วิตามินดี

วิตามินดี

ชื่อสามัญ Calciferol 

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินดี 

วิตามินดี (Calciferol) จัดเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน โดยวิตามินดีที่มีความบริสุทธิ์ จะมีลักษณะเป็นผลึกสีขาว และไม่มีกลิ่น ทนต่อความร้อนได้ไม่เกิน 140 องศาเซลเซียส และยังทนต่อการออกซิเดชั่น ของกรด และด่างอ่อน แต่จะไวต่อแสงอัลตร้าไวโอเลต 

           สำหรับประวัติของวิตามินดีนั้น ถูกค้นพบขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1922 โดย แมคคอลลัม (McCollum) ซึ่งการค้นพบมีสาเหตุมาจากการพยายามหาวิธีในการรักษาโรคกระดูกที่มีความผิดรูปของแขน ขา อวัยวะต่างๆ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในแถบเขตเมืองอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษ และทางทวีปยุโรปตอนเหนือ จากนั้นจึงมีการนำมาสกัดเป็นวิตามินดีได้ในเวลาต่อมา ส่วนประเภทของวิตามินดี มีอยู่ประมาณ 16 ประเภท แต่จะมีอยู่เพียง 2 ประเภท ที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทางโภชนาการ คือ

  1. วิตามินดี 2 (Ergocalciferol)  ซึ่งวิตามินดี ชนิดนี้มีสารตั้งต้นมาจากสารเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) จากพืช และยีสต์ ที่สัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลต ในช่วงความถี่ 230 นาโนเมตร (nm)
  2. วิตามินดี 3 (Cholecalciferol) เกิดจากการสังเคราะห์แสงแดดที่ผิวหนังทั้งคน และสัตว์ โดยวิตามินชนิดนี้เริ่มจาก ในผิวหนังซึ่งจะมีสาร 7-ดีไฮโดรคอเลสเตอรอล เมื่อถูกแสงอัลตราไวโอเลต จากแสงแดด หรือ จากเครื่องมือ ในช่วงความถี่ 275–300 นาโนมิเตอร์ (nm) จะเปลี่ยนเป็นสาร คอลีแคลซิเฟอรอล (Cholecalciferol) หรือ วิตามินดี 3

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินดี 

สำหรับแหล่งที่มาของวิตามินดีนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ vitamin D2 (ergocalciferol) สามารถพบได้ใน รา ยีสต์ เห็ดหอม และ พืช โดยเมื่อพืชเหล่านี้ได้รับแสงแดด จะถูกเปลี่ยนไปเป็น vitamin D2  ส่วน vitamin D3 (Cholecaiferol) สามารถพบได้จากปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอล ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า รวมถึงน้ำมันตับปลา และไข่แดงด้วย

          นอกจากนี้ vitamin D3 ยังสามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดดที่มีรังสี ultraviolet B (UVB) ที่ระดับ 290-315 nm ที่มากระทบผิวหนัง จากนี้รังสี UVB จะกระตุ้นการสร้างวิตามินดีโดย เปลี่ยน 7-dehydrocholesterol ใน keratinocytes cells ที่อยู่ชั้น stratum basale และชั้น stratum spinosum ของผิวหนังกำพร้า โดยเปลี่ยนไปเป็น precholecalciferol (pre-vitamin D3) อย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 2-3 วัน ซึ่งมีรายงานว่าร้อยละ 90 วิตามินดี ได้จากการสังเคราะห์ทางผิวหนัง

ตารางอาหารที่มีวิตามินดีสูง

ปริมาณ  1  ส่วน                                                          ไมโครกรัม

น้ำมันตับปลา 1 ช้อนชา                                                        11.0

ปลาทู 1 ตัวใหญ่                                                                    10.0

ปลาแซลมอน                                                                         9.3

ปลาเทราท์                                                                             5.4

นมสด, นมถั่วเหลือง                                                              3.1

เต้าหู้แข็ง                                                                                3.0

โยเกิร์ต                                                                                   2.3

ปลาทูน่า                                                                                1.9

ปลาซาร์ดีน                                                                            1.4

ไข่ไก่ 1  ฟองใหญ่                                                                   1.0

เห็ดชิตาเกะ  0.5    ถ้วยตวง                                                     0.5

เห็ดกระดุม 1 ถ้วยตวง                                                              0.1

วินตามินดี

ปริมาณที่ควรได้รับจากวิตามินดี 

สำหรับปริมาณของวิตามินดี (Calciferol) ที่ควรได้รับในแต่ละวัน (ขนาดที่รวมทั้ง Vitamin D2 และ D3) ที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน ตามช่วงอายุ และตามสถานะของบุคคล เช่น สำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี รายละเอียดดังแสดงในตาราง

ปริมารวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับบุคคลทั่วไป โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ

 วิตามินดี 

ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ

วิตามินดี

            ส่วนวิตามินดี ที่อยู่ในรูปแบบของอาหารเสริมที่ดัดแปลงมาจากน้ำมันตับปลา ทั้งชนิดเม็ด และแคปซูล จะมีขนาด 400 IU โดยขนาดที่แนะนำรับประทาน โดยทั่วไป คือ 400-1,000 IU

            นอกจากนี้ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ร่างกายมนุษย์ต้องการวิตามินดี วันละ 20 mcg (800IU) แต่ต้องการจากอาหารเพียงวันละ 5 mcg (200 IU) และในผู้สูงอายุจะต้องการอาหารเพิ่มขึ้นเพราะถูกแดดน้อย ดังนั้นจึงควรให้ได้วิตามินดีจากอาหาร 10-15 mcg (400-600IU)/วัน

ประโยชน์และโทษวิตามินดี 

วิตามินดี มีประโยชน์มากมายหลายประการ ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้

  • ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากลำไส้ โดยวิตามินดีจะไปช่วยให้การดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส จากลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้การสร้างกระดูก และฟันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเด็ก และยังช่วยปกป้องกระดูกจากการเป็นโรคกระดูกผุ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เกิดจากโรคกระดูกผุได้อีกด้วย
  • ช่วยรักษาระดับความดันเลือด วิตามินดี จะช่วยให้ระบบของหลอดเลือดในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้นโดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันสูง ได้
  • ช่วยสังเคราะห์ Mucopolysaccharide ซึ่งเป็นสารที่จ้าเป็นในการสร้าง คอลลาเจน
  • ช่วยลดอาการปวดหัวจากโรคไมเกรน โดยวิตามินดีจะไปช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือด ทำงานได้ดีขึ้นจึงส่งผลให้หลอดเลือดเกร็ง และคลายตัวตามปกติ
  • ช่วยสังเคราะห์น้ำย่อยใน Mucous Membrane ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแบบ Active Transport ของแคลเซียม
  • ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เนื่องจากวิตามินดี จะไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตฮอร์โมน เซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดที่ช่วยทำให้รู้สึกอารมณ์ดี ลดความวิตกกังวลจากภาวะของโรคซึมเศร้า
  • ช่วยปรับการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยควบคุมการแบ่งตัว และการตายของเซลล์เมื่อหมดอายุขัย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อและยังช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้อีกด้วย

            ส่วนโทษของวิตามินดีนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การได้รับวิตามินดีน้อยเกินไป จะก่อให้เกิดภาวะต่างๆ เช่น ภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก (Ricket) โดยจะพบได้ในเด็กอายุประมาณ 1-3 ขวบ ซึ่งมีอาการที่สำคัญของโรค ดังนี้ ขาโก่ง (Bow Legs) และข้อเข่าโค้งเข้าหากัน (Knock-knees) เนื่องจาก กระดูกขาอ่อน และข้อเข่าไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวไหว  รอยต่อกะโหลกที่กระหม่อมปิดช้า เพราะกะโหลกศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีความอ่อนนุ่มถ้ากดอาจจะยุบเรียกว่า Craneotabes เกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูกซี่โครง ทำให้กระดูกอก และกระดูกซี่โครงโก่งขึ้น (Concave Breast หรือ Pigion Breastกระดูกข้อต่างๆ มีการขยายขนาด เช่น กระดูกข้อมือ ข้อเท้า และหัวเข่าโตผิดปกติ ภาวะกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) ซึ่งจัดเป็นโรคกระดูกโรคชนิดหนึ่ง มีอาการที่สำคัญของโรคดังนี้ กระดูกจะอ่อน และไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่จะเป็นกระดูกบริเวณขา กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกเป็นโพรงเปราะ และหักได้ง่าย เนื่องจากแคลเซียม และฟอสฟอรัสสลายตัวออกจากกระดูกไปเรื่อยๆ รู้สึกเจ็บ และปวดตามข้อ ตามกระดูกบริเวณทั่วร่างกาย  อาการชัก (Tetany) การขาดวิตามินดี ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเหน็บชามีอาการกล้ามเนื้อกระตุก และอาจมีอาการชักในบางครั้งซึ่งเกิดจากการที่ปริมาณของแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงกว่า 7.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทั้งนี้เพราะร่างกายดูดซึมแคลเซียม และวิตามินดีได้น้อยกว่าปกติ หรือ อาจเกิดจาก การต่อมพาราธัยรอยด์ถูกกระทบกระเทือนย่างแรง ฟันผุ (Dental Caries) หากร่างกายขาดวิตามินดี จะทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม จึงส่งผลกระทบให้เกิดอาการฟันพุมากกว่าคนปกติ

           ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ การได้รับวิตามินดี มากเกินไป ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเป็นพิษเนื่องจากได้รับวิตามินดีเกิน (Hypervitaminosis D) โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ได้รับปริมาณวิตามินดีมากถึง 3 แสน ถึง 8 แสน I.U. ต่อวัน เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ส่วนในเด็กทารกหากร่างกายได้รับวิตามินดีประมาณ 3 หมื่น I.U ต่อวัน หรือ มากกว่า จะเกิดอันตรายได้ และในเด็กวัยกำลังโต หากได้รับปริมาณมากถึง 5 หมื่น I.U. ก็จะเป็นอันตรายได้ เช่นกัน โดยอาการที่พบจากการได้รับวิตามินดีเกิน เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งกลางวัน และกลางคืน หิวน้ำตลอดเวลา น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมออกมาจากกระดูก บางรายที่อาการหนัก สามารถเสียชีวิตได้ จากการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย สำหรับในการรักษาอาการวิตามินดีเกินในร่างกาย

           แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์มักจะไม่ขาดวิตามินดี หากมีการทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ ให้ผิวหนังถูกแสงแดด ร่างกายก็จะได้รับวิตามินดีจากการสร้างที่ผิวหนัง แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเลี่ยงแสงแดด ชอบอยู่ในที่ร่ม ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือ ผู้สูงอายุที่ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ลดลง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดี และอาจเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย ปี พ.ศ.2551 พบจำนวนผู้ที่มีภาวะวิตามินดีไม่เพียงพอ และภาวะขาดวิตามินดีเท่ากับร้อยละ 45.2 และ 5.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในสตรีวัยทอง และสูงอายุของจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.2549 พบว่าจำนวนสตรีวัยทองร้อยละ 60.2 และ สตรีสูงอายุที่อยู่ในเมืองร้อยละ 65.4 มีภาวะขาดวิตามินดี แต่สตรีสูงอายุที่อยู่ในชนบทที่มีภาวะขาดวิตามินดี มีเพียงร้อยละ 15.44

โครงสร้างวิตามินดี

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินดี

            ผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินดี (Calciferol) ระบุว่า เมื่อรังสี CVB เปลี่ยน 7-dehydrocholesterol ไปเป็น  precholecalciferol จากนั้นสารดังกล่าว กับ vitamin D2  และ vitamin D3 ที่ได้จากอาหาร จะเข้าสู่กระบวนการเมแทบอลิซึมในตับ แล้วถูกเปลี่ยนไปเป็น 25-hydroxy-vitamin D หรือ 25 (OH) D  ซึ่งไหลเวียนในกระแสเลือด (การวัดระดับของวิตามินดีโดยทั่วไปจะวัดจากค่า 25(OH) D)  จากนั้นจะถูกส่งไปที่ไตเพื่อปรับให้เป็นวิตามินดีที่อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้งานได้ คือ 1,25-dihydroxyvitamin D (active form) แล้วส่งต่อไปยัง vitamin D receptors (VDR) ที่อวัยวะเป้าหมาย ได้แก่ ลำไส้ กระดูก สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน  ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออื่นๆ ต่อไป

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับวิตามินดี (วัดจากระดับ 25-hydroxy vitamin D3 ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่า วิตามินดี) ในกระแสเลือดกับภาวะซีมเศร้า โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะแสดงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ ความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อวิตามินดีมีระดับต่ำลงมาก กลไกที่ทำให้วิตามินดีมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสมองส่วน hypothalamus มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยผ่านกลไกของ vitamin D receptor ในร่างกายของมนุษย์จะพบ vitamin D receptor มากในส่วน hypothalamus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาท

            โดยวิตามินดีกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท (neurotransmitter) จำพวก monoamines เช่น serotonin dopamine และ norepinephrine ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้มีผลช่วยลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้วิตามินดียังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของสมอง เซลล์ประสาท และมีความเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตประสาทอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (seasonal affective disorder หรือ SAD) และโรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น

            และยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า มีการศึกษาเกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดี ต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ที่ได้ศึกษาโดยการเสริมวิตามินดีให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณวิตามินดีปริมาณ 40,000 IU ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหกเดือน และทุกสามเดือนคณะผู้วิจัยได้ทดสอบสมรรถภาพของผู้ป่วย โดยวัดกำลังของการกำมือ (grip strength) และทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพ (physical performance) ประกอบด้วย การทดสอบ timed up and go (TUGT) การทดสอบ sit to stand (STS) และการทดสอบ six-minute walk (6-MW) ผลการศึกษาพบว่าวิตามินดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงบีบมือ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้วิตามินดีมีหน้าที่สำคัญในการช่วยลดสารอนุมูลอิสระได้แก่ protein carbonyl (สารที่ก่อให้เกิดการทำลายของโปรตีนในเซลล์) และระดับไขมันในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยของศูนย์วิจัยโรคมะเร็งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าหากได้รับวิตามินดีขนาด 25 ไมโครกรัมทุกวัน จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 50 อีกด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่มีพฤติกรรมเลี่ยงแดด ผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเวลาโดนแดด ผู้ที่ทำงานในห้องที่มิดชิด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยนอนติดเตียง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดีได้
  2. ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดวิตามินดี เมื่อไม่สามารถโดนแสงแดด หรือ ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ ควรรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดี หรือ รับประทานวิตามินดี ในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดวิตามินดี
  3. โดยปกติแล้วร่างกายของคนปกติจะไม่ขาดวิตามินดี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินดี ในรูปแบบอาหารเสริม เพราะอาจก่อให้เกิดภาวการณ์ได้รับวิตามินดีมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง วิตามินดี
  1. แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบ้าบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6
  2. ดร.ทนพญ.วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ.วิตามินดี.....ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่คิด. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. พัชรินทร์ ธนะพาห์. ความสัมพันธุ์ของการขาดวิตามินดี กับโรคซึมเศร้า. บทฟื้นฟูวิชาการ.วารสารศรีนครินทร์เวชสารปีที่ 35 ฉบับที่ 1.มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563. หน้า 107-115
  4. รศ.ดร.จิรภรณ์ อังวิทยาธร.วิตามินดี แสงแดด และความซึมเศร้า. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. สุกรี สุนทราภา, ศุภศิลป์ สุนทราภา, ละออ ชัยลือกิจ, ชวนชม สกนธวัฒน์, ศรีนารี แก้วฤดี, วรลักษณ์ สมบุรณ์พร, และคณะ. ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชสาร 2549:21 (1);23-9.
  1. รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์.วิตามินดี ป้องกันกระดูกหัก....จริง หรือ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. Vitamin D.วารสารงานห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 5. ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2561. หน้า 1-7
  3. Shi H, Wang B, Xu X. Antidepressant Effect of Vitamin D: A Literature Review. J Neuropsychiatry 2017; 7: 337–41.
  4. Manoy P, Anomasiri W, Yuktanandana P, et al. Elevated serum leptin levels are associated with low vitamin D, sarcopenic obesity, poor muscle strength, and physical performance in knee osteoarthritis. Biomarkers 2017;19:1-8
  5. Yakoob MY, Salam RA, Khan FR, Bhutta ZA (November 2016). “Vitamin D supplementation for preventing infections in children under five years of age”. The Cochrane Database of Systematic Reviews. John Wiley & Sons, Ltd. 11: CD008824..
  6. Kendrick J, Andrews E, You Z, et al. Cholecalciferol, Calcitriol, and Vascular Function in CKD: A Randomized, Double-Blind Trial. Clin J Am Soc Nephrol 2017:7
  7. Hoogendijk WJG, Lips P, Dik MG, et al. Depression Is Associated With Decreased 25-Hydroxyvitamin D and Increased Parathyroid Hormone Levels in Older Adults. Arch Gen Psychiatry. 2008;65(5):508-512
  8. Holick MF, Chen TC, Lu Z, Sauter E. Vitamin D and skin physiology: a D-rightful story. J Bone Miner Res 2007; 22: V28–33.
  9. Chailurkit L, Aekplakorn W, Ongphiphadhanakul B. Regional variation and determinants of vitamin D status in sunshine-abundant Thailand. BMC Public Health 2011;11:853.
  10. Institute of Medicine, Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D. Washington, DC: National Academy Press, 2010
  11. Bergman P, Lindh AU, Björkhem-Bergman L, Lindh JD. Vitamin D and Respiratory Tract Infections: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. PLoS One2013;356:e65835.
  12. Maxwell JD. Seasonal variation in vitamin D. Proceedings of the Nutrition Society 1994; 53:533–43.
  13. Penckofer S, Kouba J, Byrn M, and Estwing Ferrans C. Vitamin D and Depression: Where is all the Sunshine? Ment Health Nurs. 2010;31(6):385–393
  14. Manoy P, Yuktanandana P, Tanavalee A, et al. Vitamin D supplement improves quality of life and physical performance in osteoarthritis patients. Nutrients 2017;9:799
  15. Parker GB, Brotchie H, Graham RK. Vitamin D and depression. J Affect Disord 2017; 208: 56–61.
  16. MacLaughlinJ, Holick MF. Agingdecreasesthecapacityofhumanskintoproducevitamin D3. J Clin Invest 1985;76:1536-8.