ข้าวเย็นใต้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ข้าวเย็นใต้ งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ข้าวเย็นใต้
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยาหัวข้อ (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้ (ภาคใต้), ยาหัว, ข้าวเย็นโคกขาว (ภาคอีสาน), ถู่ฝูหลิง, ควางเถียวป่าเชี่ย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax glabra Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Smilax qrasa Roxb.
วงศ์ SMILACACEAE

ถิ่นกำเนิดข้าวเย็นใต้ 

ข้าวเย็นใต้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แล้วต่อมามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตหนาวใกล้เคียง ส่วนในประเทศไทยไม่มีรายงานว่าพบได้ในภาคใดของประเทศ และยังไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย สำหรับการนำมาใข้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นจะเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด

ประโยชน์และสรรพคุณข้าวเย็นใต้

  1. ใช้แก้มะเร็ง
  2. แก้เส้นพิการ
  3. แก้ไอ
  4. แก้ประดง
  5. แก้ไข้ตัวร้อน
  6. แก้น้ำเหลืองเสีย
  7. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  8. แก้เบาหวาน
  9. ใช้ฆ่าเชื้อหนอง
  10. แก้กามโรค
  11. ช่วยดับพิษในกระดูก
  12. แก้ปัสสาวะพิการ
  13. แก้อักเสบในร่างกาย
  14. รักษาฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง
  15. แก้เม็ดผื่นคัน
  16. แก้เคล็ดขับยอก
  17. ช่วยบำรุงเลือด
  18. บำรุงกำลัง
  19. บำรุงร่างกาย
  20. ช่วยลดปวดในหญิงหลังคลอดบุตร
  21. ขับไล่ความเย็น
  22. ช่วยระงับพิษ
  23. ช่วยให้ข้อเข่าทำงานเป็นปกติ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้มะเร็ง เส้นเอ็นพิการ แก้ประดง แก้กามโรค ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปวดในหญิงหลังคลอด แก้อักเสบ ดับพิษในกระดูก โดยใช้เหง้าแห้งต้มกับน้ำดื่ม

           ใช้บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย โดยใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับส้มโมงแล้วนำไปต้มจนน้ำแห้ง นำตะกอนที่เหลือมาผสมกับน้ำผึ้งปั้นกินวันละ 1 เม็ด

           ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้ และหัวข้าวเย็นเหนือ อย่างละ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดิน เติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น

           ใช้แก้ฝีทุกชนิด โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้หัวข้าวเย็นเหนือ, กำมะถันเหลือง, ขันทองพยาบาทหัวต้นหนอนตายยาก, กระดูกควายเผือก หนักอย่างละ 20 บาท เหง้าสับปะรด หนัก 10 บาทกระดูกม้า 4 บาทต้นพริกขี้หนูรวมราก 1 ต้นและผิวไม้รวก 3 กำมือ นำมาต้มกับน้ำในหม้อดิน ใช้ดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของแพทย์แผนจีนให้ใบในขนาด 15-60 กรัม


ลักษณะทั่วไปของข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นใต้ จัดเป็นเถาไม้เลื้อย มีเหง้า หัวอยู่ใต้ดินส่วน ลำต้น หรือ เถามีสีน้ำตาลแก่ ส่วนเหง้าใต้ดินมีลักษณะเป็นก้อน รูปร่างไม่แน่นอน ผิวเป็นหลุมลึกๆ หรือ อาจไม่เรียบ โดยจะพบก้อนแข็งนูน แยกออกมาจากเหง้าคล้ายแขนงสั้นๆ โดยเหง้าจะมีความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ผิวของเหง้าเป็นสีน้ำตาลออกเหลือง หรือ สีน้ำตาลเทา และอาจพบรอยแยกแตกเป็นร่องๆ บนผิวเปลือก สำหรับเนื้อในเหง้าเป็นสีขาวอมเหลือง มีรสมันกร่อยออกหวานเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ โคนใบมนปลายในแหลม ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาร 5-15 เซนติเมตร ใบมีขนาดบางด้านหน้าใบ ผิวมันมีเส้นตามความยาวของใบ 3 เส้น ที่สามารถมองเห็นได้ชัด ส่วนหลังใบมีสีอ่อนกว่าด้านหน้า และมีผลเหมือนแห้งสีขาว ส่วนก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 9-15 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยมากถึง 20 ดอก โดยดอกย่อยมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเล็ก ในดอกย่อยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 6 กลีบ ขนาดประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และมีก้านดอกยาว 4-15 มิลลิเมตร ผลเป็นแบบผลสด รูปทรงกลม มีสีเขียว และเมื่อผลแก่จะกลายเป็นสีแดงออกดำ ซึ่งผลจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร

ข้าวเย็นใต้

การขยายพันธุ์ข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นใต้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด มีการปลูกขยายพันธุ์ในประเทศจีน และเขตหนาวใกล้เคียง ซึ่งในประเทศไทยยังไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ แต่สำหรับวิธีการขยายพันธุ์นั้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกเหง้าปลูก ซึ่งมีวิธีการเช่นเดียวกันกับข้าวเย็นเหนือ (ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความ ข้าวเย็นเหนือ) โดยสามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ “ข้าวเย็นเหนือ”

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเครื่องยาข้าวเย็นใต้ที่ได้จากเหง้าของข้าวเย็นใต้ พบว่า พบสารสำคัญต่างๆ เช่น Diosgennin, Smilacin, Dioscoralide B, Saponin, Smilax, Rosmarinic acid, Tanin และ Parillin เป็นต้น    

ข้าวเย็นใต้

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นใต้

ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีผลการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งในเหง้าข้าวเย็นใต้พบว่า สารสกัดของหัวข้าวเย็นใต้ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ซึ่งมีฤทธิ์โดดเด่น และมีประสิทธิภาพดีที่สุด รองลงมาคือเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก และเซลล์มะเร็งตับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV พบว่า สารสกัดของหัวข้าวเย็นใต้ มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 protease ซึ่งจากการศึกษาวิจัยจึงมีการแนะนำให้ใช้ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้คู่กันในการต้าน HIV เพราะ สารสกัดของหัวข้าวเย็นเหนือมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 integrase ซึ่งหากใช้คู่กันจะได้ผลมากกว่าการใช้เพียงตัวเดียว

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นใต้ อีกหลายฉบับ โดยระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ เช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน และฤทธิ์ห้ามเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของข้าวเย็นใต้

ไม่มีข้อมูล

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ข้าวเย็นใต้ สมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ที่กำหนดไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ข้าวเย็นเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ข้าวเย็นใต้
  • หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ข้าวเย็นใต้ ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 130.
  • ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณไม่ธรรมดา. คอลัมน์ รอยโลกวิจัย. เอกสารข่าวสารงานวิจัยและพัฒนา รัฐสภาปีที่ 16. ฉบับที่ 184 ธันวาคม 2560. หน้า 32-35
  • ทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์. ข้าวเย็นใต้. สมุนไพรในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน้า 41-42
  • วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. เภสัชกรรมไทยสมุนไพร ฉบับปรับปรุงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ.
  • เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และนิจศิริ เรืองรังสี. 2545. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์. กรุงเทพฯ.
  • ข้าวเย็น. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=36