กฤษณา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กฤษณา งานวิจัยและสรรพคุณ 35 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กฤษณา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปอห้า (ภาคเหนือ), ไม้หอม (ภาคตะวันออก), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), กายูการู, กายูกาฮู, กายูดึงปู (ปัตตานี, มาเลเซีย) ซควอเซ, ซควอสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ติ่มเฮียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กฤษณา เป็นน้ำมัน หรือ ยางที่สร้างขึ้นในเนื้อไม้ของพืชในสกุล Aquilaria ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 ชนิด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่ชนิดที่พบได้ในประเทศไทยเท่านั้น โดยใน ประเทศไทยสามารถพบได้ 4 ชนิด คือ Aquilaria baillonil, Aquilaria crassna Pierre, Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) และ Aquilaria subintegra Ding Hau 
ชื่อสามัญ Eagle wood, Aglia, Lignum aloes, Calambac, Akyaw, Aloewood, Calambour,
วงศ์  THYMELAEACEAE

ถิ่นกำเนิดกฤษณา

กฤษณา ที่ถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียเขตร้อน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการกระจายพันธุ์ไปใน อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ทิเบต ภูฐาน พม่า จีน ตลอดแหลมมลายู เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยจะมีกฤษณา อยู่ด้วยกัน 4 ชนิด แต่ที่พบมากมี 3 ชนิด คือ

  • Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น
  • Aquilaria subintegra Ding Hau จะพบได้เฉพาะทางภาคตะวันออก

ประโยชน์และสรรพคุณกฤษณา

  • ใช้ทำเป็นสบู่เหลว สบู่หอม ทำเป็นยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือ ใช้สำหรับทำสปาเพื่อระงับความเครียด
  • ช่วยป้องกันแมลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้
  • บำรุงหัวใจ
  • แก้ลมวิงเวียนศีรษะ
  • บำรุงกำลัง
  • บำรุงธาตุ
  • บำรุงตับ
  • บำรุงปอด
  • เป็นยาอายุวัฒนะ
  • แก้อาเจียน
  • แก้ท้องร่วง
  • บำบัดโรคปวดบวมตามข้อ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลมซาง ลมอ่อนเพลีย
  • แก้ไข้ ตัวร้อน
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้โรคเรื้อน
  • แก้มะเร็ง
  • ทำให้โลหิตไหลเวียนดี
  • เป็นยาคลายเส้น
  • แก้เลือดกำเดา
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อย
  • บรรเทาอาการของโรครูมาติซัม
  • ยาขับลม
  • ใช้เป็นยาแก้ปวด
  • แก้อัมพาต
  • รักษาโรคมาลาเรีย
  • ใช้แก้ปวดหน้าอก
  • แก้ไอ
  • แก้หอบหืด
  • รักษาโรคภูมิแพ้
  • รักษาโรคเบาหวาน

           ไม้กฤษณา นำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม ชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์ ส่วนประโยชน์ของไม้กฤษณาทั่วไปที่มีมีน้ำมัน สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ เปลือกต้น นำมาใช้ทำเป็นเชือก กระดาษ เสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง และที่นอน เปลือกใช้ทำเป็นยากันยุงได้ ทำเป็นเครื่องจักสาน ใช่ทอผ้า และเชือกป่าน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

โดยมากแล้วกฤษณา จะใช้เป็นส่วนผสมของยาหอมต่างๆ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ และรับประทานตามตำรับยาหอมนั้นๆ นอกจากนี้น้ำคั้นจากใบ ใช้รับประทานช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ รักษาโรคเบาหวาน เนื้อไม้นำมาบด หรือ ป่นจนเป็นผงใช้รับประทาน ช่วยรักษาอาการท้องร่วง บำรุงตับ และปอด แก้ปวดข้อ แก้ลม แก้ซางในเด็ก ช่วยบำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงโลหิต ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงหัวใจ แก้ไข้ ฯลฯ ส่วนน้ำมันหอมระเหยใช้สูดดมหรือทา ช่วยผ่อนคลายความเครียด รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปกฤษณาของกฤษณา

กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมากๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้นๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อต้นมีอายุมากๆมักจะมีพูพอนที่โคนต้น

            ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดทน กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน

            ผล เป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้นๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้ม หรือ สีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล

           ไม้กฤษณา จะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนัก และจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณา ยังที่มีน้ำมันสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่

  • เกรด 1 หรือ ที่เรียกว่า "ไม้ลูกแก่น" ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า "True agaru" เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ หรือ หนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)
  • เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมัน และกลิ่นหอมรองลงมา โดยเนื้อไม้สีจะจางออกทางน้ำตาล ต่างประเทศจะเรียกว่า "Dhum"โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น ซึ่งเมื่อนำมากลั้นจะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า agarattar
  • เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือ มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ
  • เกรด 4 เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ

กฤษณา

กฤษณา

การขยายพันธุ์กฤษณา

กฤษณาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธี เพาะเมล็ด, ตอนกิ่งและการปักชำ แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด หรือ การขุดกล้าไม้กฤษณาจากบริเวณต้นแม่มาปลูกเลี้ยงในเรือนเพาะชำจนเมื่อกล้าอายุได้ 1 ปี จึงนำไปปลูกในแปลง หรือ บริเวณที่ต้องการทั้งนี้ ไม้กฤษณา สามารถขึ้นได้ทั่วๆ ไป แต่ถ้าจะให้ดีควรมีการจัดสรรที่ที่เหมาะสม สภาพดินต้องมีความชุ่มชื้น ไม่ควรเป็นดินทราย ดินลูกรัง หินดาน หรือ ที่แห้งแล้งจนเกินไป ในพื้นที่ที่ปลูกต้องมีฝนตกไม่ต่ำกว่า 5 เดือน และต้องตัดแต่งกิ่งให้ดีด้วย โดยการปลูกจะต้องมีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 3.3 ตารางเมตร เมื่อปลูกแล้ว หลังจาก 5 ปี ควรจะวัดเส้นรอบวงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร (โดยวัดสูงจากพื้นดิน 1 เมตร)


องค์ประกอบทางเคมี

องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin) อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ  Dihydroagarofuran, β-Agarofuran, α-Agarofan, Agarol, Agarospirol, Eudesmane, Valencane, Eromophilane, Vetispirane, Kusunol

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกฤษณา

โครงสร้างกฤษณา

           และยังมีกลุ่มสารอื่นๆ คือ abietane ester, sesquiterpenes, sesquiterpene dehydrofukinone, isobaimuxinol สารกลุ่มอื่นๆ : benzylacetone, ?-methoxy-benzylacetone, anisic acid, α-agarofuran และเนื้อไม้ที่เป็นแผล จะประกอบด้วย สารกลุ่ม chromones


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกฤษณา

ฤทธิ์ยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน สารสกัดน้ำจากแก่นกฤษณา สามารถยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน ที่แสดงออกทางผิวหนังในหนู โดยยับยั้งการหลั่ง histamine จาก mast cell
          ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สารสกัดจากแก่นกฤษณามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในแมวที่สลบ ซึ่งความดันโลหิตจะลดลงทันทีเมื่อให้สารสกัดทางหลอดเลือดดำ แต่ผลลดความดันโลหิตจะไม่เกิน 40-80 นาที และมีข้อมูลรายงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่ากฤษณา (ชนิด Aquilaria crassna) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ ต้านความเป็นพิษต่อหัวใจ ช่วยระบาย เป็นต้น ส่วนกฤษณา ( ชนิดAquilaria agallocha) มีฤทธิ์แก้ปวด ลดการอักเสบ ต้านการชัก ทำให้สงบ ช่วยระบาย ฆ่าแมลง


การศึกทางพิษวิทยาของกฤษณา

กฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria agallocha Roxb. เมื่อนำสารสกัดแก่นด้วย อัลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ กรอกให้หนูถีบจักร ในขนาด 10 ก./ก.ก. ไม่พบพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้จะมีรายงานทางเภสัชวิทยา และพิษวิทยา ที่สนับสนุนในสรรพคุณของกฤษณา แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยเกี่ยวกับกฤษณายังมีน้อย และไม่มีงานวิจัยในคน จึงควรใช้ความระมัดระวังในการรับประทาน เช่น สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานหรือ ไม่ควรใช้เกินขนาดที่กำหนด หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปตลอดจนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้


เอกสารอ้างอิง กฤษณา
  1. ผศ.ดร.ภก.วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์.ไม้กฤษณา (ไม้หอม):ไม้ทรงคุณค่า.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. เฉลิมชัย สมมุ่ง วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ไม้กฤษณา (ไม้หอม) แก้ปัญหาความยากจนของคนไทย บริษัท ดาต้า เปเปอร์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด กรุงเทพฯ
  3. ใบกฤษณา.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5440
  4. กฤษณา.กลุ่มอาการแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/nerbs_10.htm
  5. กฤษณา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpaye&pid=12
  6. คุณประโยชน์ไม้กฤษณาไทย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6904