กรดคลอโรเจนิก

กรดคลอโรเจนิก

ชื่อสามัญ Chlorogenic acid

 

ประเภทและข้อแตกต่างกรดคลอโรเจนิก

กรดคลอโรเจนิก (Chlorogenicacid) เป็นสารกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ใน polyphenol compounds โดยเป็นเอสเตอร์ของกรดควินิกกับกรดคาเฟอิก หรือ กรดเฟอรูริก มีสูตรทางเคมีคือ C16H18O9 มีมวลโมเลกุล 354.311 g/mol มีจุดเดือด 669.95 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว 207-209 องศาเซลเซียส ส่วนประเภทของกรดคลอโรเจนิก นั้นจากการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถ จัดเป็นกลุ่มของสารประกอบที่แบ่งเป็นสาระสำคัญ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือเอสเตอร์ของกรดควินิกกับกรดคาเฟอิก ซึ่งเรียกชื่อว่า กรดคาเฟโออิลควินิก เช่น กรด3-คาเฟโออิลควินิก (3-caffeoylquinic acid) กรด 3,4-ไตคาโออิลควินิก (3,4-dicaffeoylquinic acid) และอีกกลุ่มหนึ่งคือเอสเตอร์ของกรดควินิกกับกรดเฟอรูริก ซึ่งเรียกชื่อว่า กรดเฟอรูโลอิลควินิก (feruloylguinic acid) เช่น กรด3-เฟอรูโลอิลควินิก (3-feruloylquinic acid)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มากรดคลอโรเจนิก

กรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic acid) เป็นกรดที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติ โดยสามารถพบได้ในเมล็ดกาแฟรวมถึงใบชา แต่จะพบได้มากในเมล็ดกาแฟ และในเมล็ดกาแฟส่วนใหญ่พบกรดคลอโรเจนิกชนิด กรด3-คาเฟโออิลควินิก (3-cafeoylquinic acid) มากที่สุดรองลงมาคือ กรด5-คาเฟโออิลควินิก (5-cafeoylquinic acid) และ กรด 4-คาเฟโออิลควินิก (4-caffeolyquinic acid) ตามลำดับ นอกจากนี้ ปริมาณของกรดคลอโรจีนิกในเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดจะมีไม่เท่ากันเช่นเดียวกับคาเฟอีน นั่นคือเมล็ดกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนมากจะมีกรดคลอโรเจนิก มาก โดยในเมล็ดกาแฟชนิดโรบัสตาจะมีคาเฟอีนและกรดคลอโรจีนิกสูงกว่าเมล็ดกาแฟชนิดอาราบิก้า แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนกับกรดคลอโรจีนิกในเมล็ดกาแฟจะพบว่าปริมาณกรดคลอโรจีนิกจะมากกว่าคาเฟอีนประมาณ 5 เท่า และในกาแฟแต่ละถ้วยจะมีปริมาณกรดคลอโรจีนิกประมาณ 100-200 มิลลิกรัม และยังมีรายงานว่า ในเมล็ดกาแฟสดที่ยังไม่ผ่านการคั่วหรือยังไม่แก่เต็มที่ (green coffee bean) จะพบกรดคลอโรจีนิกมากกว่ากาแฟที่แก่จัดหรือผ่านการคั่วมาแล้ว

กรดโรสมารินิก

ปริมาณที่ควรได้รับกรดคลอโรเจนิก

สำหรับปริมาณและขนาดของกรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic acid) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดและปริมาณในการใช้อย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในกาแฟแต่ละแก้วที่ดื่มจะมีปริมาณของกรดคลอโรจีนิก 100-200 มิลลิกรัม และเมื่อร่างกายได้รับกาแฟวันละ 5 แก้ว หรือ ได้รับกรดคลอโรจีนิก 1000 มิลลิกรัม/วัน ก็ไม่พบความผิดปกติของร่างกายแต่อย่างใด นอกจากนี้ในปัจจุบันยังถูกนำไปใช้เป็นสารเสริมสุขภาพ (functionalfood) ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแคปซูล เนื่องจากกลิ่นและรสไม่เป็นที่ยอมรับ สำหรับในประเทศไทยสำนักงานอาหารและยาของไทยได้อนุญาตให้ใช้เมล็ดกาแฟดิบ ที่ไม่ผ่านการคั่วด้วยความร้อนมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยให้มีสาระสำคัญ คือกรดคลอโรเจนิก และให้ใช้กระบวนการสกัดด้วยน้ำ และเอทานอล

โครงสร้างกรดคลอโรเจนิก

ประโยชน์และโทษกรดคลอโรเจนิก

ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่ากรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic acid) มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์หลายประการ และได้มีการนำกรดคลอโรเจนิกมาใช้ประโยชน์ด้านการรักษาโรคและสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น ต้านอนุมูลอิสระซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน มีฤทธิ์ต้านไวรัสและแบคทีเรีย ชะลอกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ลดไขมัน ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ป้องกันการสะสมไขมันในตับ เพิ่มการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (Superoxide Dismutase, SOD) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่า กรดคลอโรเจนิกยังมีความปลอดภัยสูงเพราะสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะโดยมีกลไกการขับออก ดังนี้ เมื่อร่างกายของคนเราได้รับกรดคลอโรจีนิก ปริมาณกรดคลอโรจีนิก ประมาณ 1 ใน 3 จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย ส่วนกรดคลอโรจีนิกอีก 2 ใน 3 จะผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ แล้วถูกเมแทบอไลซ์ (Metabolize) โดยแบคทีเรียและได้เป็นกรดคาเฟอิก (caffeic acid) หรือ กรด 3, 4-ไตรไฮดรอกซีซินนามิก (3, 4-dihidroxycinnamic acid) และกรดควินิก (quinic acid) หลังจากนั้นทั้งสองจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดเบนโซอิกในร่างกาย เช่นเดียวกับกรดคลอโรจีนิกที่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้เล็ก ซึ่งกรดเบนโซอิกจะเกิดคอนจูเกทกับไกลซีนเป็นกรดฮิบบูอิกแล้วถูกขับออกในปัสสาวะ

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรดคลอโรเจนิกหลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ (coffee silverskin extract; CSE*) พันธุ์อาราบิก้า (Coffea arabica) และสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบคือ สาร chlorogenic acid (CGA) และสาร caffeine (CF) โดยทำการศึกษาผลต่อการหลั่งอินซูลินและการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ในเบต้าเซลล์ของตับอ่อนชนิด INS-1E ภายใต้ภาวะปกติและภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด จากการทดลองพบว่า ทั้ง CSE, CGA และ CF ไม่มีผลต่อภาวะออกซิเดชันและความอยู่รอดของเซลล์ภายใต้ภาวะปกติ แต่สาร CSE ที่ความเข้มข้น ≥ 1 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น ≥ 5 ไมโครโมลาร์ ทำให้ระดับของเอนไซม์ glutathione peroxidase (เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และ สาร CSE ที่ความเข้มข้น 1–10 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในเซลล์ที่มีน้ำตาลกลูโคสขนาด 4 และ 10 มิลลิโมลาร์อย่างชัดเจน นอกจากนี้สาร CSE ที่ความเข้มข้น 1 มคก./มล. และสาร CGA ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครโมลาร์ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการต้านอนุมูลอิสระพร้อมทั้งเพิ่มการหลั่งอินซูลินของเบต้าเซลล์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเครียดด้วยยา streptozotocin (สารเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเบาหวาน) ในขณะที่สาร CF ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าวเลย จึงคาดว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสาร CSE น่าจะเกิดจากสาร CGA *(CSE มี CGA และ CF เป็นส่วนประกอบอยู่ 11.18 มก./ก. และ 30.26 มก./ก. ตามลำดับ)

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งได้ระบุผลการศึกษาไว้ว่า การที่กรดคลอโรเจนิก สามารถชะลอการดูดซึมกลูโคสนั้น อธิบายได้จากภาวะปกติการดูดซึมกลูโคสผ่านเซลล์ลำไส้เล็กอาศัยการขนส่งทั้งที่ใช้พลังงานคือ sodium-dependent transporters (SGLT1 และ SGLT2) และไม่ใช้พลังงานคือ facilitated sodium-dependent transporters (GLUT1 และ CLUT4) เมื่อกลูโคสถูกขนส่งเข้าสู่เซลล์เยื่อบุของลำไส้เล็ก กลูโคสจะถูกเปลี่ยนเป็น glucose-6-phosphate โดยเอนไซม์ hexokinase ซึ่ง glucose-6-phosphate จะถูกสลายต่อตามพลังงานตามวิถีเมแทบอลิซึมของกลูโคสหรือไม่กูถูกขนส่งเข้าสู่ endoplasmic reticulum ซึ่งต้องใช้ facilitated glucose-6-phosphate translocase 1 แล้ว glucose-6-phosphate จะถูกกลับเป็นกลูโคสอีกครั้งในออร์กาเนลนี้โดยเอนไซม์ glucose-6-phosphate ซึ่งกลูโคสใน endoplasmic reticulum จะถูกขนส่งออกนอกเซลล์ได้จากการ exocytosis ของ microsome หรือการขนส่ง endoplasmic reticulum ผ่าน GLUT2 transporters แต่กรดคลอโรจีนิกและอนุพันธุ์มีผลเข้าไปยับยั้งการทำงานของ glucose-6-phosphate translocasetransporter ในตับทำให้ลดการสร้างกลูโคสจากตับ translocase 1 ในเซลล์ลำไส้เล็ก ชะลอการดูดซึมกลูโคส รวมกับผลที่มีต่ออินครีตินโดยเฉพาะ GLP-1 ที่ทำให้เซลล์เบต้าทำงานดีขึ้น อีกทั้งยังมีการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการดื่มกาแฟต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าผลงานวิจัยส่วนใหญ่ให้ผลเชิงบวกคือมีแนวโน้มลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โดยสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากสารสำคัญในเมล็ดกาแฟที่ชื่อว่า กรดคลอโรจีนิ (chlorogenic acid)

            ฤทธิ์ลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส มีการทดลองทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 12 คน ที่ดื่มกาแฟสำเร็จรูปแบบใส่น้ำตาล ที่มีชื่อทางการค้าต่างกันหลายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณของสาร Chlorogenic acid สูง มีผลลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส 6.9% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งได้รับน้ำตาลซูโคส 25 ก. ละลายในน้ำร้อน 400 มล. โดยที่กลุ่มทดลองจะได้รับน้ำตาลซูโคส 25 ก. และกาแฟสำเร็จรูป 10 ก. ละลายในน้ำร้อน 400 มล. นอกจากนี้ การทดลองในอาสาสมัครที่มีน้ำหนักเกินจำนวน 30 คน โดยให้ดื่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่มีปริมาณของสาร Chlorogenic acid สูง เทียบกับกาแฟสำเร็จรูปธรรมดา วันละ 5 ถ้วย (กาแฟ 11 ก./วัน) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผลเฉลี่ยมวลรวมของร่างกายลดลง 5.4 และ 1.7 กก. ตามลำดับ สรุปได้ว่า การดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่มีปริมาณของสาร Chlorogenic acid สูง มีผลต่อการดูดซึมและการนำน้ำตาลไปใช้ของร่างกาย และคาดว่ามีผลลดมวลและไขมันของร่างกายได้

           ฤทธิ์ลดไขมันช่องท้อง มีการศึกษาทางคลินิก (randomized, double-blind, parallel controlled trial) เกี่ยวกับผลของกรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acids; CGA) ที่พบได้มากในเมล็ดกาแฟสีเขียว (green coffee beans) ในอาสาสมัครสุขภาพดีทั้งเพศหญิงและชายจำนวน 150 คน ที่มีค่าดัชนีมวลกาย ≥25 ถึง <30 แบ่งออกเป็นกลุ่มทดสอบที่จะได้รับกาแฟที่มีกรดคลอโรจีนิกขนาดสูง 369 มก.CGA/แก้ว (180 มล.) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่จะได้รับกรดคลอโรจีนิก 35 มก.CGA/แก้ว โดยได้รับกาแฟวันละครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และมีช่วงสังเกตการณ์ก่อนทำการทดสอบและหลังทำการทดสอบช่วงละ 4 สัปดาห์ ประเมินการทดสอบโดยการวัดไขมันในช่องท้องและส่วนต่างๆ ของร่างกายในช่วงเริ่มการทดสอบ และช่วงสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 เมื่อสิ้นสุดการทดสอบ มีอาสาสมัครผ่านการทดสอบเสร็จสมบูรณ์จำนวน 142 คน พบว่ากลุ่มทดสอบมีภาวะไขมันในช่องท้อง (visceral fat area; VFA) การสะสมของไขมันช่องท้องทั้งหมด (total abdominal fat area; TFA) น้ำหนักและเส้นรอบเอวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเวลาและกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงค่า VFA และ TFA จากช่วงเริ่มการทดสอบจนถึงช่วง 12 สัปดาห์ ในกลุ่มทดสอบมีค่ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงใดๆ จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าการได้รับกรดคลอโรจีนิกจากกาแฟเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินอาจจะมีผลในการลดระดับ VFA, TFA ดัชนีมวลกายและเส้นรอบเอวได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ให้อาสาสมัครสุขภาพดีที่มีน้ำหนักเกินจำนวน 50 คน รับประทานสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดในรูปแบบแคปซูล ซึ่งมีกรดคลอโรจีนิก 400 มลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 เดือน เทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดกาแฟสดมีน้ำหนักลดลงประมาณ 5 กิโลกรัม และมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น อีกด้วย

           ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ปกป้องสมองของกรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid; CGA) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenol) ที่แยกได้จากเมล็ดกาแฟ ในเซลล์ประสาท (cortical neurons) ของหนูเม้าส์ ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยกรดแอล-กลูตามิก (L-glutamic acid) ขนาด 300 ไมโครโมลาร์ โดยให้สาร CGA ในขนาด 10 ไมโครโมลาร์ หลังการเพาะเลี้ยงเซลล์ร่วมกับสารทดสอบเป็นเวลา 16 ชั่วโมง พบว่าสาร CGA สามารถปกป้องเซลล์ประสาทจากการถูกทำลายด้วยกรดแอล-กลูตามิก ด้วยกลไกในการยับยั้งการปลดปล่อยสารกลูตาเมต (glutamate) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์ประสาทเกิดการตาย (neuronal cell death) นอกจากนี้สาร CGA ยังป้องกันการเพิ่มระดับของแคลเซียม ภายในเซลล์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสารกลูตาเมตด้วย แต่สาร CGA ไม่สามารถป้องกันการตายของเซลล์ประสาทจากการเหนี่ยวนำด้วยสารไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ได้ จึงสามารถสรุปได้ว่า กรดคลอโรจีนิกมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทจากความเป็นพิษของสารกลูตาเมต ด้วยกลไกในการควบคุมระดับแคลเซียมที่เข้าสู่เซลล์ประสาท

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่ากรดคลอโรเจนิกจะมีประโยชน์ต่อร่างกายและมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ระบุว่าสามารถรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ได้หลายโรค แต่ทั้งนี้การใช้กรดคลอโรเจนิกก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันมากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยของกรดคลอโรเจนิกระบุว่า การได้รับกรดคลอโรเจนิก ในปริมาณที่สูง (2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ อาจทำให้ระดับฮอร์โมซิสเตอีนในเลือดเพิ่มขึ้น และระดับโฟเลตในเลือดลดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

 

เอกสารอ้างอิง กรดคลอโรเจนิก

  1. ชุษณา เมฆโหรา. กาแฟเพื่อสุขภาพ. วารสารอาหารปีที่ 45. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 15-21
  2. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. พิชานันท์ ลีแก้ว. การดื่มกาแฟเพื่อสุขภาพ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ฤทธิ์ปกป้องสมองของกรดคลอโรจีนิกจากเมล็ดกาแฟ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. วชิราพรรณ บวรชาติ, พรพิมล ม่วงไทย. การประเมินปริมาณกรดคลอโรจีนิก กรดคาเฟอิก กรดเฟอร์รูริกและกรดพาราคูมาริกในเครื่องดื่มสมุนไพร. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ปีที่ 9. ฉบับที่ 17 มกราคม-มิถุนายน 2560. หน้า 104-113
  6. ผลของกรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acids) จากกาแฟต่อไขมันในช่องท้องในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  8. ผลของสาร Chlorgenic acid ในกาแฟต่อการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  9. ภญ.ผศ.ดร.อวยพร อภิรักษ์อร่ามวง. การบริโภคกาแฟกับความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารไทยไภษัธยนิพนธ์ ปีที่ 2. ฉบับเดือนเมษายน 2548. หน้า 81-92
  10. Meng, S., Cao, J., Feng, Q., Peng, J. and Hu, Y. 2013. Roles of chlorogenic Acid on regulating glucose and lipids metabolism: a review. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2013: 801457.
  11. Hodgson JM, Chan SY, Puddey IB, et.al. Phenolic acid metabolites as biomarkers for tea-and coffee-derived polyphenol exposure in human subjects. Br. J.Nutr. 2004; 91: 301-305.
  12. Salazar-Martinez E, Willett WC, Ascherio A, et al. Coffee consumption and risk for type 2 diabetes mellitus. Ann Intern Med. 2004; 140(1): 1-8
  13. Dellalibera, O., Lemaire, B. and Lafay, S. 2006. Svetol®, green coffee extract, induces weight loss and increases the lean to fat mass ratio in volunteers with overweight problem. Phytotherapie. 4(4):194–197
  14. Tuomilehto J, Hu G, Bidel S, et al. Coffee consumption and risk of type 2 diabetes mellitus among middle-aged Finnish men and women. JAMA. 2004; 291(10): 1213-9
  15. Olthof MR, Hollman PCH, and Katan MB. Chlorogenic acid and caffeic acid are absorbed in humans. J. Nutr. 2001; 131(1) : 66-71.
  16. Farah, A., De Paulis, T., Trugo, L. C. and Martin, P. R. 2005. Effect of roasting on the formation of chlorogenic acid lactones in coffee. Journal of Agricultural and Food Chemistry. 53: 1505-1513
  17. Carlsson S, Hammar N, Grill V, et al. Coffee consumption and risk of type 2 diabetes in Finnish twins. Int J Epidemiol. 2004; 33(3): 616-7
  18. Ky C-L, Louarn J, Dussert S, et.al. Caffeine, trigonelline, chlorogenic acids and sucrose diversity in wild coffea Arabica L., and C. canepora P. accessions. Food chemistry 2001; 75: 223-230.
  19. Olthof, M. R., Hollman, P. C., Zock, P. L. and Katan, M. B. 2001. Consumption of high doses of chlorogenic acid, present in coffee, or of black tea increases plasma total homocysteine concentrations in humans. The American Journal of Clinical Nutrition. 73: 532-8.
  20. Olthof MR, Hollman PCH, Buijisman MNCP, et.al. Chlorogenic acid, quercetin-3-rutinoside and black tea phenols are extensively metabolized in human. J. Nutr. 2003;133:1806-1814.
  21. Higdon, J. V. and Frei, B. 2006. Coffee and health: a review of recent human research. Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 46: 101-23.