ฝอยทอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฝอยทอง งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฝอยทอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือเขาดำ, เครือดำ (ภาคเหนือ), ฝอยไหม (โคราช), กุ้งฝอย (ชัยภูมิ), ผักโขม (อุดรธานี), ทูโพเคาะกี่, ซิกดิม่อ (กะเหรี่ยง), ทู่ซื่อจื่อ (จีนกลาง), โทว่ซีจี้ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuscuta chinensis Lam.
ชื่อสามัญ Dodder
วงศ์ CONVOLVULACEAE

ถิ่นกำเนิดฝอยทอง

สำหรับฝอยทอง นั้นเชื่อกันว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน เพราะมีปรากฏในตำราแพทย์แผนจีนหลายพันปีแล้ว รวมถึงชื่อวิทยาศาสตร์ของฝอยมีคำว่า Chinensis ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องในการค้นพบพืชชนิดนี้ในประเทศจีนอีกด้วย ในปัจจุบันสามารถพบเห็นฝอยทองได้ในเขตร้อนต่างๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยถูกจัดเป็นวัชพืชประเภทกาฝากชนิดหนึ่งของไทย โดยมักจะพบได้ตามพุ่มไม้ตามชายป่าที่รกร้างทั่วไปตามริมทาง หรือ ตามเรือกสวนไร่นาที่มีความชุ่มชื้น

ประโยชน์และสรรพคุณฝอยทอง

  1. ใช้รักษาอาการบิด
  2. ใช้รักษาอาการตกเลือด
  3. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  4. แก้ไอเป็นเลือด
  5. รักษาอาการเลือดกำเดาไหล
  6. แก้โรคดีซ่าน
  7. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  8. ช่วยขับเหงื่อ
  9. ช่วยขับลม
  10. ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลคัน
  11. ช่วยห้ามเลือด
  12. ช่วยบำรุงกำลัง
  13. บำรุงตับ
  14. บำรุงไต
  15. บำรุงหัวใจ
  16. แก้ปวดเมื่อย
  17. ช่วยทำให้ตาสว่าง
  18. แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย
  19. แก้น้ำกามเคลื่อนเวลาหลับ
  20. ช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ
  21. รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง
  22. ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย
  23. แก้น้ำกามเคลื่อน
  24. แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม
  25. แก้ตกขาว
  26. แก้ลำไส้อักเสบ
  27. ช่วยให้หยุดถ่าย (เนื่องจากระบบม้ามและไตพร่อง)
  28. ช่วยป้องกันการแท้งลูก (เนื่องจากระบบตับและไตอ่อนแอ ทำให้แท้งง่าย)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ต้นฝอยทอง เป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ดีซ่าน ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ ขับลม บำรุงตับ บำรุงไต โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือ นำมาบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ด หรือ ทำเป็นยาผงรับประทาน

           แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย โดยใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำ และใช้ผสมกับเหล้า หรือ น้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา

           แก้ลำไส้อักเสบ แก้บิด โดยใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม (หรือ 1 กำมือ) นำมาต้มกับน้ำผสมกับขิงสด 7 แว่น ดื่ม

           ใช้แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามขาปวดน่อง โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาแช่ในเหล้านาน 3-5 วัน แล้วเอาเมล็ดที่แช่มาตากแห้ง จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด ใช้กินครั้งละ 6 กรัม วันละ 3 ครั้ง

           ใช้แก้ผดผื่นคัน แผลเรื้อรัง ใช้ห้ามเลือด โดยการนำลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือพอกบริเวณที่เป็นฝ้า

           ส่วนในตำราการแพทย์จีนระบุถึงรูปแบบ และขนาดการใช้ฝอยทองไว้ว่า ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้น้ำกามเคลื่อน แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม โดยใช้เมล็ดฝอยทอง 15 กรัม, โต่งต๋ง 12 กรัม, เก๋ากี้ 12 กรัม, โป๋วกุกจี 10 กรัม, เกสรบัวหลวง 7 กรัม, โหงวบี่จี้ 7 กรัม และเม็ดกุ๋ยฉ่าย 7 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือ รวมกันบดให้เป็นผง ส่วนสรรพคุณอื่นๆ ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ทำเป็นยาเม็ด หรือ ยาผงรับประทานสำหรับการใช้ภายนอก ใช้บดเป็นผงผสมทาบริเวณที่มีอาการ


ลักษณะทั่วไปของฝอยทอง

ต้นฝอยทอง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกประเภทกาฝากเจริญเติบโตบนต้นไม้อื่นโดยจะดูดน้ำกินจากต้นไม้ที่พันเกาะอยู่และมีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม อ่อน เป็นเส้นสีเหลือง และแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ใบฝอยทอง มีขนาดเล็กลักษณะเป็นเกล็ดรูปสามเหลี่ยมมีจำนวนไม่มาก โดยจะแตกจากลำต้นแบบสลับห่างๆ มีสีเหลืองเช่นเดียวกับลำต้น ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุกสีขาว และมีดอกย่อยมีจำนวนมาก ไม่มีก้านดอก มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กรูปไข่ หรือ สามเหลี่ยม ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว หรือ เหลืองอ่อน กลีบดอกมี 2-3 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบ แยกออกเป็น 5 แฉก กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 2 อัน ผลเป็นลูกกลมแบนเล็กๆ สีเทา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ด 2-4 เมล็ด ลักษณะกลมรี ผิวหยาบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มิลลิเมตร เมล็ดมีสีเหลืองแกมน้ำตาล เป็นต้น

ฝอยทอง

การขยายพันธุ์ฝอยทอง

ฝอยทอง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และแตกกิ่งเถาของตนเอง สำหรับการขยายพันธุ์ของฝอยทองส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก เพื่อใช้งานโดยมนุษย์ ซึ่งในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่หล่นลงบนพื้น จะแตกต้นใหม่ออกมา ส่วนวิธีการแตกกิ่งเถาของต้นฝอยทอง นั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เมื่อถูกเด็ด หรือ ดึงให้ขาดแล้วนำมาพาดหรือโยนไปตามพุ่มไม้ หรือ กิ่งไม้สด ก็จะแพร่ขยายเจริญเติบโตได้เองโดยจะเริ่มกอตัวเป็นปม และแตกยอดแขนงออกไปเรื่อยๆ

ฝอยทอง

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเถาและเมล็ดของฝอยทอง ปรากฏว่าพบสารสำคัญหลายชนิดเช่น Cholesterol, B-Sitosterol, a-Carotene, Campesterol, Stigmasterol, B-Amyrin, Isorhamnetin, Taraxanthin, Astragatin, Hyperoside, Caffeic acid, Kaenpferol, Quercetin และ Arbutin.

โครงสร้างฝอยทอง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฝอยทอง

ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับของสารสกัดเมล็ดฝอยทองในรูปแบบ nanoparticles ซึ่งเตรียมด้วยวิธี “nanosuspension” เปรียบเทียบกับสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ โดยป้อนสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ในหนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วยการฉีดสาร acetaminophen เข้าช่องท้อง พบว่าสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ขนาด 125 และ 250 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. และสารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles ขนาด 25 และ 50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. มีผลป้องกันความเป็นพิษต่อตับ โดยช่วยลดระดับเอนไซม์ aspartate aminotranferase, alanine aminotransferase และ alkaline phosphatase ซึ่งการตรวจสอบชิ้นเนื้อตับหนูขาวสนับสนุนผลการประเมินทางชีวเคมี

           ฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ มีการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของสารสกัดเมล็ดฝอยทอง โดยวิธีแช่สกัดเมล็ดด้วยแอลอฮอล์ น้ำ หรือ ทำให้รูปยาทิงเจอร์ พบว่ามีฤทธิ์ทำให้หัวใจคางคงที่แยกตัว บีบตัวแรงขึ้น โดยสารสกัดแช่ด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น แต่สารสกัดแช่ด้วน้ำ และที่ทำในรูปยาทิงเจอร์ ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจลดลง ส่วนผลต่อสุนัขทดลองที่ทำให้สลบมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง ม้ามหดตัวเล็กลง ลดการบีบตัวของลำไส้ ผลต่อมดลูกที่แยกตัวมีผลกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกเพิ่มขึ้น

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ของสารสกัดจากเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ และของสารสกัดจากเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles พบว่าช่วยเพิ่มเอนไซม์ superoxide dismutase, catalase, glutathione peroxidase และช่วยลด malondialdehyde อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ nanoparticles ขนาด 50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. มีประสิทธิภาพดีกว่าสารสกัดเมล็ดฝอยทองด้วยแอลกอฮอล์ขนาด 125 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.

          นอกจากนี้ในรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝอยทองอื่นๆ ยังระบุว่าฝอยทอง มีฤทธิ์ยับยั้งการก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และฤทธิ์ลดการอักเสบอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของฝอยทอง

มีการศึกษาทางพิษวิทยาของเมล็ดฝอยทอง โดยเมื่อฉีดสารสกัดโดยวิธีแช่สกัดเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำเข้าใต้ผิวหนังของหนูขาวในขนาด 2.465 กรัม/กิโลกรัม จะทำให้หนูตายจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) แต่เมื่อให้ทางปากในขนาด 30-40 กรัม/กิโลกรัม ไม่ปรากฏอาการพิษ เมื่อให้หนูทดลองกินสารแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำ ที่ทำในรูปทิงเจอร์ติดต่อกันเป็นเวลา 70 วัน ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทดลอง และไม่พบอาการเปลี่ยนแปลงผิดปกติใดๆ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการแพทย์แผนจีนระบุไว้ว่าสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรรับประทาน
  2. ถ้าหากฝอยทองขึ้นเกาะบนต้นไม้ที่เป็นพิษ เช่น ต้นยี่โถ ลำโพง ถอบแถบน้ำ และยาสูบ ไม่ควรเก็บมาใช้
  3. สำหรับการนำส่วนต่างๆ ของฝอยทอง มาใช้เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ตามปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ฝอยทอง เป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ฝอยทอง
  1. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2544) สำนักวิชาการป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร บริษัทประชาชนจำกัด. 2544.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ฝอยทองเมล็ด”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 360.
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร.บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ จำกัด 2547.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ฝอยทอง ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 513-515.
  5. ชัยโช ชัยชาญทิพยุทธ. วชิรา แดนตะวัน. สถาพร ลิ้มมณี.ชะนะ ครองรักษา. ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ สมุนไพร อันดับที่ 03. การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527.
  6. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ฝอยทอง” หนังสือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 127-128.
  7. สารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ Nanoparticles ป้องกันความเป็นพิษต่อตับซึ่งเหนี่ยวนำด้วยสาร acetaminophen ในหนูขาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. เมล็ดฝอยทอง : Tusizi. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย. จีน. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขหน้า 151-153