ผักปลัง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักปลัง งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักปลัง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักปั๋ง (ภาคเหนือ), ผักปลังแดง, ผักปลังขาว, ผักปลังใหญ่ (ภาคกลาง), ลั่วขุย (จีนกลาง), เหลาะขุ้ย, โปแดงฉ้าย (จีนแต้จิ๋ว), มั้งฉ่าว (ม้ง)
ชื่อสามัญ East Indian spinach, Malabar nightshade, Ceylon spinach, Indian spinach
ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella alba L. (ผักปลังขาว), Basella rubra L. (ผักปลังแดง)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ B. lucida L., B. cordifolia Lam., B, nigra Lour., B. japonica Burm.f.,
วงศ์ Basellaceae

ถิ่นกำเนิดผักปลัง

ผักปลัง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ในประเทศไทย เป็นพืชซึ่งพบได้ทั่วไป แทบทุกภาค ทั้งชนิดที่มีลำต้นสีเขียวที่เรียกว่า ผักปลังขาว และชนิดลำต้นสีแดงซึ่งเรียกกันว่า ผักปลังแดง และมักพบในหมู่บ้าน หรือ ตามทุ่งนามากกว่าในป่า พบมากในภาคเหนือและอีสาน ส่วนภาคใต้ไม่ค่อยพบ เพราะไม่เป็นที่นิยมในการรับประทานจึงไม่มีการปลูกไว้ตามบ้านเรือน

ประโยชน์และสรรพคุณผักปลัง

  1. แก้ขัดเบา
  2. แก้ท้องผูก
  3. ช่วยลดไข้
  4. แก้กลาก เกลื้อน
  5. แก้ผื่นคัน
  6. แก้พิษฝีดาษ
  7. แก้อักเสบ
  8. ช่วยระบายท้อง
  9. ขับปัสสาวะ
  10. แก้บิด
  11. แก้โรคกระเพาะอักเสบ
  12. แก้มือเท้าด่าง
  13. แก้รังแค
  14. แก้โรคผิวหนัง
  15. เป็นยาช่วยหล่อลื่นภายใน และขับดำของเดือนปัสสาวะ
  16. แก้มะเร็งเม็ดสีผิว
  17. แก้มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  18. แก้มะเร็งช่องปาก 
  19. ช่วยป้องกันสิว
  20. แก้อาการอึดอัดแน่นท้อง
  21. แก้โรคมะเร็งไข่ปลา
  22. รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย
  23. ช่วยบรรเทาอาการ แผลที่เป็นแผลไหม้ จะทำให้รู้สึกเย็น
  24. แก้โรคเรื้อน
  25. แก้เกลื้อนรักษาฝี
  26.  แก้อาการปวดแขนขา


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผักปลัง

แก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วรับประทาน ช่วยแก้อาการท้องผูก และเป็นยาระบายอ่อนๆ ที่เหมาะสำหรับเด็ก และสตรีตั้งครรภ์ โดยนำมาต้มรับประทานเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการท้องผูกได้ และเมือกที่อยู่ในผักปลังจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยแก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มแบบชาต่อหนึ่งครั้ง หมอเมือง (ภาคเหนือ) จะใช้ใบผักปลัง นำมาตำกับข้าวสารเจ้า ใช้เป็นยาพอกแก้โรคมะเร็งไข่ปลา ใบ และผลนำมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือ แผลที่ มีลักษณะเป็นแผลไหม้ก็จะช่วยบรรเทาอาการ และทำให้รู้สึกเย็นขึ้นได้ น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน แก้เกลื้อนรักษาฝี ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง แก้อาการปวดแขนขา ด้วยการใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปผักปลัง

ผักปลัง เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม แตกกิ่งก้านสาขา ยาวประมาณ 2-6 เมตร ถ้าลำต้นมีสีเขียว เรียกว่า “ผักปลังขาว” มีใบสีเขียวเข้ม ส่วนชนิดลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า “ผักปลังแดง ” มีใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสีม่วงแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ หรือ รูปหัวใจ ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 2.5-12 เซนติเมตร ใบอวบน้ำ มีลักษณะเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย หลังใบ และท้องใบเกลี้ยงไม่มีขน ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกช่อเชิงลด ออกตรงซอกใบ ยาว 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ผักปลังขาวออกดอกสีขาว ผักปลังแดงออกดอกสีม่วงแดง ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับเล็ก 2 ใบ ติดที่โคนของกลีบรวม กลีบรวมรูประฆัง ยาว 0.1-3 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นห้าแฉกเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวน 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบดอก อับเรณูรูปกลม ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ติดก้านชูเกสรที่ด้านหลัง ก้านชูเกสรเพศผู้ เป็นแท่งยาว 0.1-1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย 1 อัน กลม ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปแท่งปลายแหลม ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร รังไข่ 1 ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างรี ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรเพศเมีย ยาว 0.1-0.5 มิลลิเมตร ผลเป็นผลสด รูปร่างกลมแป้น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มม. ผิวเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน ไม่มีก้านผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงอมดำ เนื้อภายในนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดี่ยว

ผักปลัง

ผักปลัง

การขยายพันธุ์ผักปลัง

ผักปลังสามารถขยายได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดและปักชำ สำหรับการเพาะเมล็ดนั้นก่อนอื่นต้องเตรียมหลุมก่อนแล้วค่อยหยอดเมล็ดพันธุ์ (ที่ตากแห้งแล้ว) ลงไป หลุมละ 2-3 เมล็ด โดยให้ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 40 เซนติเมตร และเมื่อต้นอายุได้ 20-25 วัน ให้ทำค้างเพื่อให้เถาเลื้อยขึ้น ส่วนการปักชำนั้น ทำได้โดยนำกิ่งแก่ที่มีข้อ 3-4 ข้อ ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร เด็ดใบออกให้หมดแล้วปักชำในดินร่วน หรือ ดินปนทรายที่มีความชื้น และมีแสงแดดรำไรในช่วงนี้ให้หมั่นรดน้ำอย่าให้ดินแห้ง ประมาณ 7 วัน จะแตกรากและเริ่มผลิใบใหม่ออกมาในช่วงนี้ระวังอย่างให้น้ำมากเพราะรากจะเน่าจากนั้นอีก 15-20 วัน ให้เถาเลื้อยเกาะขึ้นไป

           การดูแลและบำรุงรักษาการให้ปุ๋ย ครั้งที่ 1, 2 เมื่อต้นผักปลัง อายุได้ 20-25 วัน, 40-45 วัน, ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักแล้วส่วนการให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ให้พอเหมาะกับพืชไม่ควรให้แห้ง หรือ แฉะมากเกินไป ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยว 35-40 วัน ก็เก็บยอดได้แล้ว และผักปลังอายุ 90-100 วัน จะเริ่มออกดอก และหากมีอายุ 120 วัน ผลเริ่มแก่ (สังเกตผลจะเป็นสีดำ) ก็สามารถเก็บเมล็ดข้างในผลแก่ไว้ขยายพันธุ์ต่อไปได้


องค์ประกอบทางเคมี

ใบผักปลัง มีกรดอะมิโน ที่ประกอบไปด้วย Lysine, Leucine, Isoleucine และสารจำพวก Glucan, Polysaccharide ประกอบไปด้วย D-galactose, L-arabinose, L-rhamnose, Uronic acid ทั้งต้นพบสาร Glucan, Glucolin, Saponin, โปรตีน, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, แร่ธาตุ, แคลเซียมธาตุเหล็ก

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักปลัง

โครงสร้างผักปลัง  

ที่มา : wikipedia

           นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ อีกมากมาย เช่น สารกลุ่มฟีนอลิก สารกลุ่มบีทาเลน (จากผลสุกสีม่วงดำ) ได้แก่ บีทานิดินมอโนกลูโคไซด์, กอมเฟรนีน  สารคาโรทีนอยด์ ได้แก่ นีออกแซนธิน, ไฟวโอลาแซนธิน, ลูเทอิน, ซีแซนธิน, แอลฟา และเบต้าแคโรทีน สารเมือก (mucilage) องค์ประกอบเป็นพอลีแซคคาไรด์ที่ละลายน้ำ สารกลุ่มซาโปนิน ได้แก่ basellasaponin (พบที่ลำต้น), betavulgaroside I, spinacoside C, momordin II B, momordin II C

           ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของผักปลัง มีดังนี้

ผักปลังสด 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 21 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย

  • น้ำ                              93.4      กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต           2.7        กรัม
  • โปรตีน                       2.0        กรัม
  • ไขมัน                         0.2        กรัม
  • กาก (ใยอาหาร)       0.8        กรัม
  • แคลเซียม                  4           มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                   1.5        มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส               50         มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ                   9,316    IU
  • วิตามินบี 1                 0.07      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                0.20      มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน                    1.1        มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                    26         มิลลิกรัม

ส่วนในใบผักปลังแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 306.7 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเถ้า 15.9 กรัม

  • โปรตีน                       27.7      กรัม
  • ไขมัน                         3.1        กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต           42.1      กรัม
  • เส้นใย                        11.3      กรัม
  • แคลเซียม                  48.7      มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                  21.5      มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                    400       มิลลิกรัม


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักปลัง

สารสกัดผักปลังด้วยน้ำผสมกับสารสกัดจากใบของ Hi-biscus macranthus มีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของหนู และเพิ่มน้ำหนักของถุงน้ำเชื้ออสุจิ (seminal vesicle) ช่วยเพิ่มการสร้าง และพัฒนาการของตัวอสุจิ และทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยในรายที่เป็นหมันเนื่องจากการมีตัวอสุจิน้อย

           สารสกัดในผักปลังด้วยน้ำสามารถยับยั้งการก่อมะเร็งตับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งด้วยสารเอ็น ไนโตรโซไดเอทีลามีน (NDEA) และคาร์บอนเตตราคลอไรด์ (CCI) ได้โดยลดการทำลายของเซลล์ตับ ซึ่งวัดได้จากระดับเอนไซม์ในตับได้แก่ แกมมา-กลูตามิลทรานสเปปทิเดส (GGT) ซีรัมกลูทามิกออกซาโลแอซีติกทรานสแอมิเนศ (SGOT) ซีรัมกลูทามิกไพรูวิกทรานสแอมิเนศ (SGPT) และอัลคาไลน์ ฟอสฟาเทส (ALP) ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงค่าปกติ และยังมีผลลดการเกิดปฏิกิริยาเพอรอกซิเดชันของไขมัน (lipidperoxidation) โดยดูจากระดับของเอนไซม์ซุเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (SOD) คาทาเลส กลูตาไทโอน เพอร์ออกซิเดส (GPX) ในร่างกายใกล้เคียงกับค่าปรกติ

           สารสกัดจากผักปลังในอาหารเพาะเลี้ยงเซลล์ม้ามของหนูถีบจักร (primary mouse splenocyte cultures) มีผลทำให้เพิ่มการหลั่ง IL-2 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า จากการวิเคราะห์รงควัตุของสารสกัด 80% เอทานอลจากผลผักปลัง พบ gomphrerin I รงควัตถุสีแดงเป็นรงควัตถุหลัก ในผลผักปลังสด 100 กรัมพบ gomphrerin I ถึง 3.6 กรัม นอกจากนี้ยังพบรงควัตถุสีแดงอื่นๆ ได้แก่ betanidin-dihexose และ isobetanidin-dihexose เมื่อทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของ gomphrerin I ที่ความเข้มข้น 180, 23, 45 และ 181 ไมโครโมลาร์ พบว่ามีค่าต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับโทรลอกซ์ ขนาด 534 ไมโครโมลาร์, butylated hydroxytoluene (BHT) 103 ไมโครโมลาร์, ascorbic acid 129 ไมโครโมลาร์และ BHT 68 ไมโครโมลาร์ตามลำดับ และมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยให้สารสกัด 80% เอทานอลขนาดความเข้มข้น 25, 50 และ 100 ไมโครโมลาร์ แก่เซลล์ murine macrophage ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสามารถยับยั้งการสร้าง nitric oxide ซึ่งการยับยั้งนี้จะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดความเข้มข้นของสารสกัด และสารสกัดจากผลผักปลัง ที่ความเข้มข้น 100 ไมโคลโมลาร์มีผลลดการหลั่ง prostaglandin E2 และ interleukin-1β ของเซลล์ และยั้บยั้งการสังเคราะห์ยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการอักเสบ ได้แก่ nitric oxide synthase, cyclooxygenase-2, interleukin-1β, tumor necrosis factor-alpha และ interleukin-6 จากการทดลองทั้งหมดนี้แสดงให้ว่า gomphrerin I รงควัตถุสีแดงที่พบในผลผักปลังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบที่มีศักยภาพ และสามารถนำผลผักปลังไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางโภชนาการได้

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารเมือกมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ โดยการเคลือบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และยับยั้งการหลั่งกรด ลดการอักเสบที่ผิว ลดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิว ช่วยสมานรักษาผิวแห้ง ผื่นคัน ลดอาการระคายเคืองที่ผิวได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักปลัง

ในการศึกษาทางพิษวิทยาของผักปลัง นั้นยังมีน้อยมากที่พอจะมีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่บ้างก็คือ มีการศึกษาวิจัยของนักวิจัยอินเดียที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบผลของสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอล และน้ำในหนูถีบจักรทดลอง ด้วยการกรอกสารสกัดน้ำของใบในขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ให้หนูทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลปรากฎว่าไม่พบว่ามีความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา ส่วนการทดลองในหนูขาวที่กินสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอล, น้ำ และเฮกเซน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ พบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยเอทานอล และเฮกเซนจากใบผักปลังจะมีปริมาณน้ำย่อยอะไมเลสเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยลดภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากผักปลัง เป็นผักที่เราคุ้นเคย และนำมาทำเป็นอาหารรับประทานกันอยู่เป็นประจำแล้ว ในการนำมารับประทานเป็นอาหารนั้นคงไม่มีผลกระทบอะไรกับสุขภาพ แต่หากใช้ผักปลังในรูปแบบสารสกัด หรือ ในรูปแบบอื่นๆ นั้น เพื่อความปลอดภัยคงต้องปรึกษาแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญถึงขนาดและวิธีใช้ก่อนใช้เสมอ


เอกสารอ้างอิง ผักปลัง
  1. โชติอนันต์ และคณะ, รักษาโรคด้วยสมุนไพรใกล้ตัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์The Knowledge Center; 2550 หน้า 215-8
  2. Bolognesi A, Polito L, Olivierif F, Valbonesi P, Barbieri L, Battelli MG et al. New ribosome-inactivating proteins with polynucleotide:adenosine glycosidase and antiviral activities from Basella rubra L. and Bougainvillea spectabilis Willd. Planta 1997;203:422-9
  3. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน. ผักพื้นบ้าน ความหมาย และภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2538 หน้า 168-9
  4. ผักปลัง, รางแดง ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargaedent.com/main.php?action=viewpage&pid=238
  5. Akhter S, Abdul H, Shawkat IS, Swapan KS, Mohammad SHC Sanjay SS. A review on the use of non-timber forest products in beauty-care in Bangladesh. J Forestry Res 2008;19:72-8.
  6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักปลัง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 499-501.
  7. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ผักปลัง”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 179.
  8. กรมส่งเสริมการเกษตร. (2550). ผักพื้นบ้าน. ค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2550 จาก http://singburi.doae.go.th/acri
  9. ชื่นนภา ชัชวาล. นาฎศรี นวลแก้ว. ผักปลัง ผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ. คอลัมน์บทปริทัศน์. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทยืทางเลือก. ปีที่ 7.ฉบับที่ 2-3 พฤษภาคม-ธันวาคม 2552. หน้า 197-200
  10. Saikia AP, Ryakala VK Sharma P, Goswami P, Bora U. Ethnobotany of medicinal plants used by Assamese people for various skin ailments and cosmetics. J Ethnopharmacol 2006;106:149-57
  11. กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
  12. Khare CP. Indian medicinal plants: an illustrated dictionary. New York: Springer Science Business Media; 2007. p. 84.
  13. Jin YL, Ching YT. Total phenolic contents in selected fruit and vegetable juices exhibit a positive correlation with interferon-γ, interleukin-5, and interleukin-2 secretions using primary mouse splenocytes. J Food Compos Anal 2008;21:45-53.
  14. Choi EM, Koo SJ, Hwang JK. Immune cell stimulating activity of mucopolysaccharide isolated from yam (Dioscorea batatas). J Ethnopharmacol 2004 ; 91:1-6.
  15. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักปลัง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 350.
  16. Maisuthisakul P, Pasuk S, Ritthiruangdej P. Relationship of antioxidant properties and chemical composition of some Thai plants. J Food Compos Anal 2008;21:229-40
  17. Raju M, Varakumar S, Lakshminarayana R, Krishnakantha TP, Baskaran V. Carotenoid composition and vitamin A activity of medicinally important green leafy vegetables. Food Chem 2007 ; 101:1598-1605
  18. Dweck AC. The internal and external use of medicinal plants. Clin Dermatol 2009 ; 27:148-58
  19. Reddy GD, Kartik R, Rao CV, Unnikrishnan MK, Pushpangadan P. Basella alba extract act as antitumour and antioxidant potential against N-nitrosodiethylamine induced hepatocellular carcinoma in rats. Int J Infectious Diseases 2008;12 Suppl 3:S68
  20. Toshiyuki M, Kazuhiro H, Masayuki Y. Medicinal foodstuffs. XXIII. Structures of new oleanane-type triterpene oligoglycosides, basellasaponins A, B, C, and D, from the fresh aerial parts of Basella rubra L. Chem Pharm Bull 2001;49:776-9.
  21. Jadhav RB, Sonawane DS, Surana SJ. Cytoprotective effects of crude polysaccharide fraction of Abelmoschus esculentus fruits in rats. Pharmacogn Mag 2008;4:130-2.
  22. Glassgen WE, Metzger JW, Heuer S, Strack D. Betacyanins from fruits of Basella rubra. Phytochemistry 1993;33:1525-7
  23. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักปลัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [26 เม.ย. 2014].
  24. Draelos ZD. Botanicals as topical agents. Clin Dermatol 2001;19:474- 7
  25. Shahid M,. Akhtar JM, Yamin M, Shafiq MM. Fatty acid composition of lipid classes of Basella rubra Linn. Pak Acad Sci 2004;41:109-12
  26. Haskell MJ, Jamil KM, Hassan F, Peerson JM, Hossain MI, Fuchs GJ et al. Daily consumption of Indian spinach (Basella alba) or sweet potatoes has a positive effect on total-body vitamin A stores in Bangladeshi men. Am J Clin Nutr 2004;80:705-714
  27. Moundipa FP, Kamtchouing P, Kouetan N, Tantchou J, Foyang NPR, Mbiapo FT. Effects of aqueous extracts of Hibiscus macranthus and Basella alba in mature rat testis function. J Ethnopharmacol 1999;65:133-9
  28. Hexiang W, Tzi BN. Antifungal peptides, a heat shock protein-like peptide, and a serine-threonine kinase-like protein from Ceylon spinach seeds. Peptides 2004;25:1209-14
  29. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของรงควัตถุสีแดงในผักปลัง, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล