เฉียงพร้านางแอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เฉียงพร้านางแอ งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เฉียงพร้านางแอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แคแห้ง, สันพร้านางแอ, ต่อไส้ (ภาคกลาง), สีฟันนางแอ (ภาคเหนือ), สีฟัน (ภาคใต้), ร่มคมขวาน (กรุงเทพฯ, ปริมณฑล), ส้มป้อง, นกข่อ (เชียงใหม่), บงคต (แพร่), วงคต, แก๊ก (ลำปาง), เขียงพร้านางแอ (ชุมพร), ม่วงม้ง, หมักม้ง (ปราจีนบุรี), ขิงพร้า (ตราด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carallia brachiata (Lour.) Merr.
วงศ์ Rhizophoraceae

ถิ่นกำเนิดเฉียงพร้านางแอ 

เชื่อกันว่าเฉียงพร้านางแอ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาบริเวณเกาะมาดากัสการ์แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่น ภูมิภาค เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันสามารถพบได้ในเขตร้อนของโลกในหลายๆ ทวีป ส่วนในทวีปเอเชีย สามารถพบได้ในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1800 เมตร บริเวณ ป่าเบญจพรรณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และตามป่าพรุน้ำจืด

ประโยชน์และสรรพคุณเฉียงพร้านางแอ

  1. ใช้แก้โลหิตปิดธาตุ
  2. แก้ไข้
  3. แก้ไอ
  4. ช่วยขับเสมหะ
  5. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  6. แก้บิด
  7. ช่วยสมานแผล
  8. แก้พิษผิดสำแดง
  9. ช่วยบำรุงร่างกาย
  10. ช่วยเจริญอาหาร
  11. ช่วยขับลม
  12. ช่วยระบายความร้อน

เฉียงพร้านางแอ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้ โดยใช้เนื้อไม้เฉียงพร้านางแอ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ  แก้ไอ ช่วยขับเสหะ แก้บิด โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ผิดสำแดงโดยใช้เนื้อไม้ หรือ เปลือกต้นมาผสมกับเปลือกตับเต่าต้น กับไม้แคด ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ตัวร้อน ระบายความร้อนในร่างกายเนื่องจากพิษไข้โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของเฉียงพร้านางแอ
 

เฉียงพร้านางแอ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูง 25-30 เมตร เรือนยอดทึบทรงพุ่มมีขนาด 6-8 เมตร รูปกรวยกว้าง ลำต้นตั้งตรง ผิวเรียบ เปลือกสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลอมเทา มีรูอาการมาก หรือ ในบางต้นอาจพบเปลือกหนาแตกเป็นร่องลึกตามยาว และอาจพบลักษณะคล้ายรากค้ำจุนแบบ  prop root เป็นเส้นยาว หรึอ ออกเป็นกระจุกตามลำต้นและโคนต้น ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. และยาว 5-14 ซม. โคนใบสอบเรียว ปลายใบมนมีติ่งเล็ก ขอบใบเรียบ เป็นคลื่น แผ่นใบเกลี้ยง หนา และเหนียว หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างสีเขียวอมเหลือง มีจุดสีเข้มกระจาย มีก้านใบยาว 0.4-1 ซม. ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง โดยจะออกบริเวณตามซอกใบปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็ก มักเรียงตัวแน่นเป็นช่อลมประมาณ 3-6 ดอก แต่ไม่มีก้านดอกย่อย กลีบดอกมี 5 กลีบ ซึ่งแต่ละกลีบมีขนาดเล็ก รูปร่างเป็นแผ่นกลม สีเขียวอมเหลืองมีเกสรเพศผู้ 10-16 อัน ส่วนกลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยก 5-8 แฉก ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะกลมแป้น มีขนาดเล็กโดยจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 ซม.และออกเป็นกระจุก มีกลีบเลี้ยงด้านบน คล้ายมงกุฎ ผิวผลเป็นมันสีเขียว เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม เมล็ดมี 1 เมล็ด เป็นรูปไต สีน้ำตาลเข้มหรือดำ

เฉียงพร้านางแอ

การขยายพันธุ์เฉียงพร้านางแอ

เฉียงพร้านางแอ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยส่วนมากแล้วในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของเฉียงพร้านางแอ จะเป็นการขยายพันธุทางธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ หรือ เพื่อการค้าขายเชิงพาณิชย์ เมื่อต้องการจะใช้ประโยชน์จากเฉียงพร้านางแอ ก็จะเป็นการไปเก็บมาใช้จากธรรมชาติเสียมากกว่า แต่หากต้องการจะปลูกเฉียงพร้านางแอก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการขยายพันธุ์ (การเพาะเมล็ด) ไม้ยืนต้นทั่วไป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของเฉียงพร้านางแอ พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิดในส่วนต่างๆ เช่น ในเปลือกรากพบสารกลุ่ม Ditepene เช่น Sterviol, ent-kaur-lb-en13-hydroxy-19-21 ในใบพบสารกลุ่ม Tritepenoid เช่น αและ β amyrin, taraxerol, lupcol, betulin, ursolic acid, gymnorhizol สารกลุ่ม β–sitosterol, stigmasterol, campesterol ในเปลือกต้นพบสารกลุ่ม Alkaloid เช่น cassipoureamide A และ B นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น triacontanol, α-catechin, brugierol และ leucocyanidin เป็นต้น

โครงสร้างเฉียงพร้านางแอ 

ที่มา : Wikipedia 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเฉียงพร้านางแอ

มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของเปลือกต้นเฉียงพร้านางแอ โดยได้ทำการแยกสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH จากสารสกัดขั้นไดคลอโรมีเธน และชั้นเอธิลอะซีเตดจากเปลือกต้นเฉียงพร้านางแอ พบสารกลุ่ม proanthocyanidin ได้แก่ carallidin และ mahuarmin นอกจากนั้นยังพบสารฟีนอลิกชนิด p-hydroxybenzoic acid  อีกด้วย จากการศึกษาวิจัยพบว่า สาร caralldin แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ที่ IC50 102 μM และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide radical 1.47 ที่ μM ส่วนสาร mahuarmin แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ IC50 182 μM และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide ที่ IC50 9.74 μM นอกจากนี้นั้น carallidin และ mahuarmin ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ xanthine oxidase ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกรดยูริกที่ IC50 12.9 และ 16.0 μM ตามลำดับ 

           มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์รักษาแผลของเปลือกต้นเฉียงพร้านางแอ โดยได้ทำการสกัดสารจากเปลือกต้นเฉียงพร้านางแอ ด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์เอธิลอะซีเดต และเมธานอล เพื่อทดสอบฤทธิ์รักษาแผล พบว่าสารสกัดชั้นเอธลอะซีเดต และเมธานอล มีฤทธิ์รักษาแผลในหนูทดลองอย่างมีนัยสำคัญ และจากการตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีเบื้องต้นพบว่าสารสกัดประกอบด้วยสารหลายกลุ่ม เช่น สารกลุ่มเทอร์ปินอยด์ สเตอรอล ฟีนอล และแทนนิน เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของเฉียงพร้านางแอระบุว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์แก้แพ้ และลดการบีบตัวของลำไส้เล็กน้อยสัตว์ทดลอง

การศึกษาทางพิษวิทยาของเฉียงพร้านางแอ

มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาในส่วนของเปลือกต้นของเฉียงพร้านางแอ โดยทำการกรอกสารสกัดทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนังแก้หนูถีบจักรในปริมาณ 10 กรัม/น้ำหนักตัว (1 กิโลกรัม) ปรากฏว่าไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้เฉียงพร้านางแอเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามตำรับตำรายาต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ระบุไว้ในตำรับตำรายานั้นๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้เฉียงพร้านางแอ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง เฉียงพร้านางแอ
  1. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4: กกยาอีสาน.
  2. รศ.ดร.ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สมุนไพในป่าอีสาน เฉียงพร้านางแอ. บทความสมุนไพร. คณะเภสัชศาสคร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  3. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ, การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์แพทย์ปีที่ 13 ฉบับที่ 1. หน้า 33
  4. เฉียงพร้านางแอ. มะม่วงหาว มะนาวโห่. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=218
  5. Phuwapraisirisan P, Sowanthip P, Miles DH, et al. Reactive radical scavenging and xanthine oxidaseinhibition of proanthocyanidins from Carallia brachiata. Phytother Res. 2006;20:458-61.
  6. Krishnaveni B, Neeharika V, Venkatesh S, Padmavathy R, Reddy BM. Wound healing activity of Carallia brachiata bark. Indian J Pharm sci. 2009;71:576-78.
  7. Subrahmonyam,C.,Rao,V.B,Ward,R.S.,Hursthouse,M.B.and Aibbs,D.E.Diterpenes from the Marine Mangrove Bruguiera gymnonhiza, phytochemistry,1999,51,83
  8. Mirsa,S.,Choudhury,A.,Dutta,A.K.and Ghosh,A.,Steroids and Fatty Acids from Threes Species of Mangrove, Phytochemistry,1954,23(12),2823
  9. Kato,A.and Numato ,M.,Brugierol and Isobrugierol,Trans-and Cis-1,2-dithiolane-1-oxide,from Bruguie conjugate,Tet.Lett.,1978,3,203
  10. Sesshadri,T.R.and VenKataramani,B.<Leucocyanidin from Mangroves,J.Sci.and Research (India),1959,180,261
  11. Ghosh,A.,Misra,S.,Dutta,A.K.and Choudhury,A.,Pentacyclic Triterpenoide and Sterols from Seven species of Mangrove,Phytochemistry,1985,24(8),1725