เจตมูลเพลิงขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เจตมูลเพลิงขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 23ข้อ
ชื่อสมุนไพร เจตมูลเพลิงขาว
ชื่ออื่นๆ ปิดปิวขาว (เหนือ) , หนวดแมว (ลื้อ) , ตอชู , ตั้งชูอ้วย (กะเหรี่ยง) , โก้นหลัวะ(ม้ง) , ไป๋เสี่ยฮวง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zey/anica Linn.
ชื่อพ้อง Agni , Bama , Cheraka , Cuita , Duoi cong , Plumbago auricurata
วงศ์ Plumbaginaceae
ถิ่นกำเนิดเจตมูลเพลิงขาว
เจตมูลเพลิงขาวมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนในบริเวณในบริเวณใกล้เคียงในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยมักจะพบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกและกระจายพันธุ์ได้ดีในเขตร้อน
ประโยชน์และสรรพคุณเจตมูลเพลิงขาว
- ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
- ใช้ทาแก้กลากเกลื้อนและปวดข้อ
- เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
- ขับลมลำไส้
- แก้อาการหาวเรอ
- เป็นยาขับระดู
- แก้ฟกช้ำ ฝีบวม มาเลเรีย
- แก้ลมและเสมหะ
- ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม
- แก้ฟกช้ำ ฝีบวม
- แก้ไข้มาลาเรีย
- แก้ปวดเมื่อย กระดูกหัก ปอดบวม
- แก้โรคตา แก้หนาวเย็น
- แก้ท้องเสีย กระจายเลือดลม
- แก้ริดสีดวงทวาร แก้บวม แก้คุดทะราด
- เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต ขับโลหิตที่เป็นพิษ
- แก้ไอปวดหลัง
- ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยให้คลอดบุตรง่าย บำรุงร่างกาย
- แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง
- เป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยแก้ปอดบวม
รูปแบบและขนาดวิธีใช้เจตมูลเพลิงขาว
1. ปวดข้อ หรือเคล็ดขัดยอก ใช้รากแห้ง 1.5-3 กรัม ต้มนํ้าหรือ แช่เหล้ากินครั้งละ 5 มล. วันละ 2 ครั้ง
2. ขับประจำเดือน ใช้รากเจตมูลเพลิงขาวแห้ง 30 กรัม และเนื้อหมูแดง 60 กรัม ต้มน้ำกิน
3. อาการม้ามบวม ใช้รากแห้งดองเหล้ากิน ถ้าอาการมากใช้ใบ สดและข้าวเหนียวตำให้ละเอียดปั้นเป็นเม็ดใหญ่พอควร นึ่งให้สุก กินก่อนนอนและตอนตื่นนอนครั้งละเม็ด
4. ฟกช้ำ ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ใส่เหล้าลงไปเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็น
5. ฝีคัณฑสูตร ฝีบวม เต้านมอักเสบ ไฟลามทุ่ง ใช้ใบสดพอประมาณ ตำให้ละเอียด ใช้ผ้าก๊อส 2 ชั้นห่อพอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย
6. ไข้มาเลเรีย ใช้ใบสด 7-8 ใบ ตำให้ละเอียด พอกบริเวณชีพจร ตรงข้อมือ 2 ข้าง ก่อนจะเกิดอาการ 2 ชั่วโมง(พอกจนกระทั่งบริเวณที่ พอกรู้สึกเย็นจึงเอาออก)
7. ผิวหนังหนาเนื่องจากเสียดสีกันนาน (callus) ใช้ใบสด 1 กำมือ ข้าวสวย 1 กำมือ เกลือเล็กน้อย ตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็นวันละครั้ง
8. กลากเกลื้อน ใช้รากสดตำให้ละเอียดผสมน้ำหรือเหล้าทาบริเวณที่เป็น
9. ใช้รักษาโรคผิวหนังและผื่นคันได้ โดยนำรากมาป่นให้ละเอียดผสมน้ำมันพืชเล็กน้อยทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปเจตมูลเพลิงขาว
จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ
ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน
ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น
ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว
การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิงขาว
เจตมูลเพลิงขาวขยายพันธุ์เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง กล่าวคือ การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิงขาวสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง ปกติก็ใช้วิธีเพาะเมล็ด แต่ในกรณีที่ต้องการปลูกเป็นจำนวนมาก เราสามารถใช้วิธีการปักชำกิ่งก่อนนำไปปลูกขยายลงแปลงหรือลงในรองซีเมนต์ (หากปลูกลงแปลงรากของเจตมูลเพลิงจะไชลงในดินลึกและยากแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงใช้วิธีปลูกลงในรองซีเมนต์ชนิดไม่มีก้น แต่ใช้วัสดุแผ่นเรียบวางรองพื้นแทน เพื่อป้องกันไม่ให้รากซอนไชลงพื้น) ชนิดที่ต้องให้ระบายน้ำได้สะดวก โดยปลูกในช่วงต้นฝนแล้วรดน้ำให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปล่อยจนมีอายุครบ 1 ปี(เป็นอย่างน้อย) แล้วจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
การชำส่วนของลำต้น คือการตัดส่วนของยอดและส่วนของลำต้น ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 2 ข้อของลำต้น นำมาชำด้วยวัสดุปักชำขี้เถ้าแกลบใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน จะสามารถนำไปปลูกลงถุงเพื่อเลี้ยงให้ต้นแข็งแรงก่อนนำไปปลูกในแปลง วิธีนี้จะได้ผล 40-50 % การชำราก คือการตัดส่วนของรากเจตมูลเพลิงขาวที่อยู่ใต้ดินนำมาชำกับวัสดุปักชำตัดรากยาวประมาณ 2 นิ้วใช้เวลา 60-90 วัน จะเริ่มแตกยอดและรากใหม่ 6 เดือนพร้อมปลูกได้ วิธีนี้จะได้ผล 80-90%
องค์ประกอบทางเคมี
ราก มี plumbagin, 3-biplumbagin, 3-chloro plumbagin, isozeylinone, zeylinone, chitranone, sistosterol, elliptinone, droserone protease, glucose และ fructose
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเจตมูลเพลิงขาว
Plumbagin |
3-chloroplumbagin |
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว
จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้มีการนำเอาสารสกัดหยาบจากต้นเจตมูลเพลิงขาวมาศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ กัน เช่น
1. Hypothermic activity
2. Antibacterial activity ต่อเชื้อดังต่อไปนี้ Proteus vulgaris , Pseudomonas aeroginosa , Salmonella gallnarum , Klebsella pneumonia , Staphylococcus albus , Escherichia coli และ Staphylococcus aureus
3. Antiyeast ต่อเชื้อ Candida albican
4. Antihepatotoxic activity
5. Hyperglycemic activity
6. เพิ่มปริมาณ plasma bilirubin
อาทิเช่น มีฤทธิ์ต่อมดลูกโดยเฉพาะในสัตว์กำลังท้องจะมีความไวเป็น พิเศษ ความเข้มข้น 1.0 X10 -8มีฤทธิ์กระตุ้น แต่ถ้าขนาด 1.0 X 10 -7 จะยับยั้งการบีบตัวของมดลูกกระต่าย ถ้าฉีดจำนวนพอประมาณเข้าช่องท้องหนูขาวที่กำลังท้อง จะทำให้ลูกในท้องตายและทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ สารสกัดจากรากโดยใช้แอลกอฮอล์หรือนํ้ามีฤทธิ์ต้านแบคที-เรีย Micrococcus pyogenes var. aureus, Salmonella typhi และ Mycobacterium phlei นอกจากนี้สารสกัดโดยแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์กำจัดเพลี้ยได้อีกด้วย
เจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ต่อการเต้นของหัวใจและมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ประสาทสงบระงับ (ได้แก่พวกหนูตะเภา กระต่าย และกบ) หากใช้สารสกัดจากเจตมูลเพลิงขาว (Plumbagin) ในอัตราส่วน 0.1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายทดลอง พบว่าจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลองให้ตื่นตัว แต่หากใช้ในอัตราส่วนมากจนเกินไป จะทำให้ประสาทส่วนกลางตายด้าน จนหมดความรู้สึก มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและหยุดการหายใจของกระต่าย หากนำสารสกัดเจตมูลเพลิงมาฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายในอัตราส่วน 10 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหายใจและความดันได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตลดลง เนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยยับยั้งการเต้นของหัวใจให้ลดลง แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด
การศึกษาทางพิษวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว
ไม่มีข้อมุลการศึกษาทางพิษวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเจตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า) เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้
เอกสารอ้างอิง
1. เจตมูลเพลิงขาว มีสรรพคุณดังนี้ .ไทยเกษตรศาสตร์ (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaikasart.com
2. Dinda, B. and Chel, G. 1992. 6-Hydroxyplumbagin, a naphthoqulnone from Plumbago indica. Phytochemistry, 31:1;3652-3653.
3. กรวิภา จารุพันธ์ , เดชา ศรีพจนารถ , ธนศรี แสงรุ้ง.รายงานการวิจัย.การเหนี่ยวนำให้เกินรากเพาะเลี้ยงจากต้นเจตมูลเพลิงขาว.ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.2540.20หน้า
4. เจตมูลเพลิงขาว.กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.
5. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เจตมูลเพลิงขาว (Chetta Mun Phloeng Khao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 97.
6. เจตมูลเพลิงขาว,ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php/main.php?action=viewpage&pid=37
7. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เจตมูลเพลิงขาว”. หน้า 173.
8. เจริญ สุขพงษ์.2533.คู่มือแนะนำลักษณะและประโยชน์ของสมุนไพร พรรณไม้ที่วงการวิทยาศาสตร์ยอมรับ.สำนักพิมพ์หมึกจีน,กรุงเทพฯ.120 น.
9. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ . 2532 . คู่มือการใช้สมุนไพร.พิมพ์ครั้งที่ 4, หจก.ภาพพิมพ์ จำกัด,กรุงเทพฯ298 น.
10. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เจตมูลเพลิงขาว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 184.
11. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เจตมูลเพลิงขาว”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 230-232.