พลองเหมือด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พลองเหมือด งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พลองเหมือด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เหมือดแอ่ (มหาสารคราม), ผักไคร้มด (ภาคเหนือ), พลองดำ (ประจวบคีรีขันธ์), เหมียด (สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon edule Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Memecylon edule var. scutellatum (Lour.) Triana, Memecylon scutellatum (Lour.) Hook. & Arn.
วงศ์ Melastomataceae
 

ถิ่นกำเนิดพลองเหมือด 

พลองเหมือด เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ทั้งในภูมิภารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งได้แก่ประเทศ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เป็นต้น โดยมักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแห้ง และป่าผสมผลัดใบที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเล จนถึง 700 เมตร สำหรับในประเทศไทย พบได้มากในภาคอีสาน ส่วนภาคอื่นๆพบได้ประปราย

ประโยชน์และสรรพคุณพลองเหมือด

  1. รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  2. แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง มีเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย)
  3. รักษาโรคโกโนเรีย (โรงหนองใน)
  4. เป็นยาขับปัสสาวะ
  5. แก้ปัสสาวะขัด
  6. แก้หืด
  7. บำรุงเหงือก
  8. รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  9. บรรเทาอาการปวดฟัน
  10. ช่วยทำให้ฟันแข็งแรง
  11. แก้ไข้ป่า
  12. ใช้ทาส้นเท้าเพื่อลดรอยแตกได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้โรคกระเพาะอาหาร โดยนำราก หรือ ลำต้น นำมาต้มดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดโดยนำต้น และใบ ไปต้มดื่มวันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้า เย็น ครั้งละ 1 แก้ว แก้หืด โดยนำต้นมาผสมกับแก่นพลับเพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด  ใช้แก้ประดงโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง บำรุงเหงือกโดยนำเปลือกต้น หรือ แก่นต้น เผาไฟ แล้วนำยางที่ได้มาทาตรงบริเวณที่ปวดฟัน หรือ บริเวณที่ต้องการ


ลักษณะทั่วไปของพลองเหมือด

พลองเหมือด จัดเป็น ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร (แต่ในบางพื้นที่สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) เปลือกแตกเป็นร่องลึก และเห็นชัดเจนบริเวณโคนลำต้น มีสีเทาอมน้ำตาล กิ่งอ่อนแบน หรือ เป็นสี่เหลี่ยมมีร่องตามยาว 2 ร่อง ส่วนกิ่งแก่มีลักษณะกลม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือ รูปวงรีแกมรูปโล่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 2.5-6 ซม. เป็นสีเขียวเป็นมันปลายทู่ หรือ แหลม โคนมน หรือ สอบ ขอบเรียบ แผ่นใบเหลี่ยว และหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นร่อง โดยทางด้านบนนูน ทางด้านล่างเส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ส่วนก้านใบ ยาว 4-5 มม. และเป็นร่องทางด้านบน ดอกออกแบบเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ หรือ ตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว โดยในแต่ละช่อยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกในช่อมีประมาณ 2-8 ดอก ต่อช่อ และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอก ยาว 1-5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 มม. ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะหนามีสีขาวมอมม่วง หรือ สีน้ำเงินเข้ม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง และยาว ประมาณ 3 มม. ปลายแหลมเกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านเกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน และยอดเกสรเพศเมียมีขนาดเล็ก สำหรับใบมีประดับขนาดเล็กมาก ฐานรองดอกหนาเป็นรูปถ้วยสีชมพู ยาว 2-4 มม. เกลี้ยงปลายตัด หรือ แยก กลีบเลี้ยง 4 แฉก เล็กๆ ผลเป็นแบบผลสดมีเนื้อคล้ายลูกหว้า ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. ผลดิบมี สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีม่วงถึงดำใน 1 ผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด มีลักษณะกลม

พลองเหมือด

การขยายพันธุ์พลองเหมือด 

พลองเหมือด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งในการขยายพันธุ์ของพลองเหมือดนั้น ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูก และขยายพันธุ์โดยมนุษย์ สำหรับการนำส่วนต่างๆ ของพลอยเหมือดมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการเก็บมาจากในป่าแทบทั้งสิ้น ซึ่งพลองเหมือดถือเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่นิยมนำมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา หรือ ตามบริเวณบ้าน และที่พักอาศัย

พลองเหมือด

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของใบพลองเหมือด พบสาระสำคัญหลายชนิด เช่น epigalllocatechin gallate, myricetin, ellagic acid, ellagic acid glycolic, ursolis acid และ rutin เป็นต้น

โครงสร้างพลองเหมือด

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพลองเหมือด

มีผลการศึกษาวิจัยของพลองเหมือดหลายฉบับโดยแยกตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้ดังนี้

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสักดจากใบพลองเหมือด พบว่าสารสกัดชั้น ethyl acetate,methanol และ 50% methanol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  DPPH โดยมีค่าที่ทำให้อนุมูลอินะลดลงร้อยละ 50 (IC50) ดังนี้ methanol 46.9 g/mL, 50% methanol 152.1 g/mL และ ethyl acetate 1742.2 g/mL ตามลำดับเปรียบเทียบกับค่าของสารมาตรฐาน ascorbic acid 9.1 g/mL และ trolox 11.6 g/mL mL

            ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า เมื่อได้ทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดชั้น ethyl acetate และสามารถแยกสารออกฤทธิ์ ซึ่งได้แก่ rutin โดยสาร rutin ที่ได้แสดงค่า IC50 ของการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ที่ 17.06 μg/ml และมีค่าความสามารถในการจับไอออนเหล็ก (Fe3+ion chelation) ได้ร้อยละ 50 ที่ 17.29 μg/ml

           ฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง สารสกัดขั้นเอธิลอะซีเตตจากใบพลองเหมือด สามารถทำให้เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer cellline) เกิดการตายแบบ apoptosis

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และแก้ปวด มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัดจากใบชั้น hexane, ethyl acetate,methanol และ 50 % methanol ด้วยวิธี ethylphenylpropiolate induced ear edema พบว่าเมื่อทาสารสกัดชั้น ethyl acetate ขนาด 0.5, 1.0, 2.0 mg/หู ไว้เป็นเวลา 30 นาที สามารถลดอาการบวมของหูสัตว์ทดลองลงได้ส่วนการทดสอบฤทธิ์แก้ปวดด้วยวิธี writhing เมื่อพบสัตว์ทดลองกินสารสกัดชั้น ethyl acetate ขนาด 200 mg/kg สามารถยับยั้งอาการปวดได้ร้อยละ 56.6 เทียบเท่ากับ indomethacin ขนาด 10 mg/kg

           ส่วนการศึกษาสารสกัดชั้น 50% เมธานอล พบว่าแสดงฤทธิ์ยับยั้ง pro-inflammatory cytokine ชนิด TNF-α จากนั้นทำการแยกจนได้สารออกฤทธิ์ พบว่าเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ epigallocatechin gallate, myricetin และสารกลุ่มฟีนอกลิก ได้แก่ ellagic acid glycoside เมื่อทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ TNF-α ของ epigallocatechin gallate และ myricetin ในขนาด 100 uM  พบว่ายับยั้งได้ร้อยละ 19.46 และ 39.14 ตามลำดับ ส่วน ellagic acid glycoside ขนาด 40 uM สามารถยับยั้งการทำงานของ TNF-α ได้ร้อยละ 47.78 นอกจากนี้ยังพบว่าสาร 3'-di-O-methylellagic acid 4-O-d-glucopyranoside และ myricetin-3-O-α-l-rhamnopyranoside ที่แยกได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียUrsolic acid ที่แยกออกจากส่วนสกัด hexane:ethyl acetate (40:60) ของใบพลองเหมือดมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus epidermidis และ S. pneumoniae โดยมีความเข้มขันต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ที่ 1.56 และ 3.15 μg/ml ตามลําดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของพลองเหมือด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ถึงแม้ว่าพลองเหมือดจะมีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่สำหรับการใช้ก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยตรงใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่กำหนดไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้พลองเหมือด เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง พลองเหมือด
  1. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
  2. รศ.ดร.ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สมุนไพร ในป่าอีสาน พลองเหมือด. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  3. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า.
  4. พลองเหมือด . ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=242
  5. Nualkaew S, Thongpraditchote S, Wongkrajang Y, et al. Epigallocatechin gallate, myricetin and ellagic acid glycosides with anti-inflammatory activity from Memecylon edule leaves. Planta Med 2012;78:1189 .
  6. Srinivasan R, Natarajan D, Shivakumar MS. Spectral characterization and antibacterial activity of an isolated compound from Memecylon edule leaves. J Photochem Photobio B-bio 2017;168:20-4.
  7. Nualkaew S, Rattanamanee K, Thongpraditchote S. Anti-inflammatory, analgesic and wound healing activities of the leaves of Memecylon edule Roxb. J Ethnopharmacol 2009;121:78-81
  8. Naidu VGM, Mahesh BU, Giddam AK. Apoptogenic activity of ethyl acetate extract of leaves of Memecylon edule on human gastric carcinoma cells via mitochondrial dependent pathway. Asian Pac J Trop Med 2013;6:337-45.
  9. Nualkaew S, Thongpraditchote S, Wongkrajang Y, et al. Isolation of a new compound, 2-butanone 4- glucopyranoside 6-O-gallate and other 8 compounds from the anti-inflammatory leave extracts of Memecylon edule Roxb. Nat Prod Res 2017;31:1370-8.