เวย์โปรตีน

เวย์โปรตีน

ชื่อสามัญ Whey protein
 

ประเภทและข้อแตกต่างเวย์โปรตีน                                                          

เวย์โปรตีน คือ โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในน้ำนม โดยปกติในน้ำนมต่างๆ นั้นประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิดหลัก คือ เวย์โปรตีน (Whey Protein) เคซีนโปรตีน (Casein Protein) และในส่วนของเวย์โปรตีนจะเป็นส่วนผสมของโปรตีน (globular proteins) ที่แยกได้จากเวย์ (whey) ในระหว่างกระบวนการผลิตเนยแข็งจากนม ซึ่งเมื่อนมแข็งตัว เวย์จะลอยแยกออกมา และมีองค์ประกอบทุกอย่างเช่นเดียวกันกับที่มีในนม (เฉพาะส่วนที่ละลายในนม) เมื่อผ่านกระบวนการบางอย่าง จะทำให้มีปริมาณโปรตีนมากขึ้น หลังจากผ่านการกรองก็จะทำให้ได้โปรตีนแยกออกมาจากเวย์ 

            เวย์โปรตีนเป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมีกรดอะมิโนจำเป็นสูง เป็นแหล่งของ Sulfur amino acids คือ Methionine, Cysteine และเป็นแหล่งของ Branched-chain amino acids (ลิวซีน ไอโซลิวซีน วาลีน หรือ ที่เรียกว่า BCAA) อีกทั้งยังเป็นแหล่งของกลูตามีน ไกลซีน Alpha-Lactoglobulin, Beta-Lactoglobulin, Bovine Serum Albumin, Immunoglobulin (Ig Gl, IgGll, Secretory lgA, lgM) และยังประกอบไปด้วยเอ็นไซม์, Iron Binding Protein, Calcium, Potassium, Sodium, Phosphorus, Vitamin A, C, B1, B2, B3, B5, B12, Folic Acid และ Biotin อีกด้วย

           สำหรับประเภทของเวย์โปรตีนนั้น สามารถแบ่งตามองค์ประกอบของโปรตีน และสารอาหารอื่นๆ ที่พบร่วมได้ 3 ชนิด ดังนี้ 

  1. เวย์โปรตีน คอนเซนเดรท (Whey Protein Concentrate : WPC) ขบวนการผลิต WPC ได้จากการนำเวย์ที่ได้ในขบวนการผลิตมาผ่านการกรอง Ultrafiltration หรือ กระบวนการอื่นๆ เพื่อแยกแลกโดส และไขมันที่มีผสมออกไป แล้วทำให้แห้ง ผงเวย์โปรตีนที่ได้จะมีความเข้มข้นของเวย์โปรตีน ประมาณ กว่า 25-89% โดยน้ำหนักมีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน และมีกลิ่น รสตามธรรมชาติแบบนม WPC ที่สกัดได้จะอุดมไปด้วยกรดอะมิโนครบถ้วยทั้ง 20 ชนิด มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนทั้ง 8 ชนิด ที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ และยังมี Branched-chain amino acid สูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับ Growth Hormone ช่วยเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีน และไกลโคเจน เพื่อช่วยเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ และเวย์โปรตีนชนิดนี้ ยังมี Bioactive compound สูง ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และเพิ่มภูมิคุ้มกัน ได้อีกด้วย
  2. เวย์โปรตีน ไอโซเลต (Whey Protein Isolate : WPI) ได้จากการนำ WPC มาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มเติม คือ Ion-exchange (IE) หรือ Cross-flow microfiltration (CFM) เพื่อแยกเอาแลกโตส และไขมันที่ ยังคงมีผสมอยู่บ้างออกไปอีก ทำให้ความเข้มข้นของเวย์โปรตีนสูงขึ้น คือ มากกว่า 90% กระบวนการ  IE จะใช้วิธีแยกโมเลกุลของสารต่างๆ ออกจากกันโดย อาศัยประจุไฟฟ้าบนโมเลกุลลที่ต่างกัน สามารถทำให้เวย์โปรตีนบริสุทธิ์ได้มากที่สุด โดยอาจทำให้มีความเข้มข้นของเวย์โปรตีนได้ถึง 97-98% โดยน้ำหนักแห้ง แต่กระบวนการ CFM ซึ่งใช้ตัวกรองที่ทำจากเซรามิกจะสามารถรักษาโปรตีนชนิดย่อยๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ไว้ได้ดีกว่า และมีปริมาณเกลือโซเดียมน้อยกว่าเวย์โปรตีนที่ผ่านกระบวนการ IE โดยเวย์โปรตีนชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน และมีกลิ่นรสธรรมชาติแบบนม เช่นกัน แต่ราคาแพงกว่าเวย์โปรตีนชนิด WPC
  3. เวย์โปรตีน ไฮโดรไลซ์ ( Hydrolysed Whey Protein : HWP) คือ การนำเวย์โปรตีนWPC หรือ WPI มาผ่านกระบวนการ  hydrolyze ที่ทำให้โมเลกุลของเวย์โปรตีนที่มีขนาดใหญ่มาก ถูกย่อยจนอยู่ในรูปของโมเลกุลเล็กๆ ที่เรียกว่า เปปไทด์ (peptides) และบางส่วนถูกย่อยลงไปจนถึงขั้นกระอะมิโนเลยทีเดียว ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าโปรตีนที่อยู่ในรูปของ peptides สั้นๆ ถูกร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดีกว่าในรูปโมเลกุลใหญ่ๆ และดีกว่ากรดอะมิโนอิสระ จึงเชื่อกันว่า HWP เป็นเวย์โปรตีนที่ถูกย่อย และดูดซึมได้เร็วที่สุด นอกจากนี้  HWP ยังมีโอกาสทำให้เกิดการแพ้โปรตีนน้อยลงกว่าเวย์โปรตีน ชนิดอื่นๆ ด้วยแต่ข้อเสียของเวย์โปรตีน HWP คือ มีรสชาติที่ขมมาก และ ในกระบวนการ hydrolyze อาจทำลายโปรตีนชนิดย่อยๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างบางตัวไป และยังเป็นเวย์โปรตีนที่มีราคาแพง ดังนั้นเวย์โปรตีนชนิดที่เป็น HWP 100% จึงไม่มีวางขาย ตามท้องตลาดแต่ในบางยี่ห้อมีการนำ HWP มาผสมกับเวย์โปรตีนชนิดอื่น มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่สูตรของผู้ผลิตเพื่อเพิ่มข้อดีบางประการดังกล่าว และมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย แต่โดยปกติแล้วเวย์โปรตีนที่วางขาย มักมี HWP ผสมอยู่ไม่เกิน 20%

โครงสร้างเวย์โปรตีน

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีนเป็นโปรตีนที่ได้จากนมซึ่งโดยปกติแล้วโปรตีนในน้ำนมวัวจะมีทั้งเวย์โปรตีน และเคซีน โดยมีสัดส่วน 20:80 ซึ่งเคซีนจะเป็นโปรตีนหลักในนมที่มีปริมาณมากแต่ดูดซึมช้า คงอยู่ในกระเพาะอาหารนาน ส่วนเวย์โปรตีนแม้จะมีปริมาณน้อยแต่เป็นโปรตีนที่ดูดซึมได้เร็วกว่าเคซีน

            ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยในส่วนของเวย์โปรตีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่อุดมไปด้วย กรดอะมิโนจำเป็น และเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง จากนั้นจึงมีการแยกเวย์โปรตีนออกจากนมโดยการนำนมวัวมาทำให้เป็นตะกอนโปรตีนโดยใช้ความร้อนร่วมกับการเติมเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้เปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสเป็นกรดแลคติก โปรตีนที่ตกตะกอนจะเป็นส่วนของเคซีน ส่วนเวย์โปรตีนจะไม่ตกตะกอนแต่จะอยู่ในส่วนของน้ำ ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 65%

            จากนั้นเวย์เหลวจะถูกนำพาผ่านฉากตัวกรองที่เป็นสเตนเลสเพื่อแยกเอา curds ออก หลังจากนั้นนำไปอุ่นที่ 30 องศาเซลเซียส และกรองผ่านที่กรองด้วยอุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ปรับความเป็น กรด-ด่างให้อยู่ที่ 3 ด้วยกรดซิดริค ของเหลงถูกกรองอีกครั้งให้เหลือ 1 ใน 5 ของปริมาตรเดิม เวย์จะมีความเข้มข้นของโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 80% การกรองด้วย micro-filter จะทำให้โปรตีนเพิ่มความเข้มขจ้นได้ถึงร้อยละ 95 ในขั้นตอนสุดท้าย เวย์โปรตีนจะถูกอุ่น และพ่นด้วยเทคนิค spray dry จนได้ผงเวย์หรืออาจจะนำเวย์เหลวไปผ่านกระบวนการ ion-exchange เพื่อกำจัดไขมันและแลคโตสออกก่อนที่จะมาพ่นด้วยเทคนิค spray dry ก็ได้

เวย์โปรตีน

ปริมาณที่ควรได้รับจากเวย์โปรตีน

สำหรับปริมาณที่ควรได้รับเวย์โปรตีน ต่อวันนั้นขึ้นอยู่กับการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนในแต่ละวัน กล่าว คือ เวย์โปรตีนก็เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายควรได้รับ เพียงแต่มีการดูดซึมที่ดีกว่าโปรตีนชนิดอื่น และมีปริมาณไขมัน และองค์ประกอบอื่นๆ น้อยกว่า ซึ่งหากใน 1 วัน ร่างกายได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานเวย์โปรตีนแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายต้องการโปรตีน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แต่หากมีกิจกรรมการออกกำลังกายในแต่ละวันก็จะทำให้กร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้นเพื่อไปฟื้นฟูซ่อมแซมกล้ามเนื้อเยื่อที่สูญเสียไป โดยอาจรับประทานเวย์โปรตีน เสริมจากอาหารปกติเพื่อให้ได้ประโยชน์ดังกล่าว

ประโยชน์และโทษเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นทุกชนิด ในปริมาณที่สูงกว่าพืช นอกจากนั้นแล้วกรดอะมิโนที่อยู่ในเวย์โปรตีนยังถูกดูดซึม และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งเวย์โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง (branched-chain amino acids):BACC ได้แก่ วาลีน ลิวซีน และไอโซลิวซีน ที่จำเป็นต่อการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเผาผลาญโปรตีน (protein metabolism) อีกทั้งเวย์โปรตีนยังประกอบด้วยกรดอะมิโนที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบสูง (sulfur-containing amino acids) คือ ซีสเตอีนและเมทไธโอนีน ซึ่งจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยการนำไปสร้างเป็น กลูคาไธโอน นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีประโยชน์ที่อยู่ในเวย์โปรตีน ดังนี้

ส่วนประกอบเบื้อต้นของเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีน

ส่วนประกอบเบื้อต้นของเวย์โปรตีน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยถึงคุณประโยชน์อื่นๆ ของเวย์โปรตีนอีก เช่น ช่วยกำจัดสารพิษ เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และลดความดันโลหิต เป็นต้น ส่วนโทษของเวย์โปรตีนนั้น พบว่าบุคคลที่แพ้น้ำนมครบส่วน (frank milk allergy) อาจไม่เหมาะผลิตภัณฑ์จากเวย์โปรตีน โดยพบว่า บุคคลที่แพ้อาหารประเภทนมนั้น เคซีน (casein) ที่อยู่ในนมเป็นสาเหตุสำคัญของการแพ้อย่างไรก็ตามบุคคลที่แพ้อาหารประเภทนมนั้นอาจสามารถรับประทานเวย์โปรตีนได้ หากอยู่รูป hydrolyzed whey เพราะจากกระบวนการผลิตมีการกำจัดเคซีนออกไปจำนวนหนึ่ง และบางคนที่แพ้นมเพราะน้ำตาลแลคโดส ในกระบวนการผลิตเวย์โปรตีน ขั้นตอนท้ายๆ จะขจัดแลดโตสออกไปดังกล่าวแล้วทำให้มีปริมาณแลคโตสเหลืออยู่น้อยมาก หากจะบริโภคควรค่อยๆ เริ่มรับประทานทีละน้อยๆ จะช่วยลดอาการท้องเสียจากแลคโตสได้

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีนจะถูกดูดซึมทางลำไส้เล็กอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะ Beta- Lacto globulin โดยเวย์โปรตีนจะถูกส่งผ่านจากกระเพาะอาหาร สู่ลำไส้เล็กอย่างเร็ว ซึ่งต่างกับโปรตีนชนิดอื่นๆ ที่ต้องถูกย่อยด้วยเอ็นไซม์จากตับอ่อนก่อน และเวย์โปรตีนยังเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติของการต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากมีโปรตีนที่มีหมู่ซีสเคอีนสูง (cysteine-richprotein) ซึ่งซีสเคอีนนี้ประกอบด้วยหมู่ “ไธออล” หรือ ซัลไฮดริล (-SH) เป็นตัวรีดิวซ์ที่แรงในการป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น และความเสียหายของเนื้อเยื่อ มีบทบาทสำคัญต่อการสังเคราะห์กลูตาไธโอน จะประกอบด้วยกรดอะมิโนสามชนิด ได้แก่ ไกลซีน กลูตาเมท และซีสเดอีน ตามกระบวนการชีวสังเคราะห์ และกลูตาไธโอนที่อยู่ในรูปรีดิวซ์ (reduced form), riboflavin, niacinamide และ glutathione peroxidase เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในกลไกการต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

            สำหรับการศึกษาวิจัยด้านการเสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้น มีการศึกษาแบบปกปิดสองทาง (double-blind) ในผู้ชาย 42 คน อายุระหว่าง 18-31 ปี ได้รับการสุ่มให้ได้รับอาหารเสริมต่างกัน 3 ชนิด ดังนี้ เวย์โปรตีน 1.2 กรัม/นน.ตัว 1 กก./วัน เวย์โปรตีนชนิด multi-ingredient sports supplement 1.3 กรัม/นน. ตัว 1 กก./วัน และยาหลอก (maltodextrin) 1.2 กรัม/นน. ตัว 1 กก./วัน โดยที่ทั้งสามกลุ่ม มีการออกกำลังกาย (weight training) ใกล้เคียงกัน และมี  weight resistance-training program ใกล้เคียงกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 12 พบว่ากลุ่มที่ได้รับเวย์โปรตีนร่วมกับ  weight training มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดีขึ้น 1 ใน 4 การทดสอบความแข็งแรง และมีมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก

            ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต มีการแยกเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้จาก betalactoglobuline ของวัวทำให้ตั้งสมมติฐานได้ว่าเวย์โปรตีนสามารถลดความดันโลหิตลงได้ โดยค้นพบว่า เปปไทด์ที่แยกได้นี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ angiotensin converting ชนิดที่ 1 และยังมีอีกหนึ่งการทดลองพบว่า beta-lactoglobulin มีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ในสัตว์ทดลองพบว่า beta-lactoglobulin มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้เล็กโดยไปเปลี่ยนแปลสภาพการละลายของ cholesterol micelle ในลำไส้

            ส่วนการศึกษาผลของเวย์โปรตีนต่อโรคในระบบไหลเวียนโลหิตโดยพบว่า เวย์โปรตีน สามารถทำให้ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติให้กลับสู่ภาวะปกติได้ โดยมีการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชาย 20 คน ที่รับประทานนมเปรี้ยว (ที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ Lactobacillus casei และ Streptococcus thermophilus) โดยมีการสุ่มให้กลุ่มหนึ่งรับประทานนมเปรี้ยวแบบที่ใส่เวย์โปรตีน (whey protein concentrate) 200 มล. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่รับประทานนมเปรี้ยวโดยไม่ใส่เวย์โปรตีนพบว่ากลุ่มที่ได้รับประทานนมเปรี้ยวผสมเวย์โปรตีนมีระดับ HDL สูงกว่ากลุ่มควบคุม ในขณะที่ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ และความดัน โลหิตขณะหัวใจบีบตัวต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระดับคอเลสเตอรอลรวม กับ LDL ไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

            ผลต่อภาวะโรคติดต่อ ในผู้ที่มีภาวะภูมคุ้มกันบกพร่อง จะมีระดับกลูตาไธโอนบกพร่อง และทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ดังนั้นจึงมีการทดลองในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV 30 ราย ให้ได้รับเวย์โปรตีนเสริมวันละ 45 กรัม เป็นเวลา 14 วัน พบว่า ระดับกลูตาไธโอนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการทดลองอีกครั้งแต่ใช้เวลาทดลอง 6 เดือน ด้วยขนาดของเวย์โปรตีนแบบเดียวกันก็พบว่าระดับกลูตาไธโอนในผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนได้รับเวย์โปรตีน โรคตับอักเสบจากไวรัสเป็นโรคเรื้อรังอีกชนิดหนึ่งที่มีผุ้สนใจนำเวย์โปรตีนมาศึกษา มีการศึกษาในหลอดทดอลงพบว่า bovine lactoferrin สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ของเซลล์ตับมนุษย์ (human hepatocyte line) ได้

            ผลต่อโรคมะเร็ง มีการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์ (harnster) พบว่าเวย์โปรตีนสามารถป้องกันและรักษาภาวะ 5-fluorouracil-induced mucositis ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังพบว่า lactoferrin mucositis ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังพบว่า lactoferrin และ beta-lactoglobulin ที่อยู่ในเวย์โปรตีนแสดงฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างเวย์โปรตีน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. ยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงพอต่อการรับรองว่าสตรีมีครรภ์ หรือ สตรีให้นมบุตร จะสามารถบริโภคเวย์โปรตีน ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้จะดีที่สุด
  2. เวย์โปรตีนอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดทำให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้น้อยลง ดังนั้นไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับยาเลโวโตปา และอัลเบนดาโซล ไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังจากใช้ยาอะเลนโดเนท ภายใน 2 ชั่วโมง ส่วนยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน หลังจากรับประทานยากลุ่มนี้ควรรอให้ผ่านไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงสามารถรับประทานเวย์โปรตีนได้

           สำหรับยาปฏิชีวนะกลุ่มเดตราไซคลีน เนื่องจากในเวย์โปรตีนประกอบด้วยแคลเซียม ที่สามารถยึดติดกับยากลุ่มนี้ และลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย หากรับประทานเวย์โปรตีนก่อนควรรับประทานเวย์โปรตีน 2 ชั่วโมง ก่อนรับประทานยา หรือ หากเป็นการรับประทานเวย์โปรตีนหลังรับประทานยาควรรับประทานหลังจากรับประทานยาแล้ว 4 ชั่วโมง

เอกสารอ้างอิง เวย์โปรตีน
  1. ธนกร ศิริสมุทร. คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ทางการแพทย์ของเวย์โปรตีน. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพปีที่ 10. ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558.หน้า 75-80
  2. อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนะนนท์, สุรัสวดี สมนึก. มาทำความรู้จักกับเวย์โปรตีน. วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬา ปีที่ 13.ฉบับที่ 153 เมษายน 2556
  3. เวย์โปรตีน กับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://wwwpodpad.com
  4. Burke DG, Chilibeck PD, Davidson KS, et al. The effect of wheyprotein supplementation with and without creatine monohydrate combined with resistance training on lean tissue mass and muscle strength. Int J Sport Nutr Exerc Metab 2001;11:349-364.
  5. Clarke J, Butler R, Howarth G, et al. Exposure of oral mucosa to bioactive milk factor reduces severity of chemotherapy-induced  mucositis in the hamster. Oral Oncol 2002;38:478-485.
  6. Nagaoka S. Study on regulation of cholesterol metabolism induced by  dietary food constituents or xenobiotics. J Jpn Soc Nutr Food Sci  1996;49:303-313.
  7. Micke P, Beeh KM, Schlaak JF, Buhl R. Oral supplementation with whey proteins increase plasma glutathione levels of HIV-infected  patients. Eur J Clin Invest 2001;31:171-178.
  8. Anonymous. Whey protein monograph. Altern Med Rev 2008;13(4):341-347.
  9. Ikeda M, Sugiyama K, Tanaka T, et al. Lactoferrin markedly inhibit hepatitis C virus infection in cultured human hepatocytes. Biochem Biophys Res Commun 1998;245:549-553.
  10. Kneepkens CM, Meijet Y. Clinical practice. Diagnosis and treatment of cow’s milk allergy. Eur J Pediatr 2009;168:891-896.
  11. Kawase M, Hashimoto H, Hosoda M, et al. Effect of administration of fermented milk containing whey protein concentrate to rats and healthy men on serum lipids and blood pressure. J Dairy Sci 2000;83:255-263.
  12. Marshall K, Therapeutic applications of whey protein. Altern Med Rev 2004;9(2):136-56.
  13. Micke P, Beeh KM, Buhl R. Effects of long-term supplementation with whey protein on plasma glutathione level of HIV-infected patients. Eur J Clin Invest 2001;31:171-178.