กระชายดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระชายดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระชายดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระชายม่วง, ว่านเพชรดำ, ขิงทราย (มหาสารคาม), ว่านจังงัง, ว่านพญานกยูง, ว่านกั้นบัง,ว่านกำบัง, ว่านกำบังภัย, กะแอน. ระแอน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia parviflora Wallich. ex Bakerกระชายดำ
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae


ถิ่นกำเนิดกระชายดำ

กระชายดำมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หนาแน่นในแถบมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียว อินโดจีน และในประเทศไทย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการปลูกกระชายดำมากได้แก่จังหวัด พิษณุโลก เพชรบูรณ์ น่านเลย ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ
 

ประโยชน์และสรรพคุณกระชายดำ

  1. ใช้บำรุงกำลัง
  2. แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า
  3. ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
  4. ช่วยขับลมพิษ 
  5. เป็นยาอายุวัฒนะ 
  6. แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง
  7. โขลกกับเหล้าขาวคั้นน้ำดื่ม แก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อน
  8. ใช้กวาดคอเด็ก แก้โรคตานซางในเด็ก
  9. ต้มดื่มแก้โรคตา 
  10. ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศชาย
  11. บำรุงผิวพรรณของสตรีให้สดใส เปล่งปลั่ง ฟื้นฟูผิวให้สวยนุ่ม
  12. บำรุงประสาท 
  13. แก้อาการนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืน
  14. บำรุงโลหิตของสตรี
  15. รักษาโรคภูมิแพ้
  16. ช่วยขับลม
  17. แก้ท้องอืด
  18. ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  19. แก้อาการตกขาวของสตรี
  20.  แก้อาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี
  21. ช่วยรักษากลากเกลื้อนและติดเชื้อผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา
  22. รักษาโรคเกาต์
  23. แก้อาการเหน็บชา
  24. ใช้ต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่ม จะช่วยขับน้ำนม รักษาอาการตกเลือด           

            ในการใช้กระชายดำแบบพื้นบ้านในสมัยก่อนนั้น จะนำมาทำเป็นยาลูกกลอน คือ เอาผงแห้งมาผสมน้ำผึ้งและปั้นเป็นลูกๆ หรือนำมาดองเหล้า (ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม : เหล้าขาว 3 ขวด : น้ำผึ้ง 1 ขวด) ดองทิ้งไว้ประมาณ 9 – 15 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มวันละ 1–2 เป๊กกระชายดำไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ระยะเวลาการแข็งตัวที่นานขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวก็สามารถรับประทานเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรกขึ้นได้)หากสุภาพสตรีทานแล้วจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนทางเพศ ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ช่วยในการนอนหลับ แก้อาการนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืน ช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้น เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ใช้เป็นยาบำรุงอย่างดีเป็นสมุนไพรที่ใช้ได้ทั้งชายและหญิงเพราะมีสรรพคุณเฉพาะตัวสำหรับเพศชายและเพศหญิง 

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้

สำหรับวิธีการใช้ประโยชน์กระชายดำเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้โรคบิด และลมป่วงทุกชนิด
• ถ้าเป็นเหง้าสด ให้ใช้ประมาณ 4–5 นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวดก่อนนำมารับประทานเป็นอาหารเย็น ในปริมาณ 30 cc. หรือ จะฝานเป็นแว่นบางๆ แช่กับน้ำดื่ม หรือนำมาดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1• หากเป็นเหง้าแห้งก็ให้ใช้ดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1 ต่อ นาน 7 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนนอน 
• หากเป็นแบบชงหรือแบบผง ให้ใช้ผงแห้ง 1 ซอง ชงกับน้ำร้าน 1 แก้ว (ขนาน 120 cc.) และแต่งรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลตามความต้องการ แล้วนำมาดื่ม
  

ลักษณะทั่วไปของกระชายดำ

กระชายดำจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีมีเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นพืชตระกูลเดียวกับ ขิง ข่า ไพล โดยในแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้
เหง้ากระชายดำ นั้นมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นปุ่มป่นเรียงต่อกัน และมักมีขนาดเท่าๆ กัน มีหลายเหง้าและอวบน้ำ ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาบเข้ม และอาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ ส่วนเนื้อภายในชองเหง้ามีสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงม่วงดำ เหง้ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติขมเล็กน้อย โดยสมุนไพรกระชายดำที่ดีนั้นจะต้องมีสีม่วงเข้มถึงสีดำ
• ใบกระชายดำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 5–10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักตามเส้นใบ ผิว ในเป็นร่องคลื่นตลอดใบตามแนวของเส้นใบ ใบกระชายดำมีสีเขียวสด ส่วนโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นกระชายดำไว้ ขอบก้านใบมีสีแดงตลอดความยาวของก้าน ส่วนกลางก้านเป็นร่องลึก
• ดอกกระชายดำ ดอกออกเป็นช่อแทรกขึ้นมาจากโคนกาบใบ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร กลีบดอกที่ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 - 3.2 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก เกสรตัวผู้เป็นหมัน มีสีขาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาด มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 -13 มิลลิเมตร ส่วนกลีบปลายมีสีม่วง

สรรพคุณชายดำ

การขยายพันธุ์กระชายดำ

ขยายพันธุ์กระชายดำโดยการใช้หัวหรือแยกหน่อ ปลูกได้ทั้งปี แต่ฤดูที่เหมาะสมอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม การเตรียมปลูกกระชายดำสำหรับหัวกระชายดำหัวหนึ่งจะมีหลายแง่ง ให้บิ (หัก) ออกมาเป็นแง่งๆ ถ้าแง่งเล็กก็ 2–3 แง่ง ถ้าแง่งใหญ่สมบูรณ์ก็แค่แง่งเดียวก็พอ เพราะเมื่อกระชายดำโตขึ้น กระชายดำก็จะแตกหน่อ และเกิดหัวกระชายดำหัวใหม่ขึ้นมาแทน และจะขยายหัวและหน่อออกไปเรื่อยๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ส่วนหัวหรือแง่งที่ใช้ปลูกในตอนแรกที่เหี่ยวและแห้งไปในที่สุด ก่อนนำไปปลูก ควรทารอยแผลของแง่งกระชายดำที่ถูกหักออกมาด้วยปูนกินหมาก หรือจะจุ่มในน้ำยากันเชื้อราก็ได้ แล้วผึ่งในที่ร่มจนหมดหรือแห้ง แล้วจึงนำไปปลูก การปลูกกระชายดำก็เหมือนกับการปลูกกระชายธรรมดาโดยทั่วไป สามารถปลุกได้ดีในดินที่ร่วนซุย การระบายน้ำดี แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้หัวหรือเหง้าเน่าเสียได้ง่ายส่วนในดินเหนียว และดินลูกรังไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก โดยธรรมชาติและกระชายดำขอบขึ้นตามร่มไม้ในป่าดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป แต่ในที่โล่งแจ้งก็สามารถปลูกได้

สรรพคุณกระชายดำ

องค์ประกอบทางเคมี

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในเหง้ากระชายดำมีน้ำมันหอมระเหยแต่พบในปริมาณน้อย (ราวร้อยละ 1 – 3) น้ำมันหอมระเหยของกระชายดำประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น 1.8-cineol,camphor, d-borneol และ methyl cinnamate น้ำมันหอมระเหยที่พบส่วนน้อย ได้แก่ d-pinene, zingiberene , zingiberone, curcumin และ zedoarin นอกจากนี้ ยังพบสารอื่น ได้แก่ กลุ่มไดไฮโดรซาลโคน Pincocembrin และกล่มุซาลโคน (ได้แก่ 2 , 4 , 6-trihydroxy chalcone และ cardamonin)(ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร,2540)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระชายดำ

โครงกระชายดำ

 รูปกระชายดำ

สูตรโครงสร้างทางเคมีสารกลุ่ม chalconeที่มา Rein (2005)

โครงสร้างกระชายดำ

สูตรโครงสร้างทางเคมีสารกลุ่ม Anthocyanin
ที่มา Castaneda-Ovando et al. (2009) 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระชายดำ

         1. ฤทธิ์ต้านอักเสบ สาร 5,7 – ได้เมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบได้กับยามาตรฐานหลายชนิด คือ แอสไพริน , อินโดเมธาซิน , ไฮไดรคอร์ติโซน และเพรดนิโซโลน จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีนแนน และเคโอลินได้ดีกว่าฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง granuloma จากการฝังสำลีใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด exudation และการสร้างสาร prostaglandin อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในช่องปอดของหนูขาว (rat pleurisy) (วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,2528)
         2. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ สาร 5,7,4'-trimethoxyflavone และ 5,7,3' ,4' –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4'-tetramethoxyflavone และ 5,7,4'-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน (Wattanapitayakui S, Nawinprasert A, Herunsalee A, et al,2003)
         3. พิษต่อเซลล์มะเร็ง (cytotoxic activity) จากการทดสอบผลของฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด ของกระชายดำต่อเซลล์มะเร็ง เช่น KB , BC หรือ NCI-H187 ไม่พบว่ามีสารใดทำให้เกิดพิษต่อเซลล์มะเร็งที่ทดสอบ (วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,2528)
          4. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง มีรายงานการวิจัยว่า สารสกัดด้วยเอธานอลของกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ละลดการหดเกร็งของ ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูขาว และยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของคน.(Yenchai C, Prasaphen K, Doodee S, et al,2004)

เหง้ากระชายดำ 

การศึกษาทางพิษวิทยาของกระชายดำ

การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20 , 200 , 1000 และ 2000 มก/กก./วัน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ พบว่า หนูที่ได้กินกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมหนูที่ได้รับประทานกระชายดำขนาด 2000 มก/กก. มีน้ำหนักสัมพันธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อาจเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิฟิสที่ได้รับกระชายดำ 2000 มก./กก. มีระดับซีรั่มโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังอยู่ในช่วงค่าปกติ ผลการตรวจอวัยวะทางจุลพยาธิวิทยานั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าเกิดความเป็นพิษของกระชายดำ (ทรงพล ชีวะพัฒน์, ณุฉัตรา จันทร์สุวาณิชย์, ปราณี ชวลิตธำรง และคณะ.2547) 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

กระชายดำสามารถรับประทานได้ทั้งหญิง และชายโดยไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ยิ่งสำหรับผู้สูงอายุก็พบว่านิยมใช้กันมานานมากแล้ว
• ผลข้างเคียงของกระชายดำ การรับประทานในขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
• ห้ามใช้กระชายดำในเด็ก และในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
• การรับประทานกระชายดำติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เหงือกร่น
• แม้จะมีงานวิจัยกระชายดำในสัตว์ทดลองที่ระบุว่ากระชายดำไม่พบว่ามีความเป็นพิษ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผล ของการใช้สารสกัดกระชายดำในคนจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง กระชายดำ

1. กระชายดำ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=4
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างอิงในหนังสือพืชสมุนไพรเล่ม 2 (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.
3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.).(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.
4. กระชายดำ.ว่านและสมุนไพรไทย.คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาศาสตร์ สกลนคร
5. รายงานวิจัยเรื่องเทคนิคการเพิ่มผลผลิตว่านกระชายดำ.สุวิทย์ วรรณศรี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์.2554หน้า4
6. ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ.ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร.องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยกระชายดำ เปราะหอม และ เฒ่าหนังแห้ง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2540
7. สุนิสา ทองสกุล.2552 การศึกษาผลของกวาวเครือขาวต่อการเจริญเติบโตของกบ.ปัญหาพิเศษมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร.มหาวิทยาลัยแม่โจ้.เชียงใหม่
8. Rein M,A.et.Copigmentation reactions ang color stability of berry anthocya nins.p.22,2005black ginger(ขิงดำ)
9. Castanede-Ovando,A.et.al.Chemical studies of anthocyanins : a review.Food Chemisty,V.113,n.4,P.859-871,2009
10. กระชายดำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน).(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th
11. กระชายดำ.สถาบันการแพทย์แผนไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: http://ittm-old.dtam.moph.go.th
12. วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,การศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของ 5,7-DMF , วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2528
13. Wattanapitayakui S,Nawinprasert A,Herunsalee A,et al. Vasodiltion,antispasmodic ang antiplatalat actions of Kaempferia pawiflora.The sixth JSPS-NECT joint Seminar : Recent Adrances in Natural Medicine Research.December 2-4,2003 Bangkok,Thailang (Poster presen-tation)
14. Yenchai C.Prasanphen K,Doodee S,et al.Bioactive fla-vonoids from Kaempferia Parvifor.Fitoterapia 2004;75(1):89-92
15. ทรงพล ชีวพัฒน์ , ณุฉัตรา จันทร์สุวาณิชย์ , ปรีชา ชวลิตธำรง และคณะ.การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของผงกระชายดำ.วารสารกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.2547