มะขาม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะขาม งานวิจัยและสรรพคุณ 37 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะขาม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขาม (ภาคใต้), ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะลูบ (โคราช), หมากแกง (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), อำเปียล (เขมร-สุรินทร์), ส่าหม่อเกล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ซึงกัก, ทงฮ้วยเฮียง (จีน
ชื่อสามัญ tamarind
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.
วงศ์ Fabaceae


ถิ่นกำเนิดมะขาม

เชื่อกันว่ามะขามมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา แถบประเทศซูตานในปัจจุบัน จากนั้นมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้นำมะขามมาปลูกในแถบอินเดีย รวมถึงในประเทศแถเขตร้อนของเอเชีย และประเทศแถบลาตินอเมริกา แม้จะมีหลักฐานว่ามะขามมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่สำหรับในประเทศไทยมะขามก็เข้ามา และเป็นที่รู้จักดีมากว่า 700 ปีแล้ว ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่กล่าวถึงมะขามอยู่หลายแห่ง เช่น ตอนหนึ่งว่า “หมากขามก็หลายในเมืองนี้ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” เป็นต้น จากหลักฐานดังกล่าวจึงอาจกล่าวได้ว่า มะขามเป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์เข้ามาสู่ประเทศไทยกว่า 700 ปีมาแล้ว นอกจากนี้มะขามยังเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย

           ทั้งนี้มะขาม เป็นต้นไม้แข็งแรงทนทาน และเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวมากชนิดหนึ่ง ในประเทศศรีลังกามีรายงานว่าพบมะขามที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ส่วนในประเทศไทย พบมะขามยักษ์ที่วัดแค อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มีขนาดลำต้น 6-7 คนโอบ เชื่อว่ามีอายุกว่า 300 ปี โดยวัดแคนี้มีปรากฏชื่อในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเณรแก้วเรียนวิชากับอาจารย์คงสมภารวัดแค ว่า

            “ทั้งพิชัยสงครามล้วนความรู้         อาจจะปราบศัตรูไม่สู้ได้

               ฤกษ์พานาทีทุกสิ่งไป                ทั้งเสกใบมะขามเป็นต่อแตน”

           มีชาวสุพรรณฯ จำนวนมากเชื่อว่า มะขามยักษ์ที่วัดแคในปัจจุบัน เป็นมะขามต้นเดียวกันกับต้นที่เณรแก้วฝึกเสกใบมะขามเป็นต่อแตนในครั้งกระโน้น

ประโยชน์และสรรพคุณมะขาม

  1. แก้ร้อนในฤดูร้อน
  2. แก้อาการเบื่ออาหาร
  3. ลดความดันโลหิต
  4. ใช้แก้อาหารไม่ย่อย
  5. แก้ปัสสาวะลำบาก
  6. ขับพยาธิ
  7. แก้เคล็ดขัดยอก
  8. แก้ฝี
  9. แก้ตาเจ็บ
  10. รักษาแผลหิด
  11. เป็นยากลั้วคอ แก้ปากเจ็บ
  12. เป็นยาถ่าย ยาระบาย ขับลมในลำไส้
  13. ช่วยรักษาหวัด คัดจมูก
  14. ช่วยในการรักษาโรคบิด 
  15. ช่วยฟอกโลหิต
  16. เป็นยาบำรุง
  17. แก้ไข้
  18. แก้ท้องเดิน 
  19. ใช้สมานแผล
  20. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  21. แก้กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น
  22. ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
  23. เป็นยาฆ่าเชื้อ
  24. แก้พิษสุรา
  25. รักษาโรคเริม
  26. รักษาโรคงูสวัด
  27. แก้แพ้ท้อง
  28. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  29. แก้เด็กเป็นตานขโมย
  30. ช่วยขับเสมหะ
  31. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง
  32. แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำดี
  33. ใช้แก้โรคหืด
  34. แก้บวมอักเสบ
  35. ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่น
  36. จะช่วยให้ผิวหน้าดูกระชับสดใส และสะอาดยิ่งขึ้น
  37. ช่วยให้ผิวหนังที่มีรอยดำคล้ำกลับมาขาวสดใส


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ร้อน จากอากาศร้อน เบื่ออาหาร แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก เด็กเป็นตานขโมย ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 15-30 กรัม ผสมน้ำ คั้นแล้วอุ่นให้กิน
  • แก้พิษสุรา ขับเสมหะ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 3 กรัม ผสมน้ำตาลทรายกิน
  • แก้ไข้ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดแช่น้ำ ผสมน้ำตาลให้มีรสหวาน ใช้ดื่มแก้กระหายช่วยลดความร้อน
  • ใช้เป็นยาระบาย กินเนื้อหุ้มเมล็ด แล้วดื่มน้ำตามมากๆ
  • ใช้ใบต้มน้ำอาบ หลังคลอด และหลังฟื้นฟู ทำให้สดชื่น หรือ ใช้อบไอน้ำ
  • แก้หวัด คัดจมูก ขับเสมหะ แก้ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ใช้เปลือกต้นผสมเกลือ เผาในหม้อดินจนเป็นเถ้าขาว กินครั้งละ 60-120 มก. และยังใช้เถ้านี้ผสมน้ำอมบ้วนปากกลั้วคอ แก้คอเจ็บ และปากเจ็บได้อีกด้วย หรือ อาจใช้เนื้อหุ้มเมล็ดกินครั้งละ 15 กรัม ช่วยย่อยอาหาร หรือ ใช้เนื้อมะขาม รักษาอาการท้องผูก สามารถทำได้ 3 วิธี คือ ใช้เนื้อจากฝักละลายน้ำแล้วผสมเกลือสวนเข้าทางทวาร หรือ ใช้เนื้อจากฝักผสมเกลือรับประทาน หรือ เอาเนื้อจากฝักผสมเกลือเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ใช้เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแดงเป็นมัน 600 มก. เทียนขาว (Cumin) อย่างละเท่าๆ กัน ผสมน้ำตาล ต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง
  • แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำดี ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด กินครั้งละ 10-60 กรัม เปลือกต้น ใช้ต้มกับน้ำ (จะมีแทนนินออกมา)
  • ใช้เป็นยาสมานฝี แผล กันอักเสบ แก้ท้องร่วง และอาเจียน ใช้แก้โรคหืด ช่วยถ่ายพยาธิตัวกลมในลำไส้ พยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้เมล็ดมะขามมาคั่ว กะเทาะเปลือกออก นำเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำเกลือจนนิ่ม แล้วรับประทานครั้งละ 20 เม็ด

           เครื่องดื่มชนิดหนึ่งชื่อ “เชอร์เบต” (sherbet) ซึ่งผสมโดยต้มเนื้อมะขาม 30 กรัม ในนม 1 ลิตร เติมลูกเกด 2-3 ลูก กานพลู กระวาน และการบูร เล็กน้อย ใช้ดื่มแก้ไข้ และอาการอักเสบต่าง  เป็นต้นว่า เป็นไข้ อาหารไม่ย่อย อาการผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ท้องเสีย และใช้แก้ลมแดดได้ดี ส่วน น้ำชงจากเนื้อมะขาม เตรียมโดยแช่เนื้อมะขามในน้ำ แล้วรินออกมากิน แก้อาการเบื่ออาหาร (ประสิทธิภาพของยาชง จะเพิ่มขึ้นอีก โดยการเติมพริกไทยดำ น้ำตาล กานพลู กระวาน และการบูร ช่วยเพิ่มรส) และในระยะฟื้นไข้ ก็ให้กินเนื้อหุ้มเมล็ดกับนม เนื้อหุ้มเมล็ดอุ่นให้ร้อนใช้พอกแก้บวมอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดผสมเกลือให้เป็นครีมใช้ถูนวดในโรครูห์มาติสซั่ม น้ำมะขามใช้อมบ้วนปากกลั้วคอแก้เจ็บคอ กระเพาะอาหารอักเสบ

           นำมะขามเปียกไปแช่น้ำ ลอกเอาใยออก นำมะขามมาถูตัวเบาๆ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นตลอดทั้งวัน มะขามเปียก และดินสอพองผสมจนเข้ากัน นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออก จะช่วยให้ผิวหน้าดูกระชับสดใส และสะอาดยิ่งขึ้น มะขามเปียกผสมกับน้ำอุ่น และนมสด ใช้พอกผิว ช่วยให้ผิวหนังที่มีรอยดำคล้ำกลับมาขาวสดใส


ลักษณะทั่วไปของมะขาม

มะขาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 6-20 เมตร เปลือกต้นสีเทา ดำ มีริ้วรอยมาก แตกกิ่งก้านสาขามาก ไม่มีหนาม ใบเป็นใบประกอบ ปลายเป็นใบคู่ ใบยาว 8-11 ซม. มีใบย่อย 14-40 ใบ ใบย่อยลักษณะใบยาวปลายมนกลม ยาว 1-2, 4 ซ.ม. กว้าง 4.5-9 ม.ม. ปลายใบมน หรือ บางทีก็เว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบทั้ง 2 ข้าง เว้าเข้าไม่เท่ากัน ตัวใบเรียบไม่มีขน ดอกออกที่ปลายก้าน หรือ จากซอกใบ เป็นช่อบานจากโคนไปปลาย ดอกมีกลีบหุ้มดอกอ่อน 1 กลีบ สีแดง ขอบมีขนสั้นสีขาว เมื่อดอกบานจะหลุดร่วงไปกลีบเลี้ยงไปกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ สีเหลืองปลายกลีบแหลมมีสีแดงเรื่อๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีเหลืองมีลายเส้นกลีบดอกสีแดงเข้ม ริมกลีบดอกมีรอยย่นๆ กลีบดอก 2 กลีบ ล่างจะฝ่อ เล็กหายไป มีเกสรตัวผู้ 3 อัน ก้านเกสรติดกันจากส่วนกลางลงมา รังไข่มี 1 อัน เป็นฝักยาว ส่วนปลาย เป็นก้านเกสรตัวเมีย มีเมล็ดมาก ฝักทรงกระบอก แบนเล็กน้อย ยาว 3-14 ซม. กว้าง 2 ซม. เปลือกนอกสีเทา ภายในมีเมล็ด 3-10 เมล็ด เมล็ดมีผิวนอก สีน้ำตาลแดงเรียบเป็นมัน ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ฝักแก่ในราวเดือนธันวาคม

มะขาม

มะขาม

การขยายพันธุ์มะขาม 

โดยทั่วไป มะขามสามารถขยายพันธุ์จะได้ด้วยเมล็ด แต่ปัจจุบัน มะขามเริ่มมีการปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น จึงนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอน และการเสียบยอดเป็นหลัก เพราะสามารถให้ผลผลิตได้เร็วเพียงไม่ถึงปีหลังการปลูก อีกทั้ง ต้นที่ปลูกด้วยวิธีนี้จะมีลำต้นไม่สูงเหมือนการเพาะเมล็ด ทำให้ง่ายต่อการจัดการ และการเก็บผลผลิตซึ่งการปลูกขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

  1. การเตรียมแปลง เตรียมแปลงด้วยการไถกลบหน้าดิน แล้วตากดิน และหญ้าให้ตายก่อน 1 ครั้ง ระยะตากดินนาน 7-14 วัน หลังจากนั้น ค่อยไถกลบอีกครั้ง แล้วตากดินทิ้งไว้อีก 5-7 วัน ก่อนจะทำการขุดหลุมปลูกในระยะ 8x8 เมตร หรือ 10x10 เมตร ขนาดหลุมลึก 50 เซนติเมตร กว้างยาว 50 เซนติเมตร
  2. การปลูกใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอน หรือ การเพาะเมล็ด ควรเลือกขนาดต้นพันธุ์ที่สูงประมาณ 0.5-1 เมตร ก่อนปลูกให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก หรือ วัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา ที่หลุมละ 1 กำมือ แล้วโกยดินลงคลุกผสมให้หลุมตื้นขึ้นมาเหลือประมาณ 25-30 เซนติเมตร ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมกลบดิน และรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น ให้นำฟางข้าวมาวางคลุมรอบโคนต้น
  3. การดูแลการให้น้ำ หลังจากการปลูกแล้วจะทำการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระยะแรกเพื่อให้ต้นตั้งตัวได้ โดยควรให้น้ำในทุกๆ 3-5 วัน/ครั้ง หลังจากนั้น ค่อยให้ลดลงมาเหลือ 3-4 ครั้ง/เดือน ทั้งนี้ อาจไม่ให้น้ำเลยหากเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้อง

           การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในระยะนี้จนกว่าต้นจะเติบโตพร้อมให้ผล ซึ่งช่วงนั้นจึงเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ร่วม เพื่อเร่งผลผลิต ความถี่การใส่ปุ๋ยประมาณ ปีละ 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ ควรใส่ปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นด้วยทุกครั้ง หลังจากการปลูกแล้วประมาณเข้าปีที่ 2 หรือ ปีที่ 3 จึงให้เริ่มติดผลได้

            นอกจากนี้มะขาม ยังสามารถปลูกได้ในประเทศแถบร้อนชื้น เช่น ประเทศในแถบอเมริกากลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา จึงนับว่ามะขามไม้ผลที่มีค่าทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศไทย และอินเดียที่เป็นแหล่งปลูกมะขามขนาดใหญ่ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะขามจำนวนมาก

องค์ประกอบทางเคมี

จากข้อมูลเบื้องต้นเมล็ดมะขาม ประกอบด้วยอัลบูมินอยด์ (albuminoids) โดยที่มีปริมาณไขมัน 14-20%, คาร์โบไฮเดรต 59-60 %,น้ำมันที่ถูกทำให้แห้งบางส่วน (semi-drying fixed oil) 3.9-20 %,น้ำตาลรีดิวซ์ (reducing sugar) 2.8%, สารที่มีลักษณะเป็นเมือก (mucilaginous material) 60% ได้แก่ โพลีโอส (polyose) ซึ่ง Tannin : Wikipedia

           ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า เมื่อวิเคราะห์ดูส่วนประกอบหลักๆ พบว่าเปลือกหุ้มเมล็ดมะขามประกอบไปด้วยโปรตีน 9.1% และไฟเบอร์ 11.3% โดยที่เมล็ดมะขามประกอบด้วยโปรตีน 13 % ลิปิด 7.1 %ขี้เถ้า 4.2% และคาร์โบไฮเดรต 61.7%

          โปรตีนหลักที่พบในเมล็ดมะขามคืออัลบูมิน (albumins) และโกลบูลิน (globulins) โปรตีนจากเมล็ดมะขามประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ คือ ซิสเทอีน และเมทไธโอนีน อยู่สูงถึง 4.02% เมื่อเทียบกับมาตรฐาน FAO/WHO (1991) ซึ่งตั้งค่าไว้เท่ากับ 2.50% นอกจากนี้เปลือกหุ้มเมล็ดมะขามยังประกอบด้วยสารพวกอทนนิน โดยมีรายงานว่าในเปลือกหุ้มเมล็ดมะขามประกอบไปด้วยแทนนิน (tannins) ถึง 32% ซึ่งแทนนินนี้จำแนกได้เป็นโฟลบาแทนนิน (phlobatannin) 35% ที่เหลือเป็นคะเตโคแทนนิน (Catecholtannin)

          ส่วนในเนื้อมะขามที่ให้รสเปรี้ยวยังพบกรดทาริทาริก (Tartaric acid) และในใบมะขามพบกรด ทาริทาริก (Tartaric acid) และกรดมาลิก (Malic acid) นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ ของมะขามจะมีเม็ดสี ซึ่งได้มีผู้นำไปใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง โดยมะขามพันธุ์แดงมีแอนโทไซยานิน (anthocyanin) คริสแซนทีนิน (chrysanthemin) ส่วน Tartaric acid : Wikipedia

          มะขาม พันธุ์อื่นๆ มีเม็ดสีจำพวกแอนทอลแซนติน (anthoxanthin) ลูทีนโอลีน (lute olin) และอาปิเจนิน (apigenin) อยู่ในใบมะขามประมาณร้อยละ 2 ฝักมะขามมีแอนทอคแซนตินเล็กน้อย ในดอกมะขามมีแซนโทฟิล (xanthophyll) เท่านั้น และในเปลือกเมล็ดมะขามมีลิวโคแอนโทไซยานิดิน (leucoanthocyanidin) เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะขาม 

โครงสร้างมะขาม

Malic acid : Wikipedia        

ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของมะขามีดังนี้

  • พลังงาน                          239      กิโลแคลอรี
  •  คาร์โบไฮเดรต               62.5     กรัม
  • น้ำตาล                            57.4     กรัม                        
  • เส้นใย                            5.1       กรัม
  • ไขมัน                              0.6       กรัม
  • โปรตีน                            2.8       กรัม
  • วิตามินบี 1                     0.428   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                      0.152   มิลลิกรัม                      
  • วิตามินบี 3                      1.938   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5                     0.143   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6                      0.066   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9                     14       ไมโครกรัม
  • โคลีน                              8.6      มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                         3.5       มิลลิกรัม                                 
  • วิตามินอี                        0.1       มิลลิกรัม
  • วิตามินเค                        2.8      ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม                74        มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                      2.8       มิลลิกรัม                       
  • ธาตุแมกนีเซียม              92       มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส                113     มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม          628     มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม                    28       มิลลิกรัม                           
  • ธาตุสังกะสี                      0.1      มิลลิกรัม 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะขาม

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดน้ำร้อนจากใบ สารสกัดเอทานอล 95% จากใบ ไม่ระบุขนาดที่ใช้ สารสกัดอีเทอร์-เฮกเซน-เมทานอล จากใบ ความเข้มข้น 100 มค./ก. และสารสกัดเอทานอล 95% จากผล ไม่ระบุขนาดที่ใช้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus สารสกัดน้ำร้อนจากผล ไม่ระบุขนาดที่ใช้ ให้ผลยับยั้งเชื้อ S. aureus ไม่ชัดเจน ในขณะที่สารสกัดอัลกอฮอล์จากผล ความเข้มข้น 200 มก./มล. ให้ผลยับยั้งเชื้อดังกล่าวต่ำมาก สารสกัดเอทานอล 95% และสารสกัดน้ำร้อนจากราก ไม่ระบุขนาดที่ใช้ สารสกัดเฮกเซน และสารสกัดน้ำจากผล ความเข้มข้น 200 มก./มล. และสารสกัดน้ำ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ความเข้มข้น 1 ก./มล. ไม่มีผลยับยั้ง S. aureus สารสกัดส่วนเนื้อมะขามด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง ได้แก่  Bacillus subtilis, Escherichia coli และ Salmonella typhi แต่สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม และสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าวอย่างอ่อน

          มีการทดสอบในสัตว์ (in vivo study) โดยให้เปลือกหุ้มเมล็ดมะขาม หรือ เมล็ดมะขาม ให้สัตว์ทดลองรับประทานพบว่าเปลือกเมล็ดมะขามที่กำจัดแทนนินออกแล้วมีค่าปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคในไก่ คือ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยที่สามารถลดความเครียดจากความร้อน (heat stress) และลดภาวะออกซิเดทีฟสเตรทได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาอีกฉบับรายงานว่าเมล็ดมะขามต้มแล้วเอกเปลือกหุ้มเมล็ดมะขามออกนั้นไม่สามารถเพิ่มคุณค่าทางอาหารในไก่ได้ ไก่ที่รับประทานเมล็ดมะขามดังกล่าวพบผลเสียคือ ดื่มน้ำมากขึ้น อีกทั้งมีขนาดของตับอ่อน และความยางของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น โดยที่ผลที่ได้นี้ผู้วิจัยแนะนำว่าเกิดจากโพลีแซคคาไรด์ที่ไม่สามารถย่อยได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะขาม

          หนูถีบจักรเพศผู้ และเพศเมียที่กินอาหารผสมด้วยส่วนสกัดโพลีแซคคาไรด์จากเมล็ด ขนาด 5% ของอาหาร ไม่พบพิษ แต่หนูถีบจักรเพศเมียที่กินอาหารผสมดังกล่าวขนาด 1.2 และ 5% จะมีน้ำหนักลดลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 34

          ไก่ (Brown Hisex chicks) กินอาหารผสมด้วยเนื้อมะขาม สุก 2% และ 10% นาน 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักลดลง (weight gain) และ feed conversion ratios ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพ คือ มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไขมันของตับ (fatty change) เซลล์ตับ และ cortex ของไตตาย (necrosis) ในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ไก่กลุ่มที่กินอาหารผสม 10% จะมีพยาธิสภาพรุนแรงกว่าไก่กลุ่มที่กินอาหารผสม 2% ผลการตรวจทางซีรัมพบว่า กรดยูริก total cholesterol, alkaline phosphatase (ALP), glutamic oxaloacetic trans-aminase (GOT) ในซีรั่มเพิ่มขึ้น total serum protein ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (กลุ่มที่ไม่ได้กินอาหารผสมเนื้อมะขามสุก) sorbitol dehydrogenase และ total bilirubin ไม่เปลี่ยนแปลง ค่า ALP กรดยูริก cholesterol และ total protein จะไม่กลับสู่ภาวะปกติในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากไม่ได้กินอาหารผสมแล้ว ผลการตรวจทางโลหิตวิทยาไม่มีการเปลี่ยนแปลง

           หนูขาวเพศเมีย และเพศผู้ กินอาหารที่มีส่วนผสมของโพลีแซคคาไรด์จากเมล็ดมะขาม 4, 8 และ 12% นาน 2 ปี ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อัตราการตาย น้ำหนักร่างกาย การกินอาหาร ผลทางชีวเคมีในปัสสาวะ และเลือด ผลการตรวจเลือด น้ำหนักอวัยวะ และพยาธิสรีระ

          หนูถีบจักรที่กินสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากดอก พบว่าขนาดความเข้มข้นของสารสกัดสูงสุดที่หนูทนได้ เท่ากับ 1 ก./กก. น้ำหนักตัว

          หนูขาว Sprague-Dawley SPF กินอาหารที่ผสมด้วย pigments จากเมล็ดที่เผาในขนาด 0, 1.25, 2.5 และ 5% ของอาหาร เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ ความเข้มข้นสูงสุดของ pigments ที่ให้โดยการผสมในอาหารในหนูเพศผู้เท่ากับ 3,278.1 มก./กก./วัน และในหนูเพศเมียเท่ากับ 3,885.1 มก./กก./วัน ไม่พบพิษ

           พิษต่อตัวอ่อน L-(-)-di-Butyl malate ที่ได้จากสารสกัดเมทานอลจากฝักมะขาม เป็นพิษต่อเซลล์ตัวอ่อนของ Sea urchin แต่สารสกัดเอทานอล : น้ำ จากฝักมะขาม ให้ทางสายยางลงสู่กระเพาะอาหารหนูขาวที่ตั้งท้อง ขนาด 100 มก./กก. ไม่พบพิษต่อตัวอ่อนในท้อง และสารสกัดเอทานอล 100% จากผล ให้ทางสายยางให้อาหารลงสู่กระเพาะอาหารหนูขาวเพศเมีย ขนาด 200 มก./กก. ไม่ทำให้แท้ง และไม่มีผลต้านการฝังตัวของตัวอ่อน ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ฝักมะขามขนาด 0.1 มก./จานเพาะเชื้อ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ Salmonella typhimurium TA1535 แต่ไม่มีผลต่อ S. typhimurium TA1537, TA1538 และ TA98

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการเลือกซื้อมะขาม มาใช้ประโยชน์ (โดยเฉพาะมะขามสุก) นั้นควรเลือกมะขามที่ไม่มีเชื้อรา เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
  2. การบริโภคมะขามมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกายได้เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง
  3. การบริโภคมะขามไม่ควรหวังผลในการรักษา/สรรพคุณของมะขาม มากเกินไปควรบริโภคแต่พอดี และไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  4. ยังมีมีผลการศึกษาวิจัยที่ชี้ชัดว่ามะขามสามารถใช้ลดน้ำหนักได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้มะขามมาลดน้ำหนัก

เอกสารอ้างอิง มะขาม
  1. สมพล ประคองพันธ์. วันชัย สุทธนันท์. การใช้ดพลีแซคคาไรต์จากเมล็ดมะขามในยาอิมัลชั่น และยาแขวนตะกอน. วารสารเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล 1988:53
  2. ภัคสิริ สินไชยกิจ, ไมตรี สุทธิจิตต์.คุณสมบัติชีวเคมีและการประยุกต์ใช้ของเมล็ดมะขาม, บทความปริทัศน์.วารสารนเรศวรพะเยา.ปีที่ 4. ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม. 2554.
  3. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพร พื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2526.
  4. Aengwanish, W. and Suttajit, M. Effect of polyphenols extracted from tamarind (Tamarindus indica L.) seed coat on physiological changes, heterophil/ lymphocyte ratio, oxidative stress and body weight of broiler (Gallus domesticus) under chronic heat stress. Ani Sci J 2010; 81: 264-270
  5. เดชา ศิริภัทร. มะขาม. ต้นไม้ประจำครัวไทย. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 163. พฤศจิกายน. 2535
  6. Ahmad I, Mehmood Z, Mohammad F. Screening of some Indian medicinal plants for their antimicrobial properties. J Ethnopharmacol 1998;62:183-93.
  7. บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
  8. มะขาม. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Pugalenthi M, Vadivel V, Gurumoorthi P, Janardhanan K. Comparative nutritional evaluation of little known legumes, Tamarindus indica, Erythrina indica and Sesbania bispinosa. Tropic Subtropical  Agroecosys 2004; 4(3): 107-123
  10. George M, Pandalai KM. Investigations on plant antibiotics. Part IV. Further search for antibiotic substances in Indian medicinal plants. Indian J Med Res 1949;37:169-81.
  11. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. มะขาม และผักคราดหัวแหวน. คอลัมน์อื่นๆ นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 15.กรกฎาคม.2523
  12. ก.กุลฑล. ยาพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524.
  13. Ross Sa, Megalla SE, Bishay DW, Awad AH. Studies for determining antibiotic substances in some Egyptian plants. Part 1. Screening for antimicrobial activity.  Fitoterapia 1980;51:303-8.
  14. Watt JM, Breyer-Brandwijk MG. The Medicinal and Poisonous Plants of Southern and Eastern Africa. 2nd edition. Edinburgh and London, E&S Livingstone. 1962.
  15. พระเทพวิมลโมลี. ตำรายากลางบ้าน. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524.
  16. Ali MS, Ahmad VU, Azhar I, Usmanghani K. Chemotropism and antimicrobial activity of Tamarindus indica. Fitoterapia 1998;69(1):43-6.
  17. Panthong A, Khonsung P, Kunanusorn P, Wongcome T, Pongsamart S. The laxative effect of fresh pulp aqueous extracts of Thai Tamarind cultivars. Planta Medica Issue 09 Volume 74 July 2008, 7th Joint Meeting of GA, AFERP, ASP, PSE & SIF, 3–8 August, Athens, Greece, 2008. p.404418.
  18. Martindale. The extra pharmacopocia. Reynolds JEF; ed. London: The Pharmaceutical Press 1989, p779
  19. Iida M, Matsunaya Y, Matsuoka N, Abe M, Ohnishi K, Tatsumi H. Two years feeding toxicity study of tamarind seed polysaccharide in rats. J Toxicol Sci 1978;3(2):163-92.
  20. Ray PG, Majumdar SK. Antimicrobial activity of some Indian plants. Econ Bot 1976; 30:317-20.
  21. Mochizuki M, Katsumata T, Hatayama K, Tamura K, Katsumata T, Hanasaki T, Hasegawa N. A 90-day oral (dietary) toxicity study of tamarind pigments cocoa brown TRSP(B) in rats. Nippon Shokuhin Kagaku Gakkaishi 1998;5(2):140-5.
  22. Husain SI, Anwar M. Effect of some plant extracts on larval hatching of Meloidogyne incognita (Kofoid& White Chitwood). Acta Bot Indica 1975; 2: 142-6.
  23. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. In Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception. Boston:MTP Press, Ltd., 1984:115-28.
  24. Alian A, El-Ashwah E, Eid N. Antimicrobial properties of some Egyptian non-alcoholic beverages with special reference to tamarind. Egypt J Food Sci 1983;11(1-2):109-14.
  25. Srinivasan D, Nathan S, Suresh T, Lakshmana Perumalsamy P. Antimicrobial activity of certain Indian medicinal plants used in folkloric medicine. J Ethnopharmacol 2001;74:217-20.
  26. Kobayashi A, Adenan MI, Kajiyama S, Kanzaki H, Kawazu K. A cytotoxic principle of Tamarindus indica, di-n-butyl malate and the structure-activity relationship of its analogs. Z Naturforsch, C: Biosci 1996;51(3/4):233-42.
  27. Rimbau V, Cerdan C, Vila R, Iglesias J. Antiinflammatory activity of some extracts from plants used in the traditional medicine of north-African countries (II). Phytother Res 1999;13(2):128-32.
  28. Sivaswamy SN, Balachandran B, Balanehru S, Sivaramakrishnan VM. Mutagenic activity of south Indian food items. Indian J Exp Biol 1991;29(8):730-7.
  29. Sano M, Miyata E, Tamano S, Hagiwara A, Ito N, Shirai T. Lack of carcinogenicity of tamarind seed polysaccharide in B6C3F1 mice. Food Chem Toxicol 1996;34(5):463-7.
  30. Prakash AO, Gupta RB, Mathur R. Effect of oral administration of forty-two indigenous plant extracts on early and late pregnancy in albino rats.  Probe 1978;17(4):315-23.
  31. Mochizuki M, Katsumata T, Hatayama K, Tamura K, Katsumata T, Hanasaki T, Hasegawa N. A 90-day oral (dietary) toxicity study of tamarind pigments cocoa brown TRSP(B) in rats. Nippon Shokuhin Kagaku Gakkaishi 1998;5(2):140-5.
  32. Mahamedain KM, Mohamed OSA, Eibadwi SMA, Adam SEI. Effect of feeding Tamarindus indica ripe fruit in brown Hisex chicks.  Phytother Res 1996;10(7):631-3.