ข่าตาแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ข่าตาแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ข่าตาแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข่าเล็ก (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia officinarum Hance
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Languas officinarum (Hance) P.H.Ho, Languas officinarum (Hance) Farw.
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิดข่าตาแดง

ข่าตาแดง จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้างในทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเช่น มณฑล กวางตุ้ง กวางสี และไหหลำ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้น้อยกว่าข่าแกง Alpinia galaga (L.)( Wild.)

ประโยชน์และสรรพคุณข่าตาแดง

  • แก้ท้องอืด
  • แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ
  • แก้คลื่นไส้
  • แก้อาเจียน
  • แก้หอบหืด
  • แก้เสมหะ
  • ช่วยลดไข้
  • แก้พิษโลหิต
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ขับลมให้กระจาย
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น
  • แก้บาดทะยักปากมดลูก
  • ช่วยขับโลหิตเน่าในมดลูก
  • แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ฟกช้ำบวม
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้บิดตกเป็นเลือด
  • ใช้รักษากลากเกลื้อน

           ข่าตาแดง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับข่าแกง และข่าใหญ่ โดยนำหน่อที่มีรสหอมฉุนมาปรุงเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นผักสด หรือ ใช้เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก แต่ส่วนของเหง้ามีรสเผ็ดฉุนมากกว่าข่าแกง และข่าใหญ่ จึงมีบางพื้นที่นำมาใช้โขลกเป็นพริกแกงต่างๆ (ส่วนใหญ่จะใช้ข่าแกง)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับลมให้กระจาย ใช้เป็นยาระบาย แก้พิษโลหิต แก้ไข้ แก้หอบหืด ขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด แน่นเฟ้อ คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิด ท้องร่วง โดยใช้เหง้าแก่มาตากให้แห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับโลหิตที่เน่าในมดลูกของสตรี และช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการนำเหง้ามาโขลกคั้นกับน้ำมะขาม เปียก และเกลือให้หญิงเพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ รับประทาน ใช้แก้ฟกช้ำบวม โดยใช้เหง้าข่าตาแดง สดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษากลากเกลื้อนโดยใช้ใบ หรือ ดอกมาตำให้ละเอียดพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของข่าตาแดง

ข่าตาแดง จัดเป็นพืชหัวต้นของข่าตาแดงมีลักษณะคล้ายกับข่าแกง และข่าใหญ่ ทุกประการเพียงแต่จะมีขนาดของลำต้นที่เล็ก และลูกสูงน้อยกว่าข่าแกง (แต่สูงกว่าข่าลิง) เมื่อแตกหน่อจะมีสีแดงเข้ม และกลิ่นฉุนกว่าข่าใหญ่

           ใบ ออกสลับกันรอบๆ ต้นเทียม มีลักษณะคล้ายกับใบข่าแกงโดยจะเป็นรูปไข่ยาว คล้ายใบพายแต่ปลายจะแคบกว่า และปลายใบจะเรียวแหลมกว่าข่าแดง

           ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงตั้งขึ้น บริเวณปลายยอดโดยช่อดอกเป็นสีขาว แต้มด้วยสีแดงเล็กน้อยบริเวณปลายกลีบ

           ผล เป็นผลแห้งทรงกลมเมื่อแก่จะมีสีส้มแดง ด้านในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

ข่าตาแดง

ข่าตาแดง

การขยายพันธุ์ข่าตาแดง

ข่าตาแดง สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี การแยกหน่อ และการใช้เมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การแยกหน่อ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย และเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าการใช้เมล็ด


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากเหง้าของข่าตาแดงระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Eugenol, cineole, gladin, beta-sitosterol, galangin, emodin, Quercetin, 3,4-dihydroxybenzoic acid เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเอทานอลจากเหง้าของข่าตาแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ต่างๆ เช่น Chrysin, pinocembrin, tectochrysin, Apigenin, galangin, 3-o-methylangin, acacetin, kaempferide, kaemferide, Quercetin, isorhamnetin, rutin, oxyphyllacinol, hexahydrocuecumin, hannokio เป็นต้น

โครงสร้างข่าตาแดง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข่าตาแดง

มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากเหง้าข่าตาแดง ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น  มีรายงานการศึกษาทางคลินิกแบบไปข้างหน้า ปกปิดสองทาง และมีการสุ่ม (A prospective double‐blinded randomised clinical trial) ในอาสาสมัครเพศชายที่ประสบปัญหามีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 76 คน โดยสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 38 คน กลุ่มที่ 1 รับประทานสารสกัด 70% เอทานอลจาก (Alpinia officinarum Hance) ขนาด 300 มก./วัน และกลุ่มที่ 2 รับประทานยาหลอก ทำการศึกษาเป็นเวลานาน 3 เดือน เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดข่าตาแดง มีความเข้มข้นของอสุจิและจำนวนเซลล์อสุจิที่มีรูปร่างสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยความเข้มข้นของอสุจิเพิ่มจาก 52 ± 24 ล้านเซลล์/มล. เป็น 71 ± 23 ล้านเซลล์/มล. และจำนวนเซลล์อสุจิที่มีรูปร่างสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจาก 14.34 ± 9.16% เป็น 19 ± 14.89% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข่าตาแดงมีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนเซลล์อสุจิที่มีรูปร่างสมบูรณ์ และช่วยเพิ่มความเข้มข้นของอสุจิในชายที่ประสบปัญหามีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุได้ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากเหง้าของข่าตาแดง ต่อฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยใช้เซลล์มะเร็ง 5 สายพันธุ์ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านมะเร็งได้โดยค่าการต้านจะขึ้นอยู่กับขนาดยา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสารสกัดเมทานอลจากเหง้าแห้งของข่าตาแดงโดยการสกัดด้วยอัลตราโซนิกซึ่งราก สกัดอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสในเมทานอล 70% เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และยังแสดงการกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ที่สูงในลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยา และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในเซลล์ V79-4 ที่ผ่านการบำบัดด้วย H2O2 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดจากเหง้าของข่าตาแดง ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านโรคอ้วน และคุณสมบัติต้านไวรัส อีกด้วย 


การศึกษาทางพิษวิทยาของข่าตาแดง

มีรายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากเหง้าของข่าตาแดง ระบุว่า มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดเมทานอลข่าตาแดงพบว่าไม่มีความเป็นพิษโดยการศึกษาใช้ขนาดยาในหนูทดลองคือ 400 มก..กก. พบว่าไม่แสดงการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับและไตแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ข่าตาแดง ทั้งในรูปแบบการรับประทานเป็นยา หรือ การใช้เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้พืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้พืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) รวมถึงผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีเนื่องจากพืชในวงศ์ขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี

เอกสารอ้างอิง ข่าตาแดง 
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. ข่าตาแดง. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 105-106.
  2. ผลของสารสกัดข่าตาแดง ต่อคุณภาพอสุจิในชายที่ประสบปัญหามีบุตรยากโดยไม่ทรายสาเหตุ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ข่า สรรพคุณและการปลูกข่า. พืชเกษตรดอทคอม เว็ปเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Rysz et al., 2017 Rysz Jacek, I.D. Anna Gluba-Brzózka, Beata Franczyk, Zbigniew Jabłonowski, Aleksandra Ciałkowska-Rysz Novel biomarkers in the diagnosis of chronic kidney disease and the prediction of its outcome Int. J. Mol. Sci., 18 (2017), p. 1702
  5. Basri et al., 2017 Aida Maryam Basri, Hussein Taha, Norhayati Ahmad A review on the pharmacological activities and phytochemicals of Alpinia officinarum (Galangal) extracts derived from bioassay-guided fractionation and isolation Pharmacogn. Rev., 11 (21) (2017), pp. 43-56
  6. Ünyayar et al., 2006 Ali Ünyayar, Murat Demirbilek, Melisa Turkoglu, Ayla Celik, Mehmet A. Mazmanci, Emrah A. Erkurt, Serpil Ünyayar, Özlem Cekic, Hatice Atacag Evaluation of cytotoxic and mutagenic effects of coriolus versicolor and Funalia trogii extracts on mammalian cells Drug Chem. Toxicol., 29 (1) (2006), pp. 69-83
  7. Housman et al., 2014 Genevieve Housman, Shannon Byler, Sarah Heerboth, Karolina Lapinska, Mckenna Longacre, Nicole Snyder, Sibaji Sarkar Drug resistance in cancer: an overview Cancers, 2014 (6) (2014), pp. 1769-1792