แตงโม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แตงโม งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แตงโม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะเต้า (ภาคเหนือ), บักโต (ภาคอีสาน), แตงจีน, ลูกแตง (ภาคใต้), ซีกวย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citullus lanatus (Thumb). Matsum. & Nakai
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citullus vulgaris S chard L.
ชื่อสามัญ Watermelon
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดแตงโม

แตงโมมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนทางใต้ของทวีปแอฟริกาโดยพบว่าเป็นพืชที่มีมาแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งได้พบข้อความเกี่ยวกับแตงโม ที่มีอายุมากกว่า 4,000 ปีมาแล้วในอียิปต์ สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานว่ารับแตงโมมาจากจีน โดยในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยามีเรื่องราวเกี่ยวกับแตงโมปรากฎอยู่ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาเรียกว่า ผลอุลิต ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์ภาษาเขมร ส่วนในหนังสืออักราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 เรียกทั้งแตงโม และปูลิต (คงกลายมาจากอุลิต) ในปุจจุบันประเทศไทยมีการปลูกแตงโมทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณแตงโม

  • แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้บวมน้ำ
  • ช่วยปัสสาวะขัด
  • แก้ปากและเล็บเป็นแผล
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้ไตอักเสบ
  • แก้ปวดเอว
  • ใช้หล่อลิ่นลำไส้
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยขับเสลด
  • แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้วิงเวียนนอนไม่หลับ
  • แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  • แก้ไอเรื้อรัง
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
  • ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
  • ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดคลายตัว
  • ช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้น
  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • ช่วยเส้นผมให้แข็งแรง

           แตงโมจัดเป็นผลไม้ที่นิยมชนิดหนึ่งที่คนทั่วโลกนำมารับประทานเป็นผลไม้ เพราะมีรสชาติหวานอร่อยฉ่ำน้ำ ทำให้สดชื่นเมื่อได้รับประทาน และยังมีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำแตงโมปั่น ไวน์แตงโม แยมแตงโม และยังสามารถนำมาใช้พอกหน้า หรือ ทำเป็นทรีตเมนต์บำรุงผิว ดูดซับความมันบนใบหน้าได้อีกด้วย ส่วนผลอ่อน และยอดอ่อนของแตงโม ยังใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผลอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช้ทำแกงเลียง และแกงส้ม ส่วนยอดอ่อนของแตงโม ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ นอกจากนี้เปลือกของแตงโมแก่ที่แยกออดแล้วยังใช้ดอง เป็นเครื่องเคียง หรือ ทำแกงส้ม ได้อีกด้วย ด้านเมล็ดแตงโมก็ปรากฎว่าได้รับความนิยมเช่นเดียวกันโดยที่คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จกกันดี คือ เมล็ดก๋วยจี๊ ซึ่งทำมาจากเมล็ดแตงโมนั่นเอง

แตงโม

แตงโม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้การร้อนรุ่ม วิงเวียนนอนไม่หลับ โดยเมื่อนำแตงโม มารับประทาน หรือ นำมาคั้นเอาน้ำรับประทานก็ได้ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปากลิ้นเป็นแผล โดยนำเปลือกของแตงโม 10-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้บดเป็นผงผสมน้ำกินก็ได้ ใช้แก้ปวดฟันโดยนำเปลือกแตงโมมาเผาให้เป็นถ่านแล้วอุดฟันที่ปวด ใช้หล่อลื่นลำไส้ ลดความดันโลหิต แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขับเสลด แก้ไอเรื้อรัง แก้อาเจียนเป็นเลือด ขับพยาธิ โดยนำเมล็ดแตงโม 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มหรือนำมาคั่วกินก็ได้ ใช้แก้บิด ท้องร่วง แก้ร้อนใน โดยนำราก หรือ ใบสด 60-90 กรัม มาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ไตอักเสบ บวมน้ำ โดยใช้เปลือกแตงโมแห้งมาใหม่ๆ หนัก 40 กรัม ร่วมกับรากหญ้าคา สด หนัก 60 กรัม ต้มกินแบ่ง 3 ครั้งใน 1 วัน ใช้แก้ท้องร่วงในฤดูร้อน แก้ร้อนรุ่ม กระวนกระสายใจโดยนำแตงโม 1 ผล หั่นเป็น 10 ส่วน แบ่งเอามา 1 ส่วน รวมกับกระเทียม 7 กลีบ ใช้กระดาษห่อ 7-9 ชั้น เอกดินพอกให้มิด ใส่กระบอกไม้ไผ่เผาให้แห้ง นำมาบดเป็นผงผสมน้ำกิน ใช้แก้ปวดเอว ยืดหดตัวไม่ได้ โดยใช้เปลือกแตงโมเขียวๆ มาตากให้แห้งในทีร่มบดเป็นผงผสมเกลือกิน ใช้แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ใช้แตงโมเนื้อในมาคั้นเอาน้ำใส่ขวดเก็บไว้ 3-4 เดือน จนมีรสเปรี้ยวเก็บเอาไว้ใช้แก้แผลถูกความร้อนลวก โดยใช้น้ำเหลือเย็นๆ ชะล้างบาดแผลให้สะอาดก่อน แล้วใช้สำลีชุบน้ำแตงโมเปรี้ยวนี้พอกแผลวันละหลายๆ ครั้ง แผลที่ถูกความร้อนลวกจนผิวหนังแดงเหมือยแดดเผา และแผลผิวหนังพุพองและลอกจะหายใน 1 อาทิตย์ ส่วนแผลผิวหนังหลุดลอกกินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังจะหายใน 2 อาทิตย์


ลักษณะทั่วไปของแตงโม

แตงโม จัดเป็นพืชในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) เป็นพืชล้มลุกประเภทไม้เถา ลำต้น หรือ เถามีสีเขียวปนเทามีขนสากๆ ขึ้นตามเถา และมีมือเกาะแยก 2-3 แขนง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับบริเวณข้อของเถาใบมีลักษณะเป็นแบบนิ้วมือใบสากเล็กน้อย มีรอยเว้าลึก 3 รอยข้างๆ มีรอยเว้าตื้นๆ ใบมีขนาดกว้าง 5-18 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร และมีก้านใบยาว 3-12 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ก้านดอกเล็กมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม มีกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีขนอ่อนนุ่ม กลีบดอกมีสีเหลืองมี 5 กลีบ โคนเชื่อมกันมีเกสรเพศผู้ 3 อันสั้นๆ ส่วนดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่า รังไข่กลมมีขน ท่อรังไข่สั้น ปลายท่อมี 3 แฉก มีก้านดอกสั้น

           ผล กลม หรือ ค่อนข้างกลมผิวเรียบหัวท้ายมนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ผิวนอกสีเขียว หรือ สีเขียวอ่อน หรือ ลายสีเขียวอ่อนแก่สลับกัน เนื้อในผลเมื่ออ่อนมีสีขาวเมื่อแก่จะเป็นสีแดง หรือ เหลืองรสหวานฉ่ำน้ำและมีเมล็ดมาก ส่วนเมล็ดสีน้ำตาลดำรูปรีแบน ผิวเรียบ

แตงโม

แตงโม

การขยายพันธุ์แตงโม

แตงโมเป็นพืชที่ปลูกง่ายสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศทุกฤดูกาล และปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดแต่ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย และมีการระบายน้ำได้ดี สำหรับวิธีการขยายพันธุ์แตงโม นั้นสามารถทำได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยเริ่มจาก ไถพรวน หรือ ขุดย่อยดินร่วนโปร่งและลึก ให้ดินลึกและอุ้มความชื้นได้มากขึ้น ยังทำให้รากแตงโมแทรกตัวเองลงลึกไปในใต้ดินซึ่งจะช่วยให้รากหาอาหารและน้ำได้กว้างไกลยิ่งขึ้น จากนั้นทำการขุดหลุมเพื่อนำเมล็ดพันธุ์โดยในดินทรายขุดหลุมให้มีความกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนในดินเหนียวขุดหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกที่ละเอียดคลุกเคล้ากับดินบน ใส่รองก้นหลุมๆ ละ 4-5 ลิตร เตรียมหลุมทิ้งไว้ 1 วัน แล้วจึงลงมือหยอดหลุมละ 5 เมล็ด ในหลุมแต่ละหลุมควรให้มีระยะห่างกัน 90 เซนติเมตร ส่วนแถวของแตงนั้นควรให้ห่างจากกันประมาณ 2-3 เมตร หลังจากหยอดเมล็ดแล้วจึงรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อแตงโมงอกขึ้นมาและมีใบจริง 2-3 ใบ ให้ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น โดนคัดเลือกเอาแต่ต้นแข็งแรงไว้จากนั้นดูแลต่อจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกส่วนเนื้อ และส่วนเมล็ดของแตงโม พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สาร cutrulline, Lycopene, Beta-cryptoxanthin, cucerbitacin E, Beta-carotene, ascorbic acid, folic acid เป็นต้น นอกจากนี้แตงโมยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของผลแตงโมดิบ (100 กรัม)

พลังงาน

30

กิโลแคลลอรี่

คาร์โบไฮเดรต

7.55

กรัม

น้ำตาล

6.2

กรัม

เส้นใย

0.4

กรัม

ไขมัน

0.15

กรัม

โปรตีน

0.16

กรัม

วิตามิน เอ

28

ไมโครกรัม

วิตามิน บี1

0.033

มิลลิกรัม

วิตามิน บี2

0.021

มิลลิกรัม

วิตามิน บี3

0.178

มิลลิกรัม

วิตามิน บี5

0.221

มิลลิกรัม

วิตามิน บี6

0.045

มิลลิกรัม

วิตามินซี

8.1

มิลลิกรัม

กรดโฟลิก

3

ไมโครกรัม

แคลเซียม

7

มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก

0.24

มิลลิกรัม

แมกนีเซียม

10

มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส

11

มิลลิกรัม

โพแทสเซียม

112

มิลลิกรัม

สังกะสี

0.10

มิลลิกรัม

 โครงสร้างแตงโม

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแตงโม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่วนต่างๆ ของแตงโม ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาร citrulline ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบในน้ำแตงโม โดยพบว่าสาร citrulline สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างอาร์จีนิน (arginine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้าง และซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสาร citrulline จากน้ำแตงโมตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านความร้อน จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของร่างกายได้ดีกว่าการให้สาร L-citrulline ซึ่งอยู่ในรูปของสารสังเคราะห์ซึ่ง มีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อให้อาสาสมัครรับประทานแตงโมวันละ 1,560 ก. (มี citrulline 2 ก.) ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มปริมาณอาร์จีนินในเลือดได้ถึง 22% และ citrulline ยังช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อของอาสาสมัครที่รับประทานอาหารโปรตีนต่ำ โดยไม่มีผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนของโปรตีนในร่างกายได้อีกด้วย และเมื่อให้นักกีฬาดื่มน้ำแตงโม 500 มล. (มี L-citrulline 1.17 ก.) หรือ ดื่มน้ำแตงโมที่เสริมสาร L-citrulline 4.83 ก. (มี L-citrulline 6 ก.) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับเครื่องดื่มน้ำผลไม้รวม ก่อนการออกกำลังกาย 1 ชม. พบว่าน้ำแตงโมทั้ง 2 ชนิด จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจขณะฟื้นตัว และลดอาการปวดกล้ามเนื้อของนักกีฬาภายหลังจากออกกำลังได้ และยังมีรายงานผลการศึกษาเรื่องการดูดซึมของสาร L-citrulline ในเซลล์ Caco-2 โดยใช้น้ำแตงโมธรรมชาติที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ และน้ำแตงโมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (80 °C, 40 วินาที) มาเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน L-citrulline ที่ละลายในน้ำ พบว่าสาร L-citrulline จะถูกดูดซึมได้สูงสุด เมื่ออยู่ในน้ำแตงโมและไม่ผ่านความร้อน ในส่วนของการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย (ergogenic effect) ของสารสำคัญ L-citrulline จากแตงโม (Citrullus lanatus) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ nitric oxide (NO) ที่พบว่ามีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด (vasodilator) และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด (blood flow) รวมทั้งเพิ่มการหายใจระดับเซลล์ (mitochondrial respiration) และสารสำคัญ ellagitannins จากทับทิม (Punica granatum) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ urolithin A ที่พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีหน้าที่ในการกำจัดไมโทคอนเดรีย (mitochondria) โดยทำการศึกษาแบบ double-blind randomized crossover ในอาสาสมัครผู้ชายอายุเฉลี่ย 23.9±3.7 ปี จำนวน 19 คน ซึ่งให้ดื่มน้ำแตงโมที่ประกอบด้วยสารสำคัญ L-citrulline และสารสำคัญ ellagitannins จากทับทิม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดื่มน้ำที่แต่งสีเลียนแบบน้ำแตงโม และไม่มีสาร L-citrulline และ ellagitannins ก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ออกกำลังกายอย่างหนัก (high-intensity exercise) ด้วยการนั่งย่อ (half-squat) รอบละ 8 ครั้ง เป็นจำนวน 8 รอบ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำแตงโมที่มีสาร L-citrulline ขนาด 3.3 ก./200 มล. และสาร ellagitannins ขนาด 22.0 มก./200 มล. มีค่าดัชนีชี้วัดการทำลายของกล้ามเนื้อ ได้แก่ lactate dehydrogenase และ myoglobin รวมทั้งการออกแรงในระหว่างการออกกำลังกาย อยู่ในระดับคงที่ นอกจากนี้ยังมีผลในการลดระดับความเหนื่อย (rating of perceived exertion) และอาการปวดล้าของกล้ามเนื้อ (muscle soreness) หลังจากการออกกำลังกายอีกด้วย ส่วนเนื้อในแตงโมมี การศึกษาผลของแตงโมต่อระดับไขมัน ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และการอักเสบในหนูแรท โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 10 ตัว ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุมที่กินอาหารซึ่งทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (atherogenic diet) อย่างเดียว กลุ่มที่ 2 กินอาหารเสริมด้วยผงแตงโม 0.33% กลุ่มที่ 3 กินอาหารและได้รับ dextran sodium sulphate (DSS) ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ และกลุ่มที่ 4 กินอาหารเสริมด้วยผงแตงโมและได้รับ DSS เป็นเวลา 30 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับผงแตงโม ระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม low-density lipoprotein cholesterol และ C-reactive protein ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระรวม (total antioxidant capacity) และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ superoxide dismutase และ catalase เพิ่มขึ้น ขณะที่ thiobarbituric acid reactive substances ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นลดลง ผงแตงโมยังมีผลลดระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, alkaline phosphatase และ lactate dehydrogenase ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย DSS ได้ นอกจากนี้ยังมีผลลดการแสดงออกของยีนของ fatty acid synthase, 3-hydroxy-3methyl-glutaryl-CoA reductase, sterol regulatory element-binding protein 1, sterol regulatory element-bindingprotein 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิสมของไขมัน รวมทั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า แตงโมจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในหนูได้ โดยลดระดับไขมันในเลือด ลดการอักเสบ และเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ยังมีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครผู้ใหญ่ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ ภาวะอ้วนทั้งหญิงและชาย มีดัชนีมวลกายอยู่ที่ 25-40 กก./ม.2 จำนวน 33 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดสอบที่ให้รับประทานแตงโม 2 ถ้วย ปริมาณ 92 กิโลแคลอรี่/วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้รับประทานคุกกี้ไขมันต่ำ (Nabisco vanilla wafer cookies) ซึ่งมีปริมาณแคลลอรี่เท่ากับกลุ่มทดสอบ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วสลับการรักษา โดยมีระยะพัก (washout) 2-4 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าการรับประทานแตงโมมีผลต่อการตอบสนองของความอิ่ม (ความรู้สึกหิว การบริโภคอาหาร ความต้องการรับประทานอาหาร ความรู้สึกอิ่ม) หลังจากรับประทาน 90 นาที ได้ดีกว่ากลุ่มที่รับประทานคุกกี้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05) กลุ่มที่รับประทานแตงโมมีผลต่อการลดน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย ค่าความดันของเลือดสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว และอัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก (waist-to-hip ratio) (p ≤0.05) ส่วนกลุ่มที่รับประทานคุกกี้มีผลเพิ่มความดันโลหิตและไขมันของร่างกาย (p < 0.05) กลุ่มที่รับประทานแตงโมมีภาวะเครียดจากการออกซิเดชันต่ำกว่า ที่สัปดาห์ที่ 4 ของการทดสอบ (p = 0.034) และมีความสามารถในการต้านออกซิเดชันโดยรวมเพิ่มขึ้น (p=0.003) จากผลการทดสอบนักวิจัยสรุปว่าการรับประทานแตงโมมีผลในการช่วยลดน้ำหนักตัว ลดค่าดัชนีมวลกาย และลดความดันโลหิตได้ผลดีกว่าการรับประทานคุกกี้ไขมันต่ำ ซึ่งอาจจะมีผลในการช่วยปรับปรุงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ในส่วนของเปลือกนั้นได้ มีการทดสอบฤทธิ์ในการควบคุม lipid peroxidation ในเนื้อเยื่อ หน้าที่ของ thyroid การเผาผลาญไขมันและน้ำตาลกลูโคสในหนูแรทพบว่า สารสกัดเมทานอลจากเปลือกของมะม่วง แตงไทย และแตงโม ขนาด 200, 100 และ 100 มก./กก. เมื่อให้หนูแรทกินเป็นเวลา 10 วัน มีผลยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในเนื้อเยื่อตับ ไต และหัวใจ เพิ่มระดับของ triiodothyronine (T3) และ thyroxin (T4) ในเลือด และเมื่อให้สารสกัดทั้ง 3 ร่วมการยา propylthiouracil (PTU) ซึ่งเป็นยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะ hypothyroid ก็มีผลเพิ่มระดับของ T3 และ T4 เช่นกัน นอกจากนี้พบว่า สารสกัดจากเปลือกแตงโม มีผลในการลดระดับของ cholesterol และ low-density lipoprotein-cholesterol (LDL-C) ในขณะที่สารสกัดจากเปลือกแตงไทย มีผลลด triglycerides และ very low-density lipoprotein-cholesterol (VLDL-C) จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดเมทานอลจากเปลือกของมะม่วง แตงไทย และแตงโม มีผลกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในระดับเนื้อเยื่อได้ นอกจากนั้นในสารสกัดเปลือกแตงโมยังมีฤทธิ์ต้านหลอดเลือดแข็งตัว ลดไขมัน และน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย ทั้งนี้ยังมีรายงานระบุว่า มีการทดสอบพบว่าเนื้อแตงโมสีแดงมีสาร citrulline น้อยกว่าเนื้อแตงโมสีเหลืองและสีส้ม [7.4, 28.5 และ 14.2 มก./ก. น้ำหนักแห้ง (dry weight) ตามลำดับ] และยังพบว่าเปลือกแตงโมมีสาร citrulline มากกว่าเนื้อแตงโม [24.7 และ 16.7 มก./ก. น้ำหนักแห้ง ตามลำดับ] แต่เปลือกแตงโมมีสาร citrulline น้อยกว่าเนื้อแตงโมเล็กน้อย [1.3 และ 1.9 มก./ก. น้ำหนักเปียก (fresh weight) ตามลำดับ] ซึ่งความแตกต่างนี้มีสาเหตุเนื่องจากในเปลือกประกอบด้วยความชื้น 95% แต่เนื้อแตงโมประกอบด้วยความชื้นถึง 90%


การศึกษทางพิษวิทยาของแตงโม

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ตามตำราแพทย์แผนจีนและตำรายาไทยได้ระบุถึงผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ไม่ควรรับประทานแตงโม เช่น ผู้ที่มีกระเพาะปัสสาวะ ม้ามไม่แข็งแรง ผู้ที่มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย ผู้ที่มีอาการท้องร่วงง่าย ผู้ที่มีอาการลำไส้อักเสบ หญิงหลังคลอด และผู้ที่เพิ่งหายจากอาการป่วยหนัก นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ควรรับประทานแตงโมในปริมาณมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ เนื่องจากแตงโมมีค่าดัชนีน้ำตาล หรือ ไกลซีมิกสูง หลังรับประทานเข้าไปอาจทำให้น้ำตาลในเลือดแปรปรวน หรือ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยาก และผู้ที่แพ้พืชในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) ไม่ควรรับประทานแตงโมเพราะเป็นพืชในวงศ์เดีวกันโดยอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากอาการเช่น ลมพิษ ปากบวม หน้าบวม หายใจลำบาก หากพบอาการดังกล่าว ควรหยุดรับประทานแตงโมและพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง แตงโม
  1. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. แตงโม. คอลัมน์ สมุนไพร น่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 3. กรกฎาคม 2522.
  2. นันทวัน บุญประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2541.
  3. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. แตงโม ในผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 77-80
  4. เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา,เกตุอร ราชบุตร. การปลูกแตงโม. เอกสารเผนแพร่ความรู้. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 10 หน้า
  5. เปลือกมะม่วง แตงไทย แตงโม มีฤทธิ์ต้านภาวะ hypothyroidism. ข่าวเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. เดชา ศิริภัทร. แตงโม. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 212. ธันวาคม 2539.
  7. ผลของการรับประทานแตงโมต่อการตอบสนองความอิ่ม และปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุรไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย (Nutritive values of Thai foods). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2535.
  9. กนกพร อะทะวงษา. แตงโม. ผลไม้คลายร้อน. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. ผลไม้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย (ergogenic effect) ของสารสำคัญจากแตงโมและทับทิม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. แตงโมช่วยลดการอักเสบและต้านอนุมูลอืสระ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Tarazona-D?az MP, Alacid F, Carrasco M, Mart?nez I, Aguayo E. Watermelon juice: potential functional drink for sore muscle relief in athletes. J Agric Food Chem 2013;61(31):7522-8.
  13. Cutrufello PT, Gadomski SJ, Zavorsky GS. The effect of l-citrulline and watermelon juice supplementation on anaerobic and aerobic exercise performance. J Sports Sci. 2015;33(14):1459-66.
  14. Collins JK, Wu G, Perkins-Veazie P, Spears K, Claypool PL, Baker RA, Clevidence BA. Watermelon consumption increases plasma arginine concentrations in adults. Nutrition 2007;23:261–6.
  15. Shirai M, Hiramatsu I, Aoki Y, Shimoyama H, Mizuno T, Nozaki T, et al. Oral L-citrulline and transresveratrol supplementation improves erectile function in men with phosphodiesterase 5 inhibitors: a randomized, double-blind, placebo-controlled crossover pilot study. Sex Med. 2018;6(4):291-6.
  16. Bahri S, Zerrouk N, Aussel C, Moinard C, Crenn P, Curis E, Chaumeil JC, Cynober L, Sfar S. Citrulline: from metabolism to therapeutic use. Nutrition 2013;29(3):479-84.
  17. Rimando AM, Perkins-Veazie PM. Determination of citrulline in watermelon rind. J Chromatogr A. 2005;1078(1-2):196-200.
  18. Jourdan M, Nair KS, Ford C, Shimke J, Ali B, Will B, et al. Citrulline stimulates muscle protein synthesis at the post-absorptive state in healthy subjects fed a low-protein diet. Clin Nutr 2008;3(suppl):11–2
  19. Cormio L, De Siati M, Lorusso F, Selvaggio O, Mirabella L, Sanguedolce F, et al. Oral L-citrulline supplementation improves erection hardness in men with mild erectile dysfunction. Urology. 2011;77(1):119-22.