ผักเชียงดา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเชียงดา งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักเชียงดา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเชียงดา, ผักเซ่งดา, ผักเจียงดา (ภาคเหนือ), ผักจินดา (ภาคกลาง), ผักว้น, ผักม้วนไก่, ผักเซ็ง, เครือจันปา (ภาคอื่นๆ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema inodorum (Lour.) Decnr.
ชื่อสามัญ Gymnema
วงศ์ Asclepiadaceae

ถิ่นกำเนิดผักเชียงดา

ผักเชียงดา เป็นพืชที่พบได้ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น อินเดีย พม่า ศรีลักา และทางภาคเหนือของไทย สำหรับประเทศไทยผักเชียงดาจะพบได้ในบริเวณภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาว ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบมากก็ คือ ผักเชียงดา ในสายพันธุ์ Gymnema inodorum ซึ่งในภาคเหนือนั้นผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา นิยมปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อนำยอดไปประกอบอาหาร ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่าพบผักเชียงดาในประเทศที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน และแอฟริกา

ประโยชน์และสรรพคุณของผักเชียงดา 

  1. ช่วยเพิ่มกำลังในการทำงานหนัก
  2. เป็นยารักษาเบาหวาน
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  4. ช่วยบำรุงสายตา
  5. แก้ตาฝ้าฟาง มีอาการเคืองตา
  6. ช่วยแก้หูชั้นกลางอักเสบ
  7. รักษาไข้ อาการหวัด ลดไข้
  8. แก้ไอ
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้
  11. บรรเทาอากาศหอบหืด
  12. แก้หลอดลมอักเสบ
  13. แก้ปอดอักเสบ
  14. ช่วยแก้โรคบิด
  15. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร
  16. เป็นยาขับปัสสาวะ
  17. ช่วยขับระดูของสตรีช่วย
  18. แก้อาการบวมน้ำ
  19. เป็นยาแก้โรคผิวหนัง
  20. ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  21. ช่วยในการบำรุงสายตา
  22. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  23. รักษาอาการท้องผูก
  24. แก้ปวดแสบ ปวดร้อน ที่มาจากเริม
  25. แก้ปวดแสบ ปวดร้อน ที่มาจากงูสวัด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการใช้ผักเชียงดาตามตำรายาพื้นบ้าน คือ ใช้รักษาเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ให้รับประทานเป็นผักสดอย่างน้อยวันละประมาณ 50-100 กรัม หรือ 1 ขีด สามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคเบาหวานได้ นำใบมาตำให้ละเอียดใช้พอกบนกระหม่อมรักษาไข้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะได้ ใช้ใบแก่ของผักเชียงดามาเคี้ยวกินสามารถรักษาอาการท้องผูกได้ ใบสดใช้ตำพอกฝี หรือ พอกบริเวณที่เป็นเริม งูสวัดแก้ปวดแสบ ปวดร้อน ส่วนรูปแบบและขนากการใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่า การศึกษาในคนพบว่าใช้สารออกฤทธิ์ประมาณ 400-600 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 8-12 กรัมของผงแห้งต่อวันโดยกินครั้ง 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้งก่อนอาหาร ให้ผลในการควบคุมและรักษาโรคเบาหวานได้ดี ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแคปซูลผักเชียงดา ในรูปแบบผงแห้งที่มีการควบคุมมาตรฐานของกรดไกนีมิก (gynemic acid) ต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 หรือ 1 แคปซูลใหญ่จะต้องมีผงยาของเชียงดาอยู่ 500 มิลลิกรัม

ผักเชียงดา

ผักเชียงดา

ลักษณะทั่วไปของผักเชียงดา

ผักเชียงดา จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุข้ามปี ความยาวของเถาขึ้นอยู่กับอายุ ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือ รูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14.5-18.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ผิวใบเรียบไม่มีขน ก้านใบยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ส่วนดอกผักเชียงดา ออกดอกเป็นช่อแน่นสีขาวอมเขียวอ่อน ดอกย่อยมีขนาดเล็กกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และผลของผักเชียงดาจะออกเป็นฝักคู่


การขยายพันธุ์ผักเชียงดา

ผักเชียงดาขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและปักชำแต่นิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง มากกว่าผักเชียงดาเจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยในฤดูฝนจะให้ผลผลิตมากกว่าฤดูอื่นๆ ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ผักเชียงดา มีดังนี้

           การเตรียมต้นกล้าที่จะทำการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งคู่ใบที่ 4-5 ขึ้นไป สีของกิ่งเป็นสีเขียวมีความยาวกิ่งประมาณ 2-4 นิ้ว ใช้ 1-2 ข้อต่อ 1 ต้น นำมาแช่ในน้ำยาเพิ่มราก และยากันราประมาณ 5 นาที และผึ่งทิ้งไว้ให้หมาดๆ แล้วปักลงในกระถาง หรือ ถุงดำขนาด 8x12 นิ้ว หรือ ในแปลงพ่นหมอกที่มีวัสดุชำ คือ ถ่านแกลบ ผสมทราย หรือ ถ่านแกลบอย่างเดียว ปักชำทิ้งไว้ประมาณ 45 วัน เมื่อมีรากขึ้นย้ายลงถุงชำที่ใส่ดินขนาด 4x7 นิ้ว นำไปไว้ในเรือนเพาะชำอีกประมาณ 45 วัน จึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใหญ่ต่อไป

           การเตรียมดิน การเตรียมดินเป็นการช่วยกำจัดวัชพืช และถือเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกผักเชียงดา เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง การเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะ และทิ้งตากดินไว้ 5-7 วัน จากนั้นจึงไถแปร 1-2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้แตกละเอียดไม่เป็นก้อนใหญ่ ก่อนการทำร่อง หรือ แถวปลูกควรมีการหว่านปุ๋ยคอก อัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นสามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ

          การปลูก เตรียมแปลงปลูกขนาด 1x1.5 เมตร (ความยาวแล้วแต่พื้นที่) ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จ้านวนต้นต่อไร่ประมาณ 4,200 ต้น ปลูกเป็นแถวคู่ ให้น้ำ 3-5 วันต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และความชื้นในดิน ควรรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักอัดเม็ดประมาณครึ่งกระป๋องนมข้น คลุกดินก่อนท้าการปลูก และหลังจากปลูกเสร็จ ให้ใช้วัสดุคลุมดิน ซึ่งวัสดุที่ใช้สำหรับคลุมดิน สามารถน้าเอาวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรเช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว แกลบดิบ มาใช้ได้ นอกจากจะเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินแล้วดินยังช่วยรักษาความชื้นของดิน ป้องกันวัชพืช และยังสลายกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัย พบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือ Gymnemic acid ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่สกัดได้จากใบและรากของผักเชียงดา โดย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักเชียงดา 

โครงสร้างผักเชียงดา

Gymnemic acid : Wikipedia            

ลักษณะโครงสร้างทางเคมีของ

Gymnemic acid มี tri-terpenoid, glucuronic acid และกรดไขมันรวมอยู่ในโมเลกุลเดียวกัน นอกจาก Gymnemic acid ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญแล้ว ยังพบสารสกัด จากผักเชียงดา ที่สำคัญอื่น ๆ อีก เช่น flavones d-quercitol, tartaric acid, formic acid, butyric acid, lupeol, hentriacontane, pentatriacontane, stigma sterol, acidic glycosides และ anthroquinones5 สำหรับสารที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นกรดอินทรีย์ และละลายน้ำได้จะมีคุณสมบัติในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของผักเชียงดา มีดังนี้

           ผักเชียงดา (100 กรัม) ให้พลังงาน  60 กิโลแคลลอรี่

  • โปรตีน                   5.4       กรัม
  • ไขมัน                    1.5       กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต      6.2       กรัม
  • ใยอาหาร             2.6       กรัม
  • แคลเซียม             78        มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส            98        มิลลิกรัม
  • สังกะสี                 2.3       มิลลิกรัม
  • วิตามิน เอ             5905    หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1            981      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2          0.32     มิลลิกรัม
  • Niacin                  1          มิลลิกรัม
  • วิตามินซี               153      มิลลิกรัม
  • แคลเซียม           78        มิลลิกรัม
  • เหล็ก                    2.3       มิลลิกรัม

Antharquinones : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักเชียงดา

มีการศึกษาวิจัยพบว่าผักเชียงดามี Gymnemic acid (สกัดมาจากส่วนราก และใบของผักเชียงดา) โดยสารชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างเหมือนน้ำตาลกลูโคส จึงเข้าไปจับกับตัวรับที่ลำไส้แทนโมเลกุลของกลูโคส และช่วยสกัดกั้นสารน้ำตาลตัวจริงที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ และยังสามารถช่วยควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่พึ่งอินซูลิน และชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 มีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบประสิทธิภาพ กลไกออกฤทธิ์ ในการลดน้ำตาลในเลือด ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาดราส ประเทศอินเดียโดยศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูด้วยการให้สารพิษที่ทำลายบีตาเซลล์ในตับอ่อนของหนู พบว่าหนูที่ได้รับผักเชียงดา (ทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัด) มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของบีตาเซลล์เพิ่มขึ้น

           มีการศึกษาผลของผักเชียงดาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า ผักเชียงดาสามารถลดการใช้ยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบัน และบางรายสามารถเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันโดยใช้แต่ผักเชียงดาอย่างเดียวสำหรับการคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากการศึกษานี้ ยังพบว่าปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (hemoglobin A1c) ลดลง (ปริมาณสารตัวนี้แสดงให้เห็นว่าการกินผักเชียงดาทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-4 เดือน ที่ผ่านมามีความสม่ำเสมอ ถ้าลดลงแสดงว่าคุมระดับน้ำตาลได้ดี ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด จากการป่วยเป็นโรคเบาหวาน) และปริมาณอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาเบาหวาน นอกจากปริมาณอินซูลินจะไม่เพิ่มขึ้นแล้วปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมยังเพิ่มขึ้นอีกด้วยปี พ.ศ.2546 นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงผลของสารสกัดผักเชียงดาในหนูซึ่งนอกจากจะพบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินแล้ว ยังลดปริมาณของอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย ทั้งยังเพิ่มปริมาณของสารกลูตาไทโอน วิตามินซี วิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบอีกว่าสารสกัดผักเชียงดา มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide)

           มีการวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่ใช้อินซูลิน 27 ราย โดยให้กินสารสกัดที่ทำให้บริสุทธิ์ขึ้น 400 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าปริมาณความต้องการอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ใช้อินซูลิน 22 ราย เมื่อให้สารสกัด 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 18-20 เดือน ร่วมกับยารักษาเบาหวาน พบว่าปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวานลดลง โดยมีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ใน 22 ราย ที่สามารถหยุดให้ยาเบาหวานโดยใช้แต่สารสกัด Gymnema เพียงอย่างเดียว


การศึกษาทางพิษวิทยาของผักเชียงดา

นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความเป็นพิษของผักเชียงดา ไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด โดยให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานชาชงทุกวันเป็นระยะเวลา 28 วัน แล้วทำการวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose) พบว่าไม่มีการลดลงของระดับกลูโคสในพลาสมาในร่างกายและไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของตับ  แสดงให้เห็นว่าการรับประทานชาชงจากผักเชียงดาไม่มีพิษต่อตับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. ผักเชียงดาในฤดูแล้วเหมาะแก่การนำมาบริโภคเป็นอาหารมากกว่าฤดูฝน เพราะจะไม่มีรสขมเฝื่อน
  2. ในการเลือกซื้อแคปซูลผักเชียงดา ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีผงยา 500 มิลลิกรัม เพราะจะให้ผลในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การใช้ผักเชียงดาในการควบคุม และรักษาโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทาอาหารต่างๆ และออกกำลังกายร่วมด้วยเพราะหากหวังเพียงแต่ให้สรรพคุณของผักเชียงดาเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เหมือนเดิม ผักเชียงดาคงช่วยไม่ไหวเช่นกัน
  4. ผักเชียงดาก็เหมือนสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งถ้าบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยว่าปลอดภัยก็ตาม

เอกสารอ้างอิง ผักเชียงดา
  1. ผศ.ปริญญาวดี ศรีตนทิพย์ และคณะ. รายงานผลการดำเนินงานปี 2558 การผลิตผักเชียงดาอินทรีย์ตามวิถี พอเพียง พออยู่พอกิน และยั่งยืน กลุ่มฮักน้ำจาง บ้านนากว้าว ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. สถาบันวิจัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  2. ดร.จักรพันธุ์ เนรังสี.ผักเชียงดา พืชสมุนไพรที่ไม่ธรรมดา. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม.ปีที่ 22 ฉบับที่ 4 ประจำเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 12-14
  3. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก .“ผักเชียงดา”,ย่านาง  หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 103.
  4. เต็ม สมิตินันท์. 2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ. 810 หน้า
  5. Anjum T. and Hasan Z. Gymnema Sylvestre. Plant Used By Peoples of Vidisha District for the Treatment of Diabetes. International Journal of Engineering Science Invention. 2013; 2: 98—102.
  6. ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร.3 สมุนไพร  พิชิตโรคเบาหวาน.คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก.นิตยารหมอชาวบ้านเล่มที่ 379. พฤศจิกายน.2533
  7. Chiabchalard A., Tencomnao T. and Santiyanont R. Effect of Gymnema inodorum on postprandial peak plasma glucose levels in healthy human. African Journal of Biotechnology. 2010; 9: 1079—1085.
  8. Preuss, H.G., M. Bagchi, C.V. Rao, D.K. Dey ang S. Satyanarayana. 2004. Effect of a natural extract of (-)-hydroxycitric acid (HCA-SX) and a combination of HCA-SX plus niacin-bound chromium and Gymnema sylvestre extract on weight loss. Diabetes Obes Metab. 6(3):171-180.
  9. Saneja A., Sharma C., AnejaK.R. and PahwaR. Gymnema Sylvestre(Gurmar): A Review. Der Pharmacia Lettre.2010;2:275—284
  10. Shimizu, K., Ozeki, M., Iino, A., Nakajyo, S., Urakawa, N., Atsuchi, M., (2001). Structure-activity Relationships of  Triperpenoid Derivatives Extracted from Gymnema inodorum Leaves on Glucose Absorption. Jpn.J.Pharmacol. 86 (March). 223-229.
  11. เก้า มกรา. นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556.
  12. Rani A. S., Nagamari V., Patnaik S. and Saidulu S. Gymnema Sylvestre: an Important Antidiabetic Plant of India: A Review. Plants Sciences Feed. 2012; 2: 174—179.
  13. Grover, J. K. and Yadav, S. P. (2004). Pharmacological actions and potential uses of Momordica charantia: a review. Journal of Ethnopharmacology, 93(1), 123-132
  14. Ahmad, N., Hassan, M. R., Halder, H. and Bennoor, K. S. (1999). Effect of Momordica charantia (Karolla) extracts on fasting and postprandial serum glucose levels in NIDDM patients. Bangladesh Medical Research Council Bulletin, 25(1), 11-13.
  15. Chiabchalard, A., Tencomnao, T., Santiyanont, R., (2010). Effect of Gymnema inodorum on Postprandial Peak Plasma Glucose Level in Healthy Human. Afr.J.Biotechnol. 9(7),1079-1085
  16. Dham, S., Shah, V., Hirsch, S. and Bernaji, M. A. (2006). The role of complementary and alternative medicine in diabetes. Current Diabetes Reports, 6, 251-258.