กระท่อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระท่อม งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระท่อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อิทั่ง, อิถ่าง, กะต่าว (ภาคกลาง), ท่อม (ภาคใต้), เคตุ่ม, บายัค, เบี๊ยะ (มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa (Korth.) .Havil
วงศ์ RIBIACEAE


ถิ่นกำเนิดกระท่อม

กระท่อม จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นในทวีปเอเชียบริเวณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยพบได้มากในป่าธรรมชาติทางภาคใต้ และในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี นนทบุรี


ประโยชน์และสรรพคุณกระท่อม

  • รักษาท้องร่วง
  • รักษาเบาหวาน
  • แก้ปวดเมื่อย
  • ช่วยระงับออาการปวดท้อง
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยช่วยระงับประสาท
  • รักษาติดเชื้อในลำไส้
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยลดการเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยรักษาอาการท้องร่วง
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยลดการปวดบิดถ่ายเป็นเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคผิวหนัง
  • ช่วยทำให้สดชื่น กระปี้กระเปร่า
  • แก้ปวดกล้ามเนื้อ

           นอกจากนี้กกระท่อม ยังเป็น 1 ในสมุนไพร ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในตำรับยาประสะใบกระท่อมยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทรยากล่อมอารมณ์ ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ยาแก้หัวลูกยาประสะกาฬแดง และยาทาให้อกฝิ่น เป็นต้น

กระท่อม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดท้อง แก้ปวดเมื่อย ทำให้สดชื่น กระปี้กระเปร่า แก้บิด แก้ติดเชื้อในลำไส้ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ แก้ปวดกล้ามเนื้อโดยนำใบกระท่อม สด หรือ ใบแห้งมาแกะก้านใบออกนำมาเคี้ยวดูดกินน้ำแล้วคายก้านออกมา แล้วดูดน้ำตาล หรือ อาจนำใบสดมาต้มน้ำดื่ม หรือ นำมาตากแห้งแล้วต้มน้ำดื่ม หรือ นำใบแห้งมาบดแล้วชงกับน้ำดื่ม หรือ นำใบแห้งมามวนสูบก็ได้ เช่นกัน ใช้แก้ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดบิดถ่ายเป็นเลือด แก้เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยใช้เปลือกต้นมาต้มน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของกระท่อม

กระท่อม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีความสูงได้ถึง 25 เมตร ลักษณะลำต้นทั้งเปลือกลำต้นสีเทาแตกกิ่งก้านน้อย

           ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงกันข้ามลักษณะใบเป็นรูปไข่ โคนใบป้าน ปลายใบแหลม กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 12-17 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ (บางชนิดอาจมีขอบใบเป็นหยักเรียก ชนิดหางกั้ง หรือยักษ์ใหญ่) ผิวใบเรียบลื่น ด้านท้องใบมีเส้นใบเป็นสันเห็นได้ชัดเจน โดยจะข้างละ 10-15 เส้น และมีก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็ช่อแบบกระจุก แน่นโดยจะออกเดี่ยวๆ ที่ปลายกิ่งโดยแต่ละช่อจะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และมีดอกย่อยประมาณ 70-80 ดอก

           ผล มีลักษณะเป็นแคปซูล ด้านในผลมีเมล็ดอัดแน่นโดยมีลักษณะแบนรูปไข่ผิวแกลี้ยง

กระท่อม

กระท่อม

การขยายพันธุ์กระท่อม

กระท่อมสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูกโดยมีวิธีการดังนี้

           นำดินปลูกวัสดุที่ใช้เพาะใส่ลงไปในภาชนะเพาะ โดยใส่ประมาณครึ่งหนึ่งของภาชนะเพาะแล้วรดน้ำให้ดินชุ่น หรือ เปียกจากนั้นค่อยๆ โรยเมล็ดกระท่อมลงไปอย่าให้ชิดกัน และพยายามกระจายเมล็ดกระท่อม ให้มากที่สุดแล้วนำดินปลูก หรือ วัสดุเพาะมาทับบางๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่มเปียกอีกครั้งแล้วหุ้มภาชนะที่ใช้เพาะด้วยพลาสติกใสเพื่อไม่ให้อากาศเข้า ปิดทิ้งไว้โดยไม่ต้องรดน้ำ แล้วนำไปวางไว้ที่ร่มประมาณ 5-7 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วนำออกมารดน้ำ เช้า-เย็น ต่อจนต้นกล้าเริ่มงอกเมื่อต้นกล้างอกแล้วประมาณ 30-50 เซนติเมตร ให้ย้ายไปปลูกในกระถาง หรือ ในแปลงปลูกต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัย และตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระท่อม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ หลากหลายกลุ่ม เช่น Alkaloids, flavonoids, triterpene, phenolic compounds โดยสารกลุ่ม indole alkaloids เป็นสารกลุ่มใหญ่ที่พบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

           ใบ พบสารกล่ม Alkaloids เช่น ajmalicine; akuammigine; angustine; corynantheidine; corynoxeine; corynoxine; hirsuteine; isocorynoxeine; corynantheidaline; corynantheidalinic acid; corynoxine B; hirsutine; isomitraphylline; isomitrafoline; isospeciofoline; isocorynantheidine; mitrasulgynine; mitragynaline; mitragynine oxindole mitrajavine; mitraphylline; mitragynine; mitralactonal; speciofoline; speciogynine; 3-isoajmalicine; 3,4,5,6-isorhynchophylline; tetradehydromitragynine; 7α-hydroxy-7H-mitragynine; 3-dehydro-mitragynine

           สารกลุ่ม Flavonoids เช่น apigenin; apigenin-7-O- rhamnoglucoside; astragalin; kaempferol; cosmosiin; hyperoside; quercetin; quercitrin

           สารกลุ่ม Phenylpropanoid เช่น caffeic acid; chlorogenic acid

           ส่วนของกิ่ง ,เปลือกต้น พบสารกลุ่ม alkaloid เช่น ciliaphylline; rhynchocilineisospecionoxeine; javaphylline; isorhynchophylline; mitraciliatine; mitragynine oxindole A; mitragynine oxindole B; mitraphylline; speciociliatine; specionoxeinerhynchociline; rhynchophylline; speciogynine

           และส่วนของเปลือกรากพบสารกลุ่ม alkaloid เช่น ciliaphylline; corynoxeine; isospecionoxeine; isomitraphylline; isocorynoxeine; isorhynchophylline; mitraciliatine; mitraphylline; rhynchociline; rhynchociline; speciociliatine; speciogynine; specionoxeine

โครงสร้างกระท่อม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระท่อม

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระท่อมระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญ ได้แก่ "ผลต่อระบบประสาท"

           มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลต่อระบบประสาทของสาร mitragynine โดยได้ทำการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า mitragynine มีผลกระตุ้นระบบประสาท เช่นเดียวกับโคเคน ต่อมาได้มีการทดลองกับอาสาสมัครชาย 5 คน ให้ผลการทดลองเช่นเดียวกัน และพบว่า mitragynine acetate ขนาด 50 มิลลิกรัม ทาให้คลื่นไส้ และอาเจียน ส่วนรูปแบบการให้สาร mitragynine กับสัตว์ทดลอง โดยการกิน (p.o.) มีฤทธิ์ดีกว่าการฉีดใต้ผิวหนัง

           ฤทธิ์ต้านอักเสบ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัด mitragynine จากใบกระท่อม แบบศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) โดยทำการทดลองเลี้ยงเซลล์ macrophage RAW 264.7 ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีสารสกัด mitragynine ผสมอยู่ 0.5-20 มคก./มล. จากนั้นเหนี่ยวนำให้เซลล์เกิดกระบวนการอักเสบด้วยการเติมสาร Lipopolysaccharide (LPS) แล้วทำการวิเคราะห์การแสดงออกของยีน และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบ ผลจากการทดลองพบว่า สารสกัด mitragynine สามารถยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน cyclooxygenase-1 (COX-1) cyclooxygenase-2 (COX-2) และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ และสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ แสดงให้เห็นว่าสารสกัด mitragynine จากใบกระท่อม มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดกระบวนการอักเสบได้

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลของกระท่อม โดยฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาว ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูด้วย carrageenan (carrageenan-induced paw edema) พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบได้ภายใน 3 ชั่วโมงแรก หลังจากหนูได้รับสารสกัดกระท่อม โดยคาดว่ามีผลยับยั้งการหลั่งสารสื่ออักเสบ ในกระบวนการอักเสบผ่านวิธี arachidonic acid เพิ่มการทำงานของระบบอิมมูน และกระตุ้นกระบวนการสมานแผล

           ผลต่อระบบทางเดินอาหาร มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร mitragynine มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารในหนูขาว โดยผ่านตัวรับออปิออยด์ ส่วนสารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อม มีผลลดความอยากอาหาร และน้ำ ทำให้น้ำหนักของหนูขาวลดลง ยังมีผลทำให้ลดจำนวนครั้งของการถ่าย และปริมาณอุจจาระลดลง อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อม (Mitragyna speciosa) ในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรทโดยใช้แบบจำลองที่ชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ การทำให้เกิดความเครียดด้วยการแช่น้ำ (water immersion restraint stress), แอลกอฮอล์ และ acetylsalicylic acid และการชักนำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (reflux esophagitis) ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดขนาด 200 และ 400 มก./กก. สามารถลดขนาดของแผลในกระเพาะอาหาร (ulcer Index) ที่เกิดจาก water immersion restraint stress ได้เช่นเดียวกับสาร mitragynine ขนาด 2 มก./กก. และยา Ranitidine ขนาด 50 มก./กก. สำหรับการเหนี่ยวนำด้วยแอลกอฮอล์ พบว่ามีเพียงยา omeprazole ขนาด 20 มก./กก. ที่มีผลลดการเกิดแผลได้ ขณะที่สารสกัดจากใบกระท่อมไม่มีผล และในการเหนี่ยวนำด้วย acetylsalicylic acid พบว่าสารสกัดที่ขนาด 400 มก./กก. และยา omeprazole มีผลลดการเกิดแผลได้ ส่วนการเหนี่ยวนำให้หลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน พบว่าสารสกัดที่ขนาด 400 มก./กก. และยา sucralfate ขนาด 500 มก./กก. สามารถลดการเกิดแผลได้ อย่างไรก็ตามสารสกัดจากใบกระท่อมไม่มีผลต่อปริมาณกรด และค่า pH ของการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดใบกระท่อมพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียในลำไส้ สารสกัดในชั้นน้ำของกระท่อม มีผลต่อการทางานของเอนไซม์ glutathione transferase (GST) ในหนูขาว โดยเอนไซม์นี้ทำหน้าที่ในการกำจัดพิษออกจากร่างกาย ยังมีรายงานสารสกัดจากกระท่อมยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Salmonella typhi และ Bacillus subtilis ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดชั้นนำมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ต้านการซึม มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการซึมของสาร mitragynine ในใบกระท่อม โดยทำให้หนูเม้าส์เกิดความซึมเศร้าด้วยวิธี Forced Swimming Test (FST) และ Tail Suspension Test (TST) ในหนูเม้าส์ทั้งหมด 7 กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2-4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสาร mitragynine จากใบกระท่อมขนาด 5, 10 และ 30 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 30 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง ตามลำดับ กลุ่มที่ 5-7 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า fluoxetine 20 มก./กก., amitriptyline 10 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 60 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง และ amphetamine 1 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง 15 นาที ก่อนเริ่มการทดลอง ตามลำดับ พบว่าการศึกษาด้วยวิธี Forced Swimming Test (FST) สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. สามารถลดระยะเวลาที่เกิดอาการซึมเศร้าได้ 33% และ 48% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน fluoxetine และ amitriptyline ลดระยะเวลาได้ 57% และ 76% ตามลำดับ และการศึกษาด้วยวิธี Tail Suspension Test (TST) สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. สามารถลดระยะเวลาที่เกิดอาการซึมเศร้าได้ 47% และ 58% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน fluoxetine และ amitriptyline ลดระยะเวลาได้ 75% และ 76% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. มีผลต่อต่อมใต้สมองทำให้ต่อมหมวกไตลดการหลั่งฮอร์โมน corticosterone จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า สาร mitragynine ขนาด 10 และ 30 มก./กก. มีผลลดอาการซึมเศร้าในหนูเม้าส์ได้ และยังมีผลลดการหลั่งฮอร์โมน corticosterone จากต่อมหมวกไตได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระท่อม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากใบกระท่อมระบุไว้ดังนี้ มีการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อมต่อสัตว์ทดลอง โดยพบว่า ค่า LD50 (ทำให้กลุ่มของสัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง) มีค่าเท่ากับ 173.20 ถึง 591 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนสาร mitragynine มีค่า LD50 มีค่าเท่ากับ 477 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารสกัดน้ำจากกระท่อมมีค่า LD50 มากกว่า 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีความเป็นพิษน้อย อีกทั้งมีการศึกษาผลของสารสกัด 96% เอทานอลจากใบกระท่อมต่อตับของหนูเม้าส์ โดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (A) กลุ่มควบคุม (B) กลุ่มที่ได้รับน้ำกลั่น ขนาด 0.5 มล./ 20 ก. นน.ตัว (C) กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม ขนาด 0.15 มก./20 ก. นน.ตัว (D) กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม ขนาด 0.30 มก./20ก. นน.ตัว และ (E) กลุ่มที่ได้รับยา silymarin ขนาด 0.70 มก./20 ก. นน.ตัว ทำการศึกษาเป็นเวลา 7 วัน ประเมินผลจากค่าของเอนไซม์ในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ ได้แก่ alanine transaminase (ALT), aspartate transaminase (AST) และลักษณะจุลพยาธิวิทยาของตับ พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดใบกระท่อมทั้ง 2 ขนาด มีค่าของเอนไซม์ ALT และ AST สูงขึ้น และตับเกิดความเสียหายมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับยา silymarin โดยสารสกัดใบกระท่อมที่ขนาดสูง จะเกิดผลเสียตับมากกว่าขนาดต่ำ แสดงว่าการได้รับสารสกัดจากใบกระท่อมในขนาดสูง จะมีผลต่อการทำงานของตับและทำให้ตับเกิดความเสียหายได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

จากการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาพบว่ากระท่อม ยังมีความเป็นพิษอยู่ในระดับต่ำ และถึงมีความเป็นพิษในระดับต่ำ แต่หากได้รับ ในปริมาณมาก หรือ ได้รับเป็นประจำต่อเนื่องก็ทำให้เกิดความเป็นพิษรุนแรงได้ นอกจากนี้การใช้กระท่อมไปนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะเสพติดได้โดยจะมีอาการ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวดำเกรียม ท้องผูก อุจจาระก้อนเล็ก มีสีดำ หากไม่ได้เสพ อาจมีอาการขาดยา เช่น มีอาการก้าวร้าว น้ำตาไหล น้ำมูกไหล และปวดกล้ามเนื้อ

เอกสารอ้างอิง กระท่อม
  1. เต็ม สมิตินันทน์. 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรมป่าไม้. หน้า 383.
  2. สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม. 2555. สถานการณ์พืชกระท่อม ปี 2555.
  3. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ อาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา, บรรณาธิการ. 2548. พืชกระท่อมในสังคมไทย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม, กรุงเทพฯ: บางกอกบล็อก.
  4. เอกสารวิชาการพืชกระท่อม : การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุมชน และงานวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมเพื่อ กําหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. (2562). สถาบันสํารวจ และ ติดตามการปลูกพืชเสพติด สํานักงาน ป.ป.ส.
  5. ดวงแก้ว ปัญญาภู, สุเมธี นามเกิด, นิตาภา อินชัย, กุลสิริ ยศเสถียร. กระท่อม : สมุนไพร หรือ ยาเสพติด. วารสารการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก 2559; 14(3) 242-56.
  6. สมนุก บุญสุภา. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพืชกระท่อม. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ผลของสารสกัดจากใบกระท่อมต่อตับของหนูเม้าส์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล. 2554. พืชออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. สงขลา: นีโอพ้อยท์.
  9. ฤทธิ์ต้านอักเสบของใบกระท่อม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มกาวิทยาลัยมหิดล.
  10. ความรู้ทั่วไป และงานวิจัยพืชกระท่อม. ส่วนเฝ้าระวังเชิงยุทธศาสตร์ สำรักยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด. 37 หน้า
  11. วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง. พิษวิทยาขิงพืชกระท่อม. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปีที่ 30. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2563. 124 หน้า
  12. ฤทธิ์ต้านการซึมเศร้าของสาร mitragnine จากใบกระท่อมในหนูเม้าส์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  13. Parthasarathy, S., Bin Azizi, J., Ramanathan, S., Ismail, S., Sasidharan, S., Said, M.I. 2009. Evaluation of antioxidant and antibacterial activities of aqueous, methanolic and alkaloid extracts from Mitragyna speciosa (Rubiaceae Family) leaves. Molecules. Mol. Divers. Preserv. Int. 14(10):3964-3974.
  14. Sabetghadam, A., Navaratnam, V., Mansor, S.M. 2013. Dose–response relationship, acute toxicity, and therapeutic index between the alkaloid extract of Mitragyna speciosa and its main active compound mitragynine in mice. Drug Dev Res. 74: 23–30.
  15. Grewal, K.S. 1932a. Observations on the pharmacology of mitragynine. American Society for Pharmacology and Experimental Therapeutics. J. Pharmacol. Exp.Ther. 46(3):251-271.
  16. Ponglux, D., Wongseripipatana, S., Takayama, H., Kukuchi, M., Kukihara, M., Kitayama, M., Aimi, N. and Sakai, S., 1994. A new indole alkaloid, 7 alpha-hydroxy-7H-mitragynine, from Mitragyna speciosa in Thailand. Planta Med. 60:580-581.
  17. Tsuchiya, S., Miyashita, S., Yamamoto, M., Horie, S., Sakai, S.I., Aimi, N. 2002. Effect of mitragynine, derived from Thai folk medicine, on gastric acid secretion through opioid receptor in anesthetized rats. Eur. J.Pharmacol. 443:185-188.
  18. Reanmongkol, W., Keawpradub, N., Sawangjaroen, K. 2007. Effects of the extracts from Mitragyna speciosa Korth. leaves on analgesic and behavioral activities in experimental animals. Songklanakarin J Sci Technol. 29:39-48.
  19. Takayama, H. 2004. Chemistry and Pharmacology of analgesic indole alkaloids from the Rubiaceous plant, Mitragyna speciosa. Chem. Pharm. Bull. 52, 916-928.