คงคาเดือด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คงคาเดือด งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คงคาเดือด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คงคาเลือด, หมากเล็กหมากน้อย (ภาคกลาง), ช้างเผือก (ลำปาง), ตะไล (ราชบุรี), ตะไลคงคา (ชัยนาท), สมุยกุย (โคราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Arfeuillea arborescens Pierre ex Radlk.
วงศ์ SAPINDACEAE


ถิ่นกำเนิดคงคาเดือด

คงคาเดือดจัดเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพรรณไปยังพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นอกจากนี้คงคาเดือด ยังจัดเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น ที่พบได้ในภูมิภาคนี้เท่านั้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ในภาคใต้จะพบได้น้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะพบได้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ภูเขาหินปูนที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 600 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณคงคาเดือด

  • แก้ไอ
  • แก้ไข้
  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ
  • ช่วยดับพิษไข้
  • แก้ซางตัวร้อน
  • แก้พิษร้อน
  • แก้แสบตามผิวหนัง
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้คัน
  • ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
  • แก้พุพอง
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้โรคผิวหนังเปื่อยเน่า

           คงคาเดือด ถูกนำมาใช้ประโยชน์ดังนี้ เนื้อไม้ถูกนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน ที่ร่มเงา หรือ เครื่องใช้ในการเกษตร ที่ไม่ค่อยเน้นความแข็งแรงเนื่องจากคงคาเดือดเป็นไม้เนื้ออ่อน

คงคาเดือด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ไอ แก้รอนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ซางในเด็ก ใช้ฆ่าพยาธิ แก้แสบร้อนผิวหนัง โดยใช้เนื้อไม้ หรือ เปลือกต้นมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้คัน ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้ไข้ แก้ไอ โดยใช้เปลือกต้นมาต้มน้ำอาบ ใช่ฆ่าพยาธิโดยใช้เนื้อไม้มาฝนกินกับน้ำอุ่น


ลักษณะทั่วไปของคงคาเดือด

คงคาเดือดจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-20 เมตร ทรงพุ่มกลม มีเปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศกระจายอยู่ และมีจุดขาวๆ ปกคลุม กิ่งอ่อนที่แตกใหม่จะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่ ออกแบบเรียงสลับ ใน 1 ก้าน จะมีใบย่อย 1-4 คู่ ลักษณะใบคล้าใบมะเฟือง เป็นรูปไข่ หรือ รูปรี หรือ รูปใบหอก โคนใบมนเบี้ยวปลายใบแหลมยาว กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4.5-7 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหลังใบ และท้องใบเรียบ แต่จะมีขนรูปดาวขึ้นใกล้เส้นกลางใบทั้ง 2 ด้าน และมีก้านใบยาว 3 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นแบบแยกเพศรวมต้นโดยช่อดอกจะออกแบบช่อกระจุกแยกแขนง บริเวณปลายกิ่งซึ่งช่อดอกจะยาวได้ถึง 15 ซม. มีช่อย่อยยาว 2.4 ซม. ลักษณะม้วนเล็กน้อย กลีบดอกเป็นสีขาวมี 2-4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับยาวประมาณ 3 มม. จากฐานดอกมีเกสรเพศผู้ 6-9 อัน ก้านชูอับเรณู 6-9 มม. รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด บริเวณยอดเกสรเพศเมียเรียบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปรีถึงรูปขอบขนาน หรือ แกมรูปไข่ยาว 5.5-9 มม. มีสีแดงอมเขียว

           ผล เป็นผลแห้งแบบแคปซูล รูปทรงรี บางเกลี้ยงมีปีก 3 ปีก ปลายผล และขั้วผลแหลม ยาว 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนปีกผลกว้าง 2 เซนติเมตร ผลสดเป็นสีเขียวพอแห้งจะเป็นสีน้ำตาล และจะแตกออกภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5-5.5 มม. มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขั้วเมล็ดมีขนาดเล็ก ไม่มีเยื่อหุ้ม

คงคาเดือด

คงคาเดือด

การขยายพันธุ์คงคาเดือด

คงคาเดือด สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด วิธีการเพาะเมล็ดคงคาเดือดสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในธรรมชาติคงคาเดือดก็ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดเช่นเดียวกัน โดยเมื่อผลแห้งก็จะแตกออกทำให้เมล็ดตกลงสู่พื้นดิน หรือ ลมอาจจะพัดผลแห้งตกลงบริเวณอื่นๆ แล้วจึงเกิดการงอกของเมล็ดต่อไป นอกจากนี้คงคาเดือดยังเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดด มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และสามารถทนได้ทุกสภาพดินอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนของลำต้นคงคาเดือด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Stigmasterol-proro-quersitol,3,5-bis-3,3-dimethylallyl-p-hydroxybenzaldehyde,stigmasteryl-3-o-beta-D glucopyranoside, scopoletin, cyclictris (ethylene terephthalate), 5-hydroxymethyl-furfuraldehyde,p-hydroxybenzoic acid เป็นต้น

โครงสร้างคงคาเดือด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคงคาเดือด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนใบและลำต้นคงคาเดือด ระบุว่า ใบสดของคงคาเดือดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีการศึกษาวิจัยโดยนำมาทำการสกัดด้วย 80% เอทานอล ในน้ำโดยปริมาตร แล้วนำสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH (2,2-diphenyl-1-picryhydrazyl) radical scavenging พบว่ามีค่า EC50 เท่ากับ 2010.24 ug/ml ส่วนการหาปริมาณหมู่ฟีนอลโดยใช้ Folin-ciocalteu reagent ได้ค่า GAE เท่ากับ 0.41 mg, gallic acid/100 mg, wet samples  

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร 5-dyoxymethyl furfuraldehyde ที่แยกได้จากลำต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ 6 ชนิด ได้แก่ E.coli, B cereus, S. aureus, S. derby, E. coli 0157:H7 และ L. monocytogenea อีกทั้งยังสามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาการเน่าเสีย (flat sour spoilage) อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งเชื้อรา Cladosporium cucumerinum อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของคงคาเดือด

มีการศึกษาทาวพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนขอใบ และลำต้นของคงคาเดือด ระบุว่า สาร 5-hydroxymethyl-furfuraldehyde และ p-hydroxybenzoic acid ที่แยกได้ จากลำต้นของคงคาเดือด แสดงความเป็นพิษต่อไรทะเล (Artemia salina L.) โดยมีค่าเท่ากับ LC50 เท่ากับ 71.0, 33.1 ug/ml ตามลำดับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้คงคาเดือดเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน กับ การใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้คงคาเดือด เป็นสมุนไพรเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยที่มากพอ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เป็นประจำก่อนใช้คงคาเดือด เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง คงคาเดือด
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คงคาเดือด”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 154-155.
  2. ปรีชา ภูวไพรศิริศาล. องค์ประกอบทางเคมีจากลำต้นคงคาเดือด และฤทธิ์ทางชีวภาพ. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาเคมี และวิชาเคมี 1998.
  3. ดร. นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “คงคาเดือด (Khong kha Dueat)". หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 71.
  4. วันเพ็ญ วสุพงษ์พันธ์, พรชัย เปรมไกรสร. การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของพืชสมุนไพรไทยสิบเอ็ดชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์ มศว. ปีที่ 26. ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2553). หน้า 29-38.
  5. คงคาเดือด. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php? Action=viewpage&pid=311
  6. Van welzan P.C. 1999. Spindaceae. In flora of Thailand Vol. 7(1): 185.
  7. Premkaisorn P. 2008. Antoxidant Activities of five Thai Medicinal Herbs. Journal of Science and Technology Mahasarakham University 27,3: 207-211.