาพ และปริมาณผลผลิตที่สม่ำเสมอ
  • ต้องควบคุมสายพันธุ์ที่ปลูกสำหรับทำยามีทิศทางที่ชัดเจน


องค์ประกอบทางเคมี

ในกัญชา มีสารเคมี 400-500 ชนิด โดยช่อดอกตัวเมียจะมียาง (Resin) ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญหลัก คือ phytocannabinoids ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการสกัดที่ใช้ความร้อน อุณหภูมิประมาณ 122-140 o C จึงจะได้ Cannabinoids ที่เป็นสาระสำคัญหลักในการออกฤทธิ์ 2 ชนิด คือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD) โดยตัวรับการทำงานของสารกลุ่มนี้ในร่างกายเรียกว่า cannabinoid receptors (CB) ที่แบ่งเป็น CB1 และ CB2 ซึ่ง CB1 พบการแสดงออกส่วนใหญ่ในประสาทส่วนกลาง และมีผลให้ THC ออกฤทธิ์ส่วนใหญ่ในประสาทส่วนกลางสำหรับ CB2 พบในส่วนอื่นๆ และพบมากที่เซลล์เม็ดเลือดขาว และสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน สารทั้ง 2 ชนิด นี้มีค่า Pharmacokinetics ที่ใกล้เคียงกัน THC เมื่อให้ทางปากมีค่า Bioavailability ประมาณ 4-20% และเมื่อให้โดยสูดเข้าทางเดินหายใจหรือโดยการสูบมีค่า Bioavailability ประมาณ 10-69% ดังนั้นค่า Bioavailability ของกัญชาจึงขึ้นกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ยา เช่น vaporization, smoking, capsules, transdermal, tincture และ oro-mucosal sprayนอกจากสารทั้ง 2 ชนิด ข้างต้นแล้วนี้ ยังมีสารกลุ่ม Terpenes และ Flavonoids รวมไปถึง Cannabichromene Tetrahydrocannabiviarin Cannabinol Cannabigerol

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกัญชา

 โครงสร้างกัญชา

           ส่วนภายในเมล็ดของกัญชานั้นยังพบว่ามีอาหารสะสมพวกแป้งและไขมันอัดแน่น โดยมีนำ้มันถึง 29-34% มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acids) สูง ประกอบด้วย linoleic acid(C18:2) ร้อยละ 54-60 linolenic acid (C18:3) ร้อยละ 15-20 และ oleic acid (C18:1) ร้อยละ 11-13

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกัญชา

ฤทธิ์ของสารสกัด Cannabis ในการรักษามะเร็งการศึกษาในประเทศอิสราเอลเกี่ยวกับ Cannabis extract พบว่ามีสารกลุ่ม Cannabinoids, Terpenes และ Flavonoids ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ด้วยเทคนิค GC-FID และ GC-MS ซึ่งเมื่อทำการศึกษาผลของ สารสกัด Cannabis extract ต่อเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ Breast cancer, Colon cancer, Prostate cancer และ Normal cell แสดงให้เห็นว่าวิธีการสกัด และสารสกัดจาก Cannabis ต่างสายพันธุ์กันจะให้ส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ที่ต่างกัน ซึ่งให้ผลในการฆ่าเซลล์มะเร็งต่างชนิดกัน โดยพบว่าสารสกัดกัญชายับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง และส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งตาย นอกจากนี้พบว่า สารสกัด Cannabis ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ปกติ (Normal cell) นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้น stem cell และชะลอความชราของเซลล์สมองจากการศึกษาการใช้สารสกัด Cannabis ในผู้ป่วยมะเร็งพบว่าผู้ป่วยต้องได้รับ THC ในปริมาณสูง โดยต้องได้รับสารสกัด Cannabis (มีปริมาณ THC 70-80%) 1 g ต่อวันนอกจากนี้มีการศึกษาการใช้สารสกัด Cannabis ในคนไข้มะเร็งสมอง 21 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับ THC:CBD + ยา Temozolamide และ ยาหลอก + ยา Temozolamide โดยอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันของ CBD ต่อ THC ในสารสกัด Cannabis จะช่วยลดฤทธิ์ที่มีต่อระบบประสาท พบว่ากลุ่มที่ได้รับ THC:CBD + ยา Temozolamide มีอัตรารอดชีวิต 83% และกลุ่มที่ได้รับ ยาหลอก + ยา Temozolamide มีอัตรารอดชีวิต 53%

            ผลของสาร Δ9-Tetrahydrocannabinol และ Cannabidiol จากกัญชา กับผลต่อระบบประสาทและอาการวิตกกังวล สาร Δ9-tetrahydrocannabinol (Δ9-THC) และ cannabidiol (CBD) เป็นสารสำคัญในกัญชา (Cannabis sativa) มีผลต่อระบบประสาท โดยมีรายงานว่าสารดังกล่าวสามารถรักษาอาการวิตกกังวลได้ แต่ยังไม่ทราบกลไก การทดสอบทางคลินิกแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 15 คน ซึ่งเคยใช้กัญชา ≤15 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสาร Δ9-THC ขนาด 10 มก. กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานสาร สาร CBD ขนาด 600 มก. และกลุ่มที่ 3 ให้รับประทานยาหลอก พบว่าสาร Δ9-THC ทำให้อาการวิตกกังวล อาการเมา อาการทางจิต รวมทั้งภาวะง่วงเพิ่มขึ้น แต่อาการดังกล่าวกลับลดลงในกลุ่มที่ได้รับสาร CBD พบว่าสาร CBD มีผลกระตุ้นสมองบริเวณ limbic และ paralimbic ซึ่งมีผลลดอาการวิตกกังวล ในขณะที่สาร Δ9-THC มีผลกระตุ้นสมองบริเวณ frontal และ parietal ซึ่งมีผลเพิ่มอาการวิตกกังวล ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารจากกัญชามีผลต่อระบบประสาท โดยสาร Δ9-THC มีผลเพิ่มอาการวิตกกังวล และสาร CBD มีผลลดอาการวิตกกังวล

            จากการทดลองในห้องแล็บ พบว่า cannabidiol สามารถรักษาแผลในเซลล์ลำไส้ที่เกิดจากอาการอักเสบของโรค Crohn’s disease ได้ เนื่องจากมันมีคุณสมบัติเป็นตัวดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ cannabidiol จึงช่วยชะลอการทำงานของเซลล์ภูมิต้านทาน microglia ที่อาจจะถูกกระตุ้นจากอนุมูลอิสระมากเกินไป และทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น โดยการทดสอบนี้เกิดขึ้นในสมองและตา จากการทดสอบในตาจึงอาจนำไปสู่การใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังจะสูญเสียตาได้อีกด้วย [14]

           จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์จากมาดริด ประเทศสเปน ได้พบว่าสาร THC สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในสมอง ผิวหนัง และตับอ่อนได้ โดย THC จะทำลายกระบวนการเกิดมะเร็ง โดยเนื้อร้ายจะสร้างร่างแหเส้นเลือดขึ้นเลี้ยงตนเอง และป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเคลื่อนย้ายไปที่อื่น จากนั้นสาร THC จะเข้าไปจับกับโปรตีนรีเซพเตอร์บนผิวเซลล์มะเร็ง กระตุ้นเซลล์สร้างสารประเภทไขมันที่เรียกว่า “ceramide” แล้วทำให้เซลล์ทำลายตัวเอง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ดี และรายงานก่อนหน้านี้ยังแสดงให้เห็นว่า THC สามารถต่อสู้กับมะเร็งเต้านม และโรคลูคีเมียได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบกัญชากับเบาหวาน, โรคอักเสบตามข้อต่อ, การอุดตันของเส้นเลือดเลี้ยงสมอง, โรคจิตเสื่อม, และโรคลมบ้าหมูอีกด้วย สาร THC สามารถช่วยเร่งให้หนูทดลองลืมประสบการณ์ที่ไม่ดีได้เร็ว สำหรับในคนสาร THC ที่อยู่ในรูปแคปซูลจะทำให้นอนหลับดีขึ้น และหยุดฝันร้ายได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของกัญชา

เมื่อมีการเสพกัญชาในปริมาณมาก ผลทางกายภาพต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ระบบหลอดเลือดและหัวใจในคนที่ไม่เคยเสพกัญชามาก่อนจะมีชีพจรเต้นเร็วมากขึ้นได้ 20%-100% ในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก นอกจากนี้ยังมีผลทำให้หลอดเลือดส่วนปลายคลายตัวลง มีความดันโลหิตตกเวลาเปลี่ยนท่า (postural hypotension) ได้ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวให้มีความทนต่อภาวะนี้ได้ในเวลา 2-3 วัน ในคนที่ไม่เคยเสพบางราย หรือ คนที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดอยู่เดิม อาจทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

            ผลต่อระบบประสาท จะมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงที่สมองเพิ่มมากขึ้นทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเลวลง แรง และความมั่นคงของมือลดลง อาจทำให้มีง่วงซึม ไม่มีสมาธิ พูดไม่ชัดการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้าลง

            ผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้หลอดลมขยายตัวเฉียบพลันแบบชั่วคราว ถ้าเสพช่วงแรกทำให้อาการของโรคหอบหืดดีขึ้นในระยะยางกัญชาทำให้มีอาการไอเรื้อรัง เสมหะมาก มีการตอบสนองของหลอดลมไวมากขึ้นได้ นอกจากนี้บุหรี่ยัดไส้กัญชายังมีองค์ประกอบที่เหมือนบุหรี่ทั่วไป คือ นิโคติน (tar) มากเป็น 3 เท่าของบุหรี่ทั่วไป และจะไปจับตัวที่ทางเดินหายใจมากกว่าถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้กัญชายังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งทางเดินหายใจอีกด้วย ถ้าเป็นกัญชาที่ลักลอบนำเข้าอาจพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อรา aspergillus species ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

            ผลทางพฤติกรรมและอารมณ์ ทำให้มีความรู้สึกเมากัญชา หรือ ที่เรียกว่า high คือ มีความรู้สึกเหมือนจิตออกจากร่างได้ ผ่อนคลายมีความสุขสบาย การรับรู้เวลาและระยะทางบิดเบือนไปจากปกติมีประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ ได้มากขึ้น หัวเราะมากขึ้น ช่างพูดช่างคุยมากขึ้น คลายความกังวล ลดความตื่นตัว อาจมีซึมเศร้าได้ ผลจะแตกต่างตามขนาดของกัญชาที่ได้รับ ความคาดหวังของผู้เสพวิธีการเสพ สภาพสังคมแวดล้อมและบุคลิกภาพของผู้เสพ นอกจากนี้ THC ยังกระตุ้น dopaminergic neuron สมองส่วนที่เกี่ยวกับ reinforce (rewarding) effects ซึ่งทำให้เกิดการติดยาส่วนอารมณ์แปรปรวน ในทางลบอาจพบได้แต่ไม่บ่อย

            ผลต่อสติปัญญา ทำให้มีความบกพร่องของความทรงจำระยะสั้น หรือ short-term memory ทั้งในผู้เสพระยะสั้น หรือ ระยะยาวทำให้สติปัญญาลดลง หรือ สูญเสีย cognitive function ในผู้ที่เสพระยะยาวมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ลดลง สมาธิสั้น

            กัญชา และทำให้ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ เช่นทำให้ปริมาณอสุจิลดลง การตกไข่ลดลงประจำเดือนผิดปกติ ส่วนถ้ามีการเสพกัญชาในช่วงที่ตั้งครรภ์พบว่าทำให้เด็กมีความผิดปกติเกี่ยวกับความจำ การพูด กระบวนการคิดและการประมวลข้อมูลที่ได้รับของสมอง นอกจากนี้ยังเพิ่มความชุกของการเกิดอาการสั่น (tremor) หรือ ตาค้าง (staring) ในเด็กที่คลอดออกมาช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรก

            ผลต่อจิตประสาท ถ้าได้รับกัญชาในขนาดที่สูงในระยะสั้นๆ จะทำให้มีอาการกระวนกระวาย มีอาการหลอน (hallucination) มีความหลงผิด (delusion) ความจำเสื่อม วิตกกังวล ในระยะยาวทำให้เกิด กลุ่มอาการที่เรียกว่า apathic syndrome ประกอบด้วยอาการเฉยเมยรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ ขาดพลังงานในการทำสิ่งต่างๆ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่สนับสนุนความสัมพันธ์ของการเกิดโรคจิตเภท (schizophrenia) ในผู้ป่วยที่เสพกัญชาอีกด้วย

            พิษเฉียบพลันสำหรับผู้ได้รับกัญชาเกินขนาด (acute toxicity) การควบคุมเคลื่อนไหวของร่างกายที่แย่ลง ความมั่นคงและแรงของมือลดลง ความดันโลหิตตกเวลาเปลี่ยนท่า (postural hypotension) ง่วงซึม ไม่มีสมาธิ ตอบสนองช้าลง พูดไม่ชัด ตาแดงถึงแม้อาการจะไม่รุนแรงในผู้ใหญ่ ในเด็กที่รับประทานกัญชา ไปเพียง 250-1000 มิลลิกรัมของ hashish ทำให้แย่ลงได้ในระยะเวลา 30 นาที ผู้ป่วยจะมีอาการหยุดหายใจ หัวใจเต้นช้า เขียว และแขนขาอ่อนปวกเปียกได้

            การติดกัญชา และการถอนยา 7%-10% ของผู้เสพกัญชาเป็นประจำจะมีภาวะติดยาทั้งทางกายภาพและทางพฤติกรรม ยิ่งเริ่มเสพกัญชาเร็ว และเสพถี่กายภาพและทางพฤติกรรม ยิ่งเริ่มเสพกัญชาเร็วและเสพถี่เป็นประจำยิ่งเพิ่มการติดยา ส่วนอาการของการถอนยา (withdrawal syndrome) ได้แก่ อาการกระวนกระวายอยู่ไม่สุข การรับประทานอาหารและการนอนหลับที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอาการเหงื่อแตกคลื่นไส้อาเจียน น้ำลายมาก สั่น น้ำหนักลด มีไข้ได้ อาการทั้งหมดอาจเกิดได้แม้เพียงหยุดการเสพติดต่อกันเพียง 1 สัปดาห์


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการใช้กัญชาเป็นสมุนไพรตามตำราไทยในอดีตนั้นมีการระบุว่า ในกรณีที่รับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน มีอาการชัก ตาลาย หรือ กลายเป็นเสพติด
  2. ในการใช้กัญชาเป็นสมุนไพรตามตำราไทยในอดีตนั้นมีการระบุว่า ผู้ชายหากรับประทานมากเกินไปจะทำให้น้ำกามเคลื่อน
  3. ในการใช้กัญชาเป็นสมุนไพรตามตำราไทยในอดีตนั้นมีการระบุว่า สตรีที่รับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการตกขาว
  4. การเสพกัญชาแม้เพียงระยะสั้น ผู้เสพบางรายอาจสูญเสียความทรงจำได้ เพราะกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตด้วยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป
  5. กัญชา ยังมีฤทธิ์ทำลายความรู้สึกทางเพศ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ผู้เสพจึงมักมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  6. การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน หรือ 1 ซอง มันจึงสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า
  7. การเสพกัญชาเป็นระยะเวลานาน จะนำมาซึ่งภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และก่อให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีความผิดปกติทางสมองจนก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาทตามมา

น้ำมันกัญชา

เอกสารอ้างอิง กัญชา
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กัญชา” หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 62.
  2. ดร.ภญ.ประภัสสร ทิพย์รัตน์.พืชกัญชา:ความรู้ทั่วไปและการตรวจสอบสาระสำคัญ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่
  3. เอกสารงานประชุมวิชาการ เรื่องการวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชาและกัญชงทางการแพทย์เพื่อการพัฒนาประเทศ ณ.ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เดนส์ วันที่ 8-9 ก.พ. 61
  4. วีระชัย ณ นคร. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และประโยชน์ของพืชกัญชง. สัมมนาวิชาการ เรื่อง การวิจัยและแนวทางการพัฒนาพืชกัญชงเชิงเศรษฐกิจ. 15 ตุลาคม 2548 โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่.
  5. รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์ .กัญชา มีอะไรมากล่าวยาเสพติด.คอลัมน์นานาสาระ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 193. พฤษภาคม.2538
  6. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กัญชา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 56-57.
  7. พญ.ยาใจ อภิบุณโยภาส, รศ.นพ.วินัย วนานุกูล. ภาวะพิษจากกัญชา Cannabionoids Poisoning. จุลสารพิษวิทยา.ปีที่ 17. ฉบับที่ 2. เมษายน-มิถุนายน 2552.หน้า 3-5
  8. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.“กัญชา Indian hemp, Marihuana”. หน้า 59.
  9. ความต่างของกัญชา กับ กัญชงเทศ. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5415
  10. Ehrensing D.T. (1998). “Feasibility of Industrial Hemp Production in the United States Pacific Northwest” in Station Bulletin 681. Agricultural Experiment Station, Oregon State University, pp. 1-41.
  11. ผลของสาร delta9-Tetrahydrocannabidol และ Cannabidol จากกัญชา กับผลต่อระบบประสาทและอาการวิตกกังวล.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรกระวาน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Canabis [Toxicology information on CD-ROM] AltMedDexPoint system. MICROMEDEX (R). Healthcare Series vol 141,2009.
  13. McGuigan M. Cannabinoids. In: Goldfrank LR, Flomenbaum NE, Hoffman RS, Howland MA, Lewin NA, Nelson LS, editors. Goldfrank’s toxicologic emergencies. 8th ed. New York: McGraw-Hill;2007: p1212-20.