ลำพูป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

ลำพูป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 8 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลำพูป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คอเหนียง, ตุ้มเต๋น, เต๋น, ตุ้มบก, ตุ้มลาง, สบันงาช้าง (ภาคเหนือ), หงอกไก่, ลำพูขี้แมว, ลำพูควน, ตะกาย, โปรง, ลำแพนเขา, ลำแพน, ขาเขียด, หงอกไก่ (ภาคใต้), บอแมะ, บะกูแม (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Daubanga grandiflora (Roxb.ex DC.) Walpers
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Daubanga sonneratioides Buch-Ham.
วงศ์ LYTHRACEAE

ถิ่นกำเนิดลำพูป่า

ลำพูป่า มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่ประเทศอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในที่ค่อนข้างชื้น บริเวณใกล้ห้วย หนอง ในป่าดิบชื้นที่มีความสูง 300-1200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณลำพูป่า

  1. แก้ปวดท้อง
  2. แก้โรคกระเพาะอาหาร
  3. แก้อาหารไม่ย่อย
  4. แก้อาหารเป็นพิษ
  5. แก้อาการช้ำใน
  6. แก้โลหิตช้ำ
  7. แก้อุจจาระติดโลหิตสดๆ
  8. แก้เมื่อยเข็ดตามข้อกระดูก

           ในอดีตมีการนำส่วนต่างๆ ของลำพูป่า มาใช้ประโยชน์หลายประเภทได้แก่ ดอกอ่อนยอดอ่อน และกลีบเลี้ยง หรือ ผลสามารถนำมารับประทานสด หรือ เผาไฟรับประทานเป็นผัก ร่วมกับน้ำพริกดอก มีน้ำหวานใช้รับประทาน ส่วนเนื้อไม้ นำมาใช้แกะสลักทำแบบหล่อคอนกรีต ทำเรือ ไม้พายเรือ ทำลังใส่ของ กล่องใส่ใบชา หีบศพ ทำไส้ไม้อัด ไม้ขีดไฟ ก้านร่ม และยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของร่มกระดาษ ได้อีกด้วย 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ลำพูป่า

ใช้แก้ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โดยนำเมล็ดลำพูป่า แห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุโดยใช้เปลือกมาต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการช้ำใน อาการอุจจาระติดโลหิตสดๆ โลหิตช้ำ แก้เมื่อยเคล็ดตามข้อกระดูก โดยใช้ลำต้นเปลือกต้น หรือ กิ่งมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ มาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของลำพูป่า

ลำพูป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นลักษณะเปลาตรงสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ดไม้เป็นระเบียบ เรือนยอกแผ่กว้างรูปทรงกลม หรือ ทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมเกลี้ยงส่วนกระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง

           ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบขนาน ขนาดกว้าง 7-11 เซนติเมตร ยาว 8-30 เซนติเมตร โคนเว้าลึกรูปติ่งหู หรือ รูปหัวใจ โดยส่วนที่เป็นติ่งมักทาบ หรือ กอดติดอยู่กับกิ่ง ส่วนปลายใบเรียวแหลม ปลายสุดเป็นติ่งสั้นๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา และเกลี้ยง หลังใบมีสีเขียว ท้องใบสีนวล หรือ อาจเป็นคราบขาว มีเส้นแขนงใบ 14-20 คู่ ปลายใบจรดกันก่อนถึงขอบใบ และมีเส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได ซึ่งจะเห็นได้ชัดทางท้องใบ ส่วนก้านใบมีลักษณะอวบยาวไม่เกิน 2 ซม. ไม่มีหูใบ

           ดอก ออกเป็นช่อเชิงหลั่น บริเวณปลายกิ่งซึ่งใน 1ช่อง จะมีดอกย่อย ประมาณ 15-30 ดอก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะห้องลงดอกเป็นสีขาวขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกแผ่ออกประมาณ 4-8 แฉก กว้าง 0.7-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.2-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมี 6-7 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก

           ผล เป็นผลแห้งรูปไข่ หรือ รูปตลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ซม. และจะแตกอ้าเป็นพูเมื่อผลแก่ด้านในมีเมล็ดขาดเล็ก ประมาณ 6-7 เมล็ด ลักษณะเรียวลงด้านปลายทั้งสอง ขนาดความยาวของเมล็ดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร

ลำพูป่า

ลำพูป่า

การขยายพันธุ์ลำพูป่า

ลำพูป่า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วการขยายพันธุ์ลำพูป่า จะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยฝีมือมนุษย์เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูงมาก และชอบที่ชื้นแฉะจึงยากต่อการปลูกตามสถานที่ต่างๆ ส่วนวิธีการเพราะเมล็ดของลำพูป่านั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของลำพูป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ 5-formylfurfuryl esters, duabanganal A, duabanganal B, duabanganol C, duabanganol D, hentriacontane-l-ol, latifolinal, ellagic acid, vanillin, b-sitosterol เป็นต้น

โครงสร้างลำพูป่า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลำพูป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบ และลำต้นแห้งของลำพูป่าระบุเอาไว้ดังนี้ สารสกัดอัลกอฮอล์ขอใบ และลำต้นแห้ง ที่ความเข้มข้น 200 ug/ml แสดงคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ HIV-1-reverse transcriptase ในหลอดทดลองได้ 94% ส่วนสารสกัดอัลกอฮอล์-น้ำ ของเปลือกลำต้นมีคุณสมบัติระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ และต้านเนื้องอกได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาฉบับอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของลำพูป่า ลำพูป่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ลดไข้ และต้านอาการท้องร่วงได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของลำพูป่า

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการการใช้ลำพูป่าเป็นยาสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเดก สตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้ลำพูป่า เป็นสมุนไพรเพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง ลำพูป่า
  1. มัณฑนา นวลเจริญ.2552. สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงสรรพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หน้า 78.
  2. ลำพูป่า. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. หน้า 97.
  3. Bhakuni DS, Dhar ML, Dhar MM, et al. of Indian plants for ical activily. . Exp. Biol. 1971; 9:91.
  4. Jahan T., Kundu P, Sultana T., Saha L., Chakraborty A., Islam M.A., Sadhu S.K. Phytochemical investi assessment of pharmacological properties of leaves of Duabanga grandiflora. J. Med. Plants. 2021;9:25-32.
  5. I'an GT, Pczzuto JM, Kinghorn AD. Evaluation of natural products inhibitc ors of defici immunod iency virus type I (HIV-I) reverse transcriptasc. J. Nat. Prod. 1991;54(1):143-154.
  6. Kaweetripob W., Mahidol C., Prachyawarakorn V., Prawat H., Ruchirawat S. 5-Formylfurfuryl esters from Duabanga grandiflora. Phytochemistry. 2012376:78-82.
  7. Bhakuni DS, Gupta NC, Satish S, et al. Chemical constituents of Actinodaphne Croton sparsihlarus Duabanga sonncrationdes, Cilycosmis Hedywis auriculmia augustifolia, mauritiana. Lyunia ovalifolia, Micromclum pubcsccns. Pyrus pashia and Rhododendon nivcum. Phylochemistry. 1971; 10:2247-9.
  8. Santiago, C., Lim, K.H., Loh, H.S. and Ting, K.N. 2015. Inhibitory effect of Duabanga grandifora on MRSA biofilm formation via prevention of cell-surface attachment and PBP2a production. Molecules, 20, 4473-4482.
  9. Islam Q.S., Adib M., AI Faruq A., Ibrahim M. Phytochemical Screenings and Bioactivities of D grandijfora (Roxb. ex DC.) Walp. Bangladesh Pharm. J. 2019;22:68-72.