ตะขบฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะขบฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะขบฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะขบ, ตะขบบ้าน (ภาคกลาง), มะตากบ, ตากบ (ภาคเหนือ), ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี), หม่าตาโก่เส่ (กะเหรี่ยง), เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Muntingia calabura Linn.
ชื่อสามัญ Jam tree, Jamaican cherry, West Indian Cherry, Calabura, Malayan Cherry
วงศ์ MUNTINGIACEAE- TILIACEAE

ถิ่นกำเนิดตะขบฝรั่ง 

ตะขบฝรั่งเป็นพืชที่ในทวีปอเมริกากลางบริเวณ ทางตอนเหนือของเม็กซิโก ในแถบทะเลแคริบเบียน รวมถึงทวีปอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตกจนถึงเปรู และโบลิเวีย ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบประเทศอบอุ่น และเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบตะขบฝรั่ง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามชุมชนบ้านเรือนทีรกร้าง และตามป่าต่างๆ โดยที่พบตามบ้านเรือนทั่วไปมักจะถูกปลูกไว้เป็นไม้ประดับ เนื่องจากทั้งนี้ตะขบถือเป็นอาหารที่นกหลายชนิดชื่นชอบจึงทำให้ตะขบแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง

ประโยชน์และสรรพคุณตะขบฝรั่ง

  1. ใช้ขับเสมหะ
  2. เป็นยาขับเหงื่อ
  3. แก้โรคผิวหนัง
  4. ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง
  5. ใช้เป็นยาแก้ตานขโมย
  6. ใช้เป็นยาระบาย
  7. รักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว
  8. แก้โรคเหน็บชา
  9. รักษาอาการปวดข้อ
  10. แก้เส้นเอ็นพิการ
  11. แก้หวัด
  12. ช่วยลดไข้
  13. แก้ปวด
  14. แก้อักเสบ
  15. ใช้เป็นยาขับเหงื่อ
  16. เป็นยาบำรุงกำลัง
  17. แก้ปวดศีรษะ
  18. ช่วยย่อยอาหาร
  19. ช่วยขับระดูในสตรี
  20. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  21. แก้เจ็บคอ
  22. แก้ปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหาร
  23. รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคันตามตัว
  24. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  25. บรรเทาอาการไอ
  26. ช่วยดูแลหัวใจ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้เปลือกต้นสด หรือ แห้งประมาณ 1 ฝ่ามือสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที กรองเอาน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดศีรษะ ลดไข้ แก้หวัด ปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหาร และลดไข้ โดยใช้ดอกแห้ง 3-5 กรัม ชงเป็นน้ำชาดื่ม ใช้รักษาอาการท้องเสีย ท้องร่วง ช่วยย่อยอาหาร ขับระดูในสตรี บรรเทาอาการไอ โดยใช้ราก หรือ เปลือกลำต้นตะขบฝรั่ง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้ใบแห้งต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาดื่มก็ได้ ใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคันตามตัว โดยใช้รากเปลือกลำต้นกับน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของตะขบฝรั่ง

ตะขบฝรั่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตั้งตรงผิวเรียบมีเปลือกลำต้นบางสีเทา กิ่งแผ่สาขาจำนวนมากขนานกับพื้นดิน ตามกิ่งอ่อน และบริเวณยอดมีขนนุ่มปกคลุม และปลายเป็นตุ่ม เมื่อสัมผัสบริเวณยอดอ่อนจะรู้สึกเหนียว ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง ใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านมีขนปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกนุ่ม และเหนียวหนืดมือ ด้านบนของใบเป็นสีเขียวเข้มมีเส้นใบ 3-5 เส้น แต่จะมองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ส่วนด้านล่างใบมองเห็นเส้นใบนูนเด่นชัดเจน ก้านใบสีเขียว นาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว บางทีออกดอกเป็นคู่ตามซอกใบ เป็นดอกชนิดสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีลักษณะเป็นวงกลมมีสีขาวใน 1 ดอก จะมีกลีบประมาณ 4-6 กลีบ กลีบดอกเรียงเป็นวงมีลักษณะแยกกลีบกัน มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือป้อมๆ เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาว 1.5-1.6 เซนติเมตร ผลเป็นทรงกลม ผิวบางเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร ผลมีหลายสี มีตั้งแต่สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีชมพู แต่เมื่อผลสุกจะมีสีแดงสด มีรสชาติหวาน (ความหวานวัดได้ 18-19 องศาบริกซ์) กลิ่นหอม ใน 1 ผลมีเมล็ดแบนขนาดเล็กๆ ประมาณ 5000-6000 เมล็ด และมักจะเกิดการร่วงได้ทุกระยะเนื่องจากขั้วของผลตะขบ จะอ่อนและไม่แข็งแรง

ตะขบฝรั่ง

การขยายพันธุ์ตะขบฝรั่ง

ตะขบฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดโดยในธรรมชาติทั่วไปจะเป็นการขยายพันธุ์โดยอาศัยสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก มากินผลของตะขบฝรั่งแล้วบินไปถ่ายมูลในบริเวณพื้นที่ต่างๆ จากนั้นเมล็ดที่อยู่อยู่ในมูลของนกก็จะเจริญขึ้นเป็นต้นต่อไป ส่วนตะขบฝรั่งที่ปลูกตามบ้านเรือนต่างๆ ก็มักได้มาจากกล้าตะขบฝรั่งที่หาได้จากในป่าตามที่รกร้าง หรือ บริเวณใกล้ต้นแม่ หรือ อาจจะได้มาจากการเพาะเมล็ดตะขบฝรั่ง เองด้วย 
           สำหรับกล้าตะขบฝรั่งที่จะใช้ปลูกควรมีความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 ซม. เพื่อให้กล้าสามารถตั้งตัวได้เร็ว ส่วนหลังการปลูก ก็แค่คอยให้น้ำ และกำจัดวัชพืชหลังปลูกในช่วงแรกเพื่อให้ต้นตั้งตัวได้เท่านั้น ทั้งนี้ตะขบฝรั่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน มีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดี รวมถึงไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ ยังเป็นพืชที่สามารถออกดอก และติดผลได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
ตะขบฝรั่ง

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของผลสุกของตะขบฝรั่ง พบว่ามีสาระสำคัญ เช่น Lycopene, Anthocyanin, Ellagic acid, Gallic acid ส่วนในใบของตะขบฝรั่งพบสารต่างๆ เช่น Quercetin, Rutin, Fisetin เป็นต้น

            นอกจากนี้ ผลสุกของตะขบฝรั่ง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

            คุณค่าทางโภชนาการของตะขบ (100 กรัม)

                        สารอาหาร                                             ปริมาณ

            พลังงาน กิโลแคลอรี่                                          92.00

            น้ำ (กรัม)                                                            76.00

            ใยอาหาร (กรัม)                                                 6.30

            ไขมัน (กรัม)                                                        0.40

            คาร์โบไฮเดรต (กรัม)                                          21.30

            โปรตีน (กรัม)                                                       2.00

            โซเดียม(มิลลิกรัม)                                              12.80

            โพแทสเซียม (มิลลิกรัม)                                   773.00

            แคลเซียม (มิลลิกรัม)                                          108.00

            ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม)                                        51.70

            เหล็ก (มิลลิกรัม)                                                  1.20

            วิตามิน บี 1 (มิลลิกรัม)                                         0.03

            วิตามิน บี 2 (มิลลิกรัม)                                        0.04

            ไนอะซิน (มิลลิกรัม)                                             0.40

            วิตามิน ซี (มิลลิกรัม)                                           86.00

โครงสร้างตะขบฝรั่ง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะขบฝรั่ง

ฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารมีการศึกษาวิจัยถึงกลไกการออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากใบตะขบฝรั่ง (Muntingia calabura L.; MEMC) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยวิธีการผูกที่รอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก (pylorus ligation) โดยการแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1–5 จะได้รับ 8% Tween 80 (ชุดควบคุมผลลบ), ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ranitidine ขนาด 100 มก./กก. (ชุดควบคุมผลบวก), หรือ MEMC ขนาด 100, 250 หรือ 500 มก./กก. ตามลำดับ โดยการป้อนให้กินวันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหาร จากผลการทดลองพบว่า MEMC สามารถลดขนาดของแผลในกระเพาะอาหาร โดยทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะลดลง และ MEMC ที่ขนาด 100 และ 500 มก./กก. สามารถลดความเป็นกรดภายในของกระเพาะอาหารด้วย นอกจากนี้หนูที่ได้รับ MEMC ทุกขนาด ยังมีสารเมือกในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการปกป้องกระเพาะยังต่ำกว่ายา ranitidine เล็กน้อย ส่วนการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ พบว่า MEMC มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบสูง การศึกษาทางเคมีพบว่า MEMC มีสารในกลุ่มแทนนิน และซาโปนินอยู่สูง รวมทั้งมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า MEMC ออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารผ่านหลายกลไก นั้น คือ การยับยั้งการหลั่งกรด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ 

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศหลายฉบับยังระบุว่า ส่วนต่างๆ ของตะขบฝรั่งมีฤทธิ์ของเภสัชวิทยา เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของตะขบฝรั่ง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผลสุกของตะขบฝรั่ง มีรสหวานมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรรับประทานแต่น้อย
  2. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของตะขบฝรั่งเพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำก่อนที่จะใช้ตะขบฝรั่งมาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง ตะขบฝรั่ง
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์, ผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าทางอาหารและการกิน กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์แสงแดด, 2550. หน้า 73
  2. อนันต์ พิริยะภัทรกิจ. ตะขบฝรั่งมะเดื่อฝรั่ง ผลไม้ริมทาง. คอลัมน์เรื่องน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 457. พฤษภาคม 2560. หน้า 24-25
  3. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ตะขบต้นไม้ใจดี. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2546,
  4. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/ตะขบฝรั่ง/
  5. อรวัลภ์ อุปถัมภานนท์."การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลูกตะขบโดยการทำแห้ง", คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, 2554.
  6. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. ตะขบฝรั่ง (Takhob Farang). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 119.
  7. กลไกการออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของในตะขบฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ตะขบ สรรพคุณตะขบ และทำไมจึงนิยมปลูกตะขบ. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. Zainul Amiruddin Zakaria, Tavamani Balan, Velan Suppaiah, Syahida Ahmad, & Fadzureena Jamaludin, a. “Mechanism(s) ofactioninvolvedinthegastroprotectiveactivity of Muntingia calabura, “Journal of Ethnopharmnacology, Journal of Ethnopharmacology (Electronic), Vol.151, 2014, pp.1184-1193,