อบเชยเถา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

อบเชยเถา งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร อบเชยเถา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อบเชยป่า (ภาคกลาง), กู้ดิน ,จั่นดิน (ภาคอีสาน), เครือเขาใหม่, กำหยานเครือ, เชือกเขา (ภาคเหนือ), เชือกเถา (นครสวรรค์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Atherolepis pierrei Cost.var.glabra Kerr.
วงศ์ ASCLRPIADACEAE

ถิ่นกำเนิดอบเชยเถา

ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า อบเชยเถาในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับอบเชยเถาอีก 2 ชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zygostelma benthamii Baill. และ Toxocarpus villosus Decne. โดยอบเชยเถา  (Atherolepis pierrei Cost.var.glabra Kerr.) ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในเรื่องถิ่นกำเนิดแต่เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณตามชายป่าที่รกร้างว่างเปล่า หรือ ตามสวนข้างทางก็สามารถพบได้เช่นกัน

ประโยชน์และสรรพคุณอบเชยเถา

  • บำรุงหัวใจ
  • ทำให้จิตใจชุ่มชื่น
  • แก้อ่อนเพลีย
  • แก้ลมวิงเวียน
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้ปวดมวนในท้อง
  • ก้ผื่นคัน
  • แก้บิด
  • รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพของผู้ชาย
  • แก้ท้องเสีย
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • คลื่นเหียนอาเจียน
  • แก้โรคผิวหนัง 

           ในประเทศไทยมีการนำอบเชยเถา มาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ในอดีตแล้วเช่น ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ส่วนเถา และใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ และแพะ เป็นต้น

รูปแบบและขนานวิธีใช้อบเชยเถา

ใช้บำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้อ่อนเพลีย ขับลมในลำไส้ โดยใช้รากของอบเชยเถามาปรุงกับสมุนไพร ชนิดอื่น เป็นยาหอมสำหรับรับประทาน ใช้แก้ปวดมวนท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด โดยใช้ราก หรือ ถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดมวนท้อง โดยใช้เถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำแล้วอบไอน้ำ รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพของผู้ชาย (โดยนำรากมาดองเหล้า หรือต้มกิน)


ลักษณะทั่วไปของอบเชยเถา

อบเชยเถา จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกหรือไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 5-10 เมตร เถาเรียงเล็กมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.3-2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเทา ถึงน้ำตาลม่วง มีขนสั้นและมีน้ำยางสีขาว เปลือกเถามีช่อง แลกเปลี่ยนอากาศ (lenticel) รูปไข่กระจายที่เถา ส่วนรากมีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกอบเชยต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้างเป็นคู่ๆ โคนใบสอบปลายใบแหลมใบเป็นสีเขียวเข้มมีลายเส้นใบสีขาว ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2-6 เซนติเมตร ก้านใบสั้นยาวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว ดอกออกเป็นช่อแบบ cyme ตามซอกใบโดยใน 1 ช่อ ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 3-6 ดอก เป็นดอกขนานเล็ก เมื่อดอกตูมจะเป็นรูปกรวยสั้นปลายแหลม ขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 6-7 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองอมส้ม ส่วนเมื่อดอกบานจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือชมพูอมส้ม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน โคนกลีบดอกชิดติดกันเป็นหลอด หรือ เป็นท่อสั้นๆ ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนขึ้นประปรายทั้งด้านในและด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ผลเป็นฝัก รูปกระสวยหรือทรงรี ติดกันเป็นคู่ ยาว 7-10 เซนติเมตร ผิวฝักเนียน มีช่องเรียงตามแนวยาวของฝักด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาล และมีกระจุกขนสีขาวที่ปลายเมล็ด (comose seed)

อบเชยเถา

ผลอบเชยเถา

การขยายพันธุ์อบเชยเถา

อบเชยเถา สามารถกระจายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น การใช้เมล็ด การปักชำ และการทาบเถา แต่ในปัจจุบันมีการที่เป็นที่นิยม คือ การทาบเถาและการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการทาบเถาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดในพืชชนิดอื่นๆ ที่ใช้วิธีการเพาะเมล็ดในการขยายพันธุ์ ส่วนการทาบเถาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการทาบเถาไม้เถาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของอบเชยเถา พบว่า มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น สารกลุ่มไฮโครคาร์บอนสายตรง ได้แก่ Heptatriacontane, สารกลุ่มอะโรมาติด อัลดีไฮต์ ได้แก่ 2-Hydroxy-4methoxy benzaldehyde, และสารกลุ่มไดรเทอร์ปีนอยด์ 3 ชนิด ได้แก่ Lupeol-3-acetate,alpha-amyrin-3-acetate และ beta-amyrin-3-acetate เป็นต้น

โครงสร้างอบเชยเุถา

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของอบเชยเถา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในประเทศไทย ได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากสารสกัดส่วนรากของอบเชยเถา ไว้ว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพบางชนิดได้เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของอบเชยเถา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้อบเชยเถา ควรระมัดระวังในการเลือกใช้ให้ถูกชนิด เนื่องจากอบเชยเถามีถึง 3 ชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีสรรพคุณและการใช้ที่แตกต่างกัน การที่มีชื่อซ้ำกันเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนและผิดพลาดในด้านชนิดพืช เมื่อต้องการนำพืชมาใช้เป็นยาสมุนไพร ในการนำมาใช้บำบัดรักษาอาการโรค ซึ่งจำเป็นต้องใช้อย่างถูกชนิด และถูกวิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้


เอกสารอ้างอิง อบเชยเถา
  1. สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพน.2512.ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคสาม) โรงพิมพ์อำพลพิทยา.กรุงเทพฯหน้า.293.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “อบเชยเถา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 835-836.
  3. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด.2522.ไม้เทศเมืองไทย โรงพิมพ์กรุงธน.กรุงเทพฯหน้า.574.
  4. เพ็ญนภา ทรัยพ์เจริญ.(2549).สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.พิมพ์ครั้งที่ 2.นนทบุรี.ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
  5. ติม สมิตินันทร์.2523.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย(ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) หจก.ฟันนี่พันลิชชิ่ง. กรุงเทพฯ. 397 หน้า
  6. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์.2522.สมุนไพรตอนที่.3.ฟันนี่พับลิชชิ่ง.กรุงเทพฯน.1983
  7. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “อบเชยเถา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 151.
  8. ณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์,ชาตรี ชาญประเสริฐ,ลักษณะทางพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพรอบเชยเถา.วารสารวิทยาศาสตร์ ม.ถ.ปีที่ 13.ฉบับที่ 1-3(2538 ) หน้า 36-45
  9. อรณิชา ครองยุติ,สุภัสสร วันสุทะ.พัตต์วรภรณ์ อุดรสรรพ์.การศึกษาภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรหมอพื้นบ้าน:กรณีการศึกษาหมอพื้นบ้านในตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย.วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาราชภัฏอุดรธานีปีที่ 10. ฉบับที่ 2. กรกฎาคม-ธันวาคม 2564. หน้า 17-37
  10. สะอาด บุญเกิด,จเร สดากร และทิพย์พรรณ สดากร.2525.ชื่อพรรณไม้ในเมืองไทย กองทุนจัดพิมพ์ ตำราป่าไม้.คณะวนศาสตร์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.657หน้า.
  11. สุนีย์ จันทร์สกาว,การศึกษาทางพฤกษเคมีของรากอบเชยเถา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2536.
  12. สุรพงษ์ เก็งทอง.สมุนไพรพื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร.รายงานการวิจัย โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2554. หน้า 52-53.
  13. Constantin,J.1935.Asclepiadacees.In:Flore Generale De L Indo-Chine.4(1):1-154.
  14. Wiyakrutta, S., Sriubolmas, N., Panphut, W., Thongon, N., Danwisetkanjana, K., Ruangrungsi, N., & Meevootisom, V. (2004). Endophytic fungi with anti-microbial,  anti-cancer  and  anti-malarial  activities  isolated  from  Thai medicinal plants.World  journal  of  microbiology  and  biotechnology,20(3), 265-272
  15. Chansakaow S, Phadungcharoen T.,Ruangrungsi N, Toshikazu Sekine and Isamu Murakoshi (1993).Constthuents of Atherolepis pierrel. ไทยเภสัชสาร.17(4):195-199.