นมแมว ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

นมแมว งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ


ชื่อสมุนไพร นมแมว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำจ้อย (ยโสธร), ตาแป (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauwenhoffia siamensis Scheff.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melodorum siamensis (Scheff) Ban
วงศ์ ANNONACEAE

ถิ่นกำเนิดนมแมว

นมแมวจัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย โดยเป็นต้นไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของไทยมาตั้งแต่อดีตแล้ว ซึ่งมีบันทึกจากพระยาวินิจวนันดร บันทึกไว้ว่า นมแมว เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในป่าดิบภาคกลาง และภาคใต้ ปกติพบขึ้นอยู่ตามชายป่าชื้น นิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้าน ส่วนในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ตามบริเวณป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณนมแมว

  • แก้ไข้ทับระดู
  • แก้ไข้หวัด
  • แก้ไข้กลับ
  • แก้ไข้ซ้ำ
  • แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • แก้โรคผอมแห้งในสตรีหลังคลอด
  • แก้ไข้เพื่อเสมหะ
  • แก้ริดสีดวงจมูกได้ดีมาก
  • แก้โรคผอมแห้ง
  • แก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย
  • แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กเล็ก
  • แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

           นมแมว ถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ประโยชน์หลักของนมแมวที่คนไทยรู้จักดี คือ การนำมาปลูกเป็นไม้พุ่ม และไม้ดอก มีความแข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย อายุยืน ออกดอกตลอดทั้งปี และยังมีการใช้กลิ่นของดอกนมแมว มาปรุงแต่งกลิ่นขนมไทย ในปัจจุบันยังมีการสกัดกลิ่นดอกนมแมวออกขายในท้องตลาด เพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนมไทย ที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า "น้ำนมแมว" ซึ่งหมายถึงน้ำหอมกลิ่นดอกนมแมว อีกทั้งผลสุกของนมแมวยังมีรสหวาน สามารถใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้อีกด้วย

นมแมว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้นมแมว

ใช้แก้ไข้ทับระดู ไข้หวัด ไข้เพื่อเสมหะ ไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้โรคผอมแห้งในสตรีหลังคลอด โดยใช้รากหรือเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงจมูกโดยใช้รากนมแมว ผสมกับรากหนามพรม และรากไส้ไก่ ต้มกับน้ำดื่ม ใช้ยอดใบอ่อน 5-7 ใบ ผสมกับน้ำปูนขาว และน้ำ แล้วขยี้ส่วนผสมทั้งหมดจนแตกเป็นเนื้อละเอียดจนเป็นฟองสีเหลือง แล้วนำมาทาบริเวณท้องเด็กแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กเล็ก แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้รากมาตำผสมกับน้ำปูนใสแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น ผลนำมาตำผสมกับน้ำใช้ทาแก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย

 

ลักษณะทั่วไปของนมแมว

นมแมว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย โดยสามารถเลื้อยได้ไกลถึงประมาณ 2-5 เมตร ไม่ผลัดใบแตกกิ่งก้านได้มาก เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อไม้เหนียวมาก กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น  แต่ทั้งนี้หากต้นนมแมว อยู่โดดเดี่ยว กลางแจ้งไม่มีต้นไม้อื่นอยู่ใกล้ ลำต้นก็มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม สูง 1.5-2.5 เมตร กิ่งก้าน และลำต้นสีน้ำตาลเข้มออก ดำ และแตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างแน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก สีเขียวปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-22.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อระหว่าง 2-4 ดอก บริเวณซอกใบใกล้ปลายยอดดอกค่อนข้างกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลียบดอกหนา สีเหลืองนวล มีกลีบ 6 กลีบ ซึ่งจะเรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ มีขนปกคลุม กลีบนอกเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 1.3 เซนติเมตร ส่วนกลีบในจะมีขนาดเล็กกว่า และมีกลีบเลี้ยง หรือ กลีบรองดอกสีเขียว 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือ เป็นรูปไข่กว้าง ปลายมน มีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ดอกมีกลิ่นหอมเย็นส่งกลิ่นหอมในช่วงเย็น และมีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืน ผลเป็นผลกลุ่ม ซึ่งจะประกอบด้วยผลย่อย 8-15 ผล ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ลักษณะผลเป็นสีเขียว รูปกลมรี และมีตุ่มปลายผล ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง เปลือกนิ่ม มีกลิ่นหอม มีรสหวาน ด้านในมีเมล็ดเล็กๆ 5-8 เมล็ด

นมแมว

นมแมว

การขยายพันธุ์นมแมว

นมแมว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง ส่วนวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน กับการเพาะเมล็ด และตอนกิ่งไม้พุ่ม ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของนมแมว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ 3-hydroxy-3-methoxy-l-phenyl-2(3,4,5-trimethoxy-phenyl)-propenone,3-hydroxy-3-methoxy-l-phenyl-2-(2,3,4-trimethoxy-phenyl)-propenone 2’,4’-dihydroxy4-6’-dimethoxychalcone,7,4’-dihydroxy-5-methoxy flavanone, ρ-Coumaroyl-β-phenethylamine

           นอกจากนี้ยังพบอนุพันธ์ของ C-benzylated dihydrochalcone ใหม่สองตัว คือ 4,2',4'-trihydroxy-6'-methoxy-3'(2''-hydroxybenzyl)dihydrochalcone  และ 2',4'-dihydroxy-4,6'-dimethoxy-3”(2”-hydroxybenzyl) dihydrochalcone อีกด้วย

 โครงสร้างนมแมว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนมแมว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของนมแมว ระบุว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase ในการรักษาโรคเอดส์ ในหลอดทดลอง มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ต้านมัยโคแบคทีเรียและต้านมะเร็งปอดเป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของนมแมว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้นมแมวเป็นสมุนไพร เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาด้านความเป็นพิษ และขนาดการใช้ที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ในการใช้นมแมวเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป

เอกสารอ้างอิง นมแมว
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. -- กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า (562)
  2. เดชา ศิริภัทร.นมแมว :ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 282. ตุลาคม 2545
  3. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล (2548).สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน.หน้า 116.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542 หน้า (372)
  5. นมแมว.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=58
  6. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (352)