กวาวเครือขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กวาวเครือขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กวาวเครือขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อประจำถิ่น กวาวเครือ, จานเครือ (อีสาน), ตานเครือ, ทองเครือ, จอมทอง, (ใต้), ตานจอมทอง (ชุมพร), โพ้ต้น ( กาญจนบุรี), โพะตะกู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pueraia candollei Graham ex Benth. Var mirifica, Pueraria Mirifica
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Papilionoideae

ถิ่นกำเนิดกวาวเครือขาว

กวาวเครือขาว

กวาวเครือขาวเป็นพืชที่ขึ้นบริเวณป่าเบญจพรรณ พบกระจากทั่วไปตั้งแต่ อินเดีย กลุ่มประเทศอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น และ ไทย สำหรับในประเทศไทย พบกระจากในป่าเบญจพรรณในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะพบมากในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอินทรีย์สารสูงตามชายป่า ดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.5 ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 800 เมตร ในสภาพธรรมชาติมีการกระจาดพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยทั้งนี้พบว่าจะมีการออกดองช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมและติดฝักในเดือนเมษายน สามารถพบกวาวเครือขาวพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะต้นสักในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ในบริเวณที่เป็นป่าไผ่ในจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ พบว่ามีกวาวเครือขาวกระจากพันธุ์อยู่ได้ดีเช่นกัน กวาวเครือขาวอาจเป็น”อัญมณีแห่งพงไพร”

 

ประโยชน์และสรรพคุณกวาวเครือขาว

  1. บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง 
  2. ช่วยขยายทรวงอกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
  3. แก้ปัญหาทรวงอกหย่อนคล้อย
  4. ช่วยทำให้ทรวงอกกลับมาเต่งตึง
  5. บำรุงสุขภาพ
  6. บำรุงกำลัง 
  7. เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุ
  8. แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  9. แก้อ่อนเพลีย
  10. แก้ผอมแห้ง
  11. แก้นอนไม่หลับ
  12. มีฮอร์โมนเพศหญิงสูง
  13. ช่วยบำรุ่งเส้นผมให้ดกดำ
  14. ช่วยในการเพิ่มเส้นผม
  15. บำรุงความกำหนัด
  16. ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์และมดลูกมีเลือดมาคั่งมากขึ้น
  17. บำรุงอวัยวะสืบพันธุ์ให้เจริญ
  18. แก้โรคตาฟาง
  19. แก้ตาต้อกระจก
  20. ทำให้ความจำดี
  21. ช่วยทำให้มีพลัง เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว
  22. ช่วยบำรุงโลหิต
  23. ผิวหนังเต่งตึงมีน้ำมีนวล
  24. ช่วยลดอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน
  25. ลดอาการร้อนวูบวาบ
  26. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
  27. ช่วยให้เรื่องของความจำและการเรียนรู้ 
  28. ช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้
  29. เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้กับร่างกาย

 สรรพคุณกวาวเครือขาว

รูปแบบและและขนาดวิธีใช้กวาวเครือขาว

สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ระบุขนาดการใช้ดังนี้
การใช้ประโยชน์กวาวเครือขาวเพื่อเป็นส่วนประกอบในตำรับบำรุงย่างกาย ให้รับประทานยาตำรับที่มีส่วนประกอบของผงกวาวเครือขาว ไม่เกิน 1–2 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน หรือประมาณวันละไม่เกิน 50–100 มิลลิกรัม อาการข้างเคียงที่อาจพบได้คือ เจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน

ตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร
ระบุขนาดที่ใช้ของหัวกวาวเครือขาว โดยให้รับประทานกวาวเครือขาวผสมน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเมล็ดพริกไทย 1 เมล็ดต่อวัน รับประทานมากจะทำให้มึนเมาเป็นพิษคนหนุ่มสาวไม่ควรรับประทาน

ลักษณะทั่วไปของกวาวเครือขาว

กวาวเครือขาวเดิมถูกให้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Butea superba Roxb. เป็นพืชตระกูลถั่ว ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ผลัดใบ เลื้อยพาดพันบนต้นไม้ชื้น
ลำต้นเกลี้ยง อาจยาวถึง 5 เมตร ใบเป็นในประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ (Pinnately trifoliate) เรียงสลับกันปลายใบมีลักษณ์รูปไข่ปลายแหลม เนื้อใบด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนสั้นๆ ประปรายเส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ใบย่อยด้านข้างโคนมีลักษณะเบี้ยว หูใบรูปไข่ มีเยื่อก้านใบเห็นเด่นชัด ใบประดับมีลักษณะเป็นเกล็ดมีขนาดเล็กมาก
            ดอกออกในระยะผลัดใบ เป็นช่อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ดอกจะออกตามาซอกกิ่ง ข่อดอกเป็นข่อเดี่ยวและช่อแยกแขนงออกปลายกิ่ง ดอกมีกลีบประดับรองรับ ดอกย่อยเป็นรูปถั่วเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีทั้งเพศผู้และเพศ

           เมียในดอกเดียวกัน รูปทรงดอกเป็นแบบ Zygomorphic แบบที่เรียกว่า Papilionacaceous form ดอกประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ ที่มีขนาดและลักษณะไม่เหมือนกัน กลีบที่อยู่นอกสุดมีขนาดใหญ่สุด เรียกว่ากลีบ Standard กลีบที่ประกบอยู่ทางด้านข้างทั้งสอง มีลักษณะคล้ายกัน คืองอนโค้งคล้ายปีกนกเรียกว่า กลีบ wing กลีบที่อยู่ด้านในสุด 2 กลีบ จะเชื่อมรวมกันเป็นกระพุ้งคล้ายท้องเรือ เรียกว่า กลีบ (keel) เป็นกลีบที่ห่อเกสรไว้ มีก้านชูอับ

           เรณูติดกัน ดอกมีสีฟ้าอมม่วงถึงสีน้ำเงิน 2–3 ดอกต่อช่อ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน รังไข่ยาวเป็นแบบ superior ภายในมี 1 ห้องมีเม็ดไข่อยู่ภายใน
          ฝักมีลักษณะแบน เมื่อแก่มีสีออกน้ำตาล ผิวมีขนสั้นๆ ประปรายถึงเกลี้ยง ฝักมีความกว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีเมล็ด 3–5 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีลักษณะกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร เมล็ดแก่จะมีลายสีเขียวปนม่วง หรือ สีน้ำตาลปนม่วง

           หัวเป็นหัวใต้ดินคล้ายหัวมันแกว (Tiberous root) จะมีฤทธิ์ทางยามากในขณะที่ผลัดใบ มีหลายขนาด หัวที่มีอายุมากมีขนาดใหญ่ อาจมีน้ำหนักมากถึง 20 กิโลกรัม ที่เปลือก เมื่อเอามีดปาดจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เนื้อในสีขาวคล้ายมันแกว เนื้อจะเปราะ มีเส้นมาก รสเย็นเบื่อเมา หัวที่ยังเล็ก เนื้อในจะละเอียด มีน้ำมาก

ข้อมูลกวาวเครือขาว

การขยายพันธุ์กวาวเครือขาว

ขยายพันธุ์โดยการปลูกกวาวเครือขาวแบบเพาะเมล็ด โดยอาจจะเริ่มต้นโดยการผลิตต้นพันธุ์จากเมล็ดหรือโดยวิธีอื่น การผลิตต้นพันธุ์จากเมล็ดจะต้องรอเก็บเมล็ดในช่วงต้นถึงกลางฤดูร้อน เนื่องจากกวาวเครือขาวออกดอกติดฝักในช่วงกลางฤดูหนาวจนถึงกลางฤดูร้อน แหล่งกำเนิดของเมล็ดคือต้นกวาวเครือขาวที่อยู่ในป่า แกะเมล็ดออกจากฝัก เก็บไว้ในที่แห้งหรือในภาชนะที่มีการระบายอากาศได้ ทำการเพาะเมล็ดในกระบะบรรจุดินผสมปุ๋ยอินทรีย์โดยให้เมล็ดถูกฝังกลบไว้ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน แนะนำให้ทำการเพาะเมล็ดในช่วงที่อากาศร้อนจัดที่สุด ความร้อนจะช่วยให้เมล็ดงอกได้ง่ายขึ้น โดยปกติเมล็ดที่เก็บจากฝักที่แห้งคาต้นแล้วนำมาเพาะในปีนั้นจะมีอัตราการงอกเกือบ 100% เมล็ดที่ถูกเก็บไว้ข้ามปีจะมีอัตรางอกลดลง จึงมีการนำมาศึกษาวิจัยจนพัฒนามาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามากมายมหาศาลในปัจจุบัน

 
องค์ประกอบทางเคมี

หัวกวาวเครือขาวมีสารที่มีประโยชน์อยู่อีกหลายชนิดรวมทั้งสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน เอสโตรเจน นอกจากนี้ยังพบข้อมูลทางด้านโภชนาการดังนี้ 


องค์ประกอบ ปริมาณ                          (เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้ง)       


พลังงานจากไขมัน 5.85 แคลอรีต่อ 100 กรัม
คาร์โบไฮเดรตรวม 67.66
ไฟเบอร์รวม (dietary Fiber) 20.39
น้ำตาลรวม (Total Sugar) 19.35
คาร์โบไฮเดรต อื่นๆ 27.92
โปรตีน 7.88
ไขมัน 0.66
แคลเซี่ยม 7.56
เหล็ก 0.029
พลังงานรวม 308.01 แคลอรีต่อ 100 กรัม

ส่วนสาระสำคัญกลุ่มต่างๆ ที่พบในกวาวเครือขาวสามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

           7.1 สารกลุ่มคูมารินส์ (Coumarins)
ได้แก่ Coumestrol, Mirificoumestan, Mirificoumestan Glycol และ Mirificoumestan hydrate

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกวาวเครือขาว

โครงสร้างกวาวเครือขาว

สูตรโครงสร้างทางเคมีของ Coumestrol
ที่มา : สุนิสา (2552)

 โครงสร้างของกวาวเครือขาว

สูตรโครงสร้างทางเคมีของ Mirificoumestam
ที่มา : สุนิสา (2552)

           7.2 สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
โดยในหัวกวาวเครือขาวมีสารจำพวก lsoflavonoid หลายชนิด เช่น Genistain, Daidzein, Daidzin, Puerarin, Puerein-6-monoacetate, Mirificin, Kwakhurin และ Kwakhurin hydrate

โครงสร้างของกวาวเครือขาว

Genistein : R1 = H , R2 = OH
Daidzein : R1 = H , R2 = H
Puerarin : R1 –Glucose, R2 = H
Mirificin : Glucose – Apiose , R2 = E

สูตรโครงสร้างทางเคมีของสารกลุ่ม Flavonoids
ที่มา : สุนิสา (2552)

          7.3 สารกลุ่มโครมีน (Chromene)
สาระสำคัญอันดับหนึ่งในกวาวเครือ ได้แก่ Miroestrol ซึ่งเป็นสารที่มีรายงานว่ามีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน พบปริมาณ 0.002 – 0.003 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักหัวแห้ง หรือประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของกวาวเครือแห้ง มีรูปผลึก 2 แบบ คือ แบบที่มีน้ำหนักอยู่ในผลึก (hydrate form) ลักษณะเป็นรูปเข้มอ้วน และแบบผลึกที่ไม่มีน้ำอยู่ในผลึก (anhydrate form) มีลักษณะเป็นแผ่น ไม่มีสี มีจุดหลอมเหลว 268 – 270 องศาเซลเซียส 

โครงสร้างกวาวเครือขาว

สูตรโครงสร้างทางเคมีของ Miroestrol
ที่มา : สุนิสา (2552)

          7.4 สารกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids)
สเตียรอยด์ที่พบในหัวกวาวเครือ ได้แก่ B-sitosterol, Stigmasterol, Pueraria และ Mirificasterol
         7.5 สารประกอบอื่นๆ
นอกจากสารกลุ่มที่กล่าวแล้วข้างต้น ในหัวกวาวเครือขาวยังมีสารจำพวกแอลเคน แอลกอฮอร์และสารจำพวกไขมัน คือ Puereria, Mififica glyceride lithium, Potassium, Sodium, Phosphate, แคลเซียม, โปรตีน, ไขมัน, และไฟเบอร์ นอกจากนี้ยังมีสารประเภท Saponim อยู่อีกหลายชนิด
          ซึ่งสารต่างๆ เหล่านี้หลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ซึ่งหมายความว่าเป็นเอสโตรเจนที่ได้จากพึชและออกฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจนทุกประการ หรืออาจหมายถึงสารที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) เดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งปัจจุบันทราบแล้วว่า receptor นี้มี 2 Subtype คือ estrogen receptor alpha และ beta subtype ปัจจุบันไฟโตเอสโตรเจนที่มีอยู่ในกวาวเครือขาวสามารถแบ่งได้เป็นสารที่มีความแรงสูงและความแรงต่ำ โดยกลุ่มที่มีความรุนแรงต่ำ ได้แก่ Coumestrol, Daidzein, Daidzin, Genistin, Genistein, Mirificn และ Puerarin

หัวกวาวเครือขาว 

ใบกวาวเครือขาว 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือขาว

การทดลองในหนูเพศเมียที่กินกวาวเครือขาวพบว่า มีผลยับยั้งการให้นมของหนูที่กำลังให้นม โดยไปยังยั้งการเจริญของต่อมน้ำนม และการสร้างน้ำนม มีผลป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อให้หนูกินในช่วงตั้งท้องวันที่ 1–10 ติดต่อกัน หรือให้กินในช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายของตัวอ่อน โดยทำให้เกินการแท้ง และเมื่อให้ในหนูที่ตัดรังไข่ออก กินกวาวเครือขาวพบว่าน้ำหนักของมดลูกและปริมาณของเหลวในมดลูกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่พบในหนูที่ได้รับ ethinyl estradiol และมีรายงานว่ากวาวเครือขาวมีฤทธิ์คุมกำเนิดที่ดีในหนูขาวเมื่อให้ในขนาด 1 กรัม/ตัว/สัปดาห์ ส่วนผลของกวาวเครือขาวต่อหนูเพศผู้พบว่าสัตว์มีพฤติกรรมการสืบพันธุ์ลดลง และมีขนาด และน้ำหนักอัณฑะ epididymis ต่อมลูกหมาก และ seminal vesicles ลดลง รวมทั้งมีจำนวนตัวอสุจิ และเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิลดลง
           การศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 2 ในอาสาสมัครกลุ่มก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน ที่มีอาการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน จำนวน 37 ราย ใช้เวลา 6 เดือน พบคะแนนของงอาการวัยหมดระดูลดลงจาก 35.6 เป็น 15.1 และ 32.6 เป็น 13.69 ในกลุ่มที่ได้รับ 50 มก.ต่อวัน และ 100 มก.ต่อวัน ตามลำดับ แต่พบอาการข้างเคียง คือ อาการคัดตึงเต้านมประมาณร้อยละ 35 และอาการเลือดออกกระปริดกระปรอยประมาณร้อยละ 16.2
 

การศึกษาทางพิษวิทยาของกวาวเครือขาว

การศึกษาพิษเฉียบพลันของผงหัวกวาวเครือขาวในรูปผงยาแขวนตะกอนในน้ำ พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 16 กิโลกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์โดยการป้อนผงหัวกวาวเครือขาวในรูปผงยาแขวนตะกอนในน้ำ ขนาด 10 และ 100 มก./กก./วัน ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อค่าโลหิตวิทยา และค่าทางชีวเคมี หรือพยาธิสภาพใดๆ แต่การให้ในขนาด 1000 มก./กก./วัน ทำให้หนูเกิดภาวะโลหิตจาง จำนวนเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ระดับโคเลสเตอรอล น้ำหนักอัณฑะ ของหนูเพศผู้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีอัตราการเกิด hyperemia ของอัณฑะ ในหนูเพศเมียที่ได้รับในขนาด 100 และ 1000 มก./กก./วัน พบว่าระดับโคเลสเตอรอลลดลง มดลูกบวมเต่ง มีอัตราการเกิด cast ที่ไตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
 
ถ้ารับประทานเกินขนาด จะเป็นอันตรายได้ ทำให้มีอาการมึนเมา คลื่นไส้ อาเจียน งานวิจัยกวาวเครือขาวระบุว่าห้ามใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพราะสารที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงในสารสกัดกวาวเครือขาวมีความแรงของตัวยาจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศ และระบบประจำเดือนได้ ข้อควรระวัง ห้ามรับประทานเกินขนาดที่แนะนำให้ใช้

 

เอกสารอ้างอิง กวาวเครือขาว

1. กวาวเครือขาว .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัช มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicruderug.com/main.php?action=viewpage&pid=15
2. Niyomdham,C.1952.Notes on Thai and Indo–Chinese Phaseo leae (Leguminosae-Papilionoidea). Nordic Journal of Botany 12:339-346
3. ยุทธนา สว่างอารมณ์ และคณะ.2555 รายงานผลการวิจัยเรื่อง การเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงปลาหมอไทยด้วยการ เสริมกวาวเครือขาวในสูตรอาหารเพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับบริโภค The Enhancing Potential in Anabas testudineus Culture by Adding Pueraria mirifica in the Fish Feed for Produeing Safety Food for A Consumption.มหาวิทยาลัยแม่โจ้
4. วิชัย เชิดชีวศาสตร์.2552.นวัตกรรมสมุนไพรกวาวเครือขาว หน้า 11
5. แนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม สำหรับกวาวเครือขาว.2551. กลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
6. วิชัย เชิดชีวศาสตร์.2552.นวัตกรรมสมุนไพรกวาวเครือขาว. หน้า 232 - 234
7. ชาลี ทองเรืองและวันชัย ดีเอกนามกูล.2544.รายงานการศึกษาเรื่อง สถานภาพการวิจัยและพัฒนากวาวเครือขาวในประเทศไทย และสิ่งที่ควรดำเนินการวิจัย .1-36 หน้า
8. สุนิสา ทองสกุล .2552. การศึกษาผลของกวาวเครือขาวต่อการเจริญเติบโตของกบ. ปัญหาพิเศษ มหาวิทยาลัยแม่โจ้–ชุมพร.มหาวิทยาลัยแม่โจ้.เชียงใหม่
9. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก
http://www.phamacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/314/กวาวเครือขาว
10. หลวงอนุสารสุนทร , ตำรายาหัวกวาวเครือ . กรมการพิเศษเชียงใหม่ โรงพิมพ์ อุปะติพงษ์ พฤษภาคม 2474
11. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.2546.ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 2 / โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร
12. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล.2554.องค์ความรู้จากงานวิจัยสมุนไพรไทย 10 ชนิด กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน ขิง บัวบก พริกไทย ไพล ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม มะระขี้นก.บริษัท 21 เซ็นจูรี จำกัด:กรุงเทพมหานคร
13. ทรงพล ธีรพัฒน์ , ปราณี ชวลิตธำรง , สดุดี รัตนจรัสโรจน์ , อัญชลี จูฑะพุทธิ และ สมเกียรติ ปัญญามัง . 2542,พิษวิทยาของสารสกัดกวาวเครือขาว วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 42:202 – 223