ชะลูด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชะลูด งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชะลูด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นูด (ภาคใต้), ต้นธูป, ขี้ตุ่น, ช้างตุ่น (ภาคอีสาน), ชะนูด (สุราษฏร์ธานี), ลูด (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alyxia reinwardtii Blume var. lucida Markgr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alyxia nitens Kerr. 
วงศ์ Apocynaceae

ถิ่นกำเนิดชะลูด 

เชื่อกันว่าชะลูดเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า เป็นต้น เพราะมีการพบกระจัดกระจายอยู่ใน ป่าดิบ บริเวณดังกล่าว ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ชะลูด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่งซึ่งในประเทศไทยนี้ มักพบต้นชะลูดในบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้มากกว่าภาคอื่นๆ โดยจะพบได้ในป่าดงดิบที่มีฝนตกชุก

ประโยชน์และสรรพคุณชะลูด

  1. ช่วยบำรุงกำลัง
  2. แก้ปวดในท้อง
  3. แก้ปวดมวนท้อง
  4. แก้ไข้
  5. แก้ลม
  6. ช่วยขับลม
  7. ช่วยบำรุงหัวใจ
  8. ช่วยบำรุงครรภ์
  9. แก้ดีพิการ
  10. แก้ปวดบวม
  11. แก้พิษในเลือด
  12. แก้พิษน้ำเหลือง
  13. แก้อ่อนเพลีย
  14. แก้ลมวิงเวียน
  15. แก้ไข้คลั่งเพ้อ
  16. แก้สะอึก
  17. แก้ใจสั่น
  18. แก้คุดทะราด
  19. แก้ดีพิการ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ลม ขับลม แก้ลมวิงเวียน บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ปวดท้อง ปวดมวนท้อง แก้อ่อนเพลีย แก้ดีพิการ โดยนำเปลือกเถาชั้นในมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ โดยใช้ใบ หรือ ผลชะลูด ที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาชงดื่มแบบชาก็ได้ ใช้แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้คุดทะราด แก้ดีพิการ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ใจสั่น บำรุงหัวใจชุ่มชื่น แก้ไข้พิษ แก้เสมหะ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของชะลูด

ชะลูด จัดเป็นไม้เถา ขนาดเล็ก มีลักษณะเนื้อไม้แข็ง เปลือกลำต้น (เถา) เกลี้ยงไม่ขรุขระ มีสีดำ โดยตามเถามักจะมีช่องระบายอากาศเป็นจุดๆ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหากเกิดแผลที่เถาจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นออกมา ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงรอบข้อเถา ซึ่งจะมีข้อละ 3-4 ใบ ใบเป็นรูปรี หรือ ขอบขนาน ปลายใบแหลม ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร ใบหนาและแข็ง มีสีเขียว แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อตรวจบริเวณง่ามใบ ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก กลีบดอกเป็นหลอดเชื่อมติดกันบริเวณโคนดอกปลายดอกแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีสีเหลือง และสีขาวมีกลิ่นหอม (แต่จะเริ่มหอมช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งสาง) ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นทรงรี มีเปลือกข้างนอกนุ่ม เมื่อสุกจะมีสีม่วงอมดำ เมล็ด เป็นรูปไข่หรือรูปทรงรี แข็งแห้ง

การขยายพันธุ์ชะลูด 

ชะลูดสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่จะนิยมใช้วิธีการปักชำมากกว่า โดยมีวิธีการดังนี้ ตัดเถาหรือกิ่งแก่ของชะลูด ให้ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร โดยตัดให้ปลายเฉียง 45 องศา แล้วจึงนำมาปักชำในกระบะทราย หรือ ดินร่วนปนทรายแล้วหมั่นรดน้ำ เช้า-เย็น หลังจากนั้นประมาณ 45 วัน กึ่งที่ปักชำจะมีรากแตกออกมา ก็สามารถนำไปปลูกได้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของชะลูด ส่วนที่มีการนำมาทำเป็นสมุนไพร ซึ่งได้แก่ส่วนของเปลือกต้น พบว่า เปลือกต้นมีสาร saponin, alyxialactone, 4-epialyxialactone, irridoid glycoside, coumarin, coumarin glycoside I,II, Scopoletin , (+)-pinoresinol.

โครงสร้างชะลูด

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชะลูด

            ฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีการศึกษาในลำไส้เล็กหนูตะเภา พบว่า coumarinที่สกัดได้จากเปลือกต้นชะลูด สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กกระต่าย ทั้งที่เกิดขึ้นเอง และที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetylcholine, 5-hydroxytrypatamine,histamine และ barium chloride และสารคูมาริน ดังกล่าวยังทั้งคู่ลดการหดเกร็งของหลอดเลือดแดงใหญ่หนูขาว ทั้งที่มีเยื่อบุ และไม่มีเยื่อบุหลอดเลือด เมื่อกระตุ้นการหดเกร็งด้วยphenylelphrine และเมื่อกล้ามเนื้อหลอดเลือดถูก depolarized ด้วยสารละลายที่มี potassium ion ความข้มเข้นสูง พบว่าสารดังกล่าว แสดงผลยับยั้งการหดเกร็งที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยcalcium chloride โดยยับยั้งแบบ non-competitive antagonistคำนวณค่า PD'2 ได้ 2.42

            ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น มีการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในพืชสมุนไพรไทยโดยทดสอบกับ2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มีความเสถียร พบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอธิลอะซิเตตของลำต้นชะลูด (I Alyxia reinwardtii i) ให้ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี จากนั้นจึงนำส่วนของสิ่งสกัดเหล่านี้มาศึกษา พบว่าสามารถแยกสารได้ 8 ชนิดได้แก่ coumarin (1), 3-hydroxycoumarin (2), 6-hydroxycoumarin(3), 8-hydroxycoumarin (4), scopoletin (5), (+)-pinoresinol (6), zhebeiresinol(7) และ ip-hydroxybenzoic acid (8) จากนั้นหาสูตรโครงสร้างของสารทั้งหมด โดยใช้วิธีทางสเปกโทรสโคปี และเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้มีรายงานไว้แล้ว ในส่วนของสาร 7 ได้ยืนยันสูตรโครงสร้างด้วย X-ray crystallography สำหรับการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ มีวิธีการทดสอบทั้งหมด 3 วิธี คือ วิธีทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPHวิธีทดสอบฤทธิ์เกี่ยวเนื่องกับเอนไซม์ (xanthine oxidase) และวิธีการทดสอบการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในไขมัน จากผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าสาร 7 (IC(,50) =0.19 mM) แสดงฤทธิ์สูงสุด ตามด้วยสาร 6 (IC(,50) = 0.31 mM) สาร 2 (IC(,50 = 0.61 mM)สาร 5 (IC(,50) = 3.17 mM) และสาร 4 (IC(,50) = 71.05 mM) ในขณะที่สาร 1, 3 และ 8 แสดงฤทธิ์ที่ต่ำ (IC(,50) > 100 mM) ส่วนฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide พบว่าสาร 2(IC(,50) = 4.55 mM) สาร 6 (IC(,50) = 4.51 mM) และสาร 7 (IC(,50) = 3.38 mM)แสดงฤทธิ์ที่ดี ในขณะที่สาร 1 และ 8 ไม่แสดงฤทธิ์ (IC(,50) > 100 mM) อย่างไรก็ตามสารทั้งหมดไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ xanthine oxidase จากผลการทดสอบการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในไขมัน พบว่าสาร 6 และ 7 แสดงฤทธิ์ที่สูง (IC(,50) = 3.31 และ 2.08 mMตามลำดับ) ขณะที่สาร 1, 2, 3, และ 4 แสดงฤทธิ์ปานกลางโดยมี IC(,50) = 67.64, 69.07,67.45, และ 58.13 mM ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของชะลูด

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกชะลูด ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,613 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำชะลูด มาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป โดยต้องใช้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ชะลูดเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง ชะลูด
  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555.
  2. คัชรินทร์ สมคุณา. การศึกษาเปรียบเทียบผลของคูมารินจากต้นหัสคุณ และต้นชะลูด ต่อกล้ามเนื้อเรียบที่แยกจากสัตว์ทดลอง.(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2534)
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชะลูด”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 251-252.
  4. จุไรรัตน์ รัตนพันธ์.ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของสารสกัดจากต้นชะลูด (Alyxia reinwardtii). (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2547)
  5. ชะลูด .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=51